การค้าชายแดนอินเดีย-เมียนมาร์และสินค้าไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 9, 2012 11:39 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงนิวเดลีได้มีโอกาสไปเยือนรัฐมณีปุระซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐอินเดียอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 27 — 29 กรกฎาคม 2555 โดยเดินทางด้วยสายการบินแอร์อินเดียจากกรุงนิวเดลีผ่านเมืองกูวาฮาตี (GUWAHATI) ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง และหยุดพักรับผู้โดยสารที่เมืองดังกล่าว แล้วบินต่ออีกประมาณครึ่งชั่วโมงไปยังเมืองหลวงของรัฐมณีปุระ คือ อิมฟาล (IMPHAL) ทั้งนี้ รัฐมณีปุระมีพรมแดนติดกับประเทศเมียนมาร์เป็นระยะทางประมาณ 398 กิโลเมตร

วัตถุประสงค์ของการไปเยือนรัฐมณีปุระที่สำคัญ คือ

1. การได้พบปะสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการค้าการลงทุนกับนักธุรกิจการค้า ข้าราชการระดับสูง และผู้มีอำนาจสูงสุดทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการค้าพาณิชย์ฯ เพื่อเป็นการเสริมสร้างมิตรภาพและความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนระหว่างไทยและอินเดียให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

2. การได้ไปสัมผัสความเป็นจริงเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนประชาชนทั้งในตัวเมืองและชนบท และได้รู้เห็นสภาพบ้านการเมือง เรื่องเศรษฐกิจการค้าฯ สังคมและวัฒนธรรมด้านต่างๆ

3. การได้ไปสำรวจสภาวะตลาดโดยรวม และสถานการณ์การค้าผ่านแดนตรงตะเข็บชายแดนระหว่างอินเดียกับเมียนมาร์ที่เมืองมอเรห์(MOREH)

4. การได้ไปสำรวจตลาดขายปลีกและพูดคุยสอบถามเจ้าของร้านค้าต่างๆที่จำหน่ายสินค้าไทย รวมทั้งสำรวจความนิยมของลูกค้าว่าชอบสินค้าไทยชนิดและประเภทใด (MARKET SURVEY)

5. การได้เข้าเยี่ยมพบผู้นำเข้า (IMPORTER VISIT) สินค้าไทยในเมืองดังกล่าว

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อรัฐมณีปุระมีความหมายว่า ดินแดนแห่งเพชรพลอยอัญมณี แต่ความจริงแล้วมิได้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสิ่งของดังกล่าวแต่อย่างใด แต่กลับมีถ่านหิน ลิกไนต์ เยื่อหินทนไฟ แร่ทองแดง แร่นิเกิล และโครไมต์ เป็นทรัพยากรธรรมชาติสำคัญของรัฐฯ และที่สำคัญรัฐนี้มีความงดงามตามธรรมชาติ ที่ยังคงรักษาผืนป่า ความเขียวชอุ่มของต้นไม้นานาพันธุ์ กอร์ปกับสภาพภูมิประเทศซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาปกคลุมไปด้วยผืนป่าฯรวมทั้งสิ้นประมาณร้อยละ 64 ของพื้นที่รัฐทั้งหมด 22,347 ตร.กม.จึงทำให้มีสภาพอากาศที่เย็นสบายตลอดทั้งปี สำหรับพื้นที่ราบประมาณร้อยละ 36 ใช้อยู่อาศัยและเพาะปลูกพืชผลต่างๆที่สำคัญคือ ใช้ทำผืนนาเพาะปลูกข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักไว้เลี้ยงประชากรรวมทั้งสิ้นประมาณ 3 ล้านคนหรือประมาณร้อยละ 0.30 ของประชากรทั้งประเทศอินเดียซึ่งมีประมาณ 1,200 ล้านคน

รัฐมณีปุระตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งแต่เดิมมี 7 รัฐประกอบไปด้วยรัฐอรุณาจัล(Arunachal) รัฐนากาแลนด์(Nagaland) รัฐมณีปุระ(Manipur) รัฐมิโซรัม(Mizoram) รัฐตริปุระ(Tripura) รัฐอัสสัม(Assam) และรัฐเมฆกัลยา(Maghalaya) จึงเรียกว่ารัฐ 7 สาวน้อย (Seven Sister States) ซึ่งต่อมาได้ผนวกรัฐสิขิม(Sikkim) เข้ามาอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย ปัจจุบันจึงกลายเป็นรัฐ 8 สาวน้อย ทั้งนี้ รัฐมณีปุระมีอาณาเขตติดต่อกับรัฐนากาแลนด์ทางทิศเหนือ รัฐอัสสัมทางทิศตะวันตก รัฐมิโซรัมทางทิศใต้ และประเทศเมียนมาร์ทางทิศตะวันออก

จากการเดินสำรวจพื้นที่ใจกลางอิมฟาลเมืองหลวงของรัฐมณีปุระ เพื่อต้องการสัมผัสบรรยากาศใกล้ชิดความเป็นจริงเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนฯและได้เห็นสภาพต่างๆภายในเมืองนั้น พบว่าประชาชนชาวรัฐมณีปุระส่วนใหญ่มีลักษณะรูปร่างหน้าตาผิวพรรณคล้ายคนไทย และอุปนิสัยใจคอก็คล้ายๆกัน กล่าวคือ เป็นคนที่เกรงอกเกรงใจ มีอัธยาศัยไมตรีและมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับทุกคน นอกจากนี้ อุปนิสัยการรับประทานก็คล้ายๆกันเนื่องจากชอบอาหารรสชาดจัดจ้าน ซึ่งจะเห็นได้จากสินค้าในตลาดสดแทบทุกร้านค้าฯจะต้องมีพริกแห้งพริกสด ปลาเค็ม ปลาแห้ง หน่อไม้ดอง และเครื่องปรุงแต่งรสชาดอาหาร เป็นต้น

ใจกลางเมืองอิมฟาล มีตลาดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใหญ่โตและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ชื่อ “IMA MARKET” หรือ“WOMEN’S MARKET’ ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว กล่าวคือ ผู้ค้าขายส่วนใหญ่เป็น “แม่ค้า” หรือผู้หญิงสูงวัยที่แต่งงานแล้ว นำสินค้าหลากหลายชนิดมาวางจำหน่าย ทั้งอาหารสด-แห้ง พืชผักและผลไม้ รวมทั้งของกินของใช้ต่างๆ เป็นต้น รวม“แม่ค้า” ประมาณสามพันคนในแต่ละวันใกล้ๆกับตลาด WOMEN’S MARKET ก็จะมีอาคารพาณิชย์ซึ่งถ้ามองข้างนอกจะไม่รู้ว่าข้างในเป็น SHOPPING COMPLEX ซึ่งถือว่าเป็นห้างฯแห่งแรกของเมืองอิมฟาลสำหรับลูกค้าระดับกลางขึ้นไปที่จะมาเลือกซื้อเลือกหาสินค้าแฟชั่นได้ที่นี่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอ กางเกงยีนส์ รองเท้าหนังและอุปกรณ์กีฬา สร้อยแหวนเครื่องประดับตกแต่ง รวมทั้งเสื้อผ้าแฟชั่นจากไทยแปะตรา “Made in Thailand” ก็มีวางจำหน่ายในร้านหรูฯดังที่เห็นในรูป นอกจากนี้ยังมีสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าฯ อิเล็คโทรนิคต่างๆ เช่นโทรศัพท์มือถือ เครื่องชาร์ต แบ็ตเตอรี คอมพิวเตอร์ และซ๊อฟแวร์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ได้พูดคุยสนทนากับเจ้าของร้านได้ความว่าสินค้าเสื้อผ้าแฟชั่นของไทยเป็นที่นิยมของคนท้องถิ่นเนื่องจากรูปแบบดีไซด์และสีสรรสวยงามทันสมัย อีกทั้งคุณภาพดีใช้ได้นานและทน โดยที่การนำเข้าสินค้าไทยไม่ยุ่งยากเนื่องจากมีตัวแทน(AGENCY)นำเข้าสินค้าฯอยู่ในประเทศเมียนมาร์ประสานกับผู้ส่งออกไทยให้จัดสินค้าฯตามคำสั่งซื้อของร้านฯและบรรทุกสินค้าฯผ่านเมืองตามู(TAMU)ประมาณ 3 กิโลเมตรถึงชายแดนติดกับเมืองมอเรห์ของอินเดีย แล้วจ้างคนท้องถิ่นเป็นกองทัพมดแบกสินค้าผ่านด่านคนเข้าเมือง “INDO MYANMAR FRIENDSHIP GATE” หลังจากนั้นใช้รถบรรทุกเล็กขนส่งสินค้าระยะทางประมาณ 110 กิโลเมตรถึงเมืองอิมฟาลใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงเนื่องจากเส้นทางขรุขระ คดเคี้ยวอยู่บนภูเขาที่สลับซับซ้อนประมาณ 65 กิโลเมตร รวมระยะเวลาทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 16 วันนับ ตั้งแต่สั่งซื้อสินค้าฯจนกระทั่งสินค้าฯมาถึงเมืองอิมฟาล

