TRENDSET รูปแบบการจัดงานแสดงสินค้า Living & Lifestyle ที่น่าสนใจในเยอรมนี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 16, 2012 15:15 —กรมส่งเสริมการส่งออก

TRENDSET เป็นงานแสดงสินค้า Consumer goods นานาชาติ(ระดับภูมิภาค)ที่จัดขึ้นประจำปีปีละสองครั้งในช่วงเดือนกรกฎาคม(ฤดูร้อน) และเดือนมกราคม(ฤดูหนาว) และงาน TRENDSET ช่วงฤดูร้อนจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 กรกฎาคม 2555 ณ ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติเมืองมิวนิค (Messe Munich) ที่เพิ่งจบลงไปนั้นเป็นการจัดงานเป็นครั้งที่ 100 พอดี งานในครั้งนี้สำเร็จลงอย่างงดงามด้วยจำนวนผู้เข้าชมมากกว่า TRENDSET ฤดูร้อนก่อนหน้า ผู้เข้าชมงานส่วนมากมาจากตลาดเยอรมนี ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์โดยรวมแล้วเป็นจำนวนกว่า 33,600 ราย และ TRENDSET ครั้งนี้ยังคงไว้ซึ่งบรรยากาศแบบผ่อนคลาย ชวนให้การเจรจาต่อรองทางธุรกิจเกิดขึ้นในรูปแบบที่ไม่เคร่งขรึม แต่มีความเป็นกันเองเหมือนเช่นทุกๆครั้งที่ผ่านมา แม้ว่าผู้เข้าร่วมชมงานทั้งหมดจะถูกจำกัดไว้เฉพาะกลุ่มธุรกิจห้างร้านและไม่ได้เปิดให้สำหรับผู้บริโภคหรือผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมชมสินค้าภายในงานได้ก็ตามที และบริษัทผู้ร่วมแสดงสินค้าส่วนใหญ่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าได้รับผลตอบรับที่ดีจากตลาดและได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากการแสดงสินค้าภายในงานและหลังจากงานจบลง

งาน TRENDSET ครั้งนี้มีผู้ร่วมแสดงสินค้ามากกว่า 2,500 แบรนด์และคอลเลคชั่นมาจากกว่า 40 ประเทศ ที่ดึงดูดให้ผู้ค้าทั้งจาก เยอรมนี และภูมิภาคใกล้เคียงอย่างออสเตรียสวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงตอนเหนือของอิตาลีและตลาดยุโรปตะวันออกเขตติดต่อเยอรมนีสนใจเข้ามาชมงานดังกล่าวที่มิวนิค โดยประโยชน์ของการเข้าชมงาน TRENDSET ฤดูร้อน 2012 นี้ได้แก่ การที่ผู้เข้าร่วมงานได้รับรู้ทิศทางหรือ Trends ของผลิตภัณฑ์และสินค้าออกมาใหม่สำหรับฤดูใบไม้ผลิในปี 2013 และโอกาสในการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์/สินค้าสำหรับช่วงเทศกาลคริสต์มาสที่กำลังจะมาถึงอีกด้วย

การนำเสนอสินค้าภายในงานจัดแบ่งออกตามหมวดหมู่ของสินค้าเป็น 12 ประเภทประกอบด้วย (1) กลุ่มเฟอร์นิเจอร์และสิ่งทอสำหรับที่อยู่อาศัย (2) กลุ่มสินค้าLifestyle และของตกแต่งบ้านที่มีดีไซน์ (3) กลุ่มเครื่องแก้ว เครื่องปั้นดินเผาและเซรามิคส์ (4) กลุ่มเครื่องครัวและเครื่องใช้ภายในบ้านและบนโต๊ะอาหาร (5) กลุ่มของขวัญ ของที่ระลึก และของเล่น (6) กลุ่มของประดับตกแต่งในเทศกาลคริสต์มาส และเทศกาลเฉลิมฉลอง(7) กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องหอม ชำระร่างกายและเวลเนส (8) กลุ่มเครื่องใช้ในการจัดแต่งสวนและกิจกรรมยามว่างอื่นๆ (9) กลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับงานอดิเรกประเภทศิลปะ หัตถกรรม และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษ (10) กลุ่มเครื่องใช้ในสำนักงานและเครื่องเขียน (11) กลุ่มเครื่องหนังและกระเป๋าถือ กระเป๋าเดินทาง (12) กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ จัดแสดงแยกตามประเภทสินค้าอยู่ใน 7 อาคารที่มีทางเดินเชื่อมต่อกันทั้งหมด และในอีก 2 อาคารเป็นการร่วมจัดงานแสดงสินค้า Bijoutex กลุ่มสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับแฟชั่นที่มีทั้งเครื่องประดับแท้และเทียมซึ่งสามารถซื้อขายได้ในทันทีในราคาค้าส่งตามปริมาณที่กำหนดขั้นต่ำ

