ข้อมูลประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 18, 2012 13:41 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ข้อมูลประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

1. สถานการณ์เศรษฐกิจที่สำคัญ

1.1 ตัวชี้วัดเศรษฐกิจที่สำคัญ

เศรษฐกิจของเวียดนามในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2555 ขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของงปี 2554 โดย

  • อัตราความเจริญทางเศรษฐกิจ (GDP Growth) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 4 คาดการณ์ไตรมาสที่ 2 ขยายตัวร้อยละ 4.5 โดย ภาคการเกษตร ป่าไม้ และประมง ขยายตัวร้อยละ 3.7 , ภาคการผลิต ขยายตัวร้อยละ 4.3 ภาคการค้าและบริการ ขยายตัวร้อยละ 21.6
  • การส่งออก (1 มกราคม 15 มิถุนายน 2555 ) มูลค่า 48.24 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.6 สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่
          1. เสื้อผ้าและสิ่งทอ                มูลค่า 6,120 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4
          2. โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์          มูลค่า 4,322 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 126.1
          3. น้ำมันดิบ                      มูลค่า 3,436 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6
          4. รองเท้า                      มูลค่า 3,151 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6

5. คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและ มูลค่า 3,064 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 86.6

          6. ผลิตภัณฑ์ทางทะเล               มูลค่า 2,592 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3

7. เครื่องจักร เครื่องมือและอุกรณ์อื่นๆ มูลค่า 2,410 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 55.8

          8. ยานพาหนะและอุปกรณ์            มูลค่า 2,062 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 119.9
          9. กาแฟ                        มูลค่า 2,062 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3
          10. ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้           มูลค่า 2,009 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.9

สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญ ( มกราคม — พฤษภาคม 2555) ได้แก่

          อันดับ 1 สหรัฐอเมริกา              มูลค่าการส่งออก 7.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.8
          อันดับ 2 สหภาพยุโรป               มูลค่าการส่งออก 7.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.6
          อันดับ 3 ญี่ปุ่น                     มูลค่าการส่งออก 5.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.6
          อันดับ 4 จีน                      มูลค่าการส่งออก 5.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.3
          อันดับ 5 เกาหลีใต้                 มูลค่าการส่งออก 2.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0
          อันดับ 6 มาเลเซีย                 มูลค่าการส่งออก 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.0
          อันดับ 7 สิงคโปร์                  มูลค่าการส่งออก 0.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 11.0
          อันดับ 8 ไทย                     มูลค่าการส่งออก 0.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.0
          อันดับ 9 ไต้หวัน                   มูลค่าการส่งออก 0.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0
          เวียดนามส่งออกไปยังอาเซียน         มูลค่า 6.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.5
  • การนำเข้า(1 มกราคม-15 มิถุนายน 2555 มูลค่า 48.77 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่

1. เครื่องจักร เครื่องมือและเครื่องใช้ มูลค่า 6,975 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6

2. คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ มูลค่า 5,146 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 95.3

          3. น้ำมันและก๊าซ                       มูลค่า 4,328 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 13.8
          4. เสื้อผ้าสำเร็จรูป                     มูลค่า 3,063 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ1.4
          5. เหล็กและโลหะ                      มูลค่า 2,792 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 2.0
          6. พลาสติก                           มูลค่า 2,075 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 1.4
          7. โทรศัพท์และอุปกรณ์                   มูลค่า 1,793 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 101.8

8. วัตถุดิบสำหรับสิ่งทอ เสื้อผ้าและรองเท้า มูลค่า 1,378 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9

          9. เคมีภัณฑ์                           มูลค่า 1,322 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0
          10 ผลิตภัณฑ์โลหะอื่นๆ                    มูลค่า 1,134 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 8.0

