ผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจของยุโรปของประเทศอินโดนิเซีย
ในปี พ.ศ 2555 การพัฒนาเศรษฐกิจของอินโดนิเซียในปีนี้ กำลังเผชิญกับปัญหาความกดดันจากการขึ้นราคาน้ำมัน และมูลค่าการส่งออกที่ลดลงจากตลาดยุโรป ซึ่งเป็นตลาดหลักที่สำคัญตลาดหนึ่งของอินโดนิเซีย เนื่องจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจของยุโรปในปัจจุบัน สถานการณ์ยังมืดมัวสำหรับยุโรปในช่วงต้นปีนี้ ประเทศต่างๆ เช่น กรีซ สเปน โปรตุเกส และอิตาลี ยังคงกระเสือกกระสนเพื่อให้หลุดพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจ ในครั้งนี้ การฟื้นฟูการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจที่ดำเนินการอย่างเชื่องช้า เกิดจากการขาดความจริงจังในการแก้ปัญหาทำให้เกิดการแก้ปัญหาที่ไม่ทันการณ์ แต่อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมของเศรษฐกิจโลกยังแสดงสัญญาณการพัฒนาขึ้นมาบ้างในส่วนประเทศสหรัฐอเมริกา ในจุดสำคัญต่างๆเช่น การพัฒนาในภาคอุตสาหกรรม และอัตราการจ้างงาน
สำหรับจีนและอินเดีย ยังคงมีอัตราการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่มีอัตราไม่สูงเท่ากับ 2-3 ปีที่ผ่านมา และสำหรับตลาดอื่นๆในเอเชียก็ยังมีอัตราการเจริญเติบโตที่สูง ซึ่งส่งผลดีต่อตลาดสินค้าเกษตรกรรมของอินโดนิเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่ขึ้นอยู่กับตลาดภายในประเทศที่มีขนาดใหญ่ และขึ้นอยู่กับตลาดส่งออกสินค้าเกษตรกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องของอินโดนิเซีย แต่อย่างไรก็ตาม ในปี 2555 ราคาของสินค้าเกษตรกรรมเริ่มลดต่ำลง เนื่องจากความต้องการของตลาดจากต่างประเทศลดลง ในขณะเดียวกัน การขึ้นอยู่กับตลาดภายในประเทศของอินโดนิเซีย เริ่มได้ผลกระทบจากการไหลเข้ามาของสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ การนำเข้าสินค้าจากจีนและประเทศอื่นๆจากเอเชียจำนวนมหาศาล ก่อให้เกิดปัญหากับผู้ผลิตภายในประเทศตามมา จากสภาวะวิกฤติเศรษฐกิจของยุโรปและสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน ส่งผลให้จีน และประเทศอื่นๆในเอเชีย รวมทั้งอินโดนิเซีย จำเป็นต้องหันไปหาตลาดใหม่ๆด้วยเช่นเดียวกัน
สำหรับในปี 2555 จะเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับอินโดนิเซียในการรักษาระดับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมา แต่อย่างไรก็ตาม อินโดนิเซียยังมีโอกาสในการรักษาระดับอยู่บ้างโดยขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนในด้านต่างๆ เช่น
- การบริหารจัดการด้านการเงินของรัฐ โดยการรักษาระดับของ การขาดดุลของงบประมาณของรัฐบาลให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1.5 ของมูลค่า GDP มวลรวมของประเทศ ซึ่งจะเป็นการรักษาภาพรวมการจัดการด้านเศรษฐกิจมหภาค
- การรักษาสภาวะของระบบธนาคาร หลังจากอินโดนิเซียได้หลุดพ้นจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อ 10 ปีก่อน ธนาคารกลางของอินโดนิเซียได้สร้างระบบควบคุมธนาคารอย่างเข้มงวด โดยเฝ้าระวังการดำเนินธุรกรรมอย่างใกล้ชิด ซึ่งช่วยทำให้อินโดนิเซียมีภูมิคุ้มกันจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2552
- อินโดนิเซียมีทรัพยากรจำนวนมหาศาล ทำให้ประเทศได้เปรียบจากการปรับขึ้นราคาของสินค้าเกษตรกรรมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
- ตลาดในประเทศมีขนาดใหญ่ และผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้อินโดนิเซียในไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในตลาดโลก
- รายได้ประชากรต่อหัว ได้มีการปรับตัวสูงขึ้นเกิน 3000 เหรียญสหรัฐ ในปี 2554 ซึ่งส่งผลให้มีการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ หากมีความต้องการบริโภคสูง ก็จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตตามไปด้วยอย่างรวดเร็ว
สำหรับด้านการลงทุน ในปี 2555 มีการคาดการณ์การลงทุนจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10-10.4 โดยจะมีการลงทุนใหม่ๆ ประมาณ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ
