อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในสาธารณรัฐประชาชนจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 5, 2012 15:04 —กรมส่งเสริมการส่งออก

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในสาธารณรัฐประชาชนจีน

ในช่วงหลายปีที่ผ่าน อัญมณีและเครื่องประดับได้กลายเป็นสินค้ายอดนิยมติดหนึ่งในสามอันดับ รองจากอสังหาริมทรัพย์และรถยนต์ ที่มีปริมาณการซื้อขายมากที่สุดในจีน อัญมณีและเครื่องประดับเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคจีน เนื่องจากสินค้าประเภทนี้มีมูลค่าสูงในตัวเอง อีกทั้งยังเป็นสิ่งแสดงถึงความร่ำรวยและความสำเร็จในชีวิต หากกล่าวถึงภาพรวมของตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในจีนนั้น เครื่องประดับที่ทำจากทองคำถือว่าเป็นที่นิยมและต้องการมากที่สุด ซึ่งในปี 2554 เครื่องประดับทองคำมีส่วนแบ่งตลาดอัญมณีในจีนถึง 40% ปริมาณความต้องการในการซื้อขายเครื่องประดับทองคำนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สืบเนื่องมาจากการพัฒนาและสนับสนุนร้านค้าปลีกในเมืองใหญ่ๆของจีนให้เพิ่มจำนวนร้าน และขยายสาขาให้ทั่วถึงต่อความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละเมือง

นอกจากเครื่องประดับทองคำแล้ว เครื่องประดับอัญมณีประเภทเพชร พลอย แพลทินัม และเครื่องประดับเงินก็เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และปริมาณการซื้อขายในตลาดคาดว่าอาจสูงถึง 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

ในปี 2558 ในทางตรงกันข้าม เครื่องประดับที่ทำจากแพลเลเดียม มีปริมาณความต้องการลดน้อยลงเรื่อยๆ สำหรับราคาของอัญมณีและเครื่องประดับในตลาดจีนนั้น ผู้บริโภคจากกลุ่มคนชั้นกลางและวัยทำงานจะซื้อเครื่องประดับเหล่านี้ในราคาตั้งแต่ 250 ถึง 1,300 เหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้จะมีขนาดใหญ่ขึ้นถึง 42% ของตลาดอัญมณีและเครื่องประดับจีนในอีกสามปีข้างหน้า

แบรนด์ของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในจีนสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดใหญ่ๆ ได้แก่ แบรนด์ของจีน แบรนด์จากฮ่องกง และแบรนด์จากต่างประเทศ ส่วนประเภทผู้บริโภคเอง ก็สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้บริโภคระดับสูง ผู้บริโภคระดับกลาง และผู้บริโภคระดับล่าง ที่มีกำลังการซื้อจากมากไปน้อยตามลำดับ โดยผู้บริโภคระดับสูงส่วนใหญ่จะสนใจในอัญมณีและเครื่องประดับจากต่างประเทศ เช่น Cartierและ Tiffanyส่วนผู้บริโภคระดับกลางนั้น จะซื้อได้ทั้งแบรนด์ของจีนเองและแบรนด์จากฮ่องกง ส่วนแบรนด์เล็กๆของจีนที่ยังไม่มีชื่อเสียงโด่งดังมากนัก กอปรกับราคาไม่สูง ก็สามารถจับตลาดผู้บริโภคระดับล่างที่มีกำลังซื้อน้อยเช่นกัน

การบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับในจีน

ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ทองคำมากกว่า 90% ถูกใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องประดับผู้บริโภคในจีนส่วนใหญ่ ชื่นชอบการซื้อทองคำบริสุทธิ์ ที่คิดราคาตามน้ำหนัก และหากนำมาประกอบเป็นเครื่องประดับ ก็จะเพิ่มราคาด้านวัตถุดิบและค่าแรงงานเข้าไปด้วย แต่มีราคาไม่สูงมากนัก ทำให้ราคาเครื่องประดับทองคำในแต่ละร้านของจีน จะมีราคาต่างกันเพียงเล็กน้อย

อัญมณีและเครื่องประดับนับว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยประเภทหนึ่งที่มีราคาสูง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้การบริโภคลดลงแต่อย่างใด ในทางกลับกัน สินค้าเหล่านี้กลับเป็นที่ต้องการมากขึ้นในจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้บริโภคจะจับจ่ายใช้สอยอัญมณีและเครื่องประดับเนื่องในโอกาสพิเศษต่างๆ เช่น งานแต่งงาน และเนื่องจากในปัจจุบันนี้ผู้บริโภคในจีนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น มีรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และการส่งแสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว กอปรกับอัญมณีและเครื่องประดับที่มีความสวยงามในหลากหลายรูปแบบ ทำให้การบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับในจีนสูงขึ้นเรื่อยๆ