ผู้จัดงาน TRENDSET ได้นำเสนอแนวคิดการแสดงสินค้าแนวใหม่ ที่ทำให้งานครั้งนี้น่าสนใจมากยิ่งขึ้นคือการจัดพื้นที่แสดงสินค้าที่เป็น Top seller ไว้โดยเฉพาะ หรือเรียกว่า Topseller Area โดยได้นำสินค้ายอดนิยมหรือที่ขายดีที่สุดในรอบ 50 ปีของการจัดงาน TRENDSET ที่ผ่านมารวมทั้งสิ้น 35 ผลิตภัณฑ์มาจัดแสดงเป็นพิเศษ ตัวอย่างเช่น เครื่องครัว(เครื่องบดพริก“PEPE”)จากบริษัท AdHOC Design GmbH และเครื่องต้มไข่ “PiepEi” หรือ “Beep Egg” ที่สามารถต้มไข่โดยกำหนดขนาดความสุกของไข่ที่ต้มได้ตามต้องการ ออกแบบให้ดูเหมือนเป็นของเล่นแต่ใช้ประโยชน์ได้ในเวลาเดียวกัน และเหมาะสมจะให้เป็นของขวัญในเทศกาลต่างๆ ออกแบบและจำหน่ายโดยบริษัท Brainstream GmbH ซึ่งวางตำแหน่งของบริษัทตนเองว่าเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าของขวัญที่เน้นภาพลักษณ์สนุกสนานและใช้งานได้ในเวลาเดียวกัน (Fun & Funtional) ของประดับตกแต่งในเทศกาลคริสต์มาสที่ทำจากไม้ “Candle on a Tree” ของบริษัท Badeko GmbH เครื่องหั่นผักหลากหลายชนิด (Universal vegetable grater) ของบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องครัว GSDHaushaltsgerate ชุดจานกระเบื้อง “Melodie”ของบริษัท Ritzenhoff & Breker GmbH & Co.KG เป็นต้น การนำผลิตภัณฑ์ที่เป็น Top seller มาจัดแสดงไว้ในที่เดียวกันเช่นนี้ นอกจากจะเป็นเสน่ห์ของงานแล้ว ยังเป็นการจุดประกายผู้ผลิตและผู้สร้างสรรค์ผลงานรายอื่นๆให้เกิดแรงบันดาลใจออกนวตกรรมใหม่ๆที่เน้นประโยชน์ใช้สอยไปพร้อมๆกับความสวยงามได้ด้วย

ในส่วนของ Newcomer Area ผู้จัดงานได้กำหนดไว้ให้สำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่ของงานที่มาร่วมแสดงสินค้าเป็นปีแรก จำกัดไว้ที่จำนวน 30 บริษัทโดยแต่ละบริษัทใหม่ๆจะสามารถจองพื้นที่ Newcomer Area นี้ได้เพียง 2 ครั้งเท่านั้นพร้อมสิทธิประโยชน์ที่ได้รับคือค่าเช่าพื้นที่ในราคาถูกกว่าพื้นที่อื่นๆของงาน โดยใน TRENDSET Summer 2012 นี้นำเสนอสินค้าใหม่ๆเชิงความคิดสร้างสรรค์ที่โดดเด่นจาก SMEs ในเยอรมนี อาทิ ดวงไฟให้ความสว่างแบบอัตโนมัติเมื่อถูกสัมผัสสำหรับใส่ในกระเป๋าถือสตรี หรือ SOI. Handbag light จากบริษัท Schrims GmbH ซึ่งเป็นผลผลิตมาจากการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของนิสิตเก่าสองคนจากมหาวิทยาลัย Darmstadt Technical University ในเยอรมนี ที่พยายามหาคำตอบให้กับงานวิจัยของสำนักวิจัย COLIBRI เมืองฮัมบูร์กที่นำเสนอผลการวิจัยเรื่อง “Bag Stories” ไว้ว่า “ในชีวิตของผู้หญิง 1 คน ใช้เวลาในการค้นหาของในกระเป๋าถือของตัวเอง รวมทั้งสิ้นเฉลี่ยคนละ 76 วัน” ซึ่ง Handbag light SOI. เป็นการช่วยลดเวลาในการค้นหาของในกระเป๋าถือลงได้ ทั้งยังช่วยประหยัดไฟฟ้าไปในตัวจากการลดการเปิดไฟฟ้าในอาคารเมื่อต้องการมองหาของในกระเป๋าได้ด้วย

