ข่าวเศรษฐกิจ กฎระเบียบ: ภาคอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือมืดแปดด้านกับกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปฉบับใหม่
รัฐบาลอินโดนิเซียทำงานไม่ขอคำปรึกษาใดๆจากภาคเอกชนธุรกิจฉายเดี่ยวร่างระเบียบใหม่ โดยกฎระเบียบฉบับใหม่จะส่งผลกระทบต่อพันธะสัญญาทางธุรกิจเดิมที่มีอยู่ระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหรรมโทรศัพท์มือถือและบริษัทตัวแทนผู้นำเข้าที่เกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรมมือถือหลักภายในประเทศอินโด เหมือนๆกันกับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆที่ก็กำลังอยู่ระหว่างการปรับตัวเพื่อหาแนวทางตอบรับภายหลังจากได้รับแจ้งข่าวการออกระเบียบการนำเข้าใหม่
กฎระเบียบใหม่จะมีนัยยะสนับสนุนการควบคุมการนำเข้าสินค้าเพิ่มเติมจากกฎระเบียบการนำเข้าเดิมที่มีผลบังคับใช้อยู่ โดยมีการคาดการณ์กันว่าระเบียบดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อยอดขายโทรศัพท์มือถือของภาคธุรกิจการสื่อสารโทรคมนาคมที่กำลังเติบโตมาอย่างต่อเนื่องภายในประเทศอินโดนีเซียซึ่งนับว่าเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การออกกฎระเบียบใหม่ดังกล่าวมาจากความตั้งใจเดิมที่ทางรัฐประสงค์จะเพิ่มมาตรการการรับประกันการนำเข้าสินค้าโทรศัพท์มือถือแท็บเล็ตลิขสิทธิ์ จากประเด็นการลักลอบนำเข้าสินค้าโทรศัพท์มือถืออย่างผิดกฎหมาย โดยรัฐบาลระบุให้ผู้นำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวต้องถือครองหนังสือลิขสิทธิ์ตัวแทนการนำเข้าจากบริษัทแบรนด์แม่ (brands’ principals)โดยตรง รวมทั้งบริษัทต้องได้รับแต่งตั้งให้ถือสิทธิจัดสรรการนำเข้าสินค้าภายใต้แบรนด์เครื่องหมายการค้า (brand holders)ดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว (sourcing imports solely)
ในอินโดนีเซีย ปัจจุบันตามสถิติสินค้ากลุ่มโทรศัพท์มือถือค่อนข้างจะอยู่ในจุดอิ่มตัว โดยการเจาะตลาดสินค้าประเภทซิมการ์ดซึ่งมีมากถึง 120 เปอร์เซ็นต์ต่อประชากรอินโดนีเซียทั้งหมด โดยในปีที่ผ่านมาการนำเข้าสินค้าโทรศัพท์มือถือขยายตัวเพียงร้อยละ 2 อยู่ที่มูลประมาณ 44.8 ล้านหน่วย นับเป็นมูลค่ารวม 1.92 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ ตามรายงานการวิจัยตลาดโดย บริษัทวิจัยตลาด PT Sucofindo และ PT Surveyor Indonesia
อธิบดีด้านเทคโนโลยีไฮเทคเพื่ออุตสาหกรรมหลัก(High-technology priority industries) กระทรวงอุตสาหกรรม นาย บูดิ ดาร์มาดิ (Budi Darmadi) ได้กล่าวว่า กฎระเบียบการจำกัดการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปดังกล่าวจะช่วยให้รัฐสามารถเข้าควบคุมและตรวจสอบการนำเข้าโทรศัพท์มือถือได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกล่าวเสริมว่า "แนวคิดเบื้องหลังระเบียบนี้ยังมีวัตถุประสงค์หลักที่จะสนับสนุนให้มีการผลิตโทรศัพท์มือถือรุ่นทั่วๆไปถึงรุ่นล่าง (medium-to-low-end model) ได้เองภายในประเทศอินโดนีเซีย"
ทั้งนี้คาดว่ากฎระเบียบจะมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคมหรือเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ตามด้านผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกลุ่มสินค้าโทรศัพท์มือถือ ได้ท้วงว่า ผู้ประกอบการเองยังไม่ได้รับความชัดเจนในรายละเอียดเกี่ยวกับกฎระเบียบนี้
โดยโฆษกบริษัทซัมซุงประจำอินโดนีเซีย นาย วิลลี่ บายู เซนโตซ่า (Willy Bayu Sentosa ) ได้กล่าวยืนยันว่า ทางบริษัทซัมซุงเองยังไม่เคยได้รับข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว รวมทั้งทางด้าน เลขาธิการ สมาคมผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถืออินโดนีเซีย (Indonesia Cellular Phone Provider Association (ATSI)) นาง แอน กุสนายันตี (Ann Gusnayanti) เองยังได้ระบุในทำนองเดียวกันว่า ตนยังไม่เคยถูกรับเชิญให้เข้าร่วมประชุมกับกระทรวงเพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นการนำเข้าตามกฎหมายใหม่แต่อย่างใด
