เทรนด์ใหม่ของธุรกิจสปาในจีนที่น่าจับตามอง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 8, 2012 16:12 —กรมส่งเสริมการส่งออก

อีกหนึ่งธุรกิจเพื่อสุขภาพที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในจีน คือ ธุรกิจสปา โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ ที่มีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจและมีนักลงทุนชาวต่างชาติมาลงทุน เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว เซินเจิ้น และตงก่วน เป็นต้น ประชาชนจีนหันมาแสวงหาความสุขเพื่อผ่อนคลายความเครียดจากการทำงานโดยการทำ สปาและนวดผ่อนคลาย อาจกล่าวได้ว่าธุรกิจสปาไทยและการนวดแผนไทยได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ไม่น้อยกว่าสปาคู่แข่งอย่างอินโดนีเซีย ฝรั่งเศส ฮ่องกง ฯลฯ อย่างไรก็ตามปัจจุบันร้านสปาสไตล์ไทยในเมือง กวางโจวมีจำนวนไม่มาก ได้แก่ Angsana Spa , Spelland , Yu Shui Quan, Gu Chun และShui Li fang เป็นต้น

ร้านสปาในประเทศจีนมีหลายลักษณะ เช่น Day spa , Resort spa , Club spa , Hotel spa โดยทั่วไปจะมีขนาดพื้นที่ประมาณ200 - 6,000 ตารางเมตร ราคาค่าบริการประมาณ 200-1,000 หยวน ร้านระดับสูงบางแห่งมีราคาสูงถึง 3,000-4,000 หยวน ผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่มีรายได้ปานกลาง-สูง ปัจจุบันเริ่มมีร้านสปาสำหรับผู้ชายแล้ว แต่ยังมีจำนวนไม่มากนัก

กลุ่มลูกค้าสปาในจีน

กลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งมีทัศนคติในการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป สาว ๆ รุ่นใหม่เหล่านี้มองว่า การลงทุนในด้านรูปร่างหน้าตาและผิวพรรณที่ดูดี เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เนื่องจากเป็นตัวชี้วัดคุณค่าและคุณภาพชีวิตของตน แทนตัววัดเดิมประเภทความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ อาทิ การมีบ้าน และของใช้หรูหรา ทัศนคติดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากข้อมูลจำนวนมากผ่านช่องทางที่หลากหลายในปัจจุบันทั้งโทรทัศน์ นิตยสารแฟชั่น และเว็บไซต์ที่สอนให้สาวๆ รู้จักความสำคัญของการถนอมผิวพรรณตั้งแต่วัยสาว และคนรุ่นใหม่เริ่มตระหนักว่า เมื่อร่างกายและจิตใจมีความเครียดจะทำให้ดูอิดโรย ดังนั้นการบำบัดผิวหน้าและผิวตัวจะทำให้รู้สึกผ่อนคลายตั้งแต่ภายใน ซึ่งเป็นวิธีการรักษาความงามให้คงไว้ได้นาน แนวโน้มจากผู้บริโภคกลุ่มใหม่ดังกล่าว ได้เปลี่ยนกรอบความคิดใหม่และรูปแบบความต้องการให้ธุรกิจสปาและธุรกิจเสริมความงามในจีน กลายเป็นโอกาสสำหรับการสร้างตลาดใหม่ให้ธุรกิจบริการด้านความงามและผิวพรรณส่วนบุคคล โดยปัจจุบันธุรกิจเสริมความงามในจีนได้ขยายบริการจากเดิมที่เน้นเฉพาะส่วนใบหน้าไปสู่การดูแลบำบัดทั่วทั้งเรือนร่าง

ในมณฑลกวางตุ้ง เมืองกวางโจวถือได้ว่าเป็นเมืองที่มีธุรกิจสปาเป็นจำนวนมากเมืองหนึ่ง กลุ่มลูกค้าหลักที่นิยมไปใช้บริการยังสถานเสริมความงามและบำรุงผิวพรรณในจีน มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงอย่างน่าสนใจ โดยเปลี่ยนจากผู้หญิงวัยกลางคน อายุเฉลี่ย 30-50 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีหน้าที่การงานดี หรือแม่บ้านจากครอบครัวที่มีฐานะดี มาสู่กลุ่มสาววัยรุ่น พนักงานออฟฟิศ อายุ 20-30 ปีที่หันมาให้ความสนใจในเรื่องรูปร่างหน้าตา และใส่ใจผิวพรรณตั้งแต่วัยสาว จนถึงขนาดที่ต้องการใช้บริการจากผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ

