อุปสงค์จำนวนมากที่มีต่อรถยนต์ขนาดเล็กราคาย่อมเยาว์อาจจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของสโลวาเกียนำชาติอื่นในกลุ่มประเทศยูโรโซน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 16, 2012 15:05 —กรมส่งเสริมการส่งออก

(AFP )บราติสลาวา - ภาคอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของสโลวาเกียเร่งขยายการผลิตท่ามกลางสภาวะวิกฤติยูโรโซน โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นผู้ผลิตรถยนต์หลักของโลกและเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

แม้ว่าขณะนี้ 17 ประเทศในกลุ่มยูโรโซนกำลังประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ อีกทั้งบริษัทชั้นนำทางด้านการผลิตรถยนต์สัญชาติฝรั่งเศสอย่างPSA Peugeot Citroen ก็เพิ่งประกาศปิดโรงงานและปลดคนงานออกราว 8000 คน แต่บริษัทในเครือสโลวักรับพนักงานเพิ่มราว 900 คน

ซึ่งนับตั้งแต่สโลวาเกียเข้าเป็นประเทศสมาชิกใช้เงินตราสกุลยูโรในปี2552 ก็ได้มีบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านการผลิตรถยนต์เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศถึงสามบริษัทสามสัญชาติคือ Volkswagen ของเยอรมัน PSA Peugeot Citroen ของฝรั่งเศส และ Kia ของเกาหลีใต้ ยอดการผลิตรถยนต์ของปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 780,000 คัน เพิ่มจาก 639,763 ในปี2554 การจ้างงานโดยภาคอุตสาหกรรมรถยนต์มีประมาณเกือบ 72,000 คนจากผู้ใช้แรงงานทั้งหมดในประเทศ 5.4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 39 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ

ภายใต้การประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มว่าจะตกต่ำลงของประเทศส่วนใหญ่ในแถบยุโรป สโลวาเกียตั้งเป้าที่จะนำประเทศไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอันดับต้นๆของกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร(ยูโรโซน) ที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 1.8ของปี2555 ซึ่งสวนทางกับการคาดการณ์ของคณะกรรมาธิการยุโรปที่ประเมินการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนทั้งหมดไว้เพียงร้อยละ 0.3 ทั้งนี้ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2551 ยังทำให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ต้องชะลอตัวลง อันเนื่องมาจากการลดลงของอุปสงค์จากประเทศแถบยุโรปตะวันตก และส่งผลให้ต้องลดการผลิตลงประมาณร้อยละ 4.9ในปีถัดมา แต่ทว่าหลังจากผลกระทบครั้งนั้นบริษัทผลิตรถยนต์ทั้งหลายได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์การผลิตจากรถยนต์สมรรถนะสูง(SUV)ขนาดใหญ่ซึ่งมีราคาค่อนข้างแพงมาเป็นรถยนต์ขนาดเล็กราคาย่อมเยาว์ที่กำลังเป็นที่นิยมในช่วงนั้นแทน

นายวลาดิเมียร์ วาโน นักวิเคราะห์จากธนาคาร Volksbank กล่าวว่า "สำหรับการผลิตรถยนต์ราคาย่อมเยาว์เพื่อเพิ่มกำไรนั้น ผู้ประกอบการย่อมต้องการถิ่นฐานการผลิตที่มีต้นทุนต่ำ ซึ่งแรงงานประเทศสโลวาเนียเป็นแรงงานที่มีทักษะบวกกับค่าแรงที่ค่อนข้างถูก จึงเหมาะที่จะเป็นศูนย์กลางของยุโรปในการส่งออกรถยนต์ไปยังตลาดในแถบยุโรปตะวันออกที่ยังไม่อิ่มตัว"

การเข้าร่วมใช้เงินสกุลยูโรของประเทศสโลวาเกียส่งผลกระทบในด้านดีให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างฮังการีและเช็ก เพราะนักลงทุนสามารถลดต้นทุนจากค่าธรรมเนียมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้ นายวาโนกล่าวถึงข้อได้เปรียบในเรื่องต้นทุนว่า "ถึงแม้ว่าผู้ประกอบการจะประสบปัญหาจากการลดลงของอุปสงค์แต่ก็ยังมีความพยายามที่จะผลักดันการส่งออกและเพิ่มการผลิตในประเทศสโลวาเกีย" ทั้งนี้ นายโยเซฟ อัวริก ประธานสมาคมอุตสาหกรรมรถยนต์แห่งประเทศสโลวาเกีย กล่าวเพิ่มเติมว่า "จุดแข็งของสโลวาเกียคือ โรงงานผลิตรถยนต์ที่มีความทันสมัยกว่าโรงงานที่อื่นทั่วโลก"

