ข่าวเศรษฐกิจ กฎระเบียบ: ผู้ค้าปลีกและบริษัทยาแสดงท่าทีไม่พอใจกฎระเบียบการนำเข้าใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 30, 2012 11:39 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ กฎระเบียบ: ผู้ค้าปลีกและบริษัทยาแสดงท่าทีไม่พอใจกฎระเบียบการนำเข้าใหม่

เมื่อไม่นานนี้ ผู้ค้าปลีกรายใหญ่อินโดนีเซียได้เรียกร้องให้รัฐบาลปรับกฎระเบียบฉบับใหม่เกี่ยวกับการจำกัดการนำเข้าผลิตภัณฑ์แปรรูป โดยผู้ค้าปลีกได้ท้วงว่า นโยบายการจำกัดนำเข้าดังกล่าวจะส่งผลกระทบด้านลบแก่ธุรกิจการค้าปลีกอย่างรุนแรง

ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา กรรมการบริหาร สมาคมผู้ค้าปลีกอินโดนีเซีย (Aprindo) นาย ทูทุม ราฮันทา (Tutum Rahanta) ได้เข้าร้องว่า กฎระเบียบใหม่ที่ออกมารังแต่จะส่งผลเสียแก่กิจการห้างร้านค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้างร้านค้าที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เนื่องด้วยกฎระเบียบใหม่ที่กำหนดให้สามารถนำเข้าสินค้าเพียงหนึ่งประเภทต่อหนึ่งผู้ค้าปลีกเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ผู้ค้าปลีกหนึ่งรายให้นำเข้าได้แต่สินค้าจำพวกสิ่งทอ หรือ ห้างร้านค้าหนึ่งรายให้นำเข้าได้แต่สินค้ากลุ่มรองเท้าเพียงอย่างเดียว

ซึ่งตามความเป็นจริง ห้างร้านค้าปลีกโดยในปัจจุบัน ต้องนำเข้าสินค้าหลากหลายรายการครอบคลุมสินค้าสำเร็จรูปทั้งประเภทอุปโภคบริโภคที่แตกต่างกัน เช่นสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม, เครื่องสำอาง, เสื้อผ้าและสิ่งทอ, รองเท้า และ อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ

นาย ทูทุม ยังได้ชี้แจงในการประชุมสุดยอดการค้าปลีก 2555 ในจาการ์ตาว่า ผู้ค้าปลีกไม่ควรถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มผู้นำเข้าทั่วไป (General importers) เนื่องด้วยในสายงานธุรกิจผู้ค้าปลีกทั่วๆไป ต้องมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์หลายประเภทจากแต่ละแบรนด์สินค้าตามพันธะธุรกิจของตนเอง ซึ่งผู้ค้าห้างร้านต่างๆได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างรุนแรงจากจากออกกฎระเบียบใหม่นี้ โดยระเบียบใหม่ได้สร้างความยุ่งยากต่อกลุ่มธุรกิจผู้ค้าปลีกโดยไม่จำเป็น โดยกำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าต้องดำเนินการขอตั้งบริษัทแยกเพิ่มขึ้นตามประเภทของการนำเข้าผลิตภัณฑ์สินค้าที่แตกต่างกันไป” นาย ทูทุม ยังได้กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลควรพิจารณาให้มีการยกเว้นกลุ่มธุรกิจผู้ค้าปลีกออกจากกฎระเบียบการควบคุมสินค้าสำเร็จรูปนำเข้าใหม่ อันจะช่วยให้กลุ่มผู้ค้าปลีกสามารถนำเข้ากลุ่มสินค้าที่แตกต่างกัน ในกรณีที่สินค้าเหล่านี้อยู่ภายใต้แบรนด์เครื่องหมายการค้าเดียวกันได้ตามปกติ

ภายในสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงการค้าได้ออกระเบียบใหม่เกี่ยวกับการควบคุมปริมาณสินค้านำเข้าสำเร็จรูปโดยมีวัตถุประสงค์หลักที่จะกระตุ้นการลงทุนและเร่งการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ ระเบียบใหม่ที่ถูกประกาศให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม มีเนื้อหากำหนดให้ผู้นำเข้าทั่วไปสามารถนำเข้าสินค้าได้เฉพาะจากสินค้าหมวดหมู่เดียวกันเท่านั้น โดยก่อนหน้านี้ผู้นำเข้าทั่วไปสามารถนำเข้าผลิตภัณฑ์ได้อย่างหลากหลายจากกลุ่มประเภทสินค้าที่แตกต่างกัน

นอกจากนี้ใน ระเบียบใหม่ดังกล่าวยังระบุในรายละเอียดให้ผู้นำเข้าเพื่อการผลิตได้รับอนุญาตการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ (Raw materials) และสินค้าชิ้นส่วนขั้นกลาง (intermediate goods) ที่ใช้ในกระบวนการผลิต และยังระบุอนุญาตให้นำเข้าสินค้าสำเร็จรูปที่ใช้เฉพาะในการทดสอบตลาดและการสนับสนุนกิจกรรมการผลิต ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดโควต้าสินค้านำเข้าและกรอบเวลาที่จะกำหนดโดยกระทรวงการค้า

ปัจจุบันประเทศอินโดนีเซียนำเข้าสินค้าหลากหลายมากกว่า 8,000 ชนิด จำแนกตามระบบเลขพิกัดอัตราศุลกากรสากล (harmonized system) ถึง 21 กลุ่มสินค้า

เลขานุการผู้บริหารกลุ่มสมาคมผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์ระหว่างประเทศ ( the International Pharmaceutical Manufacturers Group (IPMG )) นาย ปารูเลียน สิมานจูนทัก (Parulian Simanjuntak) ตัวแทนผู้ประกอบการผลิตและบริษัทจำหน่ายยาในประเทศอินโดนีเซียทั้ง 34 ราย ยังกล่าวไปในแนวทางเดียวกันกับสมาคมผู้ค้าปลีกอินโดนีเซียว่า ปัญหาใหม่ที่จะเกิดตามมาจากการออกระเบียบดังกล่าว ที่ระบุให้ผู้ประกอบการนำเข้าเภสัชภัณฑ์และผลิตยาถูกจัดรวมอยู่ในผู้นำเข้าประเภท "ผู้นำเข้าทั่วไป" ต้องมีการจดทะเบียนบริษัทแยกเพิ่มขึ้นตามหมวดสินค้านำเข้า เพื่อที่จะสามารถได้รับใบอนุญาตนำเข้าสินค้าเภสัชภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆนอกเหนือจากยารักษาโรค

โดยปัจจุบัน นอกเหนือไปจากสินค้ากลุ่มยาจดสิทธิบัตรและสินค้าวัตถุดิบที่ใช้ในกระบวนการผลิตด้านเภสัชกรรม สมาชิกสมาคมผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์ยังต้องนำเข้าสินค้ากลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์และสุขภาพ ซึ่งดูเหมือนการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจะเต็มไปด้วยอุปสรรคนานาประการ ภายใต้กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปฉบับใหม่

สำนักงานส่งเสริมการค้า ฯ ณ กรุงจาการ์ตา

แปลและเรียบเรียง: ธุวดา ส่งแสง
ที่มา: หนังสือพิมพ์ Jakarta Post วันศุกร์ 11/05/2012 “New import regulation upsets big retailers, pharmaceutical firms”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