"โลจิสติกส์ไทย-ยูนนาน" กับโอกาสเจาะตลาดจีนตะวันตก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 8, 2012 13:37 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๕๕ นายกรัฐมนตรีของไทยได้เดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการ โดยทั้งสองฝ่ายได้ประกาศที่จะเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน (Comprehensive Strategic Cooperative Partnership) ในด้านการค้าระหว่างไทยกับจีน จีนเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของไทย และเป็นประเทศที่มีการนำเข้าเป็นอันดับ ๒ ของไทย โดยเฉลี่ยการขยายตัวทางการค้าเพิ่มขึ้นปีละไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ทั้งนี้ ในระหว่างการเยือนจีนของนายกรัฐมนตรีไทย ทั้งสองประเทศได้ตั้งเป้าหมายมูลค่าการค้าไว้ ๑๐๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี ๒๐๑๕

ด้านการส่งสินค้าไทยออกไปจีน ส่วนใหญ่จะใช้เส้นทางการขนส่งทางทะเลท่าเรือภาคตะวันออกของไทย เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง ไปยังท่าเรือตะวันออกของจีน เช่น กว่างโจว เซี่ยงไฮ้ ชิงไห่ ฯลฯ ซึ่งการจัดการด้านโลจิสติกส์การกระจายสินค้าจากท่าเรือด้านตะวันออกมายังพื้นที่ตอนใน ตะวันตก หรือภาคกลางของจีน โดยทางถนนหรือทางรถไฟก็ตาม จะต้องใช้เวลาในการขนส่งสินค้าค่อนข้างมากกว่าจะไปถึงจุดหมาย ดังนั้น เมื่อถนนคุนหมิง - กรุงเทพฯ เปิดดำเนินการ แนวโน้มการส่งสินค้าไทยออกมาจีนผ่านทางมณทลยูนนาน (อ. เชียงของ - สปป. ลาว - มณฑลยูนนาน) เพิ่มสูงขึ้นโดยมีหลายปัจจัยส่งเสริมให้การนำเข้า - ส่งออกสินค้าด้านนี้ เช่น ความใกล้ชิดระหว่างไทย - ยูนนาน โดยพรมแดนระหว่างไทย - ยูนนาน ห่างกันเพียงระยะทางในสปป.ลาว ประมาณ ๒๓๐ กิโลเมตรเท่านั้น ส่วนระยะทางระหว่างกรุงเทพฯ - คุนหมิง ประมาณ ๑,๘๐๐ กิโลเมตร เส้นทางดังกล่าวทำให้ผู้ส่งออกไทยเปลี่ยนมาใช้เส้นทางถนนนี้ในการส่งสินค้าออก เช่น ยางพารา ผลไม้ไทย ขนมของขบเคี้ยว น้ำจิ้ม เครื่องปรุง สินค้าประเภทของใช้ของตกแต่งบ้านที่ทำจากไม้ ซึ่งภาวะการณ์เปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้นครคุนหมิง มณฑลยูนนานเป็นประตูด้านการค้าที่สำคัญของไทยและอาเซียนอีกแห่งหนึ่งในจีน

การพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งไทยและการพัฒนาโลจิสติกส์ยูนนาน

ประเทศไทย สาธารณรัฐประชาชนจีน สหภาพพม่า และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นกลุ่มประเทศสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ที่มีการพัฒนาระบบคมนาคมและสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงกันทั้งทางน้ำ ทางอากาศ ทางรถยนต์ และรถไฟ

๑. เส้นทางน้ำ เดิมเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้า ที่สำคัญระหว่างไทยกับยูนนาน โดยได้ใช้เส้นทางการขนส่งทางน้ำผ่านแม่น้ำโขง จากเมืองจิ่งหง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา (ท่าเรือจิ่งหง และท่าเรือกวนเหล่ย) ในมณฑลยูนนาน ล่องเรือตามแม่น้ำโขง (ในจีนเรียกแม่น้ำหลานชาง) ระยะทางระหว่างเมืองจิ่งหงถึงอำเภอเชียงแสนประมาณ ๓๔๔ กิโลเมตร การขนส่งสินค้าจากมณฑลยูนนานจะเป็นขาล่องตามน้ำจะใช้เวลาประมาณ ๑ - ๒ วัน ส่วนการขนส่งจากประเทศไทยมายังมณฑลยูนนานเป็นการทวนน้ำ จะใช้เวลาประมาณ ๒ - ๓ วัน เมื่อสินค้าล่องมาถึงที่ท่าเรือในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนาแล้ว จะต้องขนส่งทางบกมายัง นครคุนหมิง ซึ่งมีระยะห่างจากเมืองจิ่งหง (เชียงรุ้ง) ถึงนครคุนหมิงประมาณ ๕๙๐ กิโลเมตร เส้นทางถนนในมณฑลยูนนานจะเป็นเส้นทางด่วนตัดผ่านภูเขาสูงในมณฑลยูนนาน ใช้เวลาขนส่งประมาณ ๑๐ - ๑๒ ชั่วโมง

๒. เส้นทางการบิน ปัจจุบันมีเส้นทางการบินระหว่างกรุงเทพฯ มายังนครคุนหมิง ใช้เวลาบินประมาณ ๑ ชั่วโมง ๕๐ นาที โดยสายการบินไทย (TG) และ China Eastern Airline (MU) และเส้นทางการบินระหว่างกรุงเทพฯ มายังเมืองจิ่งหง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา โดยสายการบิน China Eastern Airline (MU) ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง ปัจจุบันนอกจากการขนส่งผู้โดยสารแล้ว ยังมีการขนส่งสินค้าไทยมาทางอากาศ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าประมง และมีจุดหมายปลายทางที่นครคุนหมิง ถือเป็นสนามบินพลเรือนแห่งใหม่ในเขตเมืองใหม่ของนครคุนหมิง มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ ๔ ของจีนรองจากสนามบินในกรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ นครกวางโจว และนครคุนหมิง เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๕ การคิดค่าระวางสำหรับการขนส่งสินค้าประมาณ ๔๕ - ๔๘ บาท ต่อกิโลกรัม