สำหรับตลาดนำเข้าที่สำคัญของเวียดนาม (มกราคม — พฤษภาคม 2555) ได้แก่

          อันดับ 1 จีน                           มูลค่าการนำเข้า 10.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9
          อันดับ 2 เกาหลีใต้                      มูลค่าการนำเข้า 5.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3
          อันดับ 3 ญี่ปุ่น                          มูลค่าการนำเข้า 4.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3
          อันดับ 4 ไต้หวัน                        มูลค่าการนำเข้า 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 6.0
          อันดับ 5 สหภาพยุโรป                    มูลค่าการนำเข้า 3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6
          อันดับ 6 สิงคโปร์                       มูลค่าการนำเข้า 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ เท่าเดิม
          อันดับ 7 ไทย                          มูลค่าการนำเข้า 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 9.0
          อันดับ 8 สหรัฐอเมริกา                   มูลค่าการนำเข้า 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2
          อันดับ 9 มาเลเซีย                      มูลค่าการนำเข้า 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 16.0
          เวียดนามนำเข้าจากอาเซียน               มูลค่า 8.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9
          - ขาดดุลการค้า                        มูลค่า  536  ล้านเหรียญสหรัฐ  คิดเป็นร้อยละ 1.1  ของมูลค่าการส่งออก
          - อัตราเงินเฟ้อ                        ร้อยละ 13.3
  • การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) (มกราคม-พฤษภาคม 55) มูลค่า 5.32 พันล้านเหรียญสหรัฐ จดทะเบียนใหม่ มูลค่า 4.12 พันล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศที่ลงทุนมากเป็นอันดับ 1 คือ ญี่ปุ่น จำนวน 81 โครงการ มูลค่าการลงทุน 3,170 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาได้แก่ ฮ่องกง จำนวน 10 โครงการ มูลค่า 398.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เกาหลีใต้ จำนวน 58 โครงการ มูลค่า 219.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เนเธอร์แลนด์ จำนวน 7 โครงการ มูลค่า 106.1 ล้านเหรียญสหรัฐ สิงคโปร์ จำนวน 22 โครงการ มูลค่า 52.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และอันดับ 6 คือ ไทย จำนวน 4 โครงการ มูลค่า 25.3 ล้านเหรียญสหรัฐ

1.2 สถานการณ์เศรษฐกิจที่สำคัญ นับแต่ปี 2554 เป็นต้นมา เวียดนามประสบปัญหาทางเศรษฐกิจที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่

1.2.1 อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2554 อัตราเงินเฟ้อของเวียดนามสูงถึงร้อยละ 18.58

1.2.2 การขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง

1.2.3 ความไม่มีเสถียรภาพของเงินสกุลท้องถิ่น (เงินเวียดนามด่ง)

เพื่อให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 6 ในปี 2555 และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาซึ่งส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลเวียดนามจึงได้ดำเนินมาตรการหลายมาตรการ อาทิเช่น การดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวด โดยธนาคารแห่งชาติได้ออกมาตรการเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ทั้งในส่วนของการจำกัดการให้สินเชื่อ การสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ ปรับปรุงระบบธนาคารที่ประสบปัญหาสภาพคล่องโดยการควบรวมกิจการ การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และการสร้างเสถียรภาพของเงินสกุลท้องถิ่น

ผลจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลเวียดนามในช่วง 5 เดือน (มกราคม —พฤษถาคม 2555) พบว่า

1. ตลาดเงินตราต่างประเทศของเวียดนามส่อเค้าดีขึ้น ค่าของเงินสกุลเวียดนามด่งมีเสถียรภาพขึ้น โดยในช่วงต้นเดือนมกราคม 2555 อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 21,036 เวียดนามด่ง ในเดือนพฤษภาคม 2555 อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 20,800-21,000 เวียดนามด่ง ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการในอัตราคงที่ 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 20,828 เวียดนามด่ง

