กว่างซีสร้างเวทีการค้าขายยางพารานานาชาติ
เมื่อวันที่ 10 กรกฏาคม 2012 หน่วยงาน MOFCOM(Ministry of Commerce) แห่งกว่างซี รายงานว่ายางพาราธรรมชาติกลายเป็นสินค้าที่นำเข้ามากที่สุดของด่านตงซิงแห่งกว่างซี ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำกว่างซีให้เป็นเวทีการค้าขายยางพารานานาชาติ ซึ่งเป็นโอกาสขยายความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ระหว่างเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
จีนเป็นประเทศที่ติดอันดับหนึ่งของโลกที่บริโภคและนำเข้ายางพารา กล่าวคือ มีการนำเข้ายางพาราธรรมชาติ 2.15 ล้านตัน/ปี ทั้งนี้ นายหวัง เต๋อหมิง เลขาธิการสมาคมวิจัยตลาดและเศรษฐกิจแห่งกว่างซีรายงานว่า ด่านตงซิงเป็นด่านทางบกที่นำเข้ายางพารามากที่สุดของจีน หรือนำเข้ายางพาราจากประเทศอาเซียนประมาณ 4 - 5 แสนตัน/ปีที่ผ่านด่านนี้ เช่น จากเวียดนาม เป็นต้น อย่างไรก็ดี ยางพาราที่นำเข้าทางด่านนี้ ส่วนมากจะถูกส่งไปยังชิงต่าว เซี่ยงไฮ้ ฯลฯ เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์กึ่งสำเสร็จรูปแล้วส่งกลับไปจำหน่ายยังกว่างซี กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน และมณฑลอื่นๆ ที่อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ยางพาราจึงได้ “ท่องเที่ยว” ไปในหลายพื้นที่ของจีน ทำให้ต้นทุนการผลิตและแปรรูปสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น ปัญหาสำคัญจึงอยู่ประเด็นที่ว่า ทำอย่างไรจึงสามารถลดลงต้นทุนและเพิ่มมูลค่าของยางพาราที่นำเข้าได้ ในปัจจุบัน เมืองตงซิงได้สร้างตลาดสินค้ายางพาราขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นที่ยอมรับของ
ประเทศอาเซียนที่เพาะปลูกยางพารา รวมทั้งกลายเป็นฐานที่จัดซื้อยางพาราของผู้ประกอบการจีนอีกด้วย โดยช่วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2012 การค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามีมูลค่า 11.193 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 1.1 เท่าตัวเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งด่านตงซิงได้ใช้นโยบายที่ส่งเสริมให้การผ่านด่านสะดวก รวดเร็ว และสามารถกระจายสินค้าไปทั่วจีนได้มากขึ้น นอกจากนี้ เมืองกุ้ยหลินยังเป็นฐานการผลิตล้อยางรถยนต์ที่ใหญ่สุดของภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งห่างจากด่านตงซิงประมาณ 560 กิโลเมตร
ทั้งนี้ การเพาะปลูกยางพาราของประเทศอาเซียนมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งมีรายงานว่า ปี 2015 เวียดนามจะเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกถึง 1,000 ล้าน ตร.ม. และการเพาะปลูกจะบรรลุเป้าหมาย 1 ล้านตันภายในปี 2020 รวมทั้งเวียดนามยังมีการส่งเสริมความร่วมมือกับกัมพูชาและลาว เพื่อขยายการเพาะปลูกยางพาราให้มากขึ้น
จากความต้องการของตลาดที่ใหญ่โต ช่องทางการกระจายสินค้าที่สะดวก และสภาพ แวดล้อมทางการค้าที่ดี ทำให้อุตสาหกรรมยางพาราของเมืองตงซิงมีศักยภาพมาก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนมีความคิดเห็นเชิงบวกเกี่ยวกับการสร้างเวทีการค้าขายยางพารานานาชาติ และในงานสัมมนาเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราเมืองตงซิง ผู้เข้าร่วมงานเห็นพ้องกันว่า เมืองตงซิงต้องใช้ความได้เปรียบที่อยู่ติดกับประเทศอาเซียนซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกยางพาราที่สำคัญ และการมีตลาดภายในที่มีการบริโภคยางพาราอยู่ในระดับสูง ทำการพัฒนาและบูรณาการการค้าและการแปรรูปยางพาราจนสามารถกำหนดตำแหน่ง (Positioning) ในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราระหว่างจีน - อาเซียน
ที่มา: http://www.qrx.cn/
สคต.หนานหนิง