๓. เส้นทางบก การขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางบกได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่การเปิดใช้เส้นทางถนนคุนมั่นกงลู่ (คุนหมิง - กรุงเทพฯ) หรือเส้นทาง R3 โดยการสร้างเส้นทางนี้เป็น ๒ เส้นทาง จากประเทศไทยมายังประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน คือ ผ่านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และผ่านสหภาพพม่า เพื่อเข้าสู่จีนตะวันตกเฉียงใต้ด้านมณฑลยูนนาน ระยะทางระหว่างกรุงเทพฯ มายังนครคุนหมิงประมาณ ๑,๘๐๐ กิโลเมตร ปัจจุบันการขนส่งทางบกจะใช้สปป.ลาวเป็นส่วนใหญ่ โดยมีการขนส่งออกทางด่านอำเภอเชียงของ ข้ามแม่น้ำโขงในช่วงนี้ด้วยแพขนานยนต์ เข้าไปยังแขวงบ่อแก้วและแขวงหลวงน้ำทาในสปป.ลาว และเข้าสู่เขตปกครองตนเองสิบสองปันนาในมณฑลยูนนาน ช่วงที่ผ่านแม่น้ำโขงต้องใช้แพขนานยนต์นั้น ปรากฎว่า รัฐบาลไทยและจีนได้บรรลุข้อตกลงที่จะออกค่าใช้จ่ายฝ่ายละครึ่งเพื่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงในช่วงนี้ ปัจจุบันกำลังดำเนินการก่อสร้างสะพานไทย - ลาว แห่งที่ ๔ และคาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางปี ๒๐๑๓ (ส่วนเส้นทางในพม่ามีการใช้เป็นเส้นทางการขนส่งน้อยกว่า เนื่องจากปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อยในพม่า มีความไม่ปลอดภัยตลอดจนการเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าผ่านทางตลอดเส้นทางเป็นค่าใช้จ่ายมากผู้ขนส่งจึงใช้เส้นทางนี้น้อยกว่า) สภาพเส้นทางถนนเป็นถนนลาดยางสองเลนตลอดสาย ภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน ถนนถูกสร้างขึ้นตามแนวภูเขาและเป็นทางโค้ง รถยนต์ใช้ความเร็วได้ไม่มาก สองข้างทางเป็นพื้นที่ป่าเขา เกษตรกรรม และหมู่บ้านชาวเขาเผ่าต่างๆ บนถนนสายนี้จะมีกิจการของนักลงทุนไทย คือ เหมืองถ่านหินเวียงภูคา ส่วนบริเวณด่านบ่อเต็น ชายแดนลาวจีน มีนักลงทุนชาวจีนเข้ามาสร้างศูนย์การค้า โรงแรมและบ่อนคาสิโน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนจากด่านบ่อหานไปสู่นครคุนหมิงเป็นเส้นทางด่วนถนนคอนกรีต ๔ เลน

๔. เส้นทางรถไฟ จีนมีแผนการสร้างทางรถไฟเพื่อเชื่อมเข้าไปยังประเทศต่างๆ โดยมีแผนสร้างทางรถไฟไปเวียดนาม ลาว และพม่าทางจีนตอนใต้ เส้นทางในลาวเพื่อเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟของไทยไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ เส้นทางในพม่าจะเชื่อมต่อไปยังบังคลาเทศ อินเดีย และปากีสถานต่อไป ปัจจุบันได้ดำเนินการสร้างเส้นทางรถไฟในส่วนของมณฑลยูนนานไปมากแล้ว คาดว่าเส้นทางรถไฟในมณฑลยูนนานเพื่อเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ ปัจจุบันรัฐบาลจีนได้ไปเจรจากับประเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนการสร้างทางรถไฟในประเทศเหล่านั้น เช่น พม่า ลาว โดยจีนอาจจะให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือรูปแบบอื่นสำหรับการสร้างเส้นทางรถไฟ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน ๒ - ๓ ปี เส้นทางที่จะสร้างในสปป.ลาว ผ่านเมืองหลวงพระบาง กรุงเวียงจันทน์ และเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟไทยที่จังหวัดหนองคาย

ตารางที่ ๑ : เปรียบเทียบค่าขนส่ง กรุงเทพฯ - คุนหมิง ต่อ ๑ ตู้คอนเทนเนอร์
เส้นทาง                                ทางบก (R3)                 ทางทะเล (กวางโจว) ต่อทางบก
                             ประมาณการค่าใช้จ่าย   ระยะเวลา         ประมาณการค่าใช้จ่าย       ระยะเวลา
กรุงเทพฯ - คุนหมิง                 ๒๙๑,๔๐๐ บาท     ๒ - ๓ วัน           ทางทะเล (เรือ)
(ผ่านสปป.ลาว - R3A หรือ R3E)                                     ๑๘,๖๐๐ - ๙๓,๐๐๐ บาท      ๑ สัปดาห์
กรุงเทพฯ - คุนหมิง                                                ต่อทางบก (รถ) ถึงคุนหมิง
(ผ่านสหภาพพม่า - R3B หรือ R3W)     ๒๔๓,๐๔๐ บาท     ๒ - ๓ วัน       ๔๕,๐๐๐ - ๕๐,๐๐๐ บาท
หมายเหตุ : ค่าใช้จ่ายดังกล่าวไม่รวมการทำพิธีศุลกากร ณ ด่านปลายทาง

