ข่าวเศรษฐกิจ กฎระเบียบ: ผู้ค้าปลีกร้องขอแก้ไขการควบคุมการนำเข้าผลไม้ใหม่โดยด่วน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 30, 2012 11:41 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ กฎระเบียบ: ผู้ค้าปลีกร้องขอแก้ไขการควบคุมการนำเข้าผลไม้ใหม่โดยด่วน

ผู้ค้าปลีกท้องถิ่นในอินโดนีเซียวอนให้รัฐทบทวนระเบียบใหม่เกี่ยวกับการจำกัดการนำเข้าสินค้าพืชทางการเกษตรกลุ่มพืชผักผลไม้อย่างเร่งด่วน ซึ่งคาดว่ากฎระเบียบใหม่ดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับธุรกิจการค้าผักผลไม้ภายในประเทศ

โดยภายใต้ระเบียบใหม่เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์พืชทางการเกษตร, อนุญาตให้ร้านค้าปลีกสามารถหาซื้อผักผลไม้ผ่านตัวแทนจำหน่ายในท้องถิ่นเท่านั้น โดยห้ามนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์พืชทางการเกษตรโดยตรงด้วยตนเอง

รองเลขาธิการ นาย ศัตรียะ ฮามิด (Satria Hamid) สมาคมผู้ค้าปลีกแห่งอินโดนีเซีย (The Indonesian Retailers Association: Aprindo) ตัวแทนผู้ประกอบการห้างร้านค้าปลีกในท้องถิ่นได้เรียกร้องในวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า รัฐควรจะเข้ามาแก้ไขระเบียบการควบคุมการนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์พืชทางการเกษตรดังกล่าว โดยผ่อนผันให้ผู้ค้าปลีกสามารถนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์พืชดังกล่าวเมื่อจำเป็น เพื่อที่รักษารายได้และกลุ่มลูกค้ารวมทั้งหน้าที่รับผิดชอบและประสิทธิภาพการดำเนินงานของภาคธุรกิจแก่ผู้บริโภค

ทั้งนี้กฎใหม่มีผลให้กระบวนการนำเข้ารวมไปถึงกระบวนการจัดส่งและจำหน่ายสินค้าสู่ผู้บริโภค มีขั้นตอนที่ยืดเยื้อยุ่งยากมากขึ้น โดยต้องนำเข้าสินค้าผ่านตัวแทนจำหน่ายอันเป็นขั้นตอนที่เพิ่มค่าใช้จ่ายในการนำเข้าโดยไม่จำเป็น"

ระเบียบใหม่ยังกำหนดให้ผู้ค้าปลีกในท้องถิ่น (Local retailers) จัดซื้อผักและผลไม้จากตัวแทนผู้จัดจำหน่าย (distributors) เป็นอย่างน้อย 3 แห่ง ซึ่งตัวแทนผู้จัดจำหน่ายเหล่านี้จะต้องรับซื้อผ่านผู้นำเข้าทั่วไป (general importers) อีกทอดหนึ่ง

อธิบดีกระทรวงการค้าฝ่ายการค้าต่างประเทศ นาย เด็ดดี ซาเลห์ (Deddy Saleh) ได้ให้เหตุผลโต้แย้งว่า ก่อนหน้านี้ทางกระทรวงมักได้รับแจ้งว่า ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกนิยมการนำเข้าสินค้าที่ต่ำกว่ามาตรฐานตลาดสากลโดยการนำเข้าด้วยตนเองโดยตรง อันส่งผลให้ผู้ค้าปลีกสามารถแสวงหาประโยชน์กำไรโดยการขายผักและผลไม้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาขายตามท้องตลาดทั่วไป

ปัจจุบันร้านค้าปลีกในท้องถิ่นจัดซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์พืชทางการเกษตร ถึงร้อยละ 70 จากผู้จัดจำหน่าย (supplier)สินค้านำเข้าทั่วไปอยู่เดิมแล้ว เพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่ใช้วิธีการนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์พืชทางการเกษตรโดยตรงด้วยตนเอง ในกลุ่มสินค้าที่มีความเจาะจงเป็นพิเศษ (product differentiation)