การเดินทางและตลาดการค้าชายแดน

การเดินทางระหว่างเมืองอิมฟาลและมอเรห์รวมระยะทางประมาณ 110 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมงเนื่องจากเส้นทางบางช่วงขรุขระคดเคี้ยวอยู่บนภูเขาที่สลับซับซ้อนรวมประมาณ 65 กิโลเมตร และบนพื้นราบถนนเรียบดีประมาณ 45 กิโลเมตร ซึ่งสามารถใช้บริการรถตู้เล็กโดยสารเบียดกันได้ 8 ที่นั่งให้บริการตั้งแต่เช้าถึงบ่าย โดยจ่ายค่าโดยสารคนละ 500 รูปี(ประมาณ 300 บาท)

เมืองมอเรห์มีชายแดนติดกับประเทศเมียนมาร์ เป็นด่านตรวจคนเข้าเมืองสำคัญที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและกลายเป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนกับเมืองตามูของเมียนมาร์ ปัจจุบันได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงทางการค้าของรัฐฯและคาดว่าอีกประมาณ 10-20 ปีข้างหน้าจะกลายเป็นเมืองที่พลุกพล่านจอแจ นอกจากนี้ จะกลายเป็นประตูสำคัญให้อินเดียเปิดไปมาหาสู่กับประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จากการผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองทาง “INDO MYANMAR FRIENDSHIP GATE” ข้ามไปดูตลาดฝั่งเมียนมาร์ซึ่งเป็นจุดส่งผ่านสินค้านำเข้ามายังฝั่งมอเรห์ของอินเดีย ทั้งนี้เพื่อไปสำรวจสภาวะตลาดสินค้าทั่วไปโดยภาพรวมและสถานการณ์สินค้าไทย ตลอดจนการไปพบปะสนทนากับผู้นำเข้า(IMPORTERS) และเจ้าของร้านค้าต่างๆที่จำหน่ายสินค้าท้องถิ่นและสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งสินค้าจากประเทศไทย ทำให้ได้รับทราบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจหลายประการ ดังนี้

สินค้านำเข้าจากไทยและประเทศอื่นๆ

1. การค้าชายแดนอินเดียและเมียนมาร์ไม่ใช่มีเฉพาะสินค้าจากทั้งสองประเทศดังกล่าวเท่านั้น แต่มีสินค้านำเข้าจากหลากหลายประเทศ และสินค้าที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด ก็คือ สินค้าที่นำเข้าจากประเทศจีนซึ่งมีมูลค่าการนำเข้าประมาณร้อยละ 60 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศทั้งหมด อีกร้อยละ 20 เป็นสินค้าท้องถิ่นและที่เหลือร้อยละ 20 เป็นส่วนแบ่งสินค้านำเข้าจากประเทศอื่นๆ เช่น อินเดีย มาเลเซีย ไทย เกาหลี ญี่ปุ่น และบังคลาเทศ เป็นต้น

