การขายอาหารเสริม Food supplements และการนำเข้ามาจำหน่าย ในประเทศเยอรมนี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 22, 2012 14:44 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ข้อมูลเบื้องต้น

ประเทศเยอรมนีถือเป็นผู้นำเข้าอาหารรายใหญ่ในสหภาพยุโรป และเป็นประเทศที่ดำเนินการตามมาตรฐาน Food Safety ของสหภาพยุโรปอย่างเคร่งครัด สินค้าที่ตรวจพบสารตกค้าง ยาฆ่าแมลง หรือพบว่ามีอันตรายต่อสุขภาพ จะถูกปลดออกจากชั้นวางขายทันทีที่ตรวจพบ ประกอบกับในยุคปัจจุบัน มีการพัฒนาสินค้าอาหารใหม่ในตลาดเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มจำนวนอาหารจานด่วนนั้น ทำให้ผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและการบริโภค ดังนั้นระบบเตือนภัยเรื่องความปลอดภัยในอาหารจึงมีการเผยแพร่และเป็นที่สนใจของผู้บริโภคทั่วทวีปยุโรป และประเทศอื่นๆทั่วโลก โดยการสื่อสารผ่านทาง Internet ปัจจุบันห้างฯหรือผู้นำเข้าสินค้า มักจะเป็นฝ่ายตรวจสอบเบื้องต้น ก่อนที่หน่วยงานของรัฐจะเข้ามาทำการสุ่มตรวจสินค้า เพื่อป้องกันปัญหาที่จะถูก black list จากภาครัฐ

สหภาพยุโรปกำหนด อาหารเสริม (food supplements) จัดอยู่ในประเภทสินค้าอาหาร - เคมีภัณฑ์อินทรีย์ (category food) และไม่สามารถใส่สรรพคุณของยา หรือบอกสรรพคุณของการรักษาโรคได้ แต่สามารถบรรยายเรื่องคุณสมบัติ ข้อดีต่อสุขภาพและโภชนาการได้

ข้อแตกต่างระหว่างอาหารเสริมและยานั้น อาหารเสริมถือว่าเป็นอาหารที่บริโภคได้ และต้องปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยอาหาร Regulation (EC) No. 178/2002

อาหารเสริม ในความหมายของระเบียบว่าด้วยอาหารเสริมของประเทศเยอรมนี (Verordnung ber Nahrungserg nzungsmittel, NemV) หมายถึง อาหารทั่วไป (foodstuffs) ที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อ

1.เสริมการรับประทานอาหารปกติ

2.เป็นแหล่งที่มาของสารอาหารที่มีความเข้มข้นหรือสารอื่น ๆ ที่มีผลต่อโภชนาการ

3.มีการวางจำหน่ายในตลาด ในรูปของ แคปซูล pastilles เป็นชนิดเม็ด น้ำ ผง หรืออื่นๆ และสามารถรับประทานได้ไม่เกินจำนวนที่ระบุไว้

สำหรับยา มีวัตถุประสงค์เพื่อการรักษา และป้องกันโรค ซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบยา Medicinal Products Act (Arzneimittelgesetz) และจะออกสู่ตลาดได้ต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่รับผิดชอบซึ่งรับรองโดย the Commission of the European Community หรือ the Council of the European Union in accordance with Regulation (EC) No. 726/2004 ยาใดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วไม่สามารถนำมาขายเป็นอาหารได้

ข้อสังเกตุ - โดยทั่วไป อาหารเสริมและอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน จัดเป็นอาหารที่ทานเพื่อให้ร่างกายได้สารอาหารครบถ้วน ไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนยา และไม่ต้องผ่านกระบวนการวิเคราะห์ความเสี่ยง scientific riskbenefit analysis แต่สำหรับอาหารเสริมบางชนิดที่ระบุว่ามีผลต่อการรักษา และบอกสรรพคุณ เช่น Cinnamon บรรจุในแคปซูล ที่อ้างสรรพคุณว่าช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวาน จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ยา โดยต้องไปผ่านกระบวนการนำเข้าสินค้าประเภทยา การขึ้นทะเบียนยา และไม่สามารถขายในลักษณะ

เป็นอาหารเสริมได้ เนื่องจากมีการตรวจพบสาร Coumarin จำนวนมาก อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพแก่ผู้บริโภคได้ หน่วยงานที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้องของเยอรมันได้แก่