ตารางที่ ๒ : ค่าขนส่ง กรุงเทพฯ - คุนหมิง ทางแม่น้ำโขง
ขนาดของเรือ           ช่วงเวลา              ค่าขนส่ง (ทางน้ำ)             ค่าขนส่ง (ทางบก)
๘๐ ตัน                พ.ค. - ธ.ค.      ๑๕๐,๐๐๐ - ๑๖๐,๐๐๐ บาท
เช่าเหมาลำ            ธ.ค. - เม.ย.     ๑๗๕,๐๐๐ - ๒๐๐,๐๐๐ บาท
                                                                  ค่าขนส่งพร้อมค่ายกประมาณ
๑๒๐ - ๑๕๐ ตัน         พ.ค. - ธ.ค.      ๑๗๕,๐๐๐ - ๒๐๐,๐๐๐ บาท       ๒,๐๐๐ - ๒,๕๐๐ บาทต่อตัน
เช่าเหมาลำ            ธ.ค. - เม.ย.     ๒๒๕,๐๐๐ - ๒๕๐,๐๐๐ บาท
ไม่เช่าเหมาลำ          พ.ค. - เม.ย.           ๖๐๐ - ๒,๒๕๐ บาท
หมายเหตุ : ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นค่าขนส่งอย่างเดียว ไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ อาทิ ค่าธรรมเนียมผ่านทางสปป.ลาว
               ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มการค้าชายแดน ค่าภาษีนำเข้าประเทศปลายทาง ค่าบำรุงท่าเรือ ฯลฯ

ตารางที่ ๓ : ระยะเวลาขนส่ง ทางแม่น้ำโขง (เรือ)
ท่าเรือไทย --->ท่าเรือจีน         ท่าเรือกวนเหล่ย         ท่าเรือจิ่งหง           ท่าเรือซือเหมา
                             ขาขึ้น     ขาล่อง      ขาขึ้น     ขาล่อง      ขาขึ้น     ขาล่อง
   ท่าเรือเชียงแสน              ๓ วัน     ๒ วัน       ๔ วัน     ๓ วัน       ๕ วัน     ๔ วัน
การใช้เงิน ๑.๑๒ ล้านล้านหยวน เพื่อพัฒนากิจการโลจิสติกส์ของนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน

เมื่อปลายปี ๒๐๐๘ นครคุนหมิงมีกลุ่มนักธุรกิจจีนดำเนินการด้านโลจิสติกส์ทั้งหมด ๗ แห่ง ธุรกิจคลังเก็บสินค้าเพื่อการขนส่ง ๑๒,๐๔๑ แห่ง ธุรกิจการค้าอื่นๆ อีก ๘,๐๐๐ กว่ากิจการ สภาพการณ์ของกลุ่มโลจิสติกส์จะกระจายมีขนาดเล็กและไม่แข็งแรง ขาดคุณภาพ ไม่มีการจัดระเบียบในธุรกิจนี้และทำให้เกิดการทำงานซับซ้อนการขาดระเบียบและกฏเกณฑ์ในการทำธุรกิจโลจิสติกส์ ทำให้สถานที่ เช่น สถานีขนส่งสินค้า การจัดเก็บสินค้าที่ไม่เป็นระเบียบดังกล่าวเกิดเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากและยิ่งทำให้การบริหารจัดการโลจิสติกส์ไปเพิ่มปัญหาให้กับธุรกิจการค้าและเศรษฐกิจของยูนนาน

ภายใต้ "แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ ๑๒ ระยะเวลา ๕ ปี" มีเป้าหมายให้นครคุนหมิงเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ สร้างนครคุนหมิงเป็นหนึ่งในเมืองที่มีสินค้าไหลเวียนเข้าออกมากที่สุดเมืองหนึ่ง เป็นจุดเชื่อมต่อหลักสินค้าไหลเวียนของภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเซียใต้

ด้วยเหตุนี้รัฐบาลนครคุนหมิงและมณฑลยูนนานจึงได้จัดทำแผนเพื่อการพัฒนากิจการด้านโลจิสติกส์ของนครคุนหมิงให้ครอบคลุมทุกด้าน ได้แก่ ท่าทางบกระหว่างประเทศนครคุนหมิง (Kunming International Land Port) เขตพื้นที่โลจิสติกส์ ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านโลจิสติกส์ โดยแผนการพัฒนาดังกล่าวจะทำให้ธุรกิจโลจิสติกส์นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน รวมตัวกันให้บริการกับประเภทธุรกิจอย่างทั่วถึงและเป็นระบบ ศูนย์โลจิสติกส์สามารถเชื่อมต่อกับมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย เอเชียตะวันออก เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และขยายไปถึงพื้นที่ เขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้ำไข่มุก (Pan Pearl River Delta : Pan - PRD) เขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ Pan - Yangtze River Delta เขตเศรษฐกิจอ่าวป๋อไห่ (แม่น้ำเหลืองไหลลงทะเลด้านตะวันออกเฉียงเหนือ)

แผนการจัดการด้านโลจิสติกส์ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงกิจการโครงสร้างโลจิสติกส์ครั้งใหญ่ของนครคุนหมิง เป็นการกระตุ้นการสร้างกิจการการค้า กิจการโลจิสติกส์ ให้มีการปฏิบัติอย่างรูปธรรม ทั้งเชิงลึกและเชิงกว้าง แผนการพัฒนาโลจิสติกส์นี้เป็นหนึ่งใน "แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ ๑๒ ระยะเวลา ๕ ปี" มูลค่าการลงทุนในรายการสำคัญสำหรับการพัฒนากิจการโลจิสติกส์เป็นจำนวน ๑.๑๒ ล้านล้านหยวน คาดว่า หากดำเนินการตามแผนพัฒนาฯ แล้ว จะสามารถรองรับปริมาณการขนส่งสินค้ามากถึง ๒๓๘ ล้านตัน