ผลิตภัณฑ์ต้นไม้แคระสำหรับใช้เป็นของฝากของขวัญ และตกแต่งภายในอาคารจากบริษัท Kibonu Neumann & Kromarek GbR ผลิตภัณฑ์ทำจากผ้าที่พิมพ์สกรีนด้วยดีไซน์ที่ไม่ซ้ำใครจากบริษัท Frohstoff. Siebdruck & Textilmanufaktur จากเมืองฮัมบูร์ก สินค้ากิ๊ฟช๊อปมีดีไซน์กลุ่มโปสการ์ด แม่เหล็กคั่นหนังสือ และ สติ๊กเกอร์ขนาดต่างๆรวมทั้งสติ๊กเกอร์ติดฝาผนังของ Cats on Appletrees เป็นต้น และอีกเช่นกันเสน่ห์ของ Newcomers Area คือ ความงาม ความแปลกใหม่ ความเป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำแบบใครของผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอไปพร้อมกับความสามารถในการเติมเต็มความต้องการของตลาดได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประโยชน์การใช้งานและความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามที่ตลาดปัจจุบันคำนึงถึงเป็นต้น

สินค้าไทยที่จัดแสดงภายในงาน TRENDSET Summer 2012 : มีผู้ประกอบการในเยอรมนีหลายรายได้นำเข้าสินค้าไทยและนำมาร่วมแสดงในงาน TRENDSET ครั้งนี้ เช่น บริษัท Liebman Design Import e.K. จากกรุงเบอร์ลิน ซึ่งนำเข้าสินค้าของขวัญและของเล่นเด็กจากประเทศไทยและศรีลังกาสินค้าที่สั่งซื้อ/ผลิตจากประเทศไทยเป็นกลุ่มสินค้า Hand made ตุ๊กตาผ้ารูปสัตว์ต่างๆซึ่งบริษัทฯเดินทางไปพบผู้ผลิตที่ประเทศไทยเป็นประจำปีละหลายครั้ง รวมทั้งเข้าร่วมชมงานแสดงสินค้า BIG & BIH เพื่อเลือกซื้อสินค้าไทยจากในงานด้วย นอกจากนี้ยังมีสินค้าไทยประเภทของตกแต่งบ้านที่ทำจากไม้แกะสลัก และกลุ่มของขวัญ ของเล่นที่ผลิตในลักษณะ Mass production ทั้งที่ผลิตในไทยและในจีนนำมาร่วมแสดงในงานด้วยโดยบริษัท Sanuk (สนุก) GmbH ซึ่งเป็น Trader และทำธุรกิจทางออนไลน์มีที่ตั้งบริษัทตั้งอยู่ในเบอร์ลิน เป็นต้น

ผู้ประกอบการไทยในเยอรมนีที่เข้าร่วมแสดงสินค้าภายในงานครั้งนี้ : สคต.เบอร์ลินได้พบและพูดคุยกับดีไซน์เนอร์และเจ้าของธุรกิจขนาดย่อมที่เป็นคนไทยแท้ๆ 2 รายซึ่งมาร่วมแสดงสินค้าในงาน TRENDSET Summer 2012 ครั้งนี้