1. The Federal Institute for Medicinal Products and Medical Devices (BfArM)

2. The Federal Institute for Risk Assessment (BfR)

BfArM and BfR เชื่อว่า การกินแคปซูล Cinnamon ในปริมาณมากอย่างต่อเนื่อง หรือการกินเกินขนาดจะเป็นผลร้ายต่อสุขภาพ และ สาร Coumarin ที่อยู่ใน cinnamon นั้น อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการอักเสบในตับได้

กฎระเบียบการนำเข้า การขายสินค้าอาหารเสริม

ผู้ที่รับผิดชอบในการทำการตลาดอาหารเสริม ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และกระจายสินค้าต้องรับผิดชอบว่าอาหารเสริมเป็นไปตามระเบียบว่าด้วย อาหารของเยอรมันและหน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมตรวจสอบคือหน่วยงานท้องถิ่น German Lไnder (federal states) มีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบ หากตรวจพบความผิดพลาดเรื่องมาตรฐาน ก็จะส่งข้อมูลสู่ระบบ Rapid Alert System for Food & Feed (RASFF)กรณีที่ผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าต้องการเสนอสินค้าอาหารเสริมเข้าตลาดเยอรมัน จำเป็นต้องการแจ้งหน่วยงานคือ Federal Office of Consumer Protection และ Food Safety (Bundesamt fr Verbraucherschutz und Lebensmittelsicherheit, BVL ในช่วงที่เริ่มต้นทำการตลาด และส่งตัวอย่างของฉลากสินค้า ให้หน่วยงานดังกล่าวตรวจสอบ

ฉลากของอาหารเสริมจำเป็นต้องมีรายละเอียด ดังนี้

1. ระบุว่าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมตามระเบียบการปิดฉลากอาหาร

2. ระบุข้อมูลเกี่ยวกับประเภทของสารอาหาร

3. ระบุจำนวนร้อยละของสารอาหารที่ควรบริโภคต่อวัน

4. คำเตือนเรื่องการบริโภค โดยระบุปริมาณและจำนวนว่าไม่ควรบริโภคเกินเท่าใดต่อวัน

5. ข้อความแจ้งว่าอาหารเสริมนั้นๆไม่ควรบริโภคแทนอาหารทั่วไป

6. ข้อความเตือนให้เก็บให้พ้นจากมือเด็ก

ทั้งนี้ ตามกฏหมายของเยอรมัน ไม่อนุญาตให้โฆษณา ปิดฉลากหรือประกาศชวนเชื่อ ที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดไปในทางผลต่อการรักษา กรณีที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์

สารเคมีอินทรีย์ที่สามารถผสมในอาหารเสริม ได้แก่ เกลือแร่ วิตามิน กรดอะมิโน (Amino Acids) กรดไขมันธรรมชาติ สารสกัดจากเครื่องเทศและสมุนไพรธรรมชาติ เป็นต้น ซึ่งจะต้องได้รับการรับรองและตรวจสอบจากหน่วยงานตรวจสอบควบคุมจากภาครัฐเยอรมัน BfR และมีปริมาณส่วนผสมไม่เกินกำหนดตามกฎระเบียบ ทั้งนี้โดยปกติ จะไม่สามารถนำวิตามินและเกลือแร่มากเกินกว่า 16 ชนิด รวมทำเป็นอาหารเสริมได้ เพราะการบริโภคเกินขนาดจะเป็นผลร้ายต่อสุขภาพได้ หน่วยงาน BfR จะดำเนินการพิจารณาและตรวจสอบเป็นกรณีๆ ไป (case-bycase) สำหรับกรณีที่ใช้สารเคมีอินทรีย์ที่ยังไม่เคยใช้เป็นส่วนผสมในอาหารเสริมหรือให้มนุษย์บริโภคมาก่อนนั้น จะต้องมีการทดลองและตรวจสอบจากหน่วยงานเพิ่มเติมมากขึ้นเป็นพิเศษ

อัตราภาษีนำเข้า

อัตราภาษีนำเข้าสินค้าอาหารเสริม (วิตามินและเกลือแร่) เข้าสู่ในตลาดเยอรมนีและสหภาพยุโรป

ประเทศไทยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า หรืออัตราภาษี เท่ากับอัตราร้อยละ 0

อัตราภาษีนำเข้าจากประเทศไทยสู่สหภาพยุโรปของทุกหมวด/รายการสินค้า สามารถหาดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://ec.europa.eu/taxation_customs/dds2/taric/taric_consultation.jsp?Lang=en&Screen=0&redirectionDate=20110210

