ร้านอาหารไทยแฟรนไชส์ในจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 26, 2012 11:37 —กรมส่งเสริมการส่งออก

วันที่ 7 กรกฏาคม 2555 นางสาวถิรวรรณ ทองประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ได้รับเชิญจากเจ้าของธุรกิจเฟรนไชส์ภายใต้ชื่อร้านช้างทอง ซึ่งเป็นธุรกิจร้านอาหารไทยในจีน ให้เข้าร่วมงานฉลองครบรอบ 1 ปีของการเปิดกิจการร้านช้างทองซึ่งเป็นอาหารไทยในเมืองผู่เถียนมณฑลฝูเจี้ยน

ร้านอาหารไทยในเมืองผู่เถียน

เมืองผู่เถียน ตั้งอยู่ในภาคกลางของมณฑลฝูเจี้ยน ห่างจากเมืองเซี่ยเหมินประมาณ 175 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 4,119 ตารางกิโลเมตร มีจำนวนประชากร มากกว่า 3 ล้านคน และก่อนหน้าที่ร้านช้างทองจะมาเปิดที่ผู่เถียน เมืองแห่งนี้ยังไม่มีร้านอาหารเปิดให้บริการมาก่อน นั่นหมายถึงผู้บริโภคในผู่เถียนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้จักและลองลิ้มชิมรสอาหารไทยเลย ซึ่งร้านช้างทองสาขาผู่เถียนมีชายหนุ่มวัยรุ่นอายุราว 25-30 ปี 3 คนเป็นเจ้าของกิจการร่วมกัน ที่มีความคิดตรงกันว่าอยากทำธุรกิจร้านอาหารไทยในผู่เถียน หลังจากศึกษาข้อมูลแล้วทราบว่า ร้านอาหารไทยที่ใช้ชื่อว่าช้างทองนั้น เป็นธุรกิจเฟรนไชส์ร้านอาหารไทยที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากผู้บริโภคในเมืองเซี่ยเหมินและเมืองอื่นๆในมณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งปัจจุบันร้านช้างทองมีธุรกิจเฟรนไชส์ กว่าสิบสาขาในจีนและวางแผนจะขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในอนาคต ดังนั้น จึงได้ติดต่อขอซื้อเฟรนไชส์ร้านช้างทองมาเปิดในเมืองผู่เถียนทันที โดยร้านช้างทองสาขาผู่เถียนใช้เงินลงทุนก่อสร้างและตกแต่งภายในกว่า 15 ล้านบาท

ทำเลที่ตั้งของร้านช้างทองในผู่เถียน

ร้านช้างทองในผู่เถียน เป็น 1 ใน 9 สาขาของร้านช้างทองสาขาอื่นๆที่กระจายในมณฑลฝูเจี้ยนและมณฑลรอบข้าง หลังจากดำเนินธุรกิจมาครบหนึ่งปีทราบว่ามีผลประกอบการที่น่าพอใจ กลุ่มลูกค้าขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ร้านช้างทองในผู่เถียนตั้งอยู่บนชั้น 2 ของตึกอาคารพานิยช์แห่งหนึ่งในย่านชุมชนใจกลางเมืองผู่เถียน ที่เป็นแหล่งช๊อปปิ้ง สถานบันเทิงต่างๆ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ร้านช้างทองเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็ว การตกแต่งภายในของร้านช้างทองในผู่เถียนมีลักษณะคล้ายกับกับร้านช้างทองสาขาอื่น มีความเป็นไทย ประดับตกแต่งด้วยภาพเขียนหรือภาพแขวนฝาผนังที่แสดงศิลปะวัฒนธรรมไทย โดนภายในร้านกว้างขวางมีพื้นที่ใช้สอยราว 1,200 ตารางเมตร สามารถให้บริการได้ 54 โต๊ะ บรรจุลูกค้าได้ประมาณ 300 คน พ่อครัว 20 คนและพนักงานอีก 25 คน