คุณครินยา ม่วงช่วง เจ้าของและผู้บริหาร Krinyas accessories ซึ่งเป็นผู้ออกแบบเครื่องประดับแฟชั่นที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็น ของตัวเอง รูปแบบไม่ซ้ำใคร ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติและเป็นงาน Hand made ถักเชือกและผูกเงื่อนร้อยร่วมกับหินสี ลูกปัดสี ลูกปัดทำจากไม้ ลูกไม้/เมล็ดในผลไม้ และลูกปัดทองเหลือง ผลิตโดยแรงงานฝีมือในประเทศไทยและตั้งราคาขายปลีกที่เหมาะสมกับกำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าในตลาดปัจจุบัน คุณครินยานำสินค้าของเธอมาเข้าร่วมแสดงในงานนี้และเลือกทำเลร้านใน Newcomer area เป็นครั้งที่สอง หลังจากที่ประสบความสำเร็จจากการร่วมงานในครั้งแรกและพึงพอใจมากกับผลตอบรับจากการเข้าร่วมงานในครั้งที่สองเพราะสามารถเข้าถึงลูกค้ามากขึ้นทั้งจากตอนใต้ของเยอรมนี และออสเตรีย ลูกค้าของ Krinyas accessories ส่วนมากเป็นร้านค้าปลีกเครื่องประดับแฟชั่นขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ตามย่านการค้าของเมืองต่างๆในเยอรมนีคุณครินยาเริ่มธุรกิจเล็กๆของตนเองหลังจากแต่งงานและย้ายมาอยู่ที่เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนีเริ่มนำผลงานออกแบบเครื่องประดับของเธอออกสู่ตลาดครั้งแรกในงาน TRENDSET นี้เอง และยังคงจะนำสินค้าของเธอเข้าร่วมงานครั้งต่อไป TRENDSET Winter ในเดือนมกราคม 2013 อีกด้วยจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นจากการเข้าร่วมงานและจาก Online Shop (www.krinya.com) ทำให้คุณครินยาต้องเดินทางกลับเมืองไทยหลายรอบในปีนี้เพื่อผลิตสินค้าตามออร์เดอร์ที่ได้รับมา รสนิยมของลูกค้าชาวเยอรมันปัจจุบันชื่นชอบกับเครื่องประดับแฟชั่นที่มีดีไซน์ ด้วยลวดลายที่ไม่ซ้ำแบบและผลิตน้อยชิ้น เลือกใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติเป็นส่วนประกอบ ตั้งราคาที่สามารถแข่งขันได้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจของตลาด ทำให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อได้มากชิ้นและสามารถเลือกใช้สลับสับเปลี่ยนสำหรับโอกาสต่างๆ ผู้นิยมเครื่องประดับแฟชั่นหรือผู้ซื้อส่วนมากในตลาดเยอรมนีมักมองเห็นว่าเครื่องประดับแฟชั่นมีเสน่ห์มากกว่าเครื่องประดับที่ทำจากทองคำหรือเงินแท้ซึ่งมีสีสันไม่ฉูดฉาดหรือไม่หลากหลายมากนัก

คุณจูน เคเซอร์ นักออกแบบและวาดภาพลายเส้นชาวไทย ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Hum with Me และเป็นหุ้นส่วนและผู้บริหารของบริษัท Keser&Wagner Gbr ซึ่งจดทะเบียนในประเทศเยอรมนี นำผลงานออกแบบและผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยกระดาษของ Hum with Me ทั้งที่เป็นโปสการ์ดและการ์ดอวยพรสำหรับวาระสำคัญต่างๆ กระดาษห่อของขวัญ สมุดบันทึก ร่วมแสดงใน Hall ผลิตภัณฑ์งานศิลปะ/งานอดิเรกและสินค้าจากกระดาษ งานดีไซน์ของคุณจูนได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานจำนวนมากพร้อมๆกับรับคำสั่งซื้อภายหลังจากงาน

