สถานการณ์เศรษฐกิจในอิตาลี (1)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 27, 2012 16:59 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สถานการณ์เศรษฐกิจในอิตาลี (1)

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2555 ผู้นำประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยูโรโซน 4 ประเทศ ประกอบด้วยนาง Angela Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมนี นาย Francois Hollande ประธานาธิบดีฝรั่งเศส นาย Mario Monti นายกรัฐมนตรีอิตาลี และนาย Mariano Rajoy นายกรัฐมนตรีสเปน ได้ประชุมร่วมกันที่กรุงโรม เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยูโรโซน และได้ข้อสรุปสำคัญเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป (EU Summit) ซึ่งจะมีขึ้นระหว่าง วันที่ 28-29 มิ.ย. 2555 ที่กรุงบรัสเซลส์ ดังนี้

1. เสนอ "มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ" โดยขอให้สหภาพยุโรปทุ่มงบประมาณอีก 130,000 ล้านยูโร (หรือร้อยละ 1 ของ GDP ของกลุ่มยูโรโซน) เพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคยุโรปและปกป้องเงินยูโร

2. เสนอให้สหภาพยุโรปเก็บภาษีการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ หรือ Tobin Tax แม้ว่าบางประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอาทิอังกฤษ อาจไม่เห็นด้วยก็ตาม

3. ยืนยันร่วมกันว่า การใช้เงินยูโรเป็นเงินสกุลเดียว (Single Currency) เป็นเรื่องที่ไม่สามารถเปลี่ยนกลับหรือถอนตัวได้ (irreversible) ในขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีเยอรมนีแสดงท่าทีว่าการผนวกทางการเมืองที่นะแก้ปัญหานี้เป็นเรื่องจำเป็นและรัฐสมาชิกจะต้องยินยอมสละอำนาจอธิปไตยบางด้านตามที่จำเป็น

4. เห็นพ้องว่าสหภาพยุโรปต้องมีการบูรณาการทางการเมืองให้เป็นสหภาพที่มีความแนบแน่นทางการเมือง การธนาคาร และการคลัง (งบประมาณ) มากกว่านี้

เป็นที่น่าสังเกตว่านายกรัฐมนตรีเยอรมนีเห็นด้วยกับการทุ่มงบประมาณจำนวนมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งเป็นสิ่งที่อิตาลีและฝรั่งเศสพอใจแทนที่จะเน้นแต่เรื่องมาตรการรัดเข็มขัดที่กำลังดำเนินอยู่ หากแต่ไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดของอิตาลีและสเปนเสนอให้ออกพันธบัตรยูโร (Euro Bond) และใช้งบประมาณกองทุนช่วยเหลือของยุโรป (Europe's rescue funds) เพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้ภาครัฐ

ในส่วนของสถานการณ์ในประเทศนั้น พอสรุปได้ดังนี้

1. เริ่มมีกระแสเรียกร้องให้อิตาลีพิจารณาถอนตัวจากยูโรโซนโดยเฉพาะอดีตนายกรัฐมนตรีนาย Silvio Berlusconi หากแต่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจนต้องถอนคำพูดไปในที่สุด และนาย Monti ก็ยังยืนยันมั่นคงว่าการออกจากยูโรโซนถือเป็นหายนะของเศรษฐกิจทั้งประเทศ และกระทบต่อรายได้ประจำและเงินออมของประเทศ

2. เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2555 สภาผู้แทนราษฎรอิตาลีลงคะแนนเสียงสนับสนุนรับรองร่างกฏหมายปฏิรูปแรงงานอย่างท่วมท้น สาระสำคัญคือการยืดหยุ่นให้นายจ้างสามารถเลิกจ้างงานได้ง่ายขึ้น (ยกเลิกรอบการจ้างงานตลอดชีวิต หรือ Concept of a job for life ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ช่วง คศ.1970) การเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ตกงาน (มีผลบังคับใช้ในปี 2560) และยกเลิกการเอาเปรียบที่นายจ้างสามารถกระทำได้ผ่านกรอบการจ้างงานชั่วคราว เป็นต้น การที่นาย Monti สามารถนำร่างกฏหมายดังกล่าวผ่านสภาก่อนนำเรื่องเข้าสู่การประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป ถือเป็นแต้มต่อที่สำคัญของการเจรจาของนาย Monti กับผู้นำประเทศ สมาชิก อียู อื่นๆ เนื่องจาก การปฏิรูปแรงงานเป็นเกณฑ์วัดสำคัญของการแก้ไขวิกฤตการณ์ในอิตาลีว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้จริง และเป็นเงื่อนไขหลักของธนาคารแห่งยุโรปที่อิตาลีต้องปฏิรูปตลาดแรงงานให้เกิดสภาวะการแข่งขันก่อนธนาคารจึงจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของอิตาลี

อย่างไรก็ตามการปฏิรูปกฎหมายแรงงานครั้งนี้ยิ่งเพิ่มกระแสความไม่พอใจของชาวอิตาลีต่อรัฐบาลนาย Monti ยิ่งขึ้น หลังจากสะสมความไม่พอใจมาจากการขึ้นภาษีและการตัดงบประมาณต่างๆ ตามมาตรการ Ausferity Plan ไปแล้ว ขณะที่คะแนนนิยมของนาย Monti ตกลงถึงร้อยละ 33 น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของช่วงเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 ที่สูงถึงร้อยละ 71 มีการหยุดงานประท้วงบ่อยครั้ง โดยเห็นว่ารัฐบาลปกป้องแต่ภาคการเงิน การธนาคาร แต่ทำร้ายกลุ่มที่เสียภาษี

ถึงกระนั้น ประธานาธิบดี Napolitano ก็ได้ให้คำมั่นกับนายกรัฐมนตรี Monti ว่าตนจะไม่สนับสนุนให้มีการเลือกตั้งก่อนกำหนดในปี 2556 อย่างแน่นอน เพื่อให้รัฐบาลสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาตามแผนงานต่อไปได้

ส่วนปฏิกิริยาจากต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่

1. ประธานาธิบดี Obama แห่งสหรัฐอเมริกาได้หารือกับนาย Monti ทางโทรศัพท์ โดยกล่าวว่าตนติดตามการมีส่วนร่วมในยุโรปและเสถียรภาพของอิตาลีในยุโรปอย่างใกล้ชิด และสนับสนุนข้อเรียกร้องของอิตาลีโดยเฉพาะในประเด็นการกำหนดมาตรการเพื่อลดการขยายตัวของต้นทุนการกู้ยืม

ตัวเลขทางเศรษฐกิจ มีดังนี้

1. สภานักธุรกิจและผู้ประกอบการอิตาลี (Confcommercio) เปิดเผยว่าตัวเลขการอุปโภคบริโภคภายในครอบครัวของอิตาลีลดลงร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่อัตราเงินเดือนยังคงอยู่ที่เดิม และความต่างระหว่างอัตราเงินเดือนกับอัตราเงินเฟ้อทำให้อำนาจการซื้อของผู้บริโภคอิตาลีลดลงถึงร้อยละ 1.8

2. สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลีรายงานว่า มูลค่าการขายปลีกในเดือนเมษายน 2555 ลดลงถึงร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2554 และร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2555 ถือเป็นอัตราที่ลดต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2544 ร้านขายปลีกขนาดเล็กมียอดขายตกลงโดยเฉลี่ยร้อยละ 8.6 และร้านขายปลีกที่เป็น Chain ขนาดใหญ่มียอดขายตกลงร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับปี 2554

3. ยอดขายสินค้าอาหารตกลงร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2554 ต่ำที่สุดในรอบ 11 ปี แม้กระทั่งซูเปอร์มาร์เก็ตที่ขายอาหารก็มียอดขายลดลงถึงร้อยละ 3

