ความเคลื่อนไหวสถานการณ์เศรษฐกิจในเขตกิวชูและชูโกกุ เดือน กรกฎาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 8, 2012 15:58 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาวะเศรษฐกิจในเขตกิวชูและโอกินาวาเดือน มิ.ย.55 ว่ามีการปรับตัวดีขึ้น 1 จุดจากการสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อเดือน มี.ค.55 โดยภาวะธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมการผลิตฟื้นตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกใน 3 รอบการสำรวจนับแต่เดือน ก.ย.54 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเคมี และอุตสาหกรรมเครื่องจักรอิเล็กโทรนิกมีการปรับตัวสูงขึ้นมาก ถึงแม้ว่าในอุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวกับ semi conductor จะยังอยู่ในภาวะไม่ดีนัก แต่ก็เริ่มเห็นสญญาณว่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรม Non-manufacturing ก็ปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนในบ้านพักอาศัยเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งภาคบริการที่ปรับตัวดีขึ้นเช่นกันจากแนวโน้มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่กลับเข้ามาท่องเที่ยวในญี่ปุ่นมากขึ้น

2. Chugoku Energia Research Institute สถาบันวิจัยเอกชนชั้นนำในเขตชูโกกุรายงานว่าการขยายตัว Real GDP ของเขตเศรษฐกิจชูโกกูในปี 2012 น่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 2 ปี แต่อัตรา การขยายตัวดังกล่าวยังต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยทั้งประเทศญี่ปุ่นซึ่งคาดไว้ที่ร้อยละ 2.3 เนื่องจากเขตชูโกกุแทบไม่ได้รับผลพวงจากการทุ่มงบประมาณลงทุนฟื้นฟูของรัฐบาลกลางซึ่งส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเขตโดโฮขุนและเขตใกล้เคียงในขณะที่ภาคการผลิตและการส่งออกได้รับผลกระทบจากการสูงขึ้นของค่าเงินเยนค่อนข้างมากเนื่องจากเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีสัดส่วนการส่งออกสูง อย่างไรก็ดี คาดว่าสถานการณ์ในปี 2013 จะดีขึ้น โดยการขยายตัวของ Real GDP น่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.3 เนื่องด้วยภาวะเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าที่เป็นตลาดหลัก คือ อเมริกาและยุโรปมีแนวโน้มการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น

3. บริษัท Hirotech จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ชั้นนำในเขตชูโกกุขยายการลงทุนในประเทศไทยโดยตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนท่อไอเสียรถยนต์ นับเป็นโรงงานแห่งที่สองในประเทศไทย โดยบริษัทได้เข้ามาลงทุนในไทยครั้งแรกในปี 1997 โดยร่วมทุนกับบริษัทไทยซัมมิท ทำการผลิตชิ้นส่วนประตูและชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูป การผลิตชิ้นส่วนท่อไอเสียนี้เป็นการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าจากญี่ปุ่น

4. บริษัท Mikasa จำกัด ผู้ผลิตลูกบอลกีฬาประเภทต่างๆ ในฮิดรชิมาและมีโรงงานผลิต 1 แห่งใน จ.ระยอง ประกาศแผนการกระจายฐานการผลิตจากไทยเข้าสู่กัมพูชาเพื่อรับมือกับแนวโน้มค่าแรงที่สูงขึ้นในไทย โดยจะตั้งโรงงานในเขตเกาะกงซึ่งคาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายในปี 2013 ใช้เงินลงทุนราว 410 ล้านเยน นับเป็นผู้ผลิตสินค้ารายแรกในเขตชูโกกุที่เข้าไปลงทุนในกัมพูชา สินค้าที่ผลิตจากโรงงานในกัมพูชาจะส่งออกไปยังประเทศในยุโรปและอเมริกาเช่นเดียวกับสินค้าที่ผลิตจากโรงงานในไทย

5. ความเสียหายจากเหตุการณ์พายุฝุ่นกระหน่ำในภาคเหนือของเขตกิวชูเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม ศกนี้ มีมูลค่าประมาณ 124,400 ล้านเยน ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ฟูกูโอกะ คุมาโมโตและโออิตะ ยอดเสียหายในแต่ละจังหวัด 51,100 ล้านเยน 51,300 ล้านเยนและ 22,000 ล้านเยน ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่บางส่วนในจังหวัดซากะได้รับความเสียหายเช่นกัน โดยส่วนใหญ่ความเสียหายเกือบร้อยละ 50 เป็นเส้นทางคมนาคม ได้แก่ ถนน และบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการขนส่งในภาคเกษตรของเขตที่ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ ทางรัฐบาลไทยได้บริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยใน 4 จังหวัดดังกล่าว รวม 14.5 ล้านเยน โดยเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว เป็นผู้แทนเดินทางไปมอบเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 4 เมื่อวันที่ 30 และ 31 กรกฏาคม 2555 เพื่อเป็นการแสดงน้ำใจตอบแทนจากรัฐบาลและประชาชนชาวไทยแก่ประเทศญี่ปุ่นที่เคยให้ความช่วยเหลือแก่ไทยจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