รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศนโยบายฟื้นฟูอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศ 3 แนวทาง (1) ปรับปรุงประสิทธิภาพโรงงานผลิตน้ำตาลที่มีอยู่ (2) สนับสนุนการตั้งโรงงานใหม่ (10-25 โรง) (3) ปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศ
คาดว่ามาตรการของรัฐบาลจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศ ช่วยรองรับผลผลิตอ้อยจากเกษตรกรที่มากเกินความสามารถในการผลิตน้ำตาล และส่งเสริมธุรกิจอื่น ในห่วงโซ่อุปทาน เช่น การผลิตเชื้อเพลิงเอทธานอล ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของชุมชมในท้องถิ่นอีกด้วย
ในปี 2554 อินโดนีเซียนำเข้าน้ำตาลทรายจากไทยมากเป็นอันดับ 1 มูลค่าประมาณ 824 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43.38 (รองลงมาคือ บราซิลร้อยละ 26.66 และออสเตรเลียร้อยละ 11.52 ตามลำดับ) ในขณะเดียวกัน ตลาดหลักในการส่งออกน้ำตาลทรายไทย คือ อินโดนีเซีย โดยไทยส่งออกไปอินโดนีเซียมากถึงร้อยละ 18.46 (รองลงมาคือ ญี่ปุ่น ร้อยละ 14.86 และกัมพูชา ร้อยละ 7.24 ตามลำดับ)
ข้อเสนอแนะ/โอกาสของไทย นโยบายฟื้นฟูอุตสาหกรรมน้ำตาลภายในประเทศของอินโดนีเซียน่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกไทยในด้านราคา และรัฐบาลอาจออกมาตรการกีดกันน้ำตาลจากต่างประเทศ ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของมาตรฐานความปลอดภัย ตราสินค้าฮาลาล (Halal) การจำกัดท่าเรือนำเข้า ซึ่งผู้ประกอบการไทยจะต้องติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ เช่น เตรียมหาตลาดทดแทนเพื่อรองรับการสั่งซื้อที่ลดลงในปีอีก 2-3 ปีข้างหน้า หรือแสวงหาช่องทางเข้าไปลงทุน/ร่วมทุนตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลในอินโดนีเซีย
ประเทศอินโดนีเซีย สคร. กรุงจาการ์ตา
สำนักพัฒนาการตลาดระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
Email : intmk@ditp.go.th Website : www.ditp.go.th