สถานการณ์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เดือนตุลาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 31, 2012 13:34 —กรมส่งเสริมการส่งออก

บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ญี่ปุ่น อาทิ ชาร์ป โซนี่ และพานาโซนิก กำลังประสบปัญหาจนเกิดความตกต่ำทางธุรกิจอย่างหนัก เนื่องจาก บริษัทคู่แข่งจากเกาหลี อาทิ ซัมซุง และแอลจี ได้เข้ามาแย่งส่วน แบ่งตลาด โดยการใช้วิธีตัดราคาสินค้า ทำให้บริษัทญี่ปุ่นนอกจากจะ ขาดทุนและมีมูลค่าหุ้นตามราคาตลาดลดลงแล้ว มูลค่าแบรนด์สินค้า ยังลดลงตามไปด้วย โดยนอกจากปัญหาด้านคู่แข่งแล้วยังมีปัจจัยการแข็งค่าของเงินเยน ทำให้สินค่าญี่ปุ่นมีราคาแพงในตลาดโลก การผลิตสินค้าหลากหลายยี่ห้อ ส่งผลให้เกิดการแข่งขันกันเองอย่างหนัก เป็นต้น สำหรับบริษัทผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่น ซึ่งได้ขยายฐานการผลิตไปยังประเทศกัมพูชา กำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมืออย่างมาก เนื่องจากคนงานกัมพูชายังไม่คุ้นเคยกับการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

ภาวะการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่น ช่วงเดือนสิงหาคม 2555 มีมูลค่า 7.36 แสนล้านเยน ลดลงร้อยละ 14.6 จากเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว สินค้าที่ปรับลดลง ได้แก่ อุปกรณ์สื่อสาร เครื่องจักรธุรกิจ เครื่องจักรอุตสาหกรรม ระบบสื่อสารโทรคมนาคม ระบบสื่อสารวิทยุ คอมพิวเตอร์ และเซมิคคอนดักเตอร์ สำหรับสินค้าที่ส่งออก เพิ่มขึ้น คือ ตัวนำไฟฟ้า อุปกรณ์เครื่องเสียง และมาตราวัดพลังงานไฟฟ้า ด้านการนำเข้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 จากเดือนกรกฎาคม 2554 โดยสินค้าที่นำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ระบบสื่อสารวิทยุ ระบบสื่อสารวิทยุ ตัวนำไฟฟ้าเซมิคคอนดักเตอร์ แผงวงจร ขณะที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล และอุปกรณืวีดีโอ มีอัตราการนำเข้าลดลงกว่า 40%

ผลกระทบต่อไทย ภาวะตกต่ำของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่น อาจส่งผลต่อภาคการผลิตและมูลค่าการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในระยะยาว เนื่องจากที่ผ่านมาไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญของอุตสาหรรมอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่น นอกจากนั้น นโยบายการขึ้นค่าแรงของไทย ส่งผลให้บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตไปผลิตในประเทศอื่นๆ ที่มีค่าแรงต่ำกว่าประเทศไทย แม้ว่าประเทศไทยจะมีความได้เปรียบในเรื่องคุณภาพของแรงงาน ดังนั้นประเทศไทย ควรมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อจูงใจภาคอุตสาหกรรมการอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศอื่น ให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการพัฒนาศักยภาพแรงงาน และความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น ตลอดจนลดการพึ่งพิงการผลิตให้กับญี่ปุ่นเป็นหลัก

ประเทศญี่ปุ่น สคต.โอซากา

สำนักพัฒนาการตลาดระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

Email : intmk@ditp.go.th Website : www.ditp.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