สินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ของตุรกี

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 14, 2012 14:43 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ของตุรกี

ภาพรวม

ตุรกีเป็นประเทศที่มีความต้องการนำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์สูง เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีการลงทุนร่วมกับต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ในการผลิตยางสำหรับยานยนต์ทุกชนิด ทั้งรถยนต์โดยสาร รถบรรทุก แทรกเตอร์ รวมทั้งอุตสาหกรรมต่อเนื่องใช้ในกิจการกองทัพของตุรกี โดยตุรกีได้เป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ยางสำหรับยานยนต์ไปมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ตลาดหลักคือกลุ่มประเทศยุโรป

ในปี 2554 ตุรกีนำเข้าสินค้ายางพาราธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์ยาง (ล้อยางรถยนต์) เป็นมูลค่าสูงถึง 217.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สูงเป็นอันดับ 3 ของการนำเข้าจากไทยทั้งหมด รองจากสินค้าเม็ดพลาสติก รถยนต์อุปกรณ์ และส่วนประกอบ โดยปี 2553 มีมูลค่าการนำเข้า 172 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 โดยที่สินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ที่ตุรกีนำเข้าจากไทย ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ยางสังเคราะห์ รวมทั้ง น้ำยางข้น นอกจากนี้ยังมี ลวดเหล็กสำหรับยึดโครงสร้างล้อยาง เส้นลวดไยเหล็ก เคมีภัณฑ์ และจุกยาง เป็นต้น

สำหรับปี 2555 (ม.ค.-ก.ค.) ตุรกีนำเข้ายางพารา และผลิตภัณฑ์ยางจากไทยคิดเป็นมูลค่า 74.70 และ 25.10 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ซึ่งมีมูลค่านำเข้าลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2554 คิดเป็นอัตราร้อยละ -29.95 และ-0.91 ตามลำดับ

มูลค่าสินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยางที่ตุรกีนำเข้าจากไทย
    สินค้า          มูลค่า : ล้านเหรียญสหรัฐ               อัตราขยายตัว (%)
               2554    2554       2555        2554     2554       2555
                    (มค.-ก.ค.) (มค.-ก.ค.)           (มค.-ก.ค.) (มค.-ก.ค.)
ยางพารา       170.5   106.6      74.70       32.20    40.03     -29.95
ผลิตภัณฑ์ยาง     46.70   25.30      25.10        9.83    57.64      -0.91
สินค้าที่มีศักยภาพ และคู่แข่งของไทย

สินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ สำหรับประเทศคู่แข่งขันของไทยในประเทศตุรกี และส่วนแบ่งตลาด ได้แก่

1.ยางพารา (น้ำยางข้น ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง) มีส่วนแบ่งตลาดในประเทศตุรกี ดังนี้

1. อินโดนีเซีย 48%, 2.ไทย 24%, 3. มาเลเซีย 16%, 4. เวียดนาม 7%

2.ผลิตภัณฑ์ยาง (ล้อยางรถยนต์) มีส่วนแบ่งตลาดในประเทศตุรกี ดังนี้

1.ญี่ปุ่น 14%, 2.สาธารณรัฐเชค 12%, 3.สโลวาเกีย 9%, 4.เกาหลีใต้ 9%, 5. เยอรมัน 9%,....11. ไทย 1%

3.ผลิตภัณฑ์ยาง (ด้ายชนิดคอร์ดทำจากยางรมควัน) มีส่วนแบ่งตลาดในประเทศตุรกี ดังนี้

1.ไทย 93%, 2.อินโดนีเซีย 4%, 3.อิตาลี 2%, 4. จีน 1%, 5. สหรัฐฯ 0.2% เป็นต้น

กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ปัจจุบันทางการตุรกี ได้อำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบ หรือสินค้าขั้นกลางเพื่อการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม โดยเก็บอัตราภาษีนำเข้าเพียง 0 — 2.2 %

กิจกรรมส่งเสริมตลาดสินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์

จากสถิติดังกล่าว แสดงว่า ตุรกีมีความต้องการยางพาราและผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไทยยังมีโอกาสที่จะสามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังตุรกีได้อีก โดยเข้าแทนที่ในส่วนแบ่งตลาดซึ่งอินโดนีเซียและมาเลเซียถือครองอยู่ได้ หากมีการดำเนินการด้านการตลาดเชิงรุกอย่างเหมาะสม และอาจนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าส่งออกวัตถุดิบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการผลิตยางได้ด้วย ซึ่งไทยได้ส่งออกยางรถยนต์มายังตุรกี ปี 2554 มีมูลค่า 46.70 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ของไทยยังคงเป็นสินค้าที่มีศักยภาพสูงมากในตลาดตุรกี เนื่องจากคุณภาพของสินค้า และปริมาณส่งมอบที่ตรงต่อเวลา และตรงตามคำสั่งซื้อ เหตุผลดังกล่าว ทำให้ผู้นำเข้าตุรกีจำนวนหลายรายได้ติดต่อมายังสำนักงานฯ เพื่อสอบถามรายชื่อผู้ส่งออกสินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ของไทย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังตุรกีมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก หากผู้นำเข้าตุรกีได้มีโอกาสพบปะเจรจาการค้ากับผู้ส่งออกไทย

