สหรัฐฯ นำเข้ายางรถยนต์ประมาณร้อยละ 90 จากทั่วโลก ผลิตในสหรัฐฯ อีกร้อยละ 10 ตลาดยางรถยนต์สหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตมีการผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพการใช้งานยืนยาว และพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยนิยมซื้อรถใหม่เมื่อถึงระยะเวลาที่รถต้องซ่อม หันมาซ่อมแซมรถยนต์เพื่อเก็บรถเอาไว้ใช้ จึงส่งผลให้ความต้องการยางรถยนต์ของผู้ใช้รถในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น
ยางรถยนต์จำหน่ายในสหรัฐฯ แบ่งเป็น
1. ยางยางรถยนต์ประเภท OE (Original Equipment) คือยางรถยนต์ที่ผลิตขึ้นเฉพาะเพื่อใช้กับรถรถยนต์แต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่นของรถยนต์นั้นโดยตรง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขับขี่ บริษัทยางรถยนต์รายใหญ่ๆ ในสหรัฐฯ นิยมควบรวมกิจการ (Merge) หรือร่วม (Joint Venture) กับบริษัทรถยนต์เพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตยางรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับละรุ่นโดยเฉพาะ ยางรถยนต์ประเภทนี้ได้รับความนิยมจากผู้ใช้รถยนต์ในสหรัฐฯ อย่างกว้างขวาง
2. ยางรถยนต์ประเภท Aftermarket คือยางรถยนต์ที่ผลิตขึ้นโดยไม่เจาะจงใช้กับรถเฉพาะยี่ห้อใดรุ่นใด
- สหรัฐฯ นำเข้าสินค้ายางรถยนต์ในปี 2554 มูลค่าประมาณ 6,799 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับปี 2553 ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 5,758 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.07
- ปี 2554 สหรัฐฯ นำเข้ายางรถยนต์มากที่สุด จากประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น แคนาดา จีน และเม็กซิโก โดยประเทศไทย เป็นอันดับที่ 7
- สหรัฐฯ นำเข้าสินค้ายางรถยนต์ในปี 2555 (ม.ค. — ก.ย.) มูลค่าประมาณ 5,544 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับปี 2554 ในช่วงระยะเวลาเดียวกันมีมูลค่าประมาณ 5,067 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.42
- ช่วงม.ค. — ก.ย. 2555 สหรัฐฯ นำเข้ายางรถยนต์มากที่สุด จากประเทศเกาหลีใต้ จีน แคนาดา ญี่ปุ่น และเม็กซิโก โดยประเทศไทย เป็นอันดับที่ 6
ปี 2554 สินค้า อันดับของไทย อันดับ 1-5 คู่แข่งขันอันดับใกล้เคียง ยางรถยนต์ 401110 7 เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น แคนาดา จีน เม็กซิโก อินโดนิเซีย(6) เยอรมณี (8)
เดือน ม.ค. — ก.ย. 2555 สินค้า อันดับของไทย อันดับ 1-5 คู่แข่งขันอันดับใกล้เคียง ยางรถยนต์ 401110 6 เกาหลีใต้ จีน แคนาดา ญี่ปุ่น เม็กซิโก เม็กซิโก(5) อินโดนิเซีย(7)
- สหรัฐฯ นำเข้าสินค้ายางรถยนต์จากไทยปี 2554 มูลค่า 385 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับปี 2553 ซึ่งมีมูลค่า 311 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.88
- สหรัฐฯ นำเข้าสินค้ายางรถยนต์จากไทยปี 2555 (ม.ค. — ก.ย.) มูลค่า 387 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับปี 2554 ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน มีมูลค่า 267 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.87
ช่องทางการจำหน่ายยางรถยนต์ในสหรัฐฯ แบ่งเป็น
1. ตัวแทนจำหน่ายอิสระ เช่น Discount Tire Co., Tire Rack, American Tire Distributor
2. ตัวแทนจำหน่ายที่มียางหลากหลายยี่ห้อ เช่น Wal-Mart Store, Sears Auto Center, Pep Boys
3. Whole Seller ที่ต้องเป็นสมาชิก เช่น Sam’s Club, Costco Wholesale, BJ’s Wholesale
4. ตัวแทนจำหน่ายของบริษัทยาง เช่น Goodyear Gemini Outlet, Just Tire, Bridgestone Tire & Service Center, Tire Plus
