ตลาดสินค้าแผงเซลล์แสงอาทิตย์ Photovoltaic

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 4, 2012 14:29 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ในขณะที่เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะในเขตทวีปยุโรปหรือยูโรโซน ราคาค่าเชื้อเพลิงสูงเพิ่มขึ้น แต่ในทางตรงข้าม อุตสาหกรรมแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (Photovoltaic หรือ PV) ในภาคธุรกิจพลังงานทางเลือกกลับมีแนวโน้มที่สดใส

จากรายงานของ Renewable Energy Investment Report ปี 2012 จะเห็นได้ว่าการลงทุนในเรื่องพลังงานทดแทนของโลกในปี 2011 เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 คิดเป็นมูลค่า 257 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในปัจจุบันราคาของ PV module ลดลงมากกว่า ร้อยละ 50 และราคาการผลิตพลังงานลม ลดลงร้อยละ 10 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามการลงทุนใน Solar Power ในปี 2011 เพิ่มขึ้นร้อยละ 52 คิดเป็นมูลค่า 147 พันล้านเหรียญสหรัฐ สูงกว่าการลงทุนในพลังงานลมถึง 2 เท่า สำหรับการลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์นั้น มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและเป็นที่แพร่หลายเพิ่มมากขึ้นในเรื่องของการติดตั้ง Rooftop PV โดยเฉพาะในประเทศเยอรมนีและอิตาลี เนื่องจากเจ้าของอาคารได้ประโยชน์จากการที่ราคาแผ่น Solar cell ที่ถูกลงและยังสามารถขายไฟฟ้าส่วนเกินให้กับหน่วยงานของรัฐได้

นอกจากนี้นโยบายของเยอรมันที่หันมาให้ความสำคัญต่อ พลังงานทดแทน หรือ พลังงานสะอาด เพราะเชื่อว่าจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 100 ล้านตัน พลังงานสะอาดเหล่านี้ได้แก่

  • พลังงานลม เยอรมันมี Wind Turbines ถึง 22,664 ตัวผลิตกระแสไฟฟ้าได้ กว่า 30 GW
  • พลังงานน้ำ เป้าหมายของรัฐบาลเยอรมัน คือเพิ่มกำลังการ ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำไปพร้อมๆ

กับการปรับปรุงสภาพนิเวศวิทยาของแหล่งน้ำให้ดีขึ้นด้วย

  • พลังงานชีวมวล
  • พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นแหล่งพลังงานที่มั่นคงและสามารถใช้ได้ในระยะยาว พลังงานแสงอาทิตย์

สามารถใช้ได้โดยตรงโดยนำมาทำความร้อน และสามารถให้กระแสไฟฟ้าได้จากการใช้โรงไฟฟ้า

และความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ (photovoltaic)

ในครึ่งแรกของปี 2012 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา กระแสไฟฟ้าที่มาจากพลังงานเหล่านี้เพิ่มขึ้นจาก 56.4 พันล้าน kWh. เป็น 67.9 พันล้าน kWh.

สำหรับพลังงานที่มีการลงทุนมากตามลำดับได้แก่ Solar energy, Wind Energy; Biofuels , waste to power หรือ Bio Mass

การขยายตัวของ PV

ในประเทศเยอรมนี พลังงานนิวเครียร์คิดเป็นร้อยละ 22 ของการใช้พลังงานทั้งหมดในประเทศ แต่หลังจากที่เกิดเหตการณ์โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์รั่วที่เมืองฟูกูชิมาประเทศญี่ปุ่น รัฐบาลเยอรมันได้ตัดสินใจปิดโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ 8 แห่งทันที โดยพิจารณาปิดจากโรงงานที่มีความเก่าแก่ที่สุดตามลำดับ และประกาศจะปิดโรงงานที่เหลือทั้งหมดอีก 9 โรงงานภายในปี 2022 นั่นก็หมายความว่าเยอรมนี มีแนวโน้มความต้องการพลังงานไฟฟ้าทางเลือกอย่างเร่งด่วน

PV ส่วนใหญ่จะติดตั้งทางตอนใต้ของประเทศ ที่มีการใช้กระแสไฟฟ้ามาก และมีแสงอาทิตย์ยาวนาน อีกทั้งเป็นที่ยอมรับของคนในพื้นที่ ส่วนทางตอนเหนือจะมีการผลิตพลังงานลมมากกว่า อีกทั้ง ปัจุบันราคาของ PV Solar และ Onshore wind ได้ลดลงตามลำดับ และราคาของ Rooftop Solar ก็มีราคาที่แข่งขันได้กับค่าไฟฟ้าปกติ โดยค่าไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ประจำครัวเรือน ราคาค่าไฟประมาณ 20 เซ็นต์ต่อกิโลวัตต์ ในขณะที่ในวงการอุตสาหกรรมโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะได้รับการยกเว้นการเสียค่าไฟ ประมาณ 4.4 เซ็นต์ต่อกิโลวัตต์ (ซึ่งเป็นการที่รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือ) โดย รัฐบาลเยอรมันจะประกันกำไรขั้นต่ำ อยู่ที่ 2.5 เซ็นต์ต่อกิโลวัตต์

