อัญมณีและเครื่องประดับในกว่างซี

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 10, 2012 11:31 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สภาพทั่วไป

จากการที่กว่างซีมีชายแดนอยู่ติดกับเวียดนาม รัฐบาลจีนจึงกำหนดให้เป็น “ประตูสู่อาเซียน” และมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนต่างๆ จนทำให้ในระยะหลายปีที่ผ่านมา กว่างซีมีการพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด ส่งผลให้ประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้น จากข้อมูลของกรมสถิติแห่งกว่างซีรายงานว่า ปี 2011 กว่างซีมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 12.3 การบริโภคสินค้าทั่วไป (เช่น เสื้อผ้า รถยนต์ เครื่องสำอาง และอัญมณี) สูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัญมณีและเครื่องประดับมีอัตราการเติบโตสูงสุด กล่าวคือ ร้อยละ 29.1 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แสดงให้เห็นว่า อัญมณีและเครื่องประดับกำลังได้รับความนิยมสูงในตลาดนี้

ความต้องการของตลาด

ในระยะ 6 — 7 ปีที่แล้ว ผู้บริโภคในกว่างซีนิยมซื้อทองคำรูปพรรณ (และหยก) เนื่องในโอกาสแต่งงานและเทศกาลสำคัญๆ รวมทั้งซื้อทองคำแท่งเพื่อการเก็งกำไร ต่อมาหันมานิยมอัญมณีและเครื่องประดับที่หลากหลายมากขึ้น ได้แก่ เพชร ทองคำขาว และเงิน เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน

นอกจากนี้ ในอดีตผู้บริโภคซื้อเครื่องประดับโดยเน้นคุณภาพเป็นหลัก (เช่น สัดส่วนทองคำของทองรูปพรรณ) แต่ปัจจุบันจะพิจาณาถึงแบรนด์ การออกแบบ ความประณีต ฯลฯ อีกด้วย ทั้งนี้ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีมักนิยมซื้อเครื่องประดับที่ทำจากทองคำ ในขณะที่วัยรุ่นจะเลือกซื้ออัญมณีและเครื่องประดับประเภทอื่น (1) ส่วนรูปแบบโดยทั่วไปมักมีขนาดเล็กและเรียบๆ

จากการก่อตั้งเขตการค้าเสรีจีน — อาเซียนและการจัดงานแสดงสินค้า China — ASEAN Expo ส่งผลให้อัญมณีจากอาเซียนเริ่มเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เช่น ทับทิม Pigeon’s Blood และไพลิน Royal Blue ของพม่า ทับทิมและไพลินของไทย ทับทิมของกัมพูชา อัญมณีและมุกของเวียดนาม รวมทั้งเครื่องเงินต่างๆ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ฯลฯ ทำให้ผู้บริโภคให้ความสนใจกับอัญมณีจากกลุ่มอาเซียนเป็นอย่างมาก (2) นอกจากนี้ทัวร์มาลีน (Tourmaline) เริ่มเป็นที่สนใจของตลาดในกว่างซีเพิ่มขึ้นเช่นกัน

Mr.Yang Weihong ประธานสมาคมอัญมณีแห่งกว่างซี เห็นว่า กว่างซีมีศักยภาพสูงในการบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับ นอกจากเกิดจากรายได้เพิ่มขึ้นและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นเพราะภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีจีน — อาเซียน ทำให้ภาษีนำเข้าวัตถุดิบร้อยละ 90.0 ลดลงเหลือ 0 (จากเดิมร้อยละ 3.0 — 21.0) อีกทั้งกว่างซีอยู่ใกล้อาเซียน ทำให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นสนใจนำเข้าวัตถุดิบจากอาเซียนโดยตรง นอกจากนี้ จากกระแสนิยมอัญมณีและเครื่องประดับ ทำให้ปีที่ผ่านมา มีแรงงานในสาขาดังกล่าวประมาณ 100,000 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0 ในขณะที่ค่าจ้างแรงงานต่ำกว่ามณฑลกวางตุ้งร้อยละ 20.0 — 30.0