งานออกแบบโปสการ์ดและบัตรอวยพรของ Hum with Me มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ของตนเองไม่ซ้ำ แบบและมิได้ผลิตสำ หรับ Mass market ผลจากการเข้าร่วมงานครั้งนี้คุณจูนได้รับการติดต่อและพูดคุยกับลูกค้าจำนวนมากและมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ผลิตสินค้าประเภทเดียวกัน นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้วัฒนธรรมและบุคลิกของผู้ซื้อจากแต่ละตลาดที่แตกต่างกันซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของ Hum with Me ด้วย โดยคุณจูนอธิบายว่าปัจจุบันตลาดเยอรมนีและอังกฤษยังคงมีวัฒนธรรมการส่งข้อความ ส่งความสุข ความห่วงใยผ่านบัตรอวยพรและโปสการ์ด ทำให้บัตรอวยพรแบบพับใส่ซองยังคงเป็นที่นิยมในตลาดอังกฤษ ขณะที่ตลาดเยอรมนีชื่นชอบการเขียนโปสการ์ด ซึ่งต่างจากตลาดเมืองไทยที่ส่วนมากเน้นซื้อการ์ดหรือโปสการ์ดที่มีดีไซน์เพื่อเป็นของสะสมมากกว่าเพื่อการเขียนและส่งข้อความถึงกันอย่างเช่นในทั้งสองตลาดที่กล่าวมา เช่นเดียวกับบางตลาดในกลุ่มยุโรปตะวันออกที่ไม่ได้ให้ความสนใจกับวัฒนธรรมการเขียนบัตรอวยพรและโปสการ์ดมากมายนัก ดังนั้นการจะเลือกเจาะตลาดใดผู้ขายควรต้องศึกษาและเข้าใจธรรมชาติ บุคลิกและวัฒนธรรมของแต่ละตลาดควบคู่ไปด้วยการใช้งาน TRENDSET Summer 2012 เป็นเวทีโชว์ผลงานผลิตภัณฑ์แนวดีไซน์ของคุณจูนในครั้งนี้เธอยังค้นพบว่า การเลือกทำเลที่ตั้งบูธแสดงสินค้ามีส่วนสำคัญและมีผลต่อจำนวนลูกค้าที่เข้ามาชมสินค้าภายในบูธ คุณจูนวิเคราะห์ว่าการเลือกโซนที่ตั้งบูธของเธอในครั้งนี้ยังไม่ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ Hum with Me นักเนื่องจากสินค้าทั้งหมดที่นำไปจัดแสดงภายในโซนดังกล่าววางเป้าหมายเป็นกลุ่มลูกค้าที่เน้นโปสการ์ดและการ์ดเท่านั้น ขณะที่งานของ Hum with Me มุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมายร้านขายหนังสือและร้าน Gift shop มากกว่าลูกค้าที่เป็นร้านขายการ์ดโดยตรงเพียงอย่างเดียว เนื่องจากงานของ Hum with Me มีความหลากหลายมากกว่าโปสการ์ดและบัตรอวยพรเมื่อเทียบกับแบรนด์อื่นๆที่มาร่วมจัดแสดงใน Hall เดียวกัน นอกจากนี้คุณจูนยังสังเกตพบว่าสินค้าประเภทเดียวกันที่ผลิตในลักษณะ Mass market ขายยกโหลในราคาต่ำจากบริษัทอื่นๆยังคงได้รับความนิยมจากลูกค้าในตลาดเยอรมนีอยู่มากโดยเปรียบเทียบ ทำให้เธอได้ข้อสรุปในเบื้องต้นว่า การเลือกทำเลให้เหมาะสมกับสินค้านั้นเป็นเรื่องสำคัญ การวางสินค้าให้ถูกตำแหน่งและทำเล จะสร้างโอกาสให้ผู้ค้าเจอลูกค้าหรือผู้สั่งซื้อตัวจริงได้ง่ายขึ้น ซึ่งในงาน TRENDSET ครั้งต่อไปเธอจะเลือกแสดงงานของ Hum with Me ในโซนสินค้า Gift shop แทนโซนเดิม อย่างไรก็ตามแม้การเข้างาน TRENDSET ยังได้รับออร์เดอร์แบบทันทีจากลูกค้ากลุ่มเป้าหมายไม่มากตามที่เธอคาดหวังไว้ในตอนแรก แต่การเปิดตัว Hum with Me ของคุณจูนในงานครั้งนี้ได้ทำให้สินค้าและแบรนด์ Hum with Me เป็นที่รู้จักขยายวงกว้างมากขึ้นในตลาดเยอรมนีและตลาดออนไลน์(www.facebook.com/humwithme และ www.etsy.com/shop/humwithme) โดยหลังจากเสร็จงาน สินค้าของเธอได้วางขายไปตามเมืองใหญ่ต่างๆในเยอรมนีทั้งใน Berlin Munich Stuttgart และ Frankfurt นับเป็นโอกาสการต่อยอดทางธุรกิจของเธอเองที่ได้รับจากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าดังกล่าว นอกจากนี้ คุณจูนได้เตรียมนำ Hum with Me เข้าร่วมในงานแสดงสินค้าอื่นๆ ต่อไปเริ่มจากช่วงต้นปีหน้าอย่างเช่นงาน Paperworld ระหว่างวันที่ 26-29 มกราคม 2013 ที่ Messe Frankfurt ณ เมืองแฟรงก์เฟิร์ต เยอรมนีอีกด้วย เพราะเชื่อว่าประโยชน์จากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้ามิใช่เพียงแค่การได้ลูกค้าและออร์เดอร์ตามกลับมาเท่านั้น แต่ตนเองยังได้ศึกษาแนวโน้มหรือเทรนด์ของตลาด ได้รับทราบความเคลื่อนไหวของคู่แข่งและความต้องการของผู้ซื้อ ซึ่งข้อมูลทางการตลาดที่ได้จะสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาสินค้าและใช้ในการออกแบบสินค้าของ Hum with Me ให้ตรงตามความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้นอีกด้วย