5. ศูนย์รถยนต์ เช่น Ford Dealer, Mercedes-Benz Dealer, Honda Dealer
6. สถานที่บริการซ่อมรถทั่วไป เช่น Midas, Jiffy Lobe, EZ Lobe
7. ศูนย์ขายอุปกรณ์รถยนต์ เช่น Discount Auto Parts, Auto Zone
ผู้บริโภคสินค้ายางรถยนต์สหรัฐฯ มีปัจจัยในการเลือกซื้อยางรถยนต์ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
- ผู้บริโภคกลุ่มที่เลือกซื้อยางรถยนต์จากปัจจัยด้านราคาเป็นสำคัญ
- ผู้บริโภคกลุ่มที่นิยมยางรถยนต์ประเภท OE (Original Equipment) เนื่องจากเห็นว่ายางที่ผลิตขึ้นโดยเฉพาะเพื่อรถยนต์แต่ละยี่ห้อในแต่ละรุ่นจะมีความเหมาะสม มีสมรรถนะการใช้งานดีกว่า
- ผู้บริโภคกลุ่มที่มีความรู้เรื่องรถยนต์อย่างดี (ส่วนน้อย) กลุ่มนี้จะเลือกซื้อยางรถยนต์จากคุณสมบัติที่เหมาะสมกับสมรรถนะในการขับขี่ของรถที่ใช้
- ผู้บริโภคกลุ่มที่เลือกซื้อแบรนด์ที่มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับด้านคุณภาพในตลาด เช่น Michelin หรือBridgestone
SWOT Analysis
S
- ยางรถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทยมีคุณภาพดีได้มาตรฐานการยอมรับในระดับสากล
- ประเทศไทยมีแหล่งทรัพยากร ไทยปลูกยางส่งออกน้ำยางได้จำนวนมาก ไทยเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของโลก ผลผลิตมีมากเพียงพอสำหรับการส่งออก
- ราคาสามารถแข่งขันในตลาดได้
- ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นและอเมริกา ผู้ผลิตไทยมีความเชี่ยวชาญ และมีเทคโนโลยีการผลิตยางรถยนต์ที่ก้าวหน้า ทันสมัย
W
- ผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ๆ ของไทยเป็นผู้รับจ้างผลิตภายใต้แบรนด์ของบริษัทต่างประเทศ (OEM) การผลิตขึ้นกับคำสั่งผลิตสินค้าของบริษัทแม่ในต่างประเทศ
- โรงงานผู้ผลิตยางรถยนต์ขนาดกลางและเล็กพบปัญหาการเปลี่ยนแปลงของราคายางแผ่น และมักแข่งขันราคากันเอง
- ผู้ผลิตรายย่อยมีข้อจำกัดในการเติบโต เนื่องจากบริษัทรายใหญ่เป็นผู้ครองส่วนแบ่งในตลาด
- สหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้า (GSP) สินค้ายางรถยนต์นั่งจากไทย ร้อยละ 4
- สินค้ายางรถยนต์ไทยมีราคาสูงกว่ากว่าสินค้าจีน
O
- สหรัฐฯ ไม่เก็บภาษีนำเข้ายางแผ่น ผู้ผลิตไทยอาจ พิจารณาตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์ในสหรัฐฯ เพื่อลดต้นทุนการผลิต
- ตลาดแคริบเบียนเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ และมีความต้องการสินค้ายางรถยนต์อีกมาก
- ยางเป็นวัตถุจากธรรมชาติ ที่เป็นผลผลิตที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และแนวโน้มความต้องการสินค้ายางรถยนต์เพิ่มสูงขึ้น
-ตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสินค้ายางประเภทยางรถยนต์ใหม่สำหรับรถโดยสารหรือรถบรรทุกผู้ผลิตไทยควรเพิ่มศักยภาพด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
T
- ระยะทางขนส่งมายังสหรัฐฯ และแคริบเบียนไกล ต้นทุนค่าขนส่งสูง
- การแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ และแคริบเบียนมีความรุนแรงขึ้นทั้งจากประเทศคู่แข่งสำคัญ เช่น เกาหลีใต้มาเลเซีย และจากการขยายการผลิตของประเทศผู้ผลิตยางรายใหม่ เช่น เวียดนาม และจีน ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น
สรุป
สินค้ายางรถยนต์ไทยมีศักยภาพและโอกาสในตลาดสหรัฐฯ ทั้งนี้ เพื่อครองส่วนแบ่งตลาดและเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาสินค้ายางรถยนต์ให้ได้คุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เร่งปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การฝึกอบรมยกระดับแรงงานและเทคโนโลยีการผลิต รวมทั้งหาแหล่งเงินทุน
สคร.ไมอามี