โอกาสและช่องทางของธุรกิจสปาและผลิตภัณฑ์สปาของไทย

เมืองกวางโจวเป็นตลาดที่มีโอกาสและช่องทางในการขยายธุรกิจสปามาก เนื่องจากสปาไทยมีจุดเด่นในเรื่องภาพลักษณ์ทั้งด้านสไตล์และด้านผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของไทย ล้วนทำมาจากพืชสมุนไพรและดอกไม้นานาพันธุ์ ซึ่งชาวจีนนิยมใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากธรรมชาติอยู่แล้ว เพราะอ่อนโยน ไม่มีส่วนผสมของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อผิว ผลิตภัณฑ์สปาไทยจึงเป็นที่นิยมในกลุ่มลูกค้าชาวจีน รวมไปถึงวิธีการนวดและภูมิปัญญาไทยในการบำบัดรักษาผ่อนคลายร่างกายและจิตใจได้ดี พนักงานนวดชาวไทยมีความเชี่ยวชาญ เด่นในเรื่องให้บริการที่ประทับใจแก่ลูกค้า ซึ่งสปาของประเทศอื่นไม่ค่อยเน้นจุดเด่นในด้านนี้

จุดเด่นและข้อได้เปรียบของสปาไทยมีดังนี้

1. ธุรกิจสปาไทยมีข้อได้เปรียบทางด้านวัตถุดิบที่ใช้ล้วนมาจากธรรมชาติ เช่น ดอกไม้สด เครื่องดื่มสมุนไพรที่พร้อมให้บริการแก่ลูกค้า ความพิถีพิถันปราณีตและบริการที่ครบวงจร ทำให้สปาไทยมีแนวโน้มความต้องการในการใช้บริการสปาและนวดแผนไทยจากลูกค้าชาวจีนและต่างชาติมากขึ้น เนื่องจากลูกค้าจดจำภาพลักษณ์ที่ดีต่อการบริการ ผลิตภัณฑ์สปาและสมุนไพรไทยได้ โดยเฉพาะลูกค้าที่เคยไปเที่ยวประเทศไทยและเคยใช้บริการสปาไทยมาก่อน ก็จะกลับมาใช้บริการสปาไทยในประเทศของตนเองอีก

2. ผู้ประกอบการธุรกิจสปาระดับสูงของจีนมีความต้องการร่วมมือกับผู้ประกอบการธุรกิจสปาระดับสูงของไทย เนื่องจากผู้ประกอบการธุรกิจสปาระดับสูงของจีนต้องการยกระดับธุรกิจสปาของตนให้มีมาตรฐานสากล มีการนวดและการทำสปาหลากหลายรูปแบบครบวงจรอยู่ด้วยกัน เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าทุกระดับ

3. ลูกค้าชาวจีนในปัจจุบันมีความตื่นตัวด้านสุขภาพและชอบทดลองสิ่งแปลกใหม่จากต่างชาติมากขึ้น บวกกับมีทัศนคติที่ดีกับการนวดและสปาไทย รวมไปถึงธุรกิจสปาไทยนั้น มีบริการหลากหลายระดับที่ลูกค้าสามารถมาเลือกใช้บริการได้

4. ผู้ประกอบธุรกิจสปาสามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน- จีน (China -ASEAN Free Trade Area) ในเรื่องของการนำเข้าอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ใช้ในการนวดและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการนวด ผลิตภัณฑ์สปาในหมวดสินค้าที่เป็นวัตถุดิบ เช่น พืชสมุนไพร เป็นต้น

กฎระเบียบ/ข้อกำหนดและขั้นตอนในการจัดตั้งธุรกิจสปาในจีน

สำหรับสินค้าผลิตภัณฑ์สปาจัดอยู่ในสินค้า Cosmetic การนำเข้าผลิตภัณฑ์สปามีกฎระเบียบที่เข้มงวดและอัตราภาษีนำเข้าสูง รวมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม17% ดังนั้นผู้ส่งออกจะต้องขอใบอนุญาตด้านสุขอนามัย มีการ และตรวจสอบฉลากโดยเตรียมข้อมูลฉลากสินค้าที่เป็นภาษาจีนติดบนสินค้าและส่งให้หน่วยงาน AQSIQ ( General Administration of Quality Supervision, Inspection and Quarantine of the People's Republic of China ) ตรวจสอบก่อน เมื่อได้รับการพิจารณาอนุญาตแล้วถึงจะสามารถนำเข้าได้