เมนูที่ร้านช้างทองนำเสนอ

เมืองผู่เถียนเป็นเมืองประชากรมีการกระจายตัวออกไปตามพื้นที่ต่างๆไม่กระจุกอยุ่ในจุดใดจุดหนึ่ง มีร้านอาหารต่างชาติ อาทิ เกาหลี ญี่ปุ่น และอิตาลี เข้ามาเปิดกิจการจำนวนมาก แต่ดูจากกระแสตอบรับและรายได้จากผลประกอบการแล้ว อาจพูดได้ว่าร้านอาหารไทยแห่งนี้ ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากที่สุด ทางร้านได้มีการปรับปรุงรสชาติของอาหารตามรสนิยมของชาวผู่เถียน ทำให้ผู้บริโภคสามารถเปิดรับอาหารใหม่ๆที่ไม่คุ้นเคยได้ดียิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่นเมนูต้มยำกุ้งของร้านนี้จะเน้นรสเปรี้ยวและหวานนำ และจะไม่เผ็ดมากเนื่องจากชาวผู่เถียนไม่นิยมทานอาหารรสจัดนั่นเอง แต่หากมีผู้บริโภคที่ประสงค์จะลองรับประทานรสชาติจัดจ้านในแบบฉบับอาหารไทยต้นตำรับก็สามารถสั่งได้ ถึงแม้ว่ารสชาติอาหารของมีการปรับปรุงตามรสนิยมของผู้บริโภคท้องถิ่น แต่ทางร้านยังคงรักษาเอกลักษณ์ความเป็นไทยไว้เหมือนกับสาขาแม่และสาขาอื่นๆ ทั้งในส่วนการตกแต่ง รสชาติอาหารและการบริการที่เป็นกันเอง นอกจากเมนูอาหารไทยที่ติดใจผู้บริโภคแล้วยังมีโชว์การแสดงทั้งไทย-จีน ที่ถือเป็นบริการพิเศษจากทางร้านที่สามารถเรียกความสนใจจากลูกค้าได้ไม่น้อยเลยทีเดียว จะเห็นได้ว่ากลุ่มลูกค้าที่มารับประทานอาหารในร้านนี้ส่วนใหญ่มาเป็นครอบครัวหรือหมู่คณะ ยิ่งเฉพาะในวันหยุดเทศกาลต่างๆจะมีลูกค้าแน่นขนัดเลยทีเดียว

โอกาสของร้านอาหารไทยในจีน

กลุ่มลูกค้าหลักของร้านอาหารไทยในจีนแบ่งได้สามกลุ่มหลักๆคือ กลุ่มผู้บริโภควัยทำงานที่มีรายได้ค่อนข้างสูง กลุ่มวัยรุ่นนักเรียนนักศึกษาที่นิยมการลองบริโภคอาหารต่างชาติใหม่ๆ กลุ่มชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศจีน จำนวนประชากรที่มากถึง 1300 ล้านคนของจีน ประกอบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจและผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อมากขึ้น นอกจากนี้ชาวจีนปัจจุบันยังนิยมทานข้าวนอกบ้าน อีกทั้งวัฒนธรรมบริโภคที่หลายหลายของจีน ส่งผลให้ธุรกิจอาหารจากทั่วทุกมุมโลกต่างมุ่งไปสู่ประเทศจีน ปัจจุบันกระแสการกินเพื่อสุขภาพกำลังเป็นที่นิยมในประเทศจีน อาหารไทยที่มีสมุนไพรที่ช่วยบำรุงสุขภาพและรักษาโรค วัดได้จากกระแสตอบรับของผู้บริโภคที่เคยรับประทานอาหารไทยต่างติดอกติดใจในรสชาติที่มีความเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครอาหารไทยจึงถือเป็นอีกหนึ่งคำตอบที่โดนใจผู้บริโภคจีนจำนวนมาก

ปัญหาและอุปสรรค

ปัญหาหลักของร้านอาหารไทยในจีนคือขาดแคลนพ่อครัวแม่ครัวคนไทย เนื่องจากข้อจำกัดของกฏหมายแรงงานของประเทศจีน ทำให้การนำเข้าพ่อครัวแม่ครัวจากไทยโดยตรงจึงมีค่าใช้จ่ายสูงและเป็นไปได้อย่างยากลำบาก อีกทั้งพ่อครัวแม่ครัวที่มาจากไทยมักปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างทางด้านภาษาและวัฒนธรรมได้ยากส่งผลให้พ่อครัวแม่ครัวที่มารับจ้างในร้านอาหารไทยในจีนทำงานได้ไม่นานนัก

เรียบเรียงโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