ดังนั้น สำนักงานฯ จึงได้จัดโครงการคณะผู้แทนการค้าสินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ตุรกีเยือนประเทศไทย ทุกปี โดย 2 ครั้งล่าสุดที่สำนักงานฯ ได้ดำเนินการแล้วและประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี คือ

  • ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2553 สำนักงานฯ ได้นำผู้นำเข้ารายใหญ่ยางพาราตุรกี จำนวน 7 บริษัท เดินทางมาประเทศไทย เพื่อพบปะสมาคมยางพาราไทย ผู้ส่งออก ผู้ผลิต รวมทั้งชมโรงงานในต่างจังหวัด ที่ จ.สุราษฎร์ธานี กระบี่ และภูเก็ต
  • ในช่วงเดือนมิถุนายน 2554 สำนักงานฯ ได้เชิญชวนผู้นำเข้ารายใหญ่ตุรกี จำนวน 4 บริษัท เดินทางมาประเทศไทยอีกครั้งเพื่อพบปะสมาคมยางพาราไทย ผู้ส่งออก ผู้ผลิต รวมทั้งชมโรงงานในต่างจังหวัด ที่ จ.ชลบุรี และระยอง เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยในภาคอุตสาหกรรมเกษตรอย่างต่อเนื่อง และเป็นการติดตามการดำเนินงานของโครงการจากปีที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ถือว่ายางพาราและผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าส่งออกของไทยไปยังตุรกีในอันดับต้นๆ เพื่อให้ผู้นำเข้ารายใหญ่ ได้มีโอกาสเจรจากับผู้ส่งออกไทยและเยี่ยมชมโรงงานผลิตเพื่อให้ทราบถึงศักยภาพของสินค้าไทย อันจะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ของไทยมายังตุรกีเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้สมาคมยางพาราไทยได้จัดนักธุรกิจเดินทางมาเยือนตุรกี และเข้าเยี่ยมชมงานแสดงสินค้า Istanbul Rubber Fair และนัดพบนักธุรกิจนำเข้ายางพารา เยี่ยมชมโรงงานผลิตสายพานลำเลียง ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2551 พร้อมทั้งได้เชิญชวนนายกสมาคมผู้นำเข้ายางพาราตุรกี และนักธุรกิจนำเข้าเดินทางไปเยือนไทยในโอกาสต่อไป

ข้อเสนอแนะ

กิจกรรมที่สามารถดำเนินการได้เพื่อส่งเสริมการเข้าสู่ตลาดสินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ อาจประกอบด้วย 2 กิจกรรม ดังนี้

1. ผู้ส่งออกไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ Istanbul Rubber Fair ณ นครอิตันบูล ซึ่งจะมีบรรดาผู้ผลิต ผู้นำเข้ารายสำคัญของตุรกี รวมทั้ง นักธุรกิจที่เข้าร่วมชมงานจากประเทศต่าง ๆ ในยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง ประเทศในเครือ CIS และประเทศแถบแอฟริกาเหนือ ด้วย โดยงานฯ จะจัดช่วงเดือนพฤศจิกายน ของทุกปี

2. สำนักงานฯ นำผู้นำเข้าตุรกี เยี่ยมชมและเจรจาการค้ากับผู้ส่งออกไทย (Incoming Mission) โดยประสานงานกับสมาคมยางพาราไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้ส่งออกรายใหญ่ของไทย เปิดโอกาสเจรจาโดยตรง เยี่ยมชมโรงงานผลิต พื้นที่เพาะปลูกสวนยาง ทั้งในเขตกรุงเทพ ปริมณฑล และต่างจังหวัด เพื่อทราบถึงศักยภาพของสินค้าไทย เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจสั่งซื้อสินค้า รวมทั้งติดต่อกับนักธุรกิจไทยต่อไป

3. วิถีการตลาดนำเข้าของตุรกี ส่วนใหญ่ผู้ผลิตรายใหญ่ของตุรกีจะสั่งสินค้าจากผู้นำเข้าอีกทอดหนึ่ง ซึ่งผู้นำเข้าตุรกีก็จะมีการนำเข้าสินค้ายางพาราธรรมชาติจากหลายแหล่ง อาทิ ประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมถึงบางประเทศจากแอฟริกา ขึ้นอยู่กับปริมาณการสั่งซื้อ ฤดูกาลผลิต และราคาเสนอขายเปรียบเทียบของแต่ละประเทศ ทำให้คุณภาพของสินค้าในการผลิตจากที่มาหลายแหล่งไม่ได้คุณภาพตามที่ผู้ผลิตหรือโรงงานต้องการ จึงเห็นควรชี้แนะหรือประชาสัมพันธ์ให้เห็นข้อดีของการนำเข้าสินค้าคุณภาพจากไทยเพียงแหล่งเดียว เพื่อให้สินค้าที่จะผลิตคงคุณภาพที่ดีต่อเนื่อง เป็นที่เชื่อถือต่อผู้บริโภคในอนาคต

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ

ณ นครอิสตันบูล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