2. ธนาคารแห่งชาติของเวียดนาม ได้ออกมาตรการควบคุมเกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศ ลงวันที่ 8 มีนาคม 2555 มีผลใช้บังคับวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 ตามมาตรการดังกล่าว ธนาคารกลางจะยกเลิกสินเชื่อเงินตราต่างประเทศแก่ผู้ส่งออก สำหรับธุรกรรมที่ใช่เงินตราต่างประเทศภายในประเทศ กล่าวคือ ธนาคารพาณิชย์จะเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศให้เป็นเงินสกุลเวียดนามด่งทันทีที่มีการถอน หรือสั่งจ่ายเงินในประเทศ และไม่อนุญาตให้กู้เงินตราต่างประเทศเพื่อนำเข้าสินค้าและบริการโดยไม่มีแผนการส่งออก เพื่อนำเงินตราต่างประเทศมาชำระเงินกู้ มาตรการดังกล่าวจะทำให้เครดิตสำหรับเงินตราต่างประเทศถูกจำกัดให้แคบลง โดยจะอนุญาตให้ผู้สงออกกู้ยืมเงินเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการในต่างประเทศได้เท่านั้น

3. มาตรการจำกัดสินเชื่อมิได้ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าเท่านั้น แต่ยังกระจายไปยังธุรกิจอื่นๆในประเทศด้วย ปัจจุบันมีธุรกิจปิดกิจการลง จำนวน 21,800 ราย (มกราคม-พฤษภาคม 2555) เพิ่มขึ้น ประมาณร้อยละ 9.5 จากช่วงเดียวกันของปี 2554 (เป็นการแถลงข่าวจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ในวันที่ 15 มิถุนายน 2555) ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการจำกัดสินเชื่อ ทำให้ไม่สามารถหาเงินทุนหมุนเวียนมาใช้ในกิจการได้ ทั้งนี้ ธุรกิจประมาณร้อยละ 80 ในเวียดนามเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

4.ในส่วนของการลงทุนจากต่างประเทศ มีแนวโน้มว่าเวียดนามอาจจะสูญเสียส่วนแบ่งของการลงทุน FDI ให้กับประเทศคู่แข่งในภูมิภาค โดยนักลงทุนรายใหญ่บางรายประกาศจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ทั้งนี้ ในปี 2555 เวียดนามได้รับการประกาศดัชนีความเชื่อมั่นในการลงทุน ว่าเป็นประเทศที่น่าลงทุนอันดับที่ 14 จากทั่วโลก ลดลงจากปี 2554 ที่เวียดนามอยู่ในอันดับที่ 12

2.สถานการณ์การค้าและการลงทุนไทย/เป้าหมายการส่งออก

2.1 สถานการณ์การค้าระหว่างไทย-เวียดนาม (มกราคม — พฤษภาคม 2555)

2.1.1 จากตัวเลขสถิติฝ่ายไทย พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม — พฤษภาคม 2555 ไทยส่งออกมายังเวียดนาม มูลค่า 2,636.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 8.36 เมือเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 จากการสำรวจข้อมูลพบว่า มีปัจจัยหลัก 2 ประการที่ทำให้มูลค่าการส่งออกจากไทยมายังเวียดนามลดลง ได้แก่

(1) เศรษฐกิจของเวียดนามขยายตัวในอัตราที่ต่ำ โดยเฉพาะภาคการผลิต ที่มีอัตราการขยายตัว เพียงร้อยละ 4.1 ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เนื่องจากเวียดนามได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ได้แก่ สหภาพยุโรป และอเมริกา ทำให้การส่งออกในตลาดดังกล่าวหดตัวลงในช่วงปลายปี 2554 ส่งผลให้มีสินค้าค้างสต๊อคจำนวนมาก และโดยที่เวียดนามนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ/กึ่งวัตถุดิบจากไทยมาผลิตเพื่อการส่งออก เมื่อการผลิตลดลง ปริมาณความต้องการวัตถุดิบก็ชะลอตัวลงด้วย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นประกอบ อาทิเช่น ภาวะน้ำท่วมจากไทย ทำให้สินค้าบางรายการไม่มีส่งออก ตัวอย่างเช่น สินค้าประเภทรถยนต์และส่วนประกอบ/รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ มีมูลค่าลดลงมาก