พฤติกรรมผู้บริโภค

อัญมณีและเครื่องประดับในจีนนั้นถูกจัดอยู่ในสินค้าประเภทฟุ่มเฟือยชนิดหนึ่ง สำหรับอัญมณีและเครื่องประดับที่มีคุณภาพพอใช้ถึงปานกลาง จะมีราคาอยู่ที่ 10 ถึง 150 เหรียญสหรัฐ ในขณะที่สินค้าที่คุณภาพสูงจะมี

ราคาอยู่ที่หลายร้อยเหรียญสหรัฐจนถึงหลายพันเหรียญสหรัฐ โดยกลุ่มผู้บริโภคที่มีอำนาจการใช้จ่ายเพื่อบริโภคสินค้าประเภทนี้ ได้แก่ กลุ่มคนวัยรุ่น ที่สนใจในเรื่องเครื่องประดับการแต่งกาย และกลุ่มคนวัยทำงานที่ซื้อเพื่อในโอกาสพิเศษต่างๆ

เมื่อกล่าวถึงประเภทผู้บริโภคในจีนที่มีความต้องการจับจ่ายใช้สอยสินค้าประเภทอัญมณีและเครื่องประดับมากที่สุด คงจะต้องเอ่ยถึงผู้บริโภคที่กำลังเตรียมตัวจะเข้าพิธีวิวาห์ จากการสำรวจพบว่า ตั้งแต่ปี 2552 จนถึง 2553 คู่ที่เข้าพิธีแต่งงานในจีนมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 11.45 ล้านคู่ เป็น 12.05 ล้านคู่ และในปี 2554 ก็เพิ่มขึ้นเป็น 12.60 ล้านคู่ในเวลาต่อมา ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่สูงขึ้นมาก ในพิธีแต่งงานของคนจีนนั้น อัญมณีและเครื่องประดับเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะจะใช้ในพิธีสู่ขอเจ้าสาว โดยบิดามารดาของฝ่ายชายจะมอบสร้อยคอ กำไลข้อมือ ต่างหู ให้แก่ฝ่ายหญิง และในปัจจุบันนี้บิดามารดาของฝ่ายหญิงก็จะเตรียมอัญมณีและเครื่องประดับที่มีค่าเพื่อมอบให้แก่ฝ่ายชายเช่นเดียวกัน ปริมาณการบริโภคอัญมณีดูจะมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆในช่วงนี้จนถึงอีก 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากมีประชากรจีนจำนวนมากที่อยู่ในวัยทำงาน และพร้อมจะเข้าพิธีแต่งงานเพื่อสร้างครอบครัว ดังนั้น ผู้บริโภคกลุ่มนี้ถือว่าเป็นผู้บริโภคกลุ่มหลักของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของจีน

ตลาดและช่องทางการจำหน่าย

สำหรับแบรนด์อัญมณีและเครื่องประดับเป็นที่รู้จักดีในหมู่ผู้บริโภคนั้น จะมีช่องทางการจำหน่ายสินค้ามากที่สุดจะอยู่ที่ร้านของตนเองในห้างสรรพสินค้าชั้นนำใหญ่ๆ ส่วนแบรนด์ของจีนเองที่เกิดขึ้นมาใหม่และยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ก็สามารถสร้างความน่าเชื่อถือในตัวสินค้าให้แก่ลูกค้าโดยการเปิดร้านในห้างสรรพสินค้าเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การเปิดร้านจำหน่ายในห้างสรรพสินค้านี้ ประกอบไปด้วยค่าใช้จ่ายหลายอย่าง ได้แก่ ค่าแรกเข้าเพื่อเปิดร้านที่ค่อนข้างสูง ค่าแรงงานพนักงานประจำร้าน ค่าตกแต่งร้าน รวมถึงกำไรที่ลดน้อยลงจากการลดราคาสินค้าให้แก่ลูกค้า

ส่วนอัญมณีและเครื่องประดับที่อยู่ในเกรดปานกลางจนถึงเกรดต่ำนั้น จะมีการเข้าไปวางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เกตภายในห้างสรรพสินค้าอีกทีหนึ่ง เนื่องจากปัจจุบันนี้ ผู้บริโภคจีนนิยมเข้าซุปเปอร์มาร์เกตในห้างสรรพสินค้าเป็นหลัก เพราะมีสินค้าครบทุกประเภทและง่ายต่อการจับจ่ายใช้สอย ดังนั้น อัญมณีและเครื่องประดับที่มีราคาไม่สูงมากนัก จึงใช้ช่องทางการจำหน่ายนี้เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ต้องการ ในปี 2554 ที่ผ่านมา ห้างสรรพสินค้าชั้นนำและซุปเปอร์มาร์เกต ถือว่าเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ทำรายได้ให้แก่อุตสาหกรรมนี้ถึง 60%จากรายได้ทั้งหมด