การดำเนินการตามแผนการณ์เพื่อขนส่งสินค้า กลยุทธ์ในการทำให้โลจิสติกส์ขยายตัว การคาดการณ์ ความต้องการ การสร้างท่าทางบกระหว่งประเทศในคุนหมิง จะเป็นการดำเนินการที่สำคัญและจะทำให้นครคุนหมิงเป็นศูนย์กลาง (Hub) ในด้านธุรกิจโลจิสติกส์ระหว่างประเทศต่อไป

ท่าและด่านทางบกระหว่างประเทศนครคุนหมิง

ยูนนานเป็นมณฑลที่อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และเป็นดินแดนที่ไม่มีทางออกทะเล ในด้านการค้าระหว่างประเทศ สินค้าเข้าและออกมณฑลจึงต้องอาศัยการนำเข้าและส่งออกจากมณฑลอื่น หรือ หากต้องการนำเข้าส่งออกสินค้าโดยตรงแล้วก็สามารถนำเข้าตามแนวชายแดนระหว่างมณฑลยูนนานกับประเทศเพื่อนบ้าน ๓ ประเทศ คือ เวียดนาม ลาว และพม่า ซึ่งพรมแดนระหว่างมณฑลยูนนานกับประเทศเพื่อนบ้านทั้ง ๓ นั้น มีระยะทาง ๔,๐๖๐ กิโลเมตร ซึ่งตามพรมแดนระหว่างประเทศ มีด่านทางบกที่สำคัญๆ เช่น ด่านเหอโข่ว ระหว่างมณฑลยูนนานกับเวียดนาม ด่านโมฮั่นระหว่างมณฑลยูนนานกับลาว ด่านต้าลั่วและรุ่ยลี่ ระหว่างมณฑลยูนนานกับพม่า

การขยายตัวด้านการค้าระหว่างประเทศทำให้นครคุนหมิงได้พัฒนาด่านทางบกขึ้นมาเพื่อรองรับกับการเจริญเติบโต โดยได้พัฒนาพื้นที่เป็นท่าและด่านทางบกในนครคุนหมิงที่สำคัญ คือ

  • Da Tao Hua (Kunming International Dry Port) ตั้งอยู่เขตอันหนิง (Anning) ห่างจากกลางนครคุนหมิงประมาณ ๒๗ กิโลเมตร จะรองรับการจัดการโลจิสติกส์ของสินค้าประเภทโลหะ กึ่งโลหะ พลังงาน วัสดุก่อสร้าง ฟอสเฟต และเคมี คาดว่าการก่อสร้างศูนย์กลางแห่งนี้จะแล้วเสร็จใน ปี ๒๐๑๕ เขตอันหนิง จะเป็นพื้นที่ในการสร้างสาธารณูปโภคเพื่อรองรับอุตสาหกรรมหนัก เนื่องจากท่อส่งก๊าซและน้ำมันดิบจากพม่าจะเข้ามากลั่นในเขตอันหนิง ซึ่งการกลั่นน้ำมันจะทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องหลายประเภท เช่น พลาสติก ยางมะตอย เคมีภัณฑ์ ฯลฯ
  • Wang Jia Ying ซึ่งเป็นศูนย์โลจิสติกส์ตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟด้านทิศเหนือในเขตเฉินก้ง (เมืองใหม่) ของนครคุนหมิง การลงทุนสร้างศูนย์โลจิสติกส์ คาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จในปี ๒๐๑๓ และสามารถรองรับ ตู้คอนเทนเนอร์ได้มากกว่า ๑ ล้าน T.E.U.
  • New Long March Kunming International Land Port ซึ่งเป็นกลุ่มโลจิสติกส์ของบริษัทในเครือกลุ่มอุตสาหกรรมและการค้า New Long March ยูนนาน กลุ่มโลจิสติกส์ New Long March กำหนดแผนที่จะดำเนินการให้บริการโลจิสติกส์การเงิน จัดหาและบริการ โครงการที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ สนับสนุนผลักดันการค้า ให้บริการด้านข่าวสารโลจิสติกส์ นอกจากนี้ บริษัทจะจัดให้มีสถานที่ให้บริการสถานที่สำหรับการทำบรรจุภัณฑ์ (Packaging) การเพิ่มมูลค่าสินค้า การขนส่ง การให้บริการด้าน ข่าวสารโครงการที่สำคัญ เพื่อให้การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเป็นส่วนหนึ่งของสังคมยูนนานคือบริการด้านการเงิน การจัดแสดงสินค้า การจัดจำหน่าย บริการด้านข้อมูลสารสนเทศรูปแบบธุรกิจสมัยใหม่ กระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ กระตุ้นการพัฒนาของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ส่งเสริมการจ้างงานสังคม บริการด้านการชำระภาษีการค้า การเชื่อมโยงอุตสาหกรรมและยกระดับภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยี การปรับปรุงรูปแบบธุรกิจที่ทันสมัย ปฏิบัติจริง และด้านอื่นๆ ทั้งหมด