2. สินค้านำเข้าจากประเทศจีนแย่งส่วนแบ่งตลาดไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง เนื่องจากราคาสินค้าถูกกว่าประเทศอื่น ซึ่งจากที่เห็นในร้านค้าต่างๆส่วนใหญ่จะเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า และของเด็กเล่นชนิดต่างๆ เป็นต้น ซึ่งโดนใจลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับราคามากกว่าคุณภาพของสินค้าฯ

3. สินค้าไทยได้ส่วนแบ่งตลาดเพียงเล็กน้อยประมาณร้อยละ 4-5 ทั้งนี้ ได้สำรวจทั้งตลาดดูสินค้าทั่วไปและสินค้าไทย และได้สนทนาสอบถามเจ้าของร้านค้าฯจำหน่ายสินค้าไทย ก็ได้ความว่า โดยส่วนใหญ่สินค้าไทยจะได้ฐานลูกค้าที่มีฐานะอยู่ในระดับกลางขึ้นไป ซึ่งพวกนี้จะเลือกซื้อเลือกหาสินค้าที่มีคุณภาพเป็นหลัก

สินค้าไทยที่พบเห็นได้ตามร้านค้าต่างๆ ได้แก่ ของเครื่องใช้ในครัวเรือน ผลิตภัณฑ์พลาสติก แก้วน้ำ เครื่องใช้ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ เป็นต้น นอกจากนี้ สินค้ารองเท้าแตะตราม้าดาว ซึ่งเป็นรองเท้าแตะคุณภาพสวมใส่ใช้ได้ทนนานในทุกสถานการณ์ ก็ได้รับแจ้งจากร้านค้าฯว่าเป็นสินค้าไทยที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในขณะนี้

4. ปริมาณสินค้าผ่านแดนเข้าอินเดียผ่านด่านมอเรห์นี้ หากรวมปริมาณสินค้าที่ลักลอบนำเข้าแล้ว ผู้สันทัดกรณีแจ้งว่า มีมูลค่ามากกว่า 50 ล้านรูปีต่อวัน ซึ่งจะเป็นจุดนำเข้าที่ใหญ่ที่สุด และสินค้าหลายหลากที่นำเข้าผ่านช่องทางนี้ ก็จะมีการขนส่งกระจายไปทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีทั้งหมด 8 รัฐ โดยมีจำนวนผู้บริโภคจำนวนมากถึง 45 ล้านคน

ดังนั้น จึงนับได้ว่า การค้าผ่านแดนเมียนมาร์ของสินค้าอุปโภคไทยสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย จึงเป็นช่องทางใหญ่ที่ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทยควรจะให้ความสำคัญ แม้ว่าสินค้าจาก ประเทศจีน จะครองส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 60 % แต่อย่างน้อยสินค้าไทยก็ได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพ อีกทั้ง ในอนาคตอันใกล้ หากเส้นทางขนส่งในประเทศเมียนมาร์ได้รับการปรับปรุงแล้วเสร็จ ก็จะเป็นช่องทางที่สดใสในการเข้าตลาดด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย คงไม่มีใครจะทนรอให้เส้นทางขนส่งนี้แล้วเสร็จสมบูรณ์แน่นอนเพราะนกที่ตื่นเช้า ย่อมมีโอกาสได้ลิ้มลองหนอนตัวอวบอ้วนกว่านกที่ตื่นสายใช่หรือไม่