(2) จากมาตรการที่เข้มงวดในการจำกัดสินเชื่อทั้งในส่วนของเงินตราต่างประเทศ และสินเชื่อภายในประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการขาดเงินทุนหมุนเวียน ผู้นำเข้าขาดเงินที่จะนำไปชำระค่าสินค้า การสั่งซื้อจึงลดลง

สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยมายังเวียดนาม (มกราคม-พฤษภาคม 2555) ได้แก่
- น้ำมันสำเร็จรูป                    มูลค่า   353.0    ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.16
- เคมีภัณฑ์                         มูลค่า   185.4    ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.87
- เม็ดพลาสติก                      มูลค่า   178.4    ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 10.71
- ผลิตภัณฑ์ยาง                      มูลค่า   125.7    ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.65
- เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์          มูลค่า   104.3    ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 34.60
- รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ       มูลค่า   102.2    ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 7.42
- น้ำตาลทราย                      มูลค่า    88.2    ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.38
- เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ         มูลค่า    85.8    ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 6.18

2.1.2 ไทยนำเข้าจากเวียดนาม ในช่วงเดือนมกราคม — พฤษภาคม 2555 มูลค่า 1,138.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.70 สินค้านำเข้าที่สำคัญของไทยจากเวียดนาม (มกราคม-พฤษภาคม 2555) ได้แก่

          เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน            มูลค่า  232.4  ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 152.17
          ด้ายและเส้นใย                 มูลค่า  150.7  ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 174.73

เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ มูลค่า 122.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 64.87

เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ มูลค่า 77.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 122.63

          เคมีภัณฑ์                      มูลค่า   66.4  ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 95.80

เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ มูลค่า 36.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 65.01

สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็งแปรรูป มูลค่า 33.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.6

          ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก           มูลค่า   32.4  ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 131.39

2.1.3 ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า มูลค่า 1,498.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 29.21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 ในปี 2554 (มกราคม-ธันวาคม) ไทยได้เปรียบดุลการค้ากับเวียดนาม มูลค่า 5,032.1 ล้านเหรียญสหรัฐ

2.1.4 ไทยส่งออกไปยังเวียดนามมากเป็นอันดับ 4 ในกลุ่มอาเซียน และอันดับ 9 ของการส่งออกของไทยไปทั่วโลก

2.1.5 ในปี 2554 ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 7 ของเวียดนาม

ในช่วง5 เดือนแรกของปี 2555 ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 8 ของเวียดนาม โดยเวียดนามนำเข้าจากไทยเป็นลำดับที่ 7 และส่งออกไปยังไทยเป็นลำดับที่ 7

2.2 สถานการณ์การลงทุน

ปี 2554 ไทยลงทุนในเวียดนามเป็นลำดับที่ 10 ของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในเวียดนาม และเป็นอันดับ 3 ของประเทศในกลุ่มอาเซียน มูลค่าการลงทุน 5,884 ล้านเหรียญสหรัฐ สาขาที่ลงทุน ได้แก่ อุตสาหกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตร อาหารสัตว์ โรงแรม การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค อสังหาริมทรัพย์ ภัตตาคาร การลงทุนส่วนใหญ่จะอยู่ที่ นครโฮจิมินห์ กรุงฮานอย ด่องไน บินห์เยือน บาเรีย-วุงเต่า ผู้ลงทุนรายใหญ่ของไทย ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะ, นิคมอุตสาหกรรม Thai Hoa, สยามซีเมนต์กรุ๊ป (SCG) , CP Group , โรงงานกระดาษ, ปตท. โรงกลั่นน้ำมัน,ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ ,บริษัทพฤกษาเรียลเอสเตท เป็นต้น

ปี 2555 (มกราคม —พฤาภาคม) ไทยลงทุนในเวียดนามเป็นลำดับที่ 6 มูลค่า 25.3 ล้านเหรียญสหรัฐ