พลังงานแสงอาทิตย์ในเยอรมนีขยายตัวตามลำดับตั้งแต่ปี 2006 รัฐบาลได้มีมาตรการ Feed in Tariffs (FIT) ภายใต้ German Renewable Energy Act. สำหรับผู้ลงทุนในพลังงานทางเลือก ทำให้ราคาของกระแสไฟฟ้าลดต่ำลงกว่า ร้อยละ 50

ในปี 2011 1 ใน 5 ของไฟฟ้าที่ชาวเยอรมันใช้มาจากพลังงานทางเลือก ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และ Biogas รัฐบาลเยอรมันตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2050 ร้อยละ 80 ของกระแสไฟฟ้าจะมาจากพลังงานทางเลือก ตั้งแต่ปี 2009 เมืองมิวนิค เป็นเมืองที่มุ่งเน้นในเรื่องของ Green Electricity และตั้งเป้าว่าจะผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกให้เพียงพอกับความต้องการของเมืองภายในปี 2025 ดังนั้นแคว้นบาวาเรียจะเป็นเมืองแรกของโลกที่มีพลเมืองกว่า 1 ล้านครัวเรือน หรือ 1.4 ล้านคน ที่สามารถใช้พลังงานสีเขียวคิดเป็นจำนวน 7.5 TWh ต่อปี

ปัจจุบันเยอรมนีนับเป็นประเทศสำคัญลำดับต้นที่มีการติดตั้ง PV โดยมีกำลังผลิตในปีที่ผ่านมาถึง 25 Gigawatts และในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ถึง 28 GW โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจาก แสงอาทิตย์ของเยอรมนีมีการผลิตร้อยละ 50 ของความต้องการของประเทศ (ข้อมูลจาก Institute of the Renewable Energy-VKU) และจากข้อมูลของ German Association of Local Utilities สัดส่วนของของไฟฟ้าที่ผลิตโดยหน่วยงานท้องถิ่นคิดเป็นร้อยละ 10 ของการผลิตทั้งหมดซึ่ง VKU ต้องการเพิ่มสัดส่วนนี้ให้ได้ถึงร้อยละ 20 ในปี 2020

Year               1990    1991    1992    1993    1994    1995    1996    1997    1998    1999    2000
Capacity (MW)       0.6     2.0     3.0     5.0     6.0     8.0      11      18      23      32      76
Generation(GWh)     0.6     1.6     3.2     5.8     8.0      11      16      26      32      42      64
% of total       0.001  0.001   0.001   0.001   0.002   0.002   0.003   0.005   0.006   0.008    0.01
electricity consumption
Year              2000    2001    2002    2003    2004    2005    2006    2007    2008    2009    2010
Capacity (MW)       76     186     296     435   1,105   2,056   2,899   4,170   6,120   9,914  17,320
Generation(GWh)     64      76     162     313     556   1,282   2,220   3,075   4,420   6,578  12,000
% of total        0.01    0.01    0.03    0.05    0.09     0.2     0.4     0.5     0.7     1.1     2.0
electricity consumption
Year              2010    2011    2012*    2013    2014    2015    2016    2017    2018    2019    2020
Capacity (GW)     17.3    24.8    29.1
Generation (TWh)    12      18    14.7
% of total         2.0     3.2     5.3
electricity consumption