การดึงดูดการลงทุน

บริษัท PSA Peugeot Citroen ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่สัญชาติฝรั่งเศสได้ปล่อยรถรุ่น the Citroen C3 และ the new Peugeot 208 สู่ท้องตลาดในเขตใกล้กับเมืองเตอร์นาวา( Trnava ) ทางด้านตะวันตกของประเทศสโลวาเกียจากแรงงานทั้งหมดประมาณ 3,500 คน บริษัท PSA ได้ดำเนินการตามแผนงานที่เปลี่ยนแปลงเป็นรอบที่สามไปเมื่อต้นปีนี้และคาดว่าจะผลิตรถยนต์มากถึง 300,000 คันได้ในปี 2556 ซึ่งสวนทางอย่างมากกับการปิดโรงงานและปลดคนงานของบริษัทนี้ในประเทศอื่นๆของยุโรป

ซึ่งตามแผนการปิดโรงงานแห่งหนึ่งในประเทศฝรั่งเศส บริษัทกล่าวว่าสัปดาห์นั้นจะมีการปลดคนงานออกประมาณ 345 คนจากที่เคยจ้างไว้ 2,800 คน ของบริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติเช็ก TPCA ซึ่งได้มีการร่วมทุนกับโตโยต้าของประเทศญี่ปุ่นและถึงแม้ว่าจะมีการคาดการณ์ถึงการหดตัวลงของเศรษฐกิจที่ร้อยละ 0.5ในปี 2555 แต่ประเทศเพื่อนบ้านของสโลวาเกียอย่างประเทศเช็ก กลับมีการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์อย่างมาก

บริษัทผลิตรถยนต์ที่มีโรงงานผลิตที่ใหญ่ที่สุดสามอันดับในประเทศเช็กคือ Skoda Auto บริษัทเช็กในเครือของ Volkswagen จากยักษ์ใหญ่เยอรมัน Hyundai จากเกาหลีใต้ และTPCA พบว่า โดยรวมแล้วมีการผลิตรถยนต์มากถึง 662,529 คันในระยะเวลาครึ่งปีแรกของปี2555 ขณะเดียวกัน บริษัท Volkswagen มีเป้าหมายที่จะลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 1.5 พันล้าน ยูโร (1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ)ในสโลวาเกีย ซึ่งจะช่วยให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 500 ตำแหน่ง จากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 8,400 ตำแหน่งในสายการผลิตที่มีอยู่ในประเทศนี้

Volkswagen ผลิตรถยนต์ยี่ห้อ Volkswagen up!,Skoda Citigo และ SEAT Mii ซึ่งมีฐานการผลิตที่เมืองบราติสลาวา ทั้งนี้ยังผลิตรถยนต์สำหรับตลาดบนอย่าง Touareg, Audi Q7 และ Porsche Cayenne models ที่ตั้งเป้าการผลิตไว้ที่ 400,000 คัน ในอีกสองปีข้างหน้า

สำหรับ Kia ของเกาหลีใต้ ซึ่งมีฐานการผลิตและโรงงานที่ทันสมัยอยู่ใกล้กับเมืองซิลินา(Zilina) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสโลวาเกีย ผลิตรถยนต์ยี่ห้อ Kia cee'd, Kia Sportage and Kia Venga models วางแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไปอยู่ที่ 300,000 คัน ในปี2556 และเนื่องจากการมีเศรษฐกิจแบบเปิดและการส่งออกที่ขึ้นอยู่กับอุปสงค์ภายนอกประเทศ สโลวาเกียตั้งเป้ารายได้จากการส่งออกรถยนต์ไปยังประเทศในสหภาพยุโรปและกลุ่มประเทศยูโรโซนโดยเฉพาะประเทศเยอรมัน ที่ประมาณร้อยละ 0.7 ของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี2555

ทั้งนี้ นายวาโนให้ข้อสังเกตว่า "ร้อยละ 20 ของการส่งออกของประเทศสโลวาเกียอยู่ที่ประเทศเยอรมันและกลุ่มประเทศ ยูโรโซน ขณะที่อัตราการส่งออกไปยังประเทศที่กำลังเผชิญวิกฤติหนี้ยุโรปอยู่ในระดับต่ำ......ซึ่งหากว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศเยอรมันเลวร้ายลง ก็อาจจะฉุดเศรษฐกิจของประเทศสโลวาเกียให้ตกต่ำลงไปด้วย"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