สำหรับร้านที่มีชื่อเสียงเรื่องอัญมณีและเครื่องประดับมายาวนาน และเปิดร้านเฉพาะของตนเองนั้น อาจจะมีส่วนแบ่งของตลาดน้อยกว่าแบรนด์อื่นๆที่มีช่องทางการจำหน่ายอยู่ในห้างสรรพสินค้าหรือซุปเปอร์มาร์เกต เนื่องจากมีปริมาณการผลิตน้อย มีคุณภาพดี และราคาแพง สินค้าที่ผลิตออกมาจึงมีความพิถีพิถันและถูกส่งออกมายังร้านโดยบริษัทแม่เท่านั้น ซึ่งข้อดีคือง่ายต่อการปรับเปลี่ยนราคาตามต้นทุนวัตถุดิบ และการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ก็สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว

การนำเข้าและการส่งออกของจีน

การส่งออก

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับเป็นรายได้หลักสำคัญของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยเฉพาะในมณฑลกวางตุ้งที่มีการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับเพื่อการส่งออกเป็นจำนวนมาก ผู้ผลิตสามารถมีกำไรเพิ่มมากขึ้นจากการส่งออกผลิตภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับ เนื่องจากการส่งออกจะได้ราคาดีกว่าจำหน่ายภายในประเทศ จากการสำรวจข้อมูลในปี 2553 ถึง 2555 ตั้งแต่เดือน มกราคม-กรกฎาคม จีนมีการส่งออกผลิตภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับสูงขึ้น ดังตารางต่อไปนี้

ตารางแสดงมูลค่าการส่งออกอัญมณีของจีน ระหว่างเดือนมกราคม-กรกฎาคม ปี 2553-2555
(มูลค่า: ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
รหัสสินค้า         สินค้าแยกรายผลิตภัณฑ์                 ปี 2553      ปี 2554      ปี 2555    เปอร์เซนต์การเปลี่ยนแปลง
7113         เครื่องประดับจิวลี่และอัญมณีมีค่า            2180.44     5389.84    12980.29          140.83
7115         อัญมณีมีค่าชนิดต่างๆ                      158.19     2939.17      9740.6          231.41
7102         เพชร                                1040.1     1437.35     1642.06           14.24
7117         เครื่องประดับจากโลหะชนิดต่างๆ            713.07       391.3      403.15            3.03
7106         เครื่องเงิน                            465.33      706.61      398.08          -43.66
7116         เครื่องประดับและส่วนประกอบจากไข่มุก         56.5      649.92      241.24          -62.88
7101         ไข่มุกธรรมชาติ                         153.07      156.68      168.57            7.59
7114         เครื่องเงิน เครื่องทอง และส่วนประกอบ      530.39     4509.71       139.7           -96.9
7103         อัญมณีมีค่าอื่นๆเช่น หยก แซฟไฟล์ รูบี้ (ไม่รวมเพชร)6.08      15.41        96.9          528.72
7105         อัญมณีชนิดต่างๆในรูปแบบผงผลึก              61.93      100.49        85.6          -14.81
             อื่นๆ                                 140.67      154.93      124.49               -
             รวมมูลค่าทั้งสิ้น                       5,505.77   16,451.40   26,020.68           58.17

ที่มา: กรมศุลกากรจีน

ในอดีตฮ่องกงถือว่าเป็นประเทศที่มีการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับมากที่สุด ครองตลาดการส่งออกถึง 40% ฐานการผลิตในฮ่องกงมีตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตามปัจจุบันเนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมและการผลิตที่เพิ่มมากขึ้น โรงงานผลิตอัญมณีและเครื่องประดับเกือบทั้งหมดในฮ่องกงหรือประมาณ 90% ของโรงงานผลิตในฮ่องกง ได้ค่อยๆย้ายฐานการผลิตเข้ามาในเมืองจีน เช่น เมืองพานหยู๋ มณฑลกวางตุ้งที่มีโรงงานการผลิตทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่กว่า 240 แห่ง

