การตั้งธุรกิจในประเทศฟิลิปปินส์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 10, 2012 14:36 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ประเภทของการทำธุรกิจ แบ่งเป็นประเภทต่างๆ ได้ ดังนี้

1. การทำธุรกิจในลักษณะเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว (Sole Proprietorship)
กรณีนี้บุคคลจะเป็นเจ้าของคนเดียว มีอำนาจควบคุมการดำเนินธุรกิจและเป็นเจ้าของทรัพย์สินเพียงคนเดียว ซึ่งจะต้องรับผิดชอบผลทางกฎหมายหรือผลประกอบการด้วยตนเอง ผู้ประสงค์ทำกิจการในลักษณะนี้ต้องยื่นขอชื่อทางธุรกิจและจดทะเบียนกับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (Department of Trade and Industry : DTI) โดยมีขั้นตอนในการดำเนินการดังนี้ :

a) ตรวจสอบข้อมูลออนไลน์จากเว็บไซต์ของ DTI (http://www.dti.gov.ph) ว่าชื่อทางธุรกิจที่จะยื่นขอจดทะเบียนนั้นสามารถใช้ได้หรือไม่

b) กรอกแบบฟอร์มการขอชื่อทางธุรกิจ โดยระบุชื่อที่ต้องการอย่างน้อย 3 ชื่อ

c) ส่งแบบฟอร์มการขอชื่อทางธุรกิจพร้อมเอกสารที่กำหนด และชำระค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง

d) หลังจากพิจารณาแบบฟอร์มและเอกสารแล้ว ผู้ยื่นขอจะได้รับแจ้งการดำเนินการต่อไป

e) DTI ออกใบทะเบียนการค้า (Certificate of Registration) ทะเบียนชื่อทางธุรกิจที่ออกให้จะมีอายุ 5 ปี และใช้ได้กับที่อยู่ทางธุรกิจตามที่ระบุไว้เท่านั้น

2. การทำธุรกิจในลักษณะหุ้นส่วน (Partnership)

ตามกฎหมายแพ่งของฟิลิปปินส์ หุ้นส่วนถือเป็นนิติบุคคล มีตัวตนทางกฎหมายแยกจากตัวบุคคลที่เป็นสมาชิกหุ้นส่วน หุ้นส่วนอาจมีลักษณะเป็นหุ้นส่วนทั่วไป (General Partnerships) ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายสามารถมีหุ้นส่วนได้ไม่จำกัด โดยผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งหรือมากกว่าจะมีความรับผิดชอบผูกพันตามกฎหมายอย่างไม่จำกัด และหุ้นส่วนที่มีลักษณะเป็นหุ้นส่วนจำกัด (Limited Partnership) ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนจะมีความรับผิดชอบผูกพันตามกฎหมายตามจำนวนที่ได้มีส่วนในการลงทุน ความเป็นหุ้นส่วนจะต้องประกอบด้วยผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป กิจการในลักษณะหุ้นส่วนที่มีเงินทุนตั้งแต่ 3,000 เปโซขึ้นไปจะต้องจดทะเบียนกับคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ (Securities and Exchange Commission : SEC)

3. การทำธุรกิจในลักษณะบริษัท (Corporations)
บริษัทเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย Corporation Code อยู่ในการควบคุมของ SEC โดยมีตัวตนแยกจากตัวผู้ถือหุ้น ความรับผิดชอบผูกพันตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นในบริษัทจะจำกัดอยู่ที่จำนวนหุ้นที่เป็นเจ้าของ บริษัทจะต้องประกอบด้วยผู้ถือหุ้น 5 — 15 ราย โดยแต่ละรายจะต้องถือหุ้นอย่างน้อยที่สุด 1 หุ้น และต้องจดทะเบียนกับ SEC โดยมีเงินลงทุนขั้นต่ำเท่ากับ 5,000 เปโซ บริษัทสามารถเป็นได้ทั้ง Stock Company หรือ Non-stock Company โดยไม่จำกัดสัญชาติ บริษัทที่มีคนสัญชาติฟิลิปปินส์เป็นเจ้าของ 60% และเป็นของต่างชาติ 40% จะถือว่าเป็นบริษัทฟิลิปปินส์ แต่ถ้าต่างชาติเป็นเจ้าของมากกว่า 40% จะถือว่าเป็นบริษัทต่างชาติในฟิลิปปินส์

ขั้นตอนในการจัดตั้ง Partnership และ Corporation

a) จองชื่อที่จะจดทะเบียน

b) เตรียม Articles of Incorporation และเอกสารที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

c) ยื่นเสนอแบบฟอร์มที่กรอกแล้ว

d) ชำระค่าธรรมเนียมการยื่นจดทะเบียน

e) รับใบจดทะเบียน Certification of Incorporation

กรณีที่จดทะเบียนการค้าในธุรกิจที่คนฟิลิปปินส์เป็นเจ้าของ 60 % และต่างชาติเป็นเจ้าของ 40 % ต้องมีเอกสารดังนี้

a) Name verification slip

b) Articles of Incorporation and By-laws

c) Treasure’s Affidavit / Authority เพื่อยืนยันบัญชีธนาคาร

d) Bank Certificate of deposit notarized in place where bank signatory is assigned

e) Written undertaking to change corporate name by any incorporator/Director

f) Registration data sheet

g) Proof of Inward Remittance by non-resident aliens, and foreign corporations

หมายเหตุ : เอกสารทั้งหมดที่ดำเนินการในต่างประเทศจะต้องได้รับการรับรองความถูกต้องจากสถานทูตฟิลิปปินส์