จากการประชุมดังกล่าวเป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ว่า นาง Merkel จะเห็นด้วยกับการทุ่มงบประมาณสหภาพยุโรปอีก 130,000 ล้านยูโรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจยุโรป แต่ก็คัดค้านอย่างแข็งขันกับแนวคิดของ นาย Monti เรื่อง

(1) พันธบัตรยูโร หรือ Euro bond และ

(2) การเสนอให้ใช้งบประมาณกองทุนช่วยเหลือของยุโรป (Europe's rescue funds) เพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้ภาครัฐ

อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีอิตาลีก็มีความพอใจที่ข้อเสนอของอิตาลีเป็นที่รับฟังและได้รับการพิจารณาโดยเฉพาะในเรื่องการมีมาตการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อชดเชยกับมาตรการรัดเข็มขัดที่กำลังดำเนินอยู่ เพราะเชื่อว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจสามารถทำได้เมื่อมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคง ซึ่งหมายถึงการมีวินัยทางการเงิน-การคลัง แต่วินัยดังกล่าวจะดำรงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจมีการขยายตัวและมีการสร้างงาน และเตือนว่าหากที่ประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรปไม่สามารถประกาศมาตรการที่สร้างความมั่นใจให้กับตลาดได้ อัตราดอกเบี้ยก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น

ในภาพรวม นาย Hollande แสดงความสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อทุกข้อเสนอของ นาย Monti โดยเฉพาะเรื่องการใช้งบประมาณจากกองทุนช่วยเหลือของสหภาพยุโรป (Europe's rescue funds) ซื้อพันธบัตรของอิตาลีและสเปนในตลาดรองเพื่อลดต้นทุนการกู้ยืมเงินและยับยั้งการถ่างตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของทั้งสองประเทศกับประเทศสมาชิกยูโรโซนอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ทั้งสองประเทศจัดการกับภาระหนี้ได้ยากยิ่งขึ้น และจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ปฏิกิริยาตอบรับจากตลาดหุ้นต่อผลการประชุมดังกล่าวเป็นไปในทางบวก โดยความต่างของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปี ของอิตาลีและเยอรมันลดลง 10 จุด เหลือที่ 410 และอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ลดลงร้อยละ 0.15 อยู่ที่ร้อยละ 5.69

จากการประชุมสุดยอดสหภาพยุโรป (Eu Summit) ที่ประชุมได้มีมติให้จัดตั้งหน่วยงานดูแลระบบการธนาคารในภูมิภาค รวมถึงอนุมัติเงินให้กู้ช่วยเหลือธนาคารในสเปนในอิตาลีและสเปนโดยตรง ซึ่งถือว่าเป็นการประนีประนอมครั้งสำคัญของเยอรมนี

ในการจัดตั้งหน่วยงานให้คำแนะนำและควบคุมดูแลระบบการธนาคารของภูมิภาคเป็นผลมาจากนโยบายของชาติสมาชิกที่ต้องการให้มีการตั้งสหภาพการธนาคารของยุโรป ในขณะที่ก่อนหน้านี้ก็ได้มีการอนุมัติการตั้งกองทุนกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในวงเงินสูงถึง 120,000 ล้านยูโร โดยนโยบายทั้งหมดจะเริ่มดำเนินการภายในเดือนกรกฎาคมนี้

การออกมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการจัดการวิกฤติหนี้ในภูมิภาคดังกล่าวทำให้สกุลเงินยูโรแข็งค่าขึ้นทันทีเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าผลการประชุมในครั้งนี้ว่าจะเป็นการถอยก้าวที่สำคัญของเยอรมนี แต่ก็ถือว่านาง Angela Merkel ประสบความสำเร็จ ในการผลักดันให้สหภาพยุโรป มีบทบาทในการควบคุมการบริหารการเงินการคลังของชาติสมาชิกได้มากขึ้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโรม

กรกฎาคม 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