การนำเข้า

ภายหลังการเข้าร่วมองค์กรการค้าโลก(WTO) ภาษีนำเข้าสินค้าประเภทอัญมณีและเครื่องประดับได้ถูกลดลงเรื่อยๆ เช่น ภาษีนำเข้าสินค้าอัญมณีประเภทไข่มุกที่จีนลดภาษีลงจาก 32% ในปี 2543 เป็น 21%ในปี 2553 นอกจากนี้ ภาษีนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากประเทศในกลุ่มอาเซียนก็ลดลงเป็น 0% และยังมีประเทศปากีสถาน และชิลีที่ภาษีนำเข้าลดลงเหลือเพียง 12%และ16.5%ตามลำดับ

ในปี 2552 ถึงแม้ว่าจีนได้นำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับลดลงถึง 43.3% เนื่องจากการบริโภคสินค้าประเภทฟุ่มเฟือยลดน้อยลงอันเป็นผลมาจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำของจีนในช่วงนั้น แต่จีนก็ยังคงรักษาตำแหน่งประเทศที่มีอัตราการเติบโตของการบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับเร็วที่สุดในโลกในปีนั้น ในปี 2553 หลังจากเศรษฐกิจในจีนมีการฟื้นตัว ก็ได้สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคจีนต่อการจับจ่ายใช้สอยสินค้าฟุ่มเฟือยมากขึ้น ซึ่งการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับในปีนั้นเพิ่มขึ้นถึง 33.8%และในปี 2554 จีนนำเข้าอัญมณีสูงถึง 14,880 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ถึง 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

ฐานการผลิต

มณฑลกวางตุ้งนับว่าเป็นฐานการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับที่ใหญ่ที่สุดในจีน ในปี 2554 จำนวนรายได้และปริมาณผู้ผลิตในอุตสาหกรรมนี้มากถึง 67.4% และ 47.6%ของจำนวนรายได้และผู้ผลิตจากอุตสาหกรรมนี้ทั้งหมด สาเหตุที่กวางตุ้งมีฐานการผลิตใหญ่ที่สุด ส่วนหนึ่งมากจากผู้ผลิตรายใหญ่จากฮ่องกงจำนวนมาก ย้ายฐานการผลิตเข้ามายังจีน เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเลือกเมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้งเป็นฐานการผลิตเนื่องจากมีการคมนาคมที่สะดวกระหว่างสองเมือง นอกจากเมืองกวางโจวแล้ว ยังมีอีกหลายๆเมืองในมณฑลกวางตุ้งที่มีโรงงานผลิตอัญมณีและเครื่องประดับทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ เช่น เมืองตงกว่าน จงซาน ซุ่นเต๋อ และเมืองเซินเจิ้น โดยที่โรงงานเหล่านี้ก็จะทำการทั้งการผลิต และการประกอบสินค้าด้วยวัตถุดิบที่ได้ทั้งจากภายในประเทศหรือจากการนำเข้าวัตถุดิบ และหลังจากการผลิตและประกอบเป็นเครื่องประดับแล้วนั้น สินค้าก็จะถูกส่งออกไปขายยังต่างประเทศเกือบทั้งหมด

นอกจากมณฑลกวางตุ้งแล้ว เซี่ยงไฮ้ก็เป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีปริมาณการบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับสูง ซึ่งในปี 2554 ที่ผ่านมา เฉพาะเมืองเซี่ยงไฮ้ มีการบริโภคอัญมณีสูงถึง 11.4% จากตลาดอัญมณีและเครื่องประดับของจีนทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเมืองเซี่ยงไฮ้จะมีผู้บริโภคสินค้าประเภทนี้จำนวนมาก เนื่องจากมีกำลังซื้อสูง แต่จำนวนผู้ผลิตในเมืองนี้ค่อนข้างน้อย คิดเป็นเพียง 2.8% ของจำนวนผู้ผลิตทั้งหมดในจีน เมื่อเจาะลึกลงไปถึงเมืองที่มีการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับเยอะที่สุดอย่างเมืองเซินเจิ้น จะพบว่า สาเหตุหลายประการที่ทำให้เมืองนี้เป็นฐานการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับที่ใหญ่ที่สุดของจีน คือ

1. เซินเจิ้นมี “สถานที่” ที่เหมาะสม กล่าวคือ มีสถานที่ที่ใกล้กับฮ่องกงซึ่งเป็นศุนย์กลางการผลิตอัญมณีที่มีชื่อเสียงมายาวนานเรื่องคุณภาพและความสวยงาม ดังนั้น เพื่อลดต้นทุนทางด้านแรงงานและสถานที่ เมื่อผู้ผลิตจากฮ่องกงต้องการย้ายฐานการผลิตพร้อมกับโอนถ่ายความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านการผลิตตามมาด้วย เซิ้นเจิ้นจึงเป็นเมืองที่ถูกเลือกเป็นอันดับแรกๆ