* As from first half of 2012

สถานการณ์ปัจจุบัน

แม้จะมีแนวโน้มความต้องการ PV ขยายตัว แต่ปัจจุบันผู้ผลิตแผง Solar ในประเทศเยอรมนีได้รับผลกระทบจากสินค้าจากประเทศจีน สินค้าแผง PV และอุปกรณ์จากประเทศจีนมีราคาถูกกว่าสินค้าเยอรมัน ร้อยละ 30 -50 อีกทั้งคุณภาพก็นับว่ามีคุณภาพดีเพราะผลิตจากเครื่องจักรเยอรมัน ราคาแผง PV โดยทั่วไปจะคิดจากจำนวน Watt โดยราคาเฉลี่ย Watt ละ 50 cent แผง PV ที่นิยมติดตั้งกันมี Model ตั้งแต่ 100- 280 Watt ในปัจจุบัน ผู้ผลิตหลายรายในประเทศเยอรมนีได้เริ่มปรับเปลี่ยนกลยุทธที่จะสู้กับสินค้าจีน โดยหันมาเพิ่มการบริการให้แก่ลูกค้า เช่น เน้นการผลิตเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า ปรับปรุงการบริการและค้นคิดวัสดุอุปกรณ์ใหม่ๆ อาทิเช่น คิดค้น Solar- diesel Hybrid Generator หรือปรับระบบเป็น Solar Cogeneration โดยการรวม PV (Photovoltaic) และ Solar Thermal เทคโนโลยี่เข้าด้วยกันเป็นระบบเดียว เพื่อนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า ผลิตความร้อนและระบบความเย็น นอกเหนือไปจากนี้ความต้องการ Solar cooling มีอัตราการขยายตัวสูงขึ้นเพราะความต้องการเครื่องปรับอากาศและราคาค่าขายไฟฟ้าที่สูงเพิ่มขึ้น (โดยพื้นฐานนั้น PV จะรองรับเฉพาะการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ แต่ Solar Cogeneration จะสามารถผลิตทั้งความร้อนและความเย็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังมีต้นทุนที่ต่ำกว่า รวมถึงค่าติดตั้งและค่าใช้เครื่องปรับอากาศ)

สำนักงานส่งเสริมการค้า ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต ได้มีโอกาสพบกับนักลงทุนไทยที่มาลงทุนตั้งโรงงานไฟฟ้าที่เมือง Erding ทางตอนใต้ของประเทศเยอรมนี โดยการนำแผง PV และอุปกรณ์มาจากประเทศไทย นักลงทุนรายนี้

เห็นประโยชน์ระยะยาวจากนโยบายส่งเสริมพลังงานสะอาดของรัฐบาลเยอรมัน และเห็นว่า หากจะเสนอขายเฉพาะแผง PV ก็จะไม่สามารถสู้ราคาสินค้าจากประเทศจีนได้ รวมไปถึงสินค้าที่มีแบรนด์ของเยอรมัน นักลงทุนรายดังกล่าวจึงได้ปรับนโยบาย เปลี่ยนเป็นการลงทุนเพื่อขายกระแสไฟฟ้าให้รัฐบาลเยอรมัน ตามพระราชบัญญัติพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทดแทน (Das Erneuerbare-Energien-Gesetz : EEG) ของเยอรมนี ซึ่งบังคับให้บริษัทผู้ให้บริการไฟฟ้าต้องรับซื้อ กระแสไฟฟ้าที่ผลิตมาจากพลังงานทดแทน โดยกำหนดราคาขั้นต่ำตามราคาที่รัฐบาลกำหนด ทำให้นักลงทุนสามารถมั่นใจได้ว่ากระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานเหล่านี้จะสามารถขายให้กับรัฐบาลได้ อีกทั้งเป็นการขายระยะยาว เช่นลงทุน 20 ปี ก็สามารถขายให้รัฐบาลได้ครบตลอด 20 ปี พร้อมกันนี้บริษัทแจ้งว่าแม้ราคาค่าไฟฟ้าจะต่ำลง แต่หากคำนวณผลตอบแทนในระยะยาวก็สามารถทำกำไรได้ดีพอควรคุ้มแก่การลงทุน

อุตสาหกรรมการผลิต PV นอกจากจะสามารถทำรายได้จากการขายแผง Solar แล้ว ยังทำให้เกิดการลงทุนในโรงงานไฟฟ้า ซึ่งสามารถขายกระแสไฟฟ้าให้กับรัฐได้ รวมทั้งเกิดธุรกิจใหม่ๆ เช่น Roof Hunter ซึ่งจะติดต่อ Land Developer และเจ้าของที่ดิน เพื่อขอทำสัญญาเช่าหลังคา หรือที่ดิน สิ่งปลูกสร้างในการติดตั้งแผง Solar ปกติสัญญาจะทำกันเป็นเวลา 20 ปี ในอนาคต ธุรกิจเหล่านี้จะขยายวงกว้างขึ้น และครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เหมาะกับการติดตั้งแผงรับแสงอาทิตย์ (บริเวณตอนใต้ของประเทศเยอรมนี)

สำนักงาน ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต เห็นว่า ธุรกิจเหล่านี้ ยังเป็นโอกาสอันดีสำหรับนักลงทุนไทย รวมทั้ง สินค้าอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่นอุปกรณ์ การปรับกระแสไฟฟ้า หรือ สายเคเบิ้ล รวมทั้งธุรกิจเกี่ยวกับการบำรุงรักษา และการบริการหลังการขายเป็นต้น

สคต.แฟรงก์เฟิร์ต

ตุลาคม 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