ปัญหาและอุปสรรค

1. การเดินทาง

ทางบก

เริ่มต้นเดินทางที่อำเภอแม่สอดไปยังเมืองเมียวดี หงสาวดี ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ เข้าสู่ด่านชายแดนทามูของเมียนมาร์ซึ่งเชื่อมต่อกับด่านมอเร่ห์ของอินเดีย หรือ

เริ่มต้นเดินทางที่อำเภอแม่สายจังหวัดเชียงราย เข้าสู่เชียงตุง มัณฑะเลย์ เข้าสู่ด่านชายแดนทามูของเมียนมาร์ซึ่งเชื่อมต่อกับด่านมอเร่ห์ของอินเดีย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเส้นทางดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์จึงไม่สะดวกและเสี่ยงเกินไป จึงไม่แนะนำให้ใช้เส้นทางดังกล่าว

ทางอากาศ

จากกรุงเทพฯบินมาลงที่เมืองกัลกัตตา และต่อเครื่องบินมาลงที่เมืองอิมฟาล หรือ

จากกรุงเทพฯบินมาลงที่กรุงนิวเดลี และต่อเครื่องบินมาลงที่เมืองอิมฟาล หรือ

จากกรุงเทพฯบินมาลงที่เมืองกูวาฮาติ และต่อเครื่องบินมาลงที่เมืองอิมฟาล ทั้งนี้มีสายการบินเดียวคือ Druk Air ที่เปิดให้บริการกรุงเทพฯ-กูวาฮาติ แต่เฉพาะบางวันเท่านั้น จึงควรตรวจสอบตารางเที่ยวบินให้ดี

2. การขนส่งสินค้าไทย

2.1 ระบบการคมนาคมขนส่งสินค้าจากประเทศไทยผ่านเมียนมาร์มายังอินเดีย และกฎระเบียบการขออนุญาตต่างๆของเมียนมาร์ ประกอบกับระบบถนนหนทางและความเข้มงวดในการขนส่งสินค้าภายในรัฐมณีปุระยังไม่เอื้ออำนวยให้ทำดำเนินการทุกอย่างได้ด้วยตนเอง

การแก้ปัญหา ก็คือ การใช้บริการผู้แทน(AGENCY)ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นในการรับขนส่งสินค้าฯและดำเนินการทุกขั้นตอนเพื่อนำสินค้าผ่านเข้ามาทางชายแดนด่านมอเรห์ของอินเดีย ซึ่งจะสะดวกกว่าการดำเนินการด้วยตนเอง

2.2 การขนส่งสินค้าทางน้ำ มาขึ้นที่ท่าเรือเมืองกัลกัตตา และขนส่งทางบกโดยใช้รถบรรทุกหรือรถไฟ ซึ่งจะใช้เวลาเป็นเดือนและค่าใช้จ่ายสูงกว่าข้อ 2.1

2.3 การขนส่งทางอากาศ โดยใช้บริการตามข้อ 1. จะใช้เวลาน้อยกว่าข้อ 2.2 แต่ค่าใช้จ่ายจะสูงมาก

ข้อคิดเห็น/โอกาสของสินค้าและนักลงทุนไทย

1. สำนักงานฯได้นัดหมายเข้าเยี่ยมคารวะสนทนาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับ Shri Okram Ibobi Singh มุกขมนตรี(Chief Minister)รัฐมณีปุระไว้แล้ว แต่ท่านติดภารกิจด่วน จึงได้ให้เข้าเยี่ยมพบ Mr. K. Govindas Singh รัฐมนตรีพาณิชย์และอุตสาหกรรมรัฐมณีปุระแทน โดยมีข้าราชการระดับสูง Mr. O. Nabakishore Singh, Principal Secretary(Commercial & Industries)(เทียบเท่าปลัดกระทรวงพาณิชย์) และ Mr. Rajendra Singh, General Secretary of North East Federation on International Tradeและข้าราชการฯให้การต้อนรับเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ จากการสนทนาฯทำให้ทราบว่ารัฐบาลมณีปุระกำลังปรับตัวให้ทันโลกาภิวัฒน์และต้องการนักลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากประเทศไทย เข้าไปลงทุนในธุรกิจหลากหลายสาขา ทั้งด้านพลังงาน การผลิตสินค้าฯ และการเกษตร เป็นต้น เนื่องจากรัฐบาลส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบทรัพยากรที่มีอยู่ โดยคำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม และการใช้แรงงานท้องถิ่น นอกจากรัฐฯจะ มีเศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว จะทำให้ประชาชนมีงานทำและรายได้มากขึ้น ก็จะส่งผลให้สภาพความเป็นอยู่และสังคมโดยส่วนรวมดีขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ รัฐมนตรีฯพร้อมที่จะให้การสนับสนุนนักลงทุนจากประเทศไทยอย่างเต็มที่ ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ในสาขาธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรฯ ที่น่าสนใจเข้าไปลงทุนในรัฐมณีปุระ สรุปดังนี้