ในทำนองเดียวกัน นายอาร์โด แฟสโฮลา (Ardo Fadhola) ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัท PT Research in Motion Indonesia ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวยืนยันว่า ทางบริษัทก็ยังไม่เคยได้รับข้อมูลในรายละเอียดเกี่ยวกับกฎระเบียบ อย่างไรก็ตาม นายอาร์โด แฟสโฮลา ได้กล่าวเกี่ยวกับท่าทีตอบรับนโยบายใหม่นี้ว่า "แต่สิ่งที่ผมสามารถพูดยืนยันได้อย่างหนึ่งคือ ทางบริษัทและผู้จัดจำหน่ายของเราได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่จะออกมาใหม่นี้อยู่แล้ว โดยปกติบริษัทมีการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการแยกออกเป็น สาม บริษัท ตามที่ระบุในกฎใหม่ ซึ่งบริษัทจะให้การรับประกันสินค้าแก่คนที่ซื้อผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ดังกล่าวแก่ผู้จัดจำหน่ายทั้งสามแห่ง ให้ได้มีสิทธิได้รับบริการหลังการขายตามสิทธิกฎหมาย"
ส่วนโฆษกบริษัท PT Erajaya Swasembada นาย ดยัทมิโก วาร์โดโย (Djatmiko Wardoyo) ยังได้กล่าวร่วมว่า ถึงปัจจุบันตนยังไม่เข้าใจเนื้อหาในรายละเอียดที่ระเบียบใหม่จะออกบังคับใช้ อย่างไรก็ตามตนคาดว่า กฎระเบียบคงจะมีเนื้อหาไปในแนวทางจัดระเบียบโครงสร้างและวิธีการการดำเนินธุรกิจใหม่ รวมถึงบริษัทผู้นำเข้า PT Erajaya Swasembada เอง ที่ปัจจุบันถือครองใบอนุญาตลิขสิทธ์โทรศัพท์มือถือถึง 11 แบรนด์ทั่วโลกภายใต้สามบริษัทลูกในเครือ ก็คงต้องมีการปรับโครงสร้างตามระเบียบใหม่เช่นกัน
ทั้งนี้นาย ดยัทมิโก ได้แนะตามความเห็นเชิงธุรกิจว่า ถ้ากฎระเบียบใหม่บังคับให้หนึ่งบริษัทผู้นำเข้ามีการตั้งบริษัทในเครือย่อยขึ้นแล้วถึง 3 บริษัท รัฐควรจะอนุญาตให้แต่ละหนึ่งบริษัทย่อยดังกล่าวสามารถถือลิขสิทธ์แบรนด์เครื่องหมายการค้าได้ 5 แบรนด์สินค้า เพื่อลดความยุ่งยากในการปรับโครงสร้างตามกฎใหม่ ดังเช่นบริษัท PT Teletama Artha Mandiri (TAM) บริษัทลูกในเครือของ PT Erajaya Swasembada ปัจจุบันถือใบอนุญาตลิขสิทธิ์สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าซัมซุงและ Research in Motion และสินค้าแบรนด์อื่นๆ
ด้านบริษัทอีราจายา (Erajaya) ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้เข้าร่วมสู่ตลาดลงทุนหลักทรัพย์ในปีที่ผ่านมา โดยบริษัททำรายได้สูงถึง 221 เปอร์เซ็นต์ ที่ 317ล้านล้านรูเปียห์ (หรือ 34.24 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ) ในไตรมาสแรกของปี 2555 นี้ เทียบกับช่วงเวลาไตรมาสแรกของปี 2554 ที่ผ่านมาที่ 989.2 ล้านรูเปียห์ หลังจากได้ทำการเข้าควบกิจการกับบริษัท PT Teletama Artha Mandiri (TAM)
โดยผู้บริหารแบรนด์ บริษัท อีราจายา หนึ่งในเสียงตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจมือถือ ได้กล่าวเชิงตำหนิว่า " ก่อนหน้าการออกกฎระเบียบดังกล่าวนี้ รัฐควรจะได้เรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงทั้ง 3 ฝ่าย คือ บริษัทแบรนด์แม่,บริษัทผู้จัดจำหน่ายและรัฐ ให้ได้เข้าร่วมหารือในประเด็นการออกกฎระเบียบการนำเข้าใหม่ดังกล่าว อันจะนำมาซึ่งผลดีแก่ธุรกิจมือถือภายในประเทศและตัวเลขเศรษฐกิจในภาครวมของรัฐบาลอินโดนีเซียในระยะยาวร่วมกันมากกว่านี้ นอกเหนือไปกว่านั้น นาย ดชัทมิโก วาร์โดโย บริษัท PT Erajaya Swasembada ยังชี้ทิ้งท้ายว่า ค่าใช้จ่ายของการตั้งบริษัทในเครือย่อยหรือฝ่ายการนำเข้าใหม่เหล่านี้ถือเป็นเรื่องเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับเวลาและค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบการจะต้องใช้ในกระบวนการยื่นขอใบอนุญาตลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องและการเจรจาหาข้อตกลงใหม่ระหว่างบริษัทย่อยที่จะตั้งขึ้นใหม่กับบริษัทผู้ถือลิขสิทธ์แบรนด์เครื่องหมายการค้าในต่างประเทศ
กฎระเบียบการนำเข้าฉบับใหม่คาดว่าจะนำมาซึ่งความยุ่งยากซับซ้อนและค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกอบการนำเข้าสินค้าภาคอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือ ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ประกอบการนำเข้าดังกล่าวต่างร้องขอความชัดเจนในวิธีการปฏิบัติตามกฏระเบียบใหม่ โดยการให้มีการจัดแถลงและหารือร่วมกันให้มากขึ้น
สำนักงานส่งเสริมการค้า ฯ ณ กรุงจาการ์ตา
กรกฏาคม 2555