ปัญหาใหญ่ในการเป็นอุปสรรคสำคัญในการเจริญเติบโตของอินโดนิเซียในขณะนี้คือ การขึ้นราคาสนับสนุนน้ำมันของรัฐบาล เนื่องจากผลกระทบจากน้ำมันในตลาดโลก หากราคาตลาดโลกพุ่งสูงถึง 120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล รัฐบาลจำเป็นต้องขึ้นราคาน้ำมันจาก 1,500 รูเปีย เป็น 6,000 รูเปียต่อลิตร หรือประมาณ 18 บาท รัฐบาลสามารถป้องกันการเกิดสถานการณ์ที่แย่ลงได้ โดยการพัฒนาระบบการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ การขนส่งสินค้าจากท่าเรือต้องทำอย่างรวดเร็ว และไม่ให้มีการเก็บตุนสินค้าไว้มากเกินไป ต้องบริหารจัดการกระจายสินค้าออกจากท่าเรืออย่างทันที อาจจะต้องมีมาตรการการลงโทษที่เข้มงวด เป็นต้น
ธนาคารอินโดนิเซียคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะมีการเจริญเติบโตร้อยละ 6.3 — 6.7 ในปี 2555 ในไตรมาสแรกของปี จะเติบโตร้อยละ 6.5 ผลจากการเติบโตของการลงทุนและการบริโภคของประชากรที่เพิ่มขึ้น แต่สำหรับการใช้จ่ายของรัฐบาลจะลดน้อยลง จะมีการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการพัฒนาด้านสาธารณูปโภค ในขณะเดียวกัน การส่งออกจะมีอัตราการเจริญเติบโตอย่างช้าๆ เนื่องจากความต้องการของตลาดโลกลดลง แต่จะมีการกระจายไปสู่ตลาดใหม่ๆที่กำลังเติบโต
ในปี 2554 อินโดนิเซีย มีอัตราการเจริญเติบโตร้อยละ 6.5 อย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งอยู่ในภาวะเศรษฐกิจของโลกที่มีความผันผวน และไม่แน่นอน ซึ่งส่งผลสะท้อนว่าเศรษฐกิจของอินโดนิเซียมีความมั่นคง และมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.79
อินโดนิเซียได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจยุโรปค่อนข้างน้อย เนื่องจากอินโดนิเซียพึ่งพาตลาดภายในประเทศเป็นหลัก เพราะมีจำนวนประชากรมากถึง 240 ล้านคน ประกอบกับมีทรัพยากรธรรมชาติเพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ
ในปี 2555 มีการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของอินโดนิเซียว่า จะยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจของโลกจะอยู่ในทิศทางขาลง ซึ่งคาดว่าจะเติบโตประมาณ ร้อยละ 6.3-6.7 และอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะเป็นร้อยละ 4.5 ซึ่งขึ้นอยู่กับตลาดภายในประเทศเป็นหลัก โดยมีการลงทุนเป็นปัจจัยสำคัญ และคาดว่าจะมีการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเกินดุลตามมา และจะทำให้เงินสกุลรูเปียแข็งค่าขึ้น ไม่แปรปรวนมากนัก
ในปี 2554 ไทยส่งออกมายังอินโดนิเซียมีมูลค่า 10,078 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีการส่งออกสินค้า 10 รายการแรก ได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์ น้ำตาล เครื่องจักรกลและชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ชิ้นส่วน อิเลคโทรนิกส์ ข้าว มันสำปะหลัง เหล็กและผลิตภัณฑ์ และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ในปี 2555 มกราคม — เมษายน มีมูลค่าการส่งออกมายังอินโดนิเซีย 3,672 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 7.31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน
ไทยเป็นคู่ค้าสำคัญของอินโดนิเซียโดยนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยเป็นอันดับที่ 6 รองลงมาจาก จีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา สินค้าที่ไทยนำเข้าจากอินโดนิเซีย ได้แก่ น้ำมันปาล์ม ถ่านหิน แร่ธาตุ เครื่องจักรกล ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ประเทศที่อินโดนิเซียส่งออกสินค้าไปยังตลาดหลัก 10 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ สหรัฐ เกาหลีใต้ อินเดีย มาเลเซีย ใต้หวัน ไทย และออสเตรเลีย ซึ่งจะมีการส่งออกไปยังประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปเป็นตลาดรอง เช่น เนเธอร์แลนด์ เยอรมันนี อิตาลี และสเปน ซึ่งมีอัตราการเจริญเติบลดลงในปัจจุบันร้อยละ 11.6, ร้อยละ 5.3, ร้อยละ 18.9, และร้อยละ 13.3 ตามลำดับ (มูลค่าการส่งออกประมาณ รวม 4 ประเทศ 14,031 ล้านเหรียญสหรัฐ)
สินค้าที่อินโดนิเซียนำเข้าจากประเทศไทย ส่วนใหญ่เพื่อการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก และมีบางส่วนที่นำมาผลิตและส่งออกไปยังประเทศอื่น แต่มีไม่มากนัก เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เมล็ดพลาสติก สินค้าที่อินโดนิเซียส่งออกไปยังตลาดโลก 7 อันดับแรก ได้แก่ ถ่านหิน กาซ น้ำมันปาล์ม น้ำมัน ยางพารา แร่ทองแดง มะพร้าว เป็นต้น โดยในปี 2554 มีมูลค่าการส่งออกไปต่างประเทศ ประมาณ 203,496 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ กรุงจาการ์ตา