  • เดือนพฤษภาคม 2555 บริษัท One ASEAN Development ของไทย ได้ลงนามในความตกลงกับจังหวัดกว่างจิ (ภาคกลางของเวียดนาม) เพื่อพัฒนาเขตเศรษบกิจตะวันออกเฉียงใต้ (Southeastern Economic Zone : SEZ) สำหรับการเชื่อมโยงกับประเทศในอาเซียนรวมจีนและญี่ปุ่น โดยบริษัทของไทยจะร่วมมือกับนักลงทุนอื่นๆสร้างสิ่งอำนวยความหสะดวก เช่น สวนอุตสาหกรรม เขตการผลิตเพื่อส่งออก และพื้นที่การค้า การบันเทิง
  • กลุ่ม SCG ซึ่งเข้าไปลงทุนในเวียดนามตั้งแต่ปี 2535 ปัจจุบันมีโรงงาน 15 แห่ง มูลค่า 330 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปีนี้ได้ซื้อหุ้นในกิจการพลาสติกของบริษัทเวียดนาม ซื้อกิจการผลิตและจำหน่ายกระดาษ บรรจุภัณฑ์จากบริษัทเวียดนาม และลงทุนในกิจการ petrochemical complex มูลค่า 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ที่จังกหวัด บาเรีย-วุงเต่า
  • กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (CP) มีโครงการขยายโรงงานการผลิตอาหารสัตว์และผลิตภัณฑ์อาหารเพิ่มจาก 5 โรง เป็น 10 โรง ภายในปี 2014
  • บริษัท Berli Jucker Public Company Limited และ Saigon Beer, Alcohol and Beverage Corporation (Sabeco) ร่วมทุนเปิดโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วแห่งใหม่ในเวียดนาม ในนิคมอุตสาหกรรม My Xuan Aของจังหวัด บาเรีย-วุงเต่า มีมูลค่าการลงทุน 47 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงแรก โรงงานจะผลิตประมาณ 75,000 ตันต่อปี แต่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้สูงสุดถึง 84,000 ตันต่อปี โดยเน้นบรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม อาหาร เวชภัณฑ์

2.3 เป้าหมายการส่งออก

ในช่วงต้นปี 2555 สคต.ฮานอย ร่วมกับ สคต.โฮจิมินห์ ได้กำหนดเป้าหมายการส่งออกขยายตัวร้อยละ 15 ทั้งนี้ จากสถิติการส่งออก ในปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 24.94 /ปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 20.76 และเมื่อคำนวณจากสถิติปี 2552 ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 4,678.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ถึงปี 2554 ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 7,059.2 ล้านเหรียญสหรัฐ จะพบว่า ในช่วง 3 ปี การส่งออกของไทยมายังเวียดนาม เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50.89 เป็นเหตุให้ฐานการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก ประกอบกับอาจกล่าวได้ว่าภาวะเศรษฐกิจของเวียดนามอยู่ในช่วงถดถอย จึงกำหนดเป้าหมายการส่งออกให้เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง

จากสถิติการส่งออกในช่วงเดือนมกราคม — พฤษภาคม 2555 พบว่า มูลค่าการส่งออกของไทยมายังเวียดนาม ลดลงร้อยละ 8.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 แต่จากการสำรวจรายการสินค้าที่ไทยส่งออก มายังเวียดนาม จำนวน 80 รายการ จะพบว่า สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง เป็นสินค้าอุตสาหกรรม/กึ่งอุตสาหกรรม เกือบทั้งสิ้น ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น กุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 521.75 ปลาสดแช่เย็น แช่แข็ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 118.0 ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 338.08 อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เพิ่มขึ้นร้อยละ 177.57 เป็นต้น สินค้าเหล่านี้มีมูลค่าต่ำเมื่อเทียบกับสินค้าอุตสาหกรรม แต่ก็มีอัตราการขยายตัวที่สูงมาก แสดงว่า สินค้าอุปโภคบริโภคของไทยยังเป็นที่ต้องการในตลาดเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มูลค่าการส่งออกในช่วงนี้ลดลง เนื่องจากการดำเนินนโยบายควบคุมอัตราเงินเฟ้อ /การจำกัดสินเชื่อ ของรัฐบาลเวียดนาม ทำให้ผู้นำเข้าไม่มีเงินชำระค่าสินค้า จึงต้องชะลอการสั่งซื้อ