การจ้างงานบุคคลต่างชาติ มีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องดังนี้

1. ให้วีซ่า Special non-immigrant multiple entry visa เป็นพิเศษให้กับบุคคลต่างชาติที่ทำงานในระดับผู้ช่วยผู้จัดการ ตำแหน่งทางเทคนิคหรือที่ปรึกษา โดยจะอนุญาตให้ได้ไม่เกิน 5 ปีนับจากที่บริษัทลงทะเบียนจ้างงาน สำหรับตำแหน่งประธาน สมุห์บัญชี และผู้จัดการทั่วไป อาจให้วีซ่าบุคคลต่างชาติเกินกว่า 5 ปีได้ ทั้งนี้ต้องเป็นกรณีที่บริษัทมีต่างชาติเป็นเจ้าของ 40%

2. ขยายสิทธิวีซ่าพิเศษให้กับคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่แต่งงานและอายุต่ำกว่า 21 ปีด้วย

3. ผู้ลงทุนอาจเลือกขอรับวีซ่าประเภท Special Investor’s Resident Visa (SIRV) ก็ได้

การอนุญาตจ้างงานคนต่างชาติที่มีสถานะไม่เป็นผู้พักอยู่ประจำ (Non-resident aliens)

บุคคลต่างชาติที่ขออนุญาตเข้าประเทศฟิลิปปินส์เพื่อการรับจ้างทำงาน และผู้จ้างที่เป็นชาวฟิลิปปินส์หรือเป็นต่างชาติที่ประสงค์จะจ้างแรงงานต่างชาติให้ทำงานในฟิลิปปินส์ จะต้องได้รับใบอนุญาตจ้างงานจากกระทรวงแรงงานก่อน ใบอนุญาตจ้างงานนี้จะออกให้กับต่างชาติที่มีสถานะไม่เป็นผู้พักอยู่ประจำ หรือให้กับผู้จ้างที่ยื่นขอใบอนุญาต หลังจากที่กระทรวงแรงงานได้ลงความเห็นแล้วว่า ตำแหน่งงานดังกล่าวไม่สามารถหาบุคคลสัญชาติฟิลิปปินส์ที่มีคุณสมบัติและเต็มใจที่จะทำงานการบริการตามที่มีการยื่นขอใบอนุญาต ณ เวลาที่ได้ยื่นขอใบอนุญาตนั้น

สำหรับผู้ประกอบการที่ได้จดทะเบียนในกิจการที่รัฐบาลส่งเสริมให้มีการลงทุน ใบอนุญาตจ้างงานดังกล่าวจะออกให้เมื่อได้รับการเสนอแนะจากหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องในการให้คำรับรองแก่กิจการที่ขึ้นทะเบียนไว้ดังกล่าว

การห้ามโอนย้ายการจ้างงาน

1. หลังจากออกใบอนุญาตจ้างงานให้แล้ว บุคคลต่างชาติจะต้องไม่โอนย้ายไปทำงานอื่น หรือเปลี่ยนผู้จ้างใหม่ โดยไม่ได้รับการอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก่อน

2. บุคคลต่างชาติซึ่งมีสถานะไม่เป็นผู้พักอยู่ประจำ ที่ยังคงทำงานโดยละเมิดกฎข้อห้ามและระเบียบปฏิบัติต่างๆตามที่กล่าวนี้ จะได้รับโทษตามที่กำหนดระวางโทษไว้ในมาตรา 289 และมาตรา 290 ของกฎหมายแรงงานของฟิลิปปินส์ (Labor Code) นอกจากนี้บุคคลต่างชาตินั้นจะต้องถูกเนรเทศออกนอกประเทศเมื่อพ้นโทษแล้วอีกด้วย

การส่งบัญชีรายชื่อ

ผู้จ้างที่จ้างแรงงานต่างชาติซึ่งมีสถานะไม่เป็นผู้พักอยู่ประจำ ณ วันที่กฎหมายกำหนดให้มีผล จะต้องส่งบัญชีรายชื่อบุคคลต่างชาติดังกล่าว แจ้งไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานภายใน 30 วัน นับจากวันที่จะให้มีผลตามกฎหมายดังกล่าว โดยต้องระบุชื่อ สัญชาติ ที่อยู่ในต่างประเทศและที่อยู่ในฟิลิปปินส์ ลักษณะของงานที่จ้าง และสถานภาพการพำนักอยู่ในประเทศฟิลิปปินส โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจะเป็นผู้ให้ความเห็นชอบในการออกใบอนุญาตให้ทำงานดังกล่าวต่อไป

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