2. เซินเจิ้นมี “ความเหมาะสม” ในหลายด้าน กล่าวคือ เซินเจิ้นมีนโยบายทางการค้าพิเศษที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตและส่งออกสินค้า อีกทั้ง เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองอื่นๆในจีนแล้ว เซินเจิ้นให้ค่าตอบแทนแรงงานสูงกว่า จึงช่วยดึงดูดแรงงานที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ในปัจจุบันนี้ เซินเจิ้นมีแรงงานจีนที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับโดยเฉพาะมากกว่าหนึ่งแสนราย

3. เซินเจิ้นมี “ความพร้อม” ด้านอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ กล่าวคือ หลังจากที่จีนเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรการค้าโลก ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับก็มีการขยายตัวขึ้นอย่างมาก ธุรกิจการค้าอัญมณีและเครื่องประดับมีค่าได้ขยายเพิ่มมากขึ้นหลายพันร้านค้า ในปี 2549 การผลิตและจำหน่ายเครื่องประดับทองของเมืองเซินเจิ้นทำรายได้มากถึงแปดล้านล้านหยวน หรือราวๆ40 ล้านล้านบาทซึ่งนับว่าทำรายได้มากถึง 70% ของตลาดการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของจีนทั้งหมด และทุกวันนี้เซินเจิ้นพยายามเพิ่มกำลังการผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อให้เมืองนี้กลายเป็นแกนนำอุตสาหกรรมการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับของโลก

ในปัจจุบันนี้ คู่แข่งของไทยคือ ฮ่องกง และไต้หวันที่ตั้งโรงงานในจีน และมีร้านค้าหลากหลายสาขา รวมทั้งผู้ผลิตในจีนที่เป็นของชาวจีนเอง ซึ่งเริ่มมีศักยภาพสูงมากในปัจจุบัน ดังนั้นโอกาสของไทยที่มีทุนน้อยกว่าต้องสร้างพันธมิตรกับห้างสรรพสินค้าตามเมืองใหญ่เพื่อเป็นช่องทางการตลาด และเป็นการส่งเสริมสินค้าที่มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานคุณภาพสินค้าไทย

นอกจากนี้ผู้ผลิตเพื่อการส่งออกส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ของไทย ซึ่งมีต้นทุนทางการบริหารสูง การสนับสนุน SMEsให้เป็นทั้งอุตสาหกรรมสนับสนุนและเป็นทั้งผู้ส่งออก จะช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเติบโตเร็วขึ้น และ SMEsก็มีศักยภาพที่สามารถแข่งขันกับจีนได้ เพราะมีค่าจ้างแรงงานต่ำเพียงพอกับสินค้าที่ผลิตจากบางมณฑลของในจีน

การที่จะผลิตและขายอัญมณีและเครื่องประดับทั้งในตลาดจีนและตลาดโลกได้ต้องได้รับมาตรฐานและคุณภาพของสินค้าที่เป็นสากล จีนเองมีศูนย์การทดสอบแห่งชาติเพื่อประเมินคุณภาพและเป็นเครื่องชี้นำของราคาสินค้า มีการออกใบรับรองสำหรับเพชร และเครื่องประดับอื่นๆ อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยให้สามารถแข่งขันและทัดเทียมกับประเทศผู้ส่งออกทั่วโลกได้นั้น ผู้ผลิตไทยรวมถึงองค์กรของภาครัฐฯควรมีส่วนรวมในการคิดค้นและพัฒนาอุตสาหกรรม ดังนี้

1. การสรรหาแหล่งวัตถุดิบใหม่

2. การจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบมาตรฐานอัญมณีและเครื่องประดับให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล

3. การปกป้องเทคโนโลยีจากภูมิปัญญาชาวบ้าน

4. การปรับโครงสร้างภาษีภายในประเทศ

สำหรับการเจรจาทางการค้า เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างไทยและจีน ได้แก่

1. เจรจาเพื่อประสานความร่วมมือในการหาแหล่งวัตถุดิบในจีน โดยเฉพาะการเจรจาระดับมณฑล

2. เจรจาให้จีนยอมรับมาตรฐานการจัดทำการประเมินคุณภาพอัญมณีของไทย

3. เจรจาเพื่อสร้างความสะดวกในการลงทุนระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการวางยุทธศาสตร์การผลิตในการเป็นพันธมิตรร่วมกับจีน

ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลการค้าเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจวโทร. (86) 20-8384-9453 e-mail: thaitcguangzhou@ditp.go.th

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว

กันยายน 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