3.ปัญหาอุปสรรคด้านการค้าการลงทุนที่ต้องการการผลักดันในระดับนโยบาย

ปัญาและอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนที่สำคัญ ได้แก่

3.1 นักธุรกิจต่างชาติไม่ได้รับสิทธิในการทำธุรกิจนำเข้า และค้าปลีก

3.2 มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูง

3.3 ขาดข้อมูลข่าวสารด้านการค้าและการลงทุนที่ทันสมัย ข้อมูลเดียวกันแต่มาจากแต่ละแหล่งไม่ตรงกัน

3.4 ไม่มีมาตรฐานในการกำหนดราคากลางสินค้านำเข้าเพื่อคำนวณจัดเก็บภาษีศุลกากร

3.5 การดำเนินการด้านเอกสารใช้เวลานาน

3.6 ส่วนกลาง กับท้องถิ่น มีทั้งสอดรับนโยบาย และการตัดสินใจเอง

4.จุดอ่อน-จุดแข็งของประเทศเวียดนาม

4.1 จุดอ่อน

  • ขาดสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน (ถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ)
  • สถาบันทางการตลาดยังไม่สมบูรณ์(เป็นระบบตลาดการค้าเสรีภายใต้การบริหารจัดการของภาครัฐ)
  • ความไม่โปร่งใส
  • สภาพแวดล้อมทางธุรกิจยังอ่อนแอ
  • แรงงานขาดทักษะ
  • การใช้เงินทุนไม่มีประสิทธิภาพ
  • ภาวะการแข่งขันไม่สมบูรณ์ (ขึ้นกับการต่อรอง)

4.2 จุดแข็ง

  • ความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
  • เศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง
  • แหล่งแรงงานขนาดใหญ่ (ปัจจุบันเริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางพื้นที่)
  • เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงภูมิภาคจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งทางบกและทางทะเล
  • การส่งออกเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศ
  • ภาคเอกชนเข้มแข็ง
  • ตลาดขนาดใหญ่ มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น
5. โอกาสการค้าการลงทุนของไทย

5.1 โอกาสทางการค้า

  • เป็นตลาดขนาดใหญ่ สามารถรองรับสินค้าและบริการจากไทย
  • มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
  • ชาวเวียดนามมีกำลังซื้อแฝงมาก จากเงินที่ได้รับโอนจากญาติที่อยู่ต่างประเทศ
  • สินค้าและบริการไทยได้รับความนิยมจากผู้บริโภค
  • ความสะดวกในการคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบกผ่านช่องทางการค้าตลอดพรมแดนไทย-กัมพูชา, ไทย-ลาว /ทางเรือ และทางอากาศ
  • ต้นทุนการขนส่งต่ำ เมื่อเทียบกับการขนส่งไปยังภูมิภาคอื่น
  • การกีดกันสินค้ายังมีน้อย ทำให้มีโอกอาสในการขยายการส่งออก
  • กรอบความร่วมมือต่างๆ เช่น GMS, ACMECS, BIMSTEC,ASEAN, AEC etc. ส่งผลดีต่อการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

5.2 โอกาสทางการลงทุน

  • แรงงานราคาถูก จำนวนมาก
  • แหล่งวัตถุดิบอุดมสมบูรณ์/ทรัพยากรมีความหลากหลาย
  • มีเสถียรภาพทางการเมือง
  • นโยบายสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ
  • อาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย ทำให้เกิดความได้เปรียบในด้านการคมนาคมและขนส่ง
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย
ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่งประเทศ ณ นครโฮจิมินห์
ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 10 กรกฎาคม 2555
บุษบา บุตรรัตน์ จัดทำ/รวบรวม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