ภาวะตลาดในเมืองสำคัญของกว่างซี

1. นครหนานหนิง มีประชากรประมาณ 7 ล้านคน เป็นเมืองเอกของกว่างซีที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ ของกว่างซีแล้ว นครหนานหนิงมีการจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับมากกว่า โดยมีแบรนด์ท้องถิ่น 2 แบรนด์ ได้แก่ Jinshans Shoushi และ Heping Zhubao ซึ่งเน้นการขายทองคำรูปพรรณที่นำเข้าจากเมืองเซินเจิ้นเป็นหลัก

ส่วนแบรนด์อื่นๆ ในตลาด ได้แก่ TSL, Chow Sang Sang, Kimberlite Diamond, Chou Tai Took, 3D-Gold, Lukfook, Chow Tai Seng ฯลฯ ทั้งนี้ อัญมณีและเครื่องประดับในนครหนานหนิงมีมาตรฐานและราคาที่ค่อนข้างมาตรฐาน สินค้าที่ได้รับความนิยมมากได้แก่ ทองคำขาว เพชร และทองคำ ส่วนทองคำแท่งนิยมซื้อเพื่อเก็งกำไร

2. เมืองกุ้ยหลิน เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลก ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางไปเมืองกุ้ยหลิน โดยปี 2011 มีนักท่องเที่ยวรวม 27.9 ล้านคน (ชาวจีนและชาวต่างประเทศร้อยละ 89.1 และ 10.9 ตามลำดับ) ดังนั้นอัญมณีและเครื่องประดับระดับกลาง - ต่ำสำหรับนัก ท่องเที่ยวจึงครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด อันได้แก่ ไข่มุก หยก และคริสตัล โดยมีแบรนด์ ท้องถิ่น คือ Gaoxin นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์ต่างถิ่น ได้แก่ Shuanghe และ Zhizun โดย Zhizun จำหน่ายสินค้าระดับกลางและ High-end หลายประเภท แต่ตลาดจำหน่ายอยู่ที่นครหนานหนิง

3. เมืองหลิ่วโจว มีประชากรประมาณ 3.7 ล้านคน มากเป็นอันดับ 2 รองจากนครหนานหนิง เมืองนี้ถือเป็นฐานอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดและมีขนาดเศรษฐกิจติดอันดับ 1 ของกว่างซี ประชากรของเมืองหลิ่วโจวจึงมีกำลังซื้อสูง อัญมณีและเครื่องประดับในเมืองนี้ส่วนใหญ่จำหน่ายที่ห้างสรรพสินค้า โดยเป็นแบรนด์ฮ่องกงและต่างถิ่น เช่น TSL, Cho Tai Took, 3D-Gold, Lukfook ฯลฯ (3)

แหล่งวัตถุดิบ

กว่างซีนอกจากได้ชื่อว่าเป็นมณฑลหนึ่งของจีนที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นสินแร่ต่างๆ แล้ว ยังเป็นแหล่งแร่อัญมณีอีกหลายประเภท อันได้แก่ ทัวร์มาลีน เพริดอต (Peridot) แอเมทิสต์ (Amethyst) โทแพซ (Topaz) (4) และไข่มุก

การผลิต

ปัจจุบัน โรงงานแปรรูปอัญมณีและเครื่องประดับในกว่างซียังมีจำนวนไม่มากนัก อัญมณีและเครื่องประดับที่จำหน่ายในตลาดร้อยละ 90.0 นำเข้าจากเมืองเซินเจิ้น (ซึ่งเป็นฐานการผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศ) และฮ่องกง อย่างไรก็ดี กว่างซีเองก็มีการผลิตสินค้าในสาขาดังกล่าวบางชนิด ดังนี้