New Long March ตั้งอยู่เขตของนครคุนหมิง บริเวณเขตพื้นที่หลั่วหยาง (Luo Yang) โลจิสติกส์ ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นศูนย์กลางท่ารถไฟระหว่างประเทศ ซึ่งมี ๑๘ สถานี ที่จะติดต่อกับเส้นทางรถไฟของประเทศเพื่อนบ้าน โครงการสามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางด่วนด้านเหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตกของนครคุนหมิง โครงการนี้อยู่บนพื้นที่ ๕๐๐ หมู่ ใช้เงินลงทุน ๑.๖ พันล้านหยวน การสร้างอาคารที่มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ ๗ แสนตารางเมตร โครงการตั้งอยู่ภายในสถานีรถไฟขนส่งตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์คลังสินค้าประกอบด้วย พื้นที่สำหรับการบรรจุหีบห่อผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นการสร้างและเพิ่มมูลค่าสินค้า ลานวางตู้คอนเทนเนอร์ เป็นต้น

International Cold Chain Logistics Commercial and Trade Center

นครคุนหมิง มีแผนการสร้างศูนย์โลจิสติกส์การค้าและพาณิชย์ รวมถึงห้องเย็นครบวงจรนานาชาติ (International Cold Chain Logistics Commercial and Trade Center) ที่ใหญ่ที่สุดในด้านตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เอเซียตะวันออกเฉียงใต้และในเอเซียใต้ ด้วยเงินลงทุนกว่า ๗.๒ พันล้านหยวน (ประมาณ ๑.๑ พันล้านเหรียญสหรัฐฯ)

ศูนย์โลจิสติกส์ฯ แห่งนี้จะถูกสร้างขึ้นทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ของนครคุนหมิง โดยตั้งอยู่ในพื้นที่ Kunming Airport Economic Zone มีพี้นที่กว่า ๒,๐๐๐ หมู่ (หรือประมาณ ๘๓๓ ไร่) ซึ่งประกอบไปด้วย พื้นที่ของศูนย์โลจิสติกส์ พื้นที่ของโรงงานผลิตสินค้า พื้นที่สำหรับโกดังห้องเย็น ย่านธุรกิจการค้า และพื้นที่สำหรับธุรกิจบริการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับโลจิสติกส์และการขนส่ง

ภายหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จศูนย์โลจิสติกส์ฯ แห่งนี้จะครอบคลุมการดำเนินธุรกิจถึงร้อยละ ๘๐ ของตลาดนครคุนหมิง และมีมูลค่าประมาณ ๔ พันล้านหยวนต่อปี (ประมาณ (๖๓๕ ล้านเหรียญสหรัฐฯ) สำหรับธุรกิจห้องเย็นครบวงจรนี้ เป็นลักษณะของการควบคุมอุณหภูมิความเย็นแบบเต็มรูปแบบ และครบวงจรอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การรับสินค้าจนถึงการกระจายสินค้าไปสู่ผู้จำหน่ายสินค้ารายสุดท้าย ก่อนถึงผู้บริโภคที่แท้จริง ซึ่งจะเป็นการช่วยถนอมความสดและใหม่ของสินค้า อาทิ สินค้าเกษตร อาหารทะเล อาหารแช่แข็ง ฟิล์มถ่ายภาย ยาและสารเคมีต่างๆ พร้อมทั้งช่วยยืดอายุการจัดเก็บสินค้าอีกด้วย

การก่อสร้างเส้นทางขนส่งผู้โดยสารระบบราง

เทศบาลนครคุนหมิงกำหนดสร้างเส้นทางขนส่งผู้โดยสารระบบรางทั้งหมด ๖ สาย เพื่อรองรับความเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ (Logistics Hub) ของคุนหมิง โดยรายละเอียด ดังนี้

ก่อสร้างสาย ๑ และ ๒ เดือนพฤษภาคม ๒๐๑๐ เส้นทางสาย ๑ ระยะทาง ๔๑.๔ กิโลเมตร สาย ๒ ระยะทาง ๒๒ กิโลเมตร กำหนดการก่อสร้างเสร็จประมาณต้นปี ๒๐๑๓ เส้นทางสาย ๓ ระยะทาง ๑๗.๙๙ กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างเดือนสิงหาคม ๒๐๑๐ กำหนดสร้างเสร็จประมาณปี ๒๐๑๖ สาย ๔ และสาย ๕ ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง ส่วนสาย ๖ ปัจจุบัน เปิดให้ใช้แล้วโดยเป็นเส้นทางเชื่อมจากสถานีขนส่งผู้โดยสารด้านตะวันออกไปยังสนามบินแห่งใหม่ของนครคุนหมิง

ทั้งนี้ เส้นทางขนส่งระบบรางจะสร้างแล้วเสร็จทั้งหมด ๖ สาย ในปี ๒๐๑๘ โดยเส้นทางที่อยู่ภายในถนนวงแหวนรอบ ๒ จะเป็นรถไฟใต้ดิน นอกถนนวงแหวนรอบ ๒ จะเป็นรถไฟฟ้าที่อยู่บนดิน

การจัดเก็บสินค้า/ช่องทางการกระจายสินค้าไทย

สินค้าไทยขนส่งเข้ามานครคุนหมิงตามช่องทางต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งนำเข้าจากเมืองอื่นๆ ในจีน และจะเข้าสู่ตลาดค้าส่งและกระจายสินค้า เช่น ตลาดค้าส่งผลไม้ ตลาดค้าส่งสินค้าประมง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมี นักลงทุนไทยขนาดกลางและเล็กเข้ามาแสวงหาโอกาสการค้าในนครคุนหมิงมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยได้เปิดกิจการค้าขายในศูนย์ค้าส่งขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงของนครคุนหมิง ได้แก่

๑. ศูนย์กระจายสินค้าไทยในศูนย์ค้าส่งหยุ่นฝั่ง เริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ มีผู้ประกอบการไทยและจีนที่ค้าขายสินค้าไทยประมาณเกือบ ๒๐ แห่ง จำหน่ายสินค้าประเภทอาหาร ของขบเคี้ยว เครื่องตกแต่งบ้านประเภทไม้ เสื้อผ้าเครื่องประดับ เครื่องแก้ว ฯลฯ