นาย ศัตรียะ ยังได้ชี้แจงต่อไปว่า นอกเหนือไปกว่านั้นผู้นำเข้ายังจะได้รับผลกระทบลบอื่น โดยเฉพาะจากการเพิ่มภาระค่าขนส่งที่จะเพิ่มขึ้นตามข้อกำหนดใหม่ที่ระบุให้มีการนำเข้าผ่านท่าเรือที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนเส้นทางการนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์พืชตามคำประกาศยกเลิกการนำเข้าผ่าน ท่าเรือ Tanjung Priok — ซึ่งนับเป็นจุดนำเข้าหลักมากกว่าครึ่งหนึ่งของสินค้าผลิตภัณฑ์พืชทางการเกษตรในตลาดอินโดนีเซียปัจจุบัน

การยกเลิกการนำเข้าผ่านท่าเรือ Tanjung Priok ภายใต้นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเกษตรในการจำกัดจุดนำเข้าสินค้าจาก 8 ท่าเรือ เหลือ 4 ท่าเรือ เพื่อเข้าควบคุมการกำกับดูแลการนำเข้าผลิตภัณฑ์พืชทางการเกษตรให้เข้มงวดได้มาตรฐานยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มการรับรองความปลอดภัยของผู้บริโภคของอินโดนีเซีย โดยทางกระทรวงการเกษตรได้ชี้แจงเหตุผลการปิดท่าเรือหลักดังกล่าวว่า การตรวจสอบที่ท่าเรือ Tanjung Priok เป็นไปอย่างเกินขีดกำลังและความสามารถของโครงสร้างท่าเรือที่จะเข้าไปตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง

ทางด้าน กรรมการบริหาร สมาคมผู้ค้าปลีกอินโดนีเซีย (Aprindo) นาย ทูทุม ราฮันทา (Tutum Rahanta) ยังได้กล่าวขยายความถึงประเด็นที่ยุ่งยากในการนำเข้าสินค้าตามระเบียบใหม่ว่า ตามตัวเลขสถิติทั่วไปการนำเข้าโดยตรงมีปริมาณน้อยคิดตามสัดส่วนแบ่งทางการตลาด (ร้อยละ 30) ในทางปฏิบัติบ่อยครั้งที่ผู้นำเข้าทั่วไปมักไม่ให้ความสนใจและมักจะปฏิเสธการนำเข้ากลุ่มสินค้าพิเศษดังกล่าวที่มีความต้องการทางตลาดปริมาณไม่มาก อันจะมีผลต่อเนื่องถึงร้านค้าปลีกในท้องถิ่นที่จะไม่สามารถจัดหากลุ่มสินค้าพิเศษเพื่อรองรับความต้องการทางตลาดภายในประเทศได้

กลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกยังได้ร้องขอให้กระทรวงมีการแก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับการอนุญาตนำเข้าที่กำหนดให้สามารถนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์เพียงประเภทเดียวต่อหนึ่งผู้นำเข้าทั่วไป ทางกระทรวงเองได้แสดงท่าทีตกลงที่จะแก้ไขกฎระเบียบการนำเข้าดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตามยังมีเสียงติงจากห้างร้านค้ารายปลีกย่อยเกี่ยวกับระยะเวลาการดำเนินการแก้ไขเป็นไปค่อนข้างล่าช้า และอาจไม่ทันการ

หลังจากการเข้าร้องของผู้ค้าปลีก รัฐบาลได้แสดงท่าทีตกลงที่จะยกเว้นกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกและกลุ่มบริษัทการตลาดเชิงลึก (multilevel marketers) ออกจากหมวดผู้นำเข้าทั่วไป ซึ่งจะทำให้กลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกดังกล่าวได้รับการปฏิบัติพิเศษต่างจากผู้นำเข้าทั่วไป อย่างไรก็ตาม นาย ทูทุม ได้กล่าวเชิงติงทิ้งท้ายไว้ว่า รัฐเองควรทบทวนกฎระเบียบให้เร็วที่สุดก่อนที่สินค้าจะขาดตลาด ซึ่งจะไม่เป็นผลดีแก่ผู้บริโภคภายในประเทศ

สำนักงานส่งเสริมการค้า ฯ ณ กรุงจาการ์ตา

แปลและเรียบเรียง: ธุวดา ส่งแสง
ที่มา: หนังสือพิมพ์ Jakarta Post วันเสาร์ 19/05/2012 “Retailers ask for quick fix in new fruit import regulation”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