อัญมณีสังเคราะห์

ในช่วงก่อนปี 1988 อัญมณีสังเคราะห์ผลิตได้ที่ฮ่องกงและไต้หวัน ต่อมาทางการจีนมีนโยบายส่งเสริมให้เมืองอู๋โจว(Wuzhou) เป็นศูนย์การผลิตอัญมณีสังเคราะห์ ซึ่งผู้ลงทุนทั้งต่างชาติและชาวจีนจะได้รับสิทธิพิเศษในการลงทุน อุตสาหกรรมจึงมีการพัฒนาเทคนิคการผลิตมากขึ้น และต้นทุนต่ำ จนกลาย เป็นฐานการผลิตอัญมณีสังเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก อัญมณีสังเคราะห์ร้อยละ 40.0 ของโลกผลิตขึ้นที่เมืองนี้ โดยปี 2010 และ 2011 เมืองอู๋โจวมีกำลังการผลิต 8,000 และ 13,000 ล้านเม็ด ตามลำดับ (5)

อัญมณีสังเคราะห์ของเมืองอู๋โจวร้อยละ 95.0 เป็น Cubic Zirconia ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ขาวและสี โดยมีราคากิโลกรัมละ 300 — 320 และ 360 — 380 หยวนตามลำดับ

ราคา Cubic Zirconia สำเร็จรูป (ปี 2011)
    ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง        ต้นทุน      ราคาส่งออก      ราคาตลาดโลก
           (MM)              (RMB)       (RMB)            (USD)
           2.00              0.18        0.22             0.15
           2.75              0.22        0.35             0.30
           3.00              0.23        0.38             0.40
           3.50              0.27        0.51             0.45
           4.00              0.32        0.64             0.55
           5.00              0.41        0.90             0.60

การส่งออกมักนิยม Cubic Zirconia สำเร็จรูปที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.00 — 5.00 MM ส่วนตลาดจีนนิยมขนาดเล็กว่า 1.00 MM หรือใหญ่กว่า 6.00 MM ในขณะที่ ประเทศในแถบยุโรปนิยมอัญมณีสังเคราะห์ที่ประกอบเป็นเครื่องประดับแล้ว และแถบเอเชียนิยมอัญมณีสังเคราะห์ที่ยังไม่ขึ้นตัวเรือน (6)

สินค้าอัญมณีที่เมืองอู๋โจวส่งออกนอกจากมีอัญมณีสังเคราะห์เป็นส่วนใหญ่แล้ว ยังมีเครื่อง - ประดับที่ทำจากเงินและจากอัญมณีธรรมชาติ โดยมีตลาดหลัก คือ ประเทศในแถบเอเซียและยุโรป รวมทั้งมีฮ่องกง(ซึ่งเป็นศูนย์รวมการซื้อขายเครื่องประดับอัญมณี 1 ใน 3 ของโลก)เป็นตลาดซื้อขายสำคัญที่สุด ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2012 เมืองอู๋โจวส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปฮ่องกงมูลค่า 2.369 ล้านเหรียญฯ (+ ร้อยละ 29.7) หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 48.0 ของการส่งออกทั้งหมด และหลายปีที่ผ่านมา การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของเมืองนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2011 การส่งออกมีมูลค่าถึง 20.4 ล้านเหรียญฯ (7)

จากการพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีสังเคราะห์ของเมืองอู๋โจวนี้ ทำให้เกิดการพัฒนาฝีมือแรงงานท้องถิ่น ซึ่งในอนาคตสามารถนำไปสู่การพัฒนาการเจียระไนพลอยสีได้ในที่สุด