๒. Thai Product City ในศูนย์ค้าส่งสินค้านานาชาติโหล่วซื่อวาน ดำเนินการประมาณกลางปี ๒๕๕๓ โดยกลุ่มนักลงทุนของสมาคมการค้าไทย - ยูนนาน จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลชื่อบริษัทรามคำแหง เข้าเช่าพื้นที่จากศูนย์ค้าส่งสินค้านานาชาติโหล่วซื่อวาน ๒,๕๐๐ ตารางเมตร เพื่อประกอบธุรกิจการค้าขายสินค้าไทย บริษัทฯ ได้จัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งเพื่อดำเนินการเองประมาณ ๔๐๐ ตารางเมตร จำหน่ายสินค้าประเภทหัตถกรรม สินค้าเครื่องใช้ ของตกแต่งบ้านจากประเทศไทย และจัดสรรพื้นที่อีกส่วนหนึ่งมาเป็นจุดจำหน่ายสินค้าไทยในโครงการหลวงของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศศป.) ซึ่งถือเป็นจุดจำหน่ายสินค้าของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศศป.) แห่งแรกนอก ประเทศไทยอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ บริษัทรามคำแหงยังได้จัดแบ่งพื้นที่ให้ผู้ประกอบการไทย/จีน เช่าต่อเพื่อจำหน่ายสินค้าไทย ประเภทของใช้ ของตกแต่งบ้านประเภทไม้ ผ้าผืน เครื่องประดับ และสินค้าอาหารสำเร็จรูป เช่น หมูหยอง ฯลฯ เป็นต้น

๓. โมเดิร์นเทรด / ซุปเปอร์มาร์เก็ต / ร้านค้าปลีกทั่วไป นอกจากสินค้าไทยในศูนย์กระจายสินค้าแล้ว ในนครคุนหมิงสามารถซื้อหาสินค้าไทยในโมเดิร์นเทรด (ห้างคาร์ฟู ห้างวอลมาร์ท) ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าปลีกทั่วไป เช่น ขนมขบเคี้ยว (ถั่วโก๋แก่) ปลากระป๋องปุ้มปุ้ย ข้าวหอมมะลิ กุ้งสด นมถั่วเหลือง (ไวตามิลค์) น้ำผลไม้มาลี และทิปโก้ ฯลฯ

ผู้บริโภคจีน

๑. ผู้ประกอบไทยรายเล็กรายกลางที่ประสงค์เข้ามาทำธุรกิจในจีน ต้องศึกษาความเป็นผู้บริโภคจีน ซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละเมือง หรือแต่ละมณฑล มณฑลยูนนานตั้งอยู่บนที่ราบสูงด้านตะวันตกเฉียงใต้ของจีน จึงมีความนิยมในสินค้าที่อาจจะแตกต่างจากผู้บริโภคจีนในเขตอื่น ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าสูง เนื่องจากประชาชนมีรายได้ที่ดีขึ้น ผู้ผลิตทั้งในและนอกประเทศจีนต่างแข่งขันผลิตสินค้าเพื่อให้ผู้บริโภคจีนเลือกซื้อ สินค้านำเข้าจากไทยได้รับความนิยมมากพอสมควร หากเปรียบเทียบสินค้านำเข้าอื่นๆ ก็มีเพียงสินค้าที่มียี่ห้อจากประเทศตะวันตก

สินค้าจากประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีที่สามารถจำหน่ายในจีนได้ดีกว่าเท่านั้น สินค้าไทยได้รับความนิยมเนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่เห็นว่าสินค้าไทยนำเข้ามาเป็นสินค้าคุณภาพดี และราคาไม่แพงเกินไปนัก สินค้าไทยมีจำหน่ายเป็นการทั่วไปในนครคุนหมิง ทั้งในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าภายนอก ที่เห็นเด่นชัดเกือบทุกพื้นที่ในนครคุนหมิงจะเป็นผลไม้สดจากประเทศไทย มังคุด ทุเรียน ฯลฯ

๒. ปัจจุบันผู้บริโภคจีนมีความตระหนักในเรื่องความปลอดภัยของสินค้าอย่างยิ่ง เนื่องจากในหลายปีที่ผ่านมา มีข่าวลบด้านสินค้าอาหารในตลาดการค้าของจีน ดังนั้น ผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้าจะเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานความปลอดภัย รวมทั้งสินค้าประเภทอินทรีย์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคในเมืองใหญ่จะคำนึงถึงความปลอดภัยของสินค้ามาก จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะส่งสินค้าที่มีมาตรฐานเข้ามาจำหน่ายในจีน

๓. เมื่อสินค้านำเข้ามาทางนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน มีการกระจายสินค้าไปสู่ตลาดอื่นซึ่งอยู่มณฑลตอนในของจีนตะวันตก เช่น เฉิงตู ฉงชิ่ง ซีอาน เป็นต้น

อุปสรรคและโอกาสของการค้าสินค้าไทย

๑. ข้อจำกัดในการขนส่งระหว่างประเทศไทยกับมณฑลยูนนาน

  • ทางกายภาพ : การขนส่งสินค้าผ่านทางแม่น้ำโขงมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น ปริมาณน้ำในแม่น้ำ การขนส่งมิได้อยู่ในรูปแบบคอนเทนเนอร์ ทำให้สินค้าแตกหักชำรุดเสียหาย ส่วนการขนส่งผ่านเส้นทางถนน มีข้อจำกัด คือ ขนส่งได้ครั้งละไม่มากและค่าขนส่งค่อนข้างสูง

