การประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 18 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-14 พ.ย. 55 นี้ สายตาทุกคู่ต่างจับจ้องไปที่การถ่ายโอนอำนาจจากผู้นำรุ่นที่ 4 ซึ่งมี หู จิ่นเทา และเวิน เจียเป่า เป็นตัวแทน ไปยังผู้นำรุ่นที่ 5 ซึ่งมี สี จิ้นผิง และหลี่ เค่อเฉียง เป็นตัวแทน ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การแถลงนโยบายและทิศทางการบริหารของจีนต่อไปในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งมีสาระสำคัญครอบคลุมตั้งแต่การปฏิรูปการเมืองการ ปกครอง การบริหารประเทศผ่านวิกฤติเศรษฐกิจ การต่อสู้กำจัดคอร์รัปชั่น เป้าหมายและการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ กระบวนการยุติธรรม การทหาร การรักษาอธิปไตยทางทะเล และไต้หวัน
สาระสำคัญด้านนโยบายเศรษฐกิจที่นายหู จิ่นเทาได้ประกาศคือ การกำหนด "เป้าหมายทางเศรษฐกิจ" เพื่อให้พื้นฐานของการพัฒนาของจีนมีความสมดุล ประสานกลมกลืน และยั่งยืน เราควรจะสร้างรายได้ประชากรต่อจีดีพี ให้มากขึ้นเป็นเท่าตัวจากปี 2553 ทั้งสำหรับประชาชนในเมืองและชนบท โดยเราควรรักษาและมุ่งเน้นกลยุทธ์ในการส่งเสริมความต้องการภายในประเทศ ดูแลจัดการอุปสงค์อุปทานให้สอดคล้องกับความต้องการผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น เพิ่มศักยภาพการบริโภคส่วนบุคคล การลงทุนด้วยจังหวะที่เหมาะสม และขยายตลาดในประเทศ"
สำหรับ "การปฏิรูปเศรษฐกิจ" นั้น ต้องใช้ความพยายามมากขึ้น เพื่อจะปรับเปลี่ยนให้เกิดการเจริญเติบโตใหม่ๆ และทำงานอย่างหนักเพื่อปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพของกลไกเศรษฐกิจ โดยเราจะให้การสนับสนุนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาในภูมิภาคตะวันตก และพื้นที่ชนบทมากขึ้น สนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศ ให้กล้าก้าวออกไปลงทุนภายนอก เช่นเดียวกับที่ดำเนินนโยบายส่งเสริมการจ้างงาน และกระตุ้นให้เกิดการเริ่มต้นธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนตลาดจ้างงานทั้งหลายรวมถึงภาคบริการจะมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและส่งผลต่อการปรับรูปแบบโครงสร้างอุตสาหกรรม
จีนยังเตรียมตัวกับ"การรับมือกับความท้าทาย" โดยนายหูกล่าวว่า เงื่อนไข และสภาพการณ์ต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในวิถีโลก ประเทศชาติ และพรรคฯ นั้น ยังต้องเผชิญกับความท้าทาย ที่หลายเรื่องไม่เคยได้พบเจอมาก่อน และมีความเสี่ยงต่อโอกาสในการพัฒนายิ่ง ทำให้เราต้องตั้งเป้าหมายให้สูง และอุตสาหะมากขึ้น รวมทั้งพัฒนาความก้าวหน้าในด้านต่างๆ อาทิ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ความผาสุกในสังคม และคุณภาพชีวิตประชาชน
จากนโยบายข้างต้นทำให้เราเห็นถึงภาพใหญ่ของประเทศจีนที่กำลังจะดำเนินไปเพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในอนาคตได้อย่างชัดเจนแล้ว เมื่อพิจารณาถึงนโยบายด้านเศรษฐกิจในระดับมณฑลกวางตุ้ง พบว่ามีแนวทางการพัฒนาที่สำคัญได้แก่
- นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจในท้องถิ่น อาทิ การสนับสนุนด้านการเงิน และการลดภาษี
- การยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตด้วยเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัย
- การพัฒนาอุตสาหกรรมการบริการสมัยใหม่ (Modern Services Industry)
- การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (Hi-tech Industry)
- ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- การส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียง (Pearl River Delta :PRD)
- การขยายอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมเคมี
เนื่องจากมณฑลกวางตุ้งเป็นเมืองที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วที่สุดในหลายสิบปีที่ผ่านมา ประชาชนมีกำลังซื้อสูงเป็นอันดับหนึ่งของจีนโดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ลซี่งได้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในประเทศ (Domestic Consumption) มากยิ่งขึ้นดังนั้น หากพิจารณาโอกาสของธุรกิจไทยทั้งในมณฑลกวางตุ้งนี้ยังมีอีกมากในสาขาที่สอดคล้องกับแนวนโยบายเศรษฐกิจของมณฑล เช่น ธุรกิจบริการที่ไทยมีความได้เปรียบเช่น ร้านอาหาร สปา และการท่องเที่ยว เป็นต้น
อีกทั้งผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดระหว่างฮ่องกง-จีน (Closer Economic Partnership Agreement: CEPA) โดยพิจารณาใช้มณฑลกวางตุ้งเป็นช่องทางส่งสินค้าเข้าจีนภายใต้เงื่อนไขข้อตกลง CEPA ดังกล่าว สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ ผลไม้ ข้าว และยางพารา ซึ่งการค้าไทย-มณฑลกวางตุ้งจะมีส่วนช่วยส่งเสริมการค้าไทย-จีนในภาพรวมได้ด้วย
นอกจากนี้ หากพิจารณานโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจมหภาคของจีนที่ต้องการส่งเสริมการพัฒนาในเขตตะวันตกและพื้นที่ชนบท ประกอบกับการสร้างให้ประชากรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหมายถึงความต้องการซื้อและอำนาจการซื้อสินค้าในพื้นที่เหล่านี้จะมีสูงขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต จึงนับเป็นอีกหนึ่งโอกาสทางธุรกิจของไทย หากผู้ประกอบการสนใจเข้าไปศึกษาและลงทุนในตลาดใหม่ๆของจีนเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต
แหล่งข้อมูล : เว็บไซต์ผู้จัดการ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2555
http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9550000136595
เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ไชน่าเดลลี่ประจำวันที่ 12 พฤศจิกายน 2555
http://www.chinadaily.com.cn/business/2012ChinaEconomy/2012-11/12/content_15916573.htm
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว
พฤศจิกายน 2555