ไข่มุก

ไข่มุกที่กว่างซีผลิตได้เป็นไข่มุกน้ำเค็ม ซึ่งมีแหล่งผลิตอยู่บริเวณท่าเรือน้ำลึก 2 ใน 3 แห่งของกว่างซี อันได้แก่ ท่าเรือเถี่ยซาน เมืองเป่ยไห่ และท่าเรือฝางเฉิงก่าง เมืองฝางเฉิงก่าง โดยมีฟาร์มเลี้ยงมุกประมาณ 2,000 แห่งกระจายอยู่ในพื้นที่ 60,000 หมู่ (1 หมู่ = 666.7 ตร.ม.) ในปี 2011 มีปริมาณการผลิตไข่มุกทั้งสิ้น 11 ตัน มูลค่า 157.7 ล้านเหรียญฯ ซึ่งส่วนใหญ่ค้าขายกันที่เมืองเป่ยไห่ ทำให้เมืองนี้กลายเป็นศูนย์กลางขายส่งและขายปลีกไข่มุกน้ำเค็มของจีนตอนใต้ ทั้งนี้ ไข่มุกที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ ไข่มุกที่เลี้ยงในแถบทะเลอำเภอเหอผู่ของเมืองเป่ยไห่ ซึ่งได้ชื่อว่า “เหอผู่หนานจู” เนื่องจากมีเนื้อละเอียด รูปทรงโค้งมนสวยงาม สีสันงดงามโดดเด่น และมีความคงทน ทำให้มีราคาสูง จึงมีการยอมรับให้เป็นสินค้าที่เป็น “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication) แห่งประเทศจีน” (8)

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมไข่มุกดังกล่าวมีการพัฒนาที่ล่าช้า เนื่องจาก

1. การแข่งขันภายในที่ไม่มีความเป็นระเบียบ กล่าวคือ จากการที่ไข่มุกเมืองเป่ยไห่มีราคาสูง ทำให้ผู้ประกอบการเร่งรัดระยะเวลาการเลี้ยงหอยมุกให้สั้นขึ้น ส่งผลให้คุณภาพด้อยลง นอกจากนี้ บางรายใช้ไข่มุกคุณภาพต่ำและแอบอ้างว่าเป็นไข่มุก “เหอผู่หนานจู” ซึ่งสร้างความสับสนให้กับผู้ซื้อ ตลอดจนกระทบต่อภาพลักษณ์ของไข่มุกเมืองเป่ยไห่

2. การแข่งขันภายนอกมีมากขึ้น กล่าวคือ แหล่งผลิตไข่มุกอื่นๆของจีน (เช่น เมืองเซินเจิ้น และกรุงปักกิ่ง) ต่างได้เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมไข่มุกของตน โดยส่งเสริมการเพาะเลี้ยงหอยมุกบริเวณเมืองรอบข้างและก่อตั้งศูนย์ค้าขายไข่มุก รวมทั้งญี่ปุ่นได้ร่วมมือกับเวียดนามพัฒนาการค้าไข่มุก ทำให้ไข่มุกเมืองเป่ยไห่ต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาดไปบางส่วน (9)

การนำเข้า

แม้อัญมณีและเครื่องประดับของกว่างซีนำเข้าจากเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้งเป็นหลัก แต่มีบางส่วนนำเข้าจากต่างประเทศโดยตรง ดังนี้

การนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับของกว่างซี

หน่วย : ล้านเหรียญสหรัฐ

                 รายการ             2009        2010         2011         2012
   HS                                                                   (มค.-พค.)
  7103  Precious and               0.195        0.715        0.07         0.627
        semiprecious stones       (- 64.9)    (+ 266.7)    (- 90.2)    (+ 1,018.1)
        (no diamonds)
  7106  Silver (including         0.16          1.21         1.464        0.32
         silver plated with                   (+ 656.3)     (+ 21.0)    (- 44.9)
        gold or platinum),
        unwrought or ….
  7104  Synthetic or               0.584       0.105       0.083         0.103
        reconstructed             (+ 52.1)    (- 82.0)    (- 20.8)     (+ 25.8)
        precious or
        semiprecious stone
  7116  Articles of natural          -         0.158       0.001         0.021
        orcultured pearls,                       0        (- 99.7)    (+ 3,930.2)
        precious or semi-
        precious stone
  7117  Imitation jewelry           0.02       0.014       0.002        0.00002
                                  (- 70.6)    (- 30.0)    (- 84.5)     (- 99.1)
  7101  Pearls, natural or         0.379        0.45       0.363           -
        Cultured                  (- 7.3)     (+ 18.7)    (- 19.4)
  7113  Articles of jewelry        -            0.03          -            -
        and parts thereof, of                     0
        precious metal or of
        metal clad with
        precious metal