เมื่อประมาณปลายปี ๒๕๕๔ เกิดปัญหาเรื่องกลาสีเรือ ไต้ก๋งเรือของจีนถูกฆ่าจำนวน ๑๓ ราย และทำให้รัฐบาลจีนไม่พอใจมาก และสั่งให้หยุดทำการขนส่งเป็นระยะเวลาหนึ่งจนกว่าสถานะความปลอดภัยในแม่น้ำโขงจะดีขึ้น ซึ่งในการเดินเรือในแม่น้ำโขงประสบอุปสรรคมาก โดยเฉพาะในส่วนที่เรียกว่าสามเหลี่ยมทองคำ ที่มีปัญหาด้านยาเสพติด

  • ทางเทคนิค : การขนส่งทางถนนคุนมั่นกงลู่ ยังไม่ได้รับการอำนวยความสะดวกจากสปป.ลาว เท่าใดนัก จึงมีความจำเป็นต้องเจรจากับสปป.ลาว เพื่อให้เป็นการขนส่งสินค้าผ่านแดนเช่นเดียวกับการขนส่งทางแม่น้ำโขงผ่านสปป.ลาว และสหภาพพม่า ซึ่งถือเป็นสินค้าผ่านแดน (ปัจจุบันยังไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับการส่งสินค้าผ่านแดน Cross Border Trade Agreement ระหว่างไทย ลาว และจีน)
  • ขาดการอำนวยความสะดวกทางด้านโลจิสติกส์ เช่น การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ ๔ การสร้างคลังสินค้า ปั้มน้ำมัน ที่พัก จุดรวมคอนเทนเนอร์ การขนถ่ายสินค้า ฯลฯ

๒. ข้อจำกัดด้านกฎระเบียบการนำเข้าของจีน

  • หน่วยงานด้านสุขอนามัยของจีนมีการตรวจสอบสินค้าเกษตร อาหาร เครื่องสำอาง สปานำเข้าอย่างเข้มงวด ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าดังกล่าวของไทย

๓. ความนิยมสินค้าไทย

  • ความใกล้ชิดทางชาติพันธ์ระหว่างสิบสองปันนากับกลุ่มล้านนาทางเหนือของไทยทำให้สินค้าไทยแทรกซึมเข้ามาในเมืองสิบสองปันนาง่ายขึ้น ประกอบกับไทยกับยูนนนานมีพรมแดนที่ไม่ห่างไกลกันมากนัก สินค้าที่ส่งออกจากไทยจึงเข้ามาในยูนนานอย่างรวดเร็ว ในยูนนานคุ้นเคยกับอาหารตลอดจนขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมของไทย ทำให้ผู้บริโภคเปิดใจรับสินค้าไทยง่ายขึ้น
  • ปัจจุบันมีนักศึกษาจีนเข้าไปศึกษาในประเทศไทยมากถึงปีละประมาณ ๒,๐๐๐ ราย นักศึกษาจีนได้เรียนรู้เกียวกับวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียม มีความนิยมชมชอบอาหาร สินค้า เครื่องใช้ของไทย ทำให้สินค้าไทยจำหน่ายได้ดีในกลุ่มนี้และเผยแพร่ไปสู่ผู้บริโภคกลุ่มอื่นๆ เป็นการทั่วไป ซึ่งในเรื่องความนิยมไทยสามารถเห็นเป็นรูปธรรมได้จาก จำนวนร้านอาหารไทยที่เปิดเพิ่มมากขึ้นในนครคุนหมิง ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า ๒๐ แห่ง เมื่อเทียบกับ ปี ๒๕๕๐ ซึ่งมีร้านอาหารไทยเพียง ๒ - ๓ แห่งเท่านั้น
  • สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง จัดทำการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการขายสินค้าไทยอย่างต่อเนื่อง และผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มผู้ค้าเป็นศูนย์กลางการจำหน่ายสินค้าไทย เช่น ศูนย์กระจายสินค้าไทยในศูนย์ค้าส่งหยุ่นฝั่ง ร้านขายสินค้าไทยในศูนย์ค้าส่งสินค้านานาชาติโหล่วซื่อวาน

๔. คุนหมิงเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าด้านจีนตะวันตกเฉียงใต้ของจีน

  • สินค้าไทยที่ผ่านมาทางชายแดนจะมีการขนส่งไปยังเมืองต่างๆ ทั่วประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเฉพาะในมณฑลเสฉวน มหานครฉงชิ่ง ซึ่งผู้บริโภคจะรับสินค้านำเข้าของไทยด้วย นอกจากนี้ นครคุนหมิงเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าไปทั่วประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยทางรถยนต์ รถไฟ และทางอากาศ สินค้าไทยหลายชนิดที่มีการจำหน่ายในเมืองต่างๆ ของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนก็นำเข้าผ่านมณฑลยูนนาน

๕. รัฐบาลกลางปักกิ่งให้การสนับสนุนการพัฒนาในพื้นที่มณฑลด้านตะวันตก

  • ความตกลงภายใต้กลุ่มอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งได้จัดตั้งโครงการการพัฒนาเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคนี้ เช่น ความตกลงเดินเรือในแม่น้ำโขง ข้อตกลงในการขนส่งสินค้าผ่านแดนโดยมีธนาคารแห่งเอเซีย ADB : Asian Development Bank ให้การสนับสนุน เช่น การสร้างถนนคุนหมิง - กรุงเทพ ฯ ทั้งนี้ รัฐบาลกลางของจีนให้การสนับสนุนมณฑลยูนนานในการพัฒนาภายใต้ความตกลงนี้ด้วย
  • สนับสนุนมาตรการที่จะให้นครคุนหมิงเป็นสะพานเชื่อมสู่นอกประเทศด้านตะวันตกเฉียงใต้ (Guiding Ideas for Supporting Acceleration of the Construction of Yunnan Province into China's Open Bridgehead to the Southwest) โดยการผลักดันให้นักธุรกิจจีนไปทำการค้าและการลงทุนในประเทศอื่น
  • นโยบายมุ่งตะวันตก (Go West Policy) โดยประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนจะพัฒนากลุ่มมณฑลด้านตะวันตกให้มีความใกล้เคียงกับกลุ่มมณฑลด้านตะวันออกด้านเศรษฐกิจและสังคมมากที่สุด นโยบายที่สำคัญจะเกี่ยวกับการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในแถบตะวันตก และยังคงสิทธิพิเศษด้านการลงทุนให้กับนักลงทุนต่างชาติขนาดใหญ่ เป็นต้น