จากการร่วมสังเกตการณ์ในงาน TRENDSET Summer 2012 ดังกล่าว ทำให้ได้ข้อสรุปสำคัญที่มีส่วนอย่างมากในการทำให้งาน TRENDSET ได้รับความสนใจทั้งจากผู้เข้าชมงานและบริษัทผู้ร่วมแสดงสินค้าภายในงาน นั่นคือประการแรก กลยุทธ์การจัดแบ่งโซนแสดงสินค้าของผู้จัดงานออกเป็น Newcomer Area และ Topseller Area ที่นอกจากสามารถดึงดูดทั้งผู้เข้าชมงานให้มุ่งหน้ามาชมสินค้าและพูดคุยกับเจ้าของกิจการในโซนดังกล่าวแล้ว ยังเป็นเครื่องมือใช้ดึงดูดผู้ประกอบการหน้าใหม่ๆให้สมัครมาร่วมงานในโซนของ Newcomer ด้วย ขณะเดียวกันยังมีส่วนผลักดันและเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้แสดงสินค้าหน้าเดิมๆใช้ความคิดให้มากขึ้นในการออกแบบและพัฒนาสินค้าของตนเองให้เป็นที่ถูกใจผู้ซื้อ นำเสนอสินค้าในตำแหน่งที่ชัดเจน เพื่อยกระดับสินค้าให้เข้าไปอยู่ในโซน Topseller ด้วย ประการที่สอง สินค้าที่นำมาจัดแสดงภายในงานนั้น ไม่เพียงแต่ต้องเน้นรูปลักษณ์ที่สวยงาม ดีไซน์ทันสมัยแล้ว ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการยังต้องเน้นที่ประโยชน์ใช้สอยของสินค้าควบคู่ไปพร้อมกันจึงจะทำให้สินค้านั้นได้รับความสนใจจากตลาดเยอรมนีและตลาดใกล้เคียงอย่างมาก เพราะเมื่อสินค้าที่จัดแสดงในงานมีเสน่ห์ และความแปลกใหม่ไม่ซ้ำเดิมในแต่ละคราวที่จัดงาน จะส่งผลให้ ชื่อของงานแสดงสินค้านั้นๆติดอันดับของการมีผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมงานและถูกจดจำไว้ในลิสต์ของผู้ซื้อ/ผู้ชมงานได้ตลอดไป

ผู้ประกอบการไทยที่สนใจนำสินค้า Living & Lifestyle เข้าร่วมแสดงในงาน TRENDSET สามารถศึกษาข้อมูลของงานและการสมัครเข้าร่วมได้จาก www.trendset.de หรือติดต่อผู้จัดงานได้ที่ TrendSet GmbH, Ismaninger Strabe 63, 81675 Munchen, Tel: +49 (0)89 4622465-0, Fax: +49 (0)89 4622465-50 และ Email: info@trendset.de

โดย สคต.เบอร์ลิน

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