แนวทางในการขยายตลาดส่งออกและข้อเสนอแนะ

1. ประเทศที่มีจำนวนผู้บริโภครับประทานวิตามิน และ/หรือ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมมากที่สุดในโลก ได้แก่ ประเทศไทยและฟิลิปปินส์ คิดเป็นอัตราร้อยละ 66 ของประชากรทั้งหมด อันดับรองลงมา ได้แก่ประเทศลิทัวเนีย (ร้อยละ 59) ประเทศไต้หวัน (ร้อยละ 57) และสหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 56) ตามลำดับ แต่เมื่อเปรียบเทียบผลการสำรวจความนิยมในการรับประทานในแต่ละทวีป พบว่าความนิยมในการรับประทานอย่างแพร่หลายในประเทศทวีปอเมริกาเหนือมีมากกว่าประเทศในทวีปเอเชีย ยุโรปและลาตินอเมริกา

2. สำหรับในตลาดเยอรมันและยุโรปนั้น อัตราการขยายตัวสินค้าอาหารเสริม ยังมีแนวโน้มอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอาหารเสริมที่มีส่วนผสมจากผักผลไม้สด สารสกัดจากถั่วเหลือง เครื่องเทศ มะขามป้อม สาหร่าย ลูกสมอ ว่านหางจรเข้ ชาใบหม่อน ได้รับความนิยมในประเทศเยอรมนีเพิ่มมากขึ้น ชาวเยอรมันนิยมอาหารเสริมในรูปแบบการชงดื่มมากกว่าในรูปแบบยาเม็ดวิตามิน สินค้าอาหารเสริมที่ผสมเครื่องเทศและสมุนไพรของไทยที่ได้รับความนิยม มักจะมีส่วนผสม กลิ่นและรสชาติของตะไคร้ ขิง ใบมะกรูด เป็นต้น ซึ่งสินค้าไทยเหล่านี้ได้รับการยอมรับในเรื่องคุณสมบัติทางโภชนาการและรสชาติเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยจะต้องปฎิบัติตามกฎระเบียบ Food Safety และปฏิบัติตามกฎระเบียบของ BfArM & BfR อย่างเคร่งครัด และไม่ควรระบุสรรพคุณที่ชวนเชื่อเกินความจริง หรือสรรพคุณในการรักษาโรคต่างๆ เพราะจะทำให้สินค้าจัดหมวดหมู่เป็นยารักษาโรคและต้องขึ้นทะเบียนยาต่อไป (หาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.bfarm.de และ www.bfr.bund.de )

3. ผู้ประกอบการไทยต้องระมัดระวังในเรื่องการนำสมุนไพรมาผลิตเป็นอาหารเสริม เนื่องจากกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปได้กำหนดห้ามการนำเข้าพืชที่ตัดต่อสารพันธุกรรม GMOs รวมถึงสินค้าอาหารที่มี GMOs เป็นส่วนผสมอย่างเด็ดขาด ผู้ประกอบการไทยจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นพิเศษและต้องตรวจสอบไม่ให้มี GMOs ผสมในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมของตน ก่อนส่งสินค้าเหล่านี้เข้าสู่สหภาพยุโรป

4. นอกเหนือจากกิจกรรมส่งเสริมการขาย ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและผู้ประกอบการไทยได้ร่วมมือกันจัดขึ้นแล้วนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องให้ความร่วมมือกับผู้นำเข้าในการจัดกิจกรรมพิเศษต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้นำเข้าในการนำสินค้าดังกล่าว เข้าไปวางจำหน่ายตามร้านค้าและห้างสรรพสินค้าต่างๆ นอกจากนี้จะต้องช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าอาหารเสริมของประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ชาวเยอรมนีและยุโรปรู้จักประโยชน์และรสชาติของพืชผักสมุนไพรไทย เป็นแรงกระตุ้นให้ซื้อสินค้าไทยเหล่านั้น เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารเสริมไทยในระยะยาวอย่างต่อเนื่องต่อไป

5. ปัญหาทางด้านโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการไทยยังไม่มีศูนย์กระจายสินค้าในต่างประเทศ ที่จะคอยช่วยอำนวยความสะดวก ความปลอดภัยและความรวดเร็วในการจัดส่งสินค้า รวมถึงปัญหาเรื่องอัตราการขนส่งทางเรือที่เพิ่มสูงขึ้นและมีเรือขนส่งสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณารวมตัวกันเป็น Cluster เพื่อจะได้มีอำนาจต่อรองทางการค้าเพิ่มมากขึ้นและลดต้นทุนการผลิต

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต

พฤศจิกายน 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