๖. เขตการค้าเสรีอาเซียน จีน (China - Asean Free Trade Area)

  • สินค้าส่วนใหญ่ที่มีการซื้อขาย มากกว่า ๕,๐๐๐ รายการมีภาษีนำเข้าเป็นร้อยละ ๐ หรือร้อยละ ๕ สินค้าประเภทผลไม้ ผักสด สิ่งทอ และเครื่องสำอาง เป็นสินค้าที่มีนำเข้าจากประเทศไทยอยู่แล้ว นอกจากนี้ การเปิดเสรีการค้าระหว่างอาเซียน - จีน เป็นการเปิดโอกาสให้สินค้าประเภทอื่นของไทยได้เข้าตลาดจีนต่อไป

๗. โครงการนำร่องใช้เงินหยวนในธุรกรรมการค้ากับประเทศอาเซียน

  • เดิมการค้าระหว่างอาเซียนกับจีน ยังคงใช้สกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือเงินยูโร รัฐบาลกลางปักกิ่งได้ผลักดันให้มณฑลที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่น มณฑลยูนนาน มณฑลกว่างสี ได้ทำธุรกรรมการค้ากับประเทศที่ติดชายแดนจีนและประเทศในอาเซียน โดยใช้สกุลเงินหยวนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะทำให้ต้นทุนสินค้าถูกลง เป็นประโยชน์ต่อการส่งออกและนำเข้าของจีน และจีนมีโครงการที่จะนำเงินหยวนไปใช้ในการลงทุนด้านสาธารณูปโภคในประเทศอื่นแถบนี้ด้วย
  • นครคุนหมิงได้สร้างตนเองขึ้นเป็นศูนย์กลางการเงินที่จะใช้สกุลเงินหยวนในการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ และเปิดโอกาสให้ธนาคารจีนหลายแห่ง เช่น ธนาคารการเกษตรจีน (Agricultural Bank of China) ธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank of China) เป็นธนาคารนำร่องการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศด้วยเงินหยวน
บทสรุป

โอกาสการค้าด้านตะวันตกเฉียงใต้ค่อนข้างเปิด โดยภาครัฐได้กำหนดแผนต่างๆ เพื่อการพัฒนาด้านนี้โดยตรง เช่น นโยบายป้อมหัวสะพานด้านตะวันตกเฉียงใต้ของจีน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ ๑๒ ที่ต้องการ "มุ่งตะวันตก" Asean - China FTA เป็นต้น การพัฒนาภายใต้ข้อได้เปรียบนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้นักลุงทุน และนักธุรกิจเดินเข้ามาทำธุรกิจการค้าในจีนง่ายขึ้น

ผู้บริโภคจีนรู้จักสินค้าไทยเป็นบางชนิด ข้าวหอมมะลิ (ใครลองก็ต้องชอบ) ผลไม้เขตร้อนไทยหลากหลายชนิด สำหรับมณฑลยูนนานซึ่งอยู่ด้านตะวันตกของจีน และเป็นที่ราบสูงชื่นชอบมังคุดมาก ผลไม้อื่นๆ เช่น ทุเรียน ลำไย กล้วยไข่ ส้มโอ ฯลฯ และอาหารไทย ก็มีความนิยมเพิ่มสูงขึ้น และในระยะเวลา ๒ ปีที่ผ่านมา ก็มีนักธุรกิจทั้งไทยและจีนแข่งกันเปิดร้านอาหารไทย

นอกจากนี้ อิทธิพลของอินเทอร์เน็ต ก็มีส่วนในการประชาสัมพันธ์สินค้าอยู่มาก ในจีนมี Application ที่เรียกกันว่า "wei bo" (เว่ยป๋อ) เหมือนทวิตเตอร์ คือ มีผู้ตามบุคคลที่มีชื่อเสียง แล้วพากันตามไปรับประทาน อาหารร้านนั้นๆ ด้วย บางภัตตาคารก็ถึงกับจ้างบุคคลที่มีชื่อเสียงเขียนประชาสัมพันธ์กันไปเลย หากกล่าวถึง อินเทอร์เน็ต ต้องถือว่ามีความสำคัญมากในสังคมจีน (จีนไม่เปิดให้ใช้เฟซบุ๊ค หรือทวิตเตอร์เสรี) จีนมีเว็บไซต์ที่ใช้ได้ หรือดีกว่า เช่น "taobao" ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่เหมือนร้านขายปลีกขนาดใหญ่ (ที่สุดในจีน) เพียงแต่วิธีการซื้อ - ชำระเงิน - จัดส่งสินค้า แตกต่างจากห้างสรรพสินค้าเท่านั้น แต่มีมูลค่าการซื้อขายมากที่สุดในสินค้าชนิดเดียวกัน

การเจาะตลาดจีนคงต้องอาศัยพลังใจจากนักธุรกิจไทยที่จะเดินออกมานอกประเทศเพื่อค้า - ขาย - ลงทุนในจีน

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