โดยมีแหล่งนำเข้าของสินค้าแต่ละรายการดังนี้

แหล่งนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับของกว่างซี
HS      รายการ                                     ประเทศ
7103    Precious and semiprecious stones           แคนาดา พม่า  บราซิล  รัสเซีย
        (no diamonds)                              มาดากัสการ์
7106    Silver (including silver plated with       แคนาดา  ญี่ปุ่น ไต้หวัน
        gold or platinum), unwrought
        or ….
7104    Synthetic or reconstructed precious        สหรัฐอเมริกา
        or semiprecious stone
7116    Articles of natural or cultured            พม่า กัมพูชา  เวียดนาม
        pearls, precious or semi — precious
        stone
7117    Imitation jewelry                          เวียดนาม ไทย ลาว
7101    Pearls, natural or cultured                ญี่ปุ่น
7113    Articles of jewelry and parts thereof,     กัมพูชา  เวียดนาม
        of precious metal or of metal clad
        with precious metal
ที่มา : World Trade Atlas

การส่งออก
          กว่างซีมีการส่งออกสินค้าในหมวดอัญมณีและเครื่องประดับบางประเภท ดังนี้

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของกว่างซี

                                                              หน่วย : ล้านเหรียญสหรัฐ
                  รายการ                 2009          2010        2011         2012
   HS                                                                         (มค.-พค.)
  7116  Articles of natural or          18.988        37.51       154.307       4.149
        cultured pearls,             (+ 14,285.1)    (+ 97.6)    (+ 311.4)    (- 95.8)
        precious or semi-
        precious stone
  7104  Synthetic or                    0.93          0.183        0.196        0.1
        reconstructed                 (- 16.4)       (- 80.3)     (+ 7.3)    (+ 103.3)
        precious or
        semiprecious stone
  7106  Silver (including               1.628         1.733        1.992         -
        silver plated with             (- 86.9)      (+ 6.5)      (+ 15.0)
        gold or platinum),
        unwrought or ….
  7113  Articles of jewelry             10.813          -             -          -
        and parts thereof, of          (+ 246.5)
        precious metal or of
        metal clad with
        precious metal
  7117  Imitation jewelry               0.128         1.495          0.005       -
                                       (- 80.2)    (+ 1,068.0)      (- 99.7)

โดยมีตลาดส่งออกของสินค้าแต่ละรายการ ดังนี้

ตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของกว่างซี
   HS                      รายการ                                 ประเทศ
  7116  Articles of natural or cultured pearls,            เวียดนาม สหรัฐอเมริกา แคนาดา
        precious or semi-precious stone
  7104  Synthetic or reconstructed precious or             อินเดีย เกาหลีใต้ ฮ่องกง เยอรมัน ไทย อิตาลี
        semiprecious stone
  7106  Silver (including silver plated with gold          ฮ่องกง
        or platinum), unwrought or ….
  7113  Articles of jewelry and parts thereof, of          เวียดนาม ฮ่องกง
        precious metal or of metal clad with
        precious metal
  7117  Imitation jewelry                                  ฮ่องกง เวียดนาม ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา
                                                           ออสเตรีย เกาหลีใต้ โรมาเนีย
                                                           สวิสเซอร์แลนด์
ที่มา : World Trade Atlas