1.1 การเพาะปลูกกล้วยไม้หลากหลายสายพันธ์เนื่องจากความเหมาะสมในเรื่องสภาพพื้นดินและอากาศที่เย็นสบายตลอดปี มีน้ำฝนอุดมสมบูรณ์

1.2 รัฐมณีปุระยังมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์การเกษตร เช่น น้ำเสาวรส สับปะรด และสับปะรดแปรรูป หน่อไม้กระป๋อง เห็ดประป๋อง สินค้าศิลปหัตถกรรมและอุตสาหกรรมสิ่งทอผ้าพื้นเมือง เป็นต้น

1.3 ระบบโครงการพื้นฐานและสาธารณูปโภคยังต้องการการพัฒนาอีกมาก ก็น่าจะเป็นโอกาสที่นักลงทุนไทยจะเข้ามาสำรวจหาลู่ทางในการลงทุนฯ

นอกจากนี้ ทางรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐมณีปุระ ยินดีรับข้อเสนอในการลงทุนของผู้ประกอบการไทย และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนลดหย่อนกฎระเบียบต่างๆเพื่อเอื้อความสะดวกในการลงทุนสำหรับนักลงทุนไทย

2. รัฐบาลอินเดียและเมียนมาร์ทำความตกลงเมื่อเดือนพฤษภาคมฯที่ผ่านมาว่าจะร่วมมือกันพัฒนาปรับปรุงถนนหลักหลายสายใน พม่าและยกระดับให้เป็นทางหลวงเชื่อมอินเดีย เมียนมาร์และไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย “Look East” ของอินเดีย ที่ต้องการจะเข้าไปมีบทบาททั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว กับกลุ่มประเทศสมาชิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยที่อินเดียต้องการเมียนมาร์ให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง ซึ่งหากเป็นไปตามแผนโครงการฯก็คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2559 ซึ่งไทยก็จะได้รับประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคฯ และเป็นเป้าหมายหลักของอินเดียที่ต้องการเข้ามาค้าขายและลงทุนกับไทย รวมทั้งใช้เป็นฐานขยายการค้าและการลงทุนไปยังเพื่อนบ้านอาเซียนอื่นๆ ในขณะเดียวกัน ไทยก็ต้องการใช้ทางหลวงฯ ดังกล่าวขนส่งสินค้าผ่านเมียนมาร์ไปขายอินเดียเช่นกัน ถือว่าเป็นการส่งเสริมพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทางการค้าเพื่อลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการไทยด้วย

ดังนั้น หากนักลงทุนไทยท่านใดสนใจจะเข้าไปลงทุนในรัฐมณีปุระ ก็สามารถติดต่อผ่านทาง สคต.กรุงนิวเดลี โดยส่งรายละเอียดบริษัทฯและความประสงค์ผ่านทางอีเมล์ THAITCNEWDELHI@GMAIL.COM เพื่อที่สำนักงานฯจะได้ประสานต่อไปยังผู้มีอำนาจของรัฐดังกล่าวต่อไป

สคต.กรุงนิวเดลี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