ขั้นตอนการขออนุญาตจัดตั้ง มีดังนี้
  • ผู้ลงทุนต้องติดต่อขอหนังสือแจ้งชื่อเพื่อการตรวจสอบและอนุมัติจากหน่วยงานบริหารอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ State Administration for Industry and Commerce (SAIC) ระดับอำเภอหรือระดับสูงกว่าของเมืองกวางโจว
  • ผู้ลงทุนต้องยื่นหนังสือขออนุญาตต่อองค์กรที่รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจการค้า 3 องค์กร คือ Foreign Investment Examine and Approve Department, The Planning Commission และ Guangdong Tourism Bureau หน่วยงานที่รับผิดชอบจะพิจารณากลั่นกรองเบื้องต้น แล้วส่งต่อหน่วยงานรับผิดชอบระดับที่สูงกว่า เพื่อขออนุมัติที่กระทรวงพาณิชย์และจะได้รับคำตอบภายใน 90 วัน
  • ผู้ลงทุนด้านธุรกิจสปาต้องยื่นขอใบอนุญาตด้านสุขอนามัย จากหน่วยงานสาธารณสุขและขอใบอนุญาตความปลอดภัย จากหน่วยงานความมั่นคงสาธารณะ (กรมตำรวจ) หลังจากได้รับแล้วจึงดำเนินธุรกิจได้และสามารถนำใบอนุญาตดังกล่าวไปจดทะเบียนที่หน่วยงานบริหารอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ State Administration for Industry and Commerce (SAIC) ณ สำนักงานที่ยื่น เพื่อทำใบอนุญาตประกอบการค้า
  • ผู้ลงทุนต้องไปจดทะเบียนที่สมาคมธุรกิจความงาม ณ สถานที่ที่ธุรกิจของผู้ประกอบการตั้งอยู่
กฎระเบียบด้านการเงิน

ประเทศจีนมีระบบนโยบายควบคุมเงินตราต่างประเทศที่เข้มงวด ดังนั้นหลังจากที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการแล้วควรไปจดทะเบียนที่หน่วยงานควบคุมเงินตราต่างประเทศภายใน 30 วัน เพื่อขอจดใบทะเบียนเงินตราต่างประเทศและนำมาเปิดบัญชีเงินตราต่างประเทศที่ธนาคาร จึงจะมีสิทธิ์ดำเนินกิจการเงินตราต่างประเทศได้ตามจำนวนที่หน่วยงานควบคุมเงินตราต่างประเทศของจีนระบุไว้ รวมทั้งสามารถฝากเงินตราต่างประเทศในบัญชีของธนาคารดังกล่าวตามจำนวนที่กำหนดไว้

กฎระเบียบด้านภาษี

หลังจากได้รับใบอนุญาตประกอบการนิติบุคคลแล้ว ผู้ลงทุนจะต้องดำเนินการด้านจัดเก็บภาษีภายใน 30 วัน ที่กรมภาษีอากร ทั้งนี้การเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้เสียภาษีธรรมดาจะเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม17% ส่วนภาษีประกอบการจะคิดตามยอดเงินของการประกอบการ โดยอัตราภาษีของธุรกิจสปา คือ 5% ภาษีรายได้นิติบุคคล 30% และภาษีรายได้ท้องถิ่น 3%

กฎระเบียบด้านการนำเข้าแรงงาน

การขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ผู้ประกอบการต้องยื่นขออนุญาตนำเข้าแรงงานจากกรมแรงงานจีน (Labor Bureau) เพื่อขอใบอนุญาตทำงานซึ่งต้องผ่านการอนุญาตจาก Public Security Bureau ด้วย หลังจากนั้นผู้ประกอบการต้องนำใบอนุญาตทำงานไปยื่นต่อสำนักงานการต่างประเทศ (Guangdong Foreign Affairs Offices ) เพื่อประสานงานกับสถานทูตจีนประจำประเทศไทยให้ออกวีซ่าทำงานให้ และเมื่อแรงงานเดินทางถึงประเทศจีนแล้ว ผู้ประกอบการจะต้องพาไปตรวจสุขภาพที่ Deprtment of Human Quarantine ภายใน 30 วัน

ปัญหาและอุปสรรค
  • ปัญหาการจดทะเบียนทำธุรกิจ หรือการขอใบอนุญาตนำเข้าผลิตภัณฑ์สปามีขั้นตอนยุ่งยาก ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการไทยจะใช้วิธีจ้างบริษัทที่ปรึกษาเป็นผู้ดำเนินการแทน
  • ปัญหาการลอกเลียนแบบสปาไทย เรามักจะพบว่าตามสถานบริการสปาทั่วๆ ไปมักจะมีป้ายประชาสัมพันธ์ว่าคือ สปาไทย แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่สปาของไทย เป็นเพราะในปัจจุบันสปาไทยเป็นศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ทำให้มีสปาหลายแห่งนำชื่อสปาไทยมาใช้ แต่ระดับการบริการ การนวด นั้นยังไม่ใช่สปาไทยทั้งหมด ส่วนใหญ่จะเป็นร้านที่เปิดโดยคนจีน แต่จะตกแต่งร้านให้ดูเหมือนเป็นสไตล์ไทย ซึ่งบริการภายในร้านก็จะไม่ใช่แบบไทยจริงๆ บางร้านในช่วงแรกอาจจะมีเจ้าหน้าที่/พนักงานนวดที่เป็นไทยอยู่

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