ปัญหา / อุปสรรค
          -  ผู้บริโภคท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักอัญมณีบางประเภท เช่น พลอยสีต่างๆ เนื่องจากคุ้นเคยกับอัญมณีเพียงไม่กี่ชนิด (เพชร หยก และไข่มุก) ทำให้ผู้ซื้อเกิดความลังเลหรือไม่เชื่อมั่นในอัญมณีและราคา
          -  อัญมณีและเครื่องประดับในกว่างซีส่วนใหญ่นำเข้าจากแหล่งผลิตอื่น ส่วนแบรนด์ท้องถิ่นมีน้อยมากและไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง
          -  การขาดแคลนหน่วยงานท้องถิ่นที่ได้มาตรฐาน ซึ่งสามารถตรวจสอบอัญมณีและเครื่อง -ประดับ รวมทั้งการออกใบรับรองซึ่งเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ  เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ

โอกาสทางการค้า
          -  ปัจจุบันผู้บริโภคในกว่างซีมีรายได้เพิ่มขึ้น ความต้องการบริโภคสินค้าจึงมีความหลากหลายและมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าแปลกใหม่จากต่างประเทศ โดยที่อัญมณีและเครื่องประดับของไทยเป็นสินค้าที่มีภาพลักษณ์ดี เนื่องจากไทยเป็นแหล่งผลิตที่มีชื่อเสียงมาช้านานในการผลิตสินค้ามีคุณภาพ ฝีมือประณีต และรูปแบบสวยงาม รวมทั้งมีเอกลักษณ์เฉพาะ จึงทำให้อัญมณีและเครื่อง - ประดับของไทยเริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในกว่างซี  นอกจากนี้ การซื้ออัญมณีและเครื่องประดับระดับ High-end ยังถือเป็นการลงทุนในทรัพย์สินอีกประเภทหนึ่ง รองจากอสังหาริม - ทรัพย์และหุ้น
          -  การจัดตั้งเขตการค้าเสรีจีน — อาเซียน ทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2010 สินค้าอัญมณีมากกว่าร้อยละ 90.0 มีอัตราภาษีนำเข้าเป็นศูนย์  และเครื่องประดับลดลงเหลือร้อยละ 5.0  การจัดตั้งเขตการค้าเสรีดังกล่าวเป็นการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือทางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับระหว่างจีนกับอาเซียนได้มากยิ่งขึ้น
             -  การอาศัยความได้เปรียบทางด้านโลจิสติกส์ของกว่างซีที่อยู่ติดกับกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นจุดกระจายสินค้าไปยังมณฑลตอนในของจีน เนื่องจากมีเส้นทางคมนาคมสะดวก จึงถือเป็นโอกาสของอัญมณีและเครื่องประดับไทยที่จะขยายส่วนแบ่งตลาดในกว่างซีและมณฑลใกล้เคียง

หมายเหตุ:
          (1) หนังสือพิมพ์ South Morning, 25 สิงหาคม 2011
          (2) “การประชุมหารือว่าด้วยบุคคลที่มีชื่อเสียงด้านอัญมณีสีนานาชาติ (International Colored Gemstone Celebrity Forum)” ในงานแสดงสินค้า China — ASEAN Expo ครั้งที่ 7, 2010
          (3) http://hi.baida.com/
          (4) BOI, สถานภาพอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในจีน, โครงการส่งเสริมการลงทุนไทย-สาธารณรัฐประชาชนจีน  ประจำปี 2552
          (5) www.cnki.com.cn/Article/CJFDTotal-ZBKJ201106017.htm
          (6) Mr.Lei Wei, Detect the Synthetic Jewelry Processing in Wuzhou , http://wenku.baidu.com/view/e543ecf8fab069dc5022012a.html
          (7) ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง, http://www.gxnew.com.cn, 2 พฤษภาคม 2012
          (8) http://news.gxnews.com.cn/staticpages/20110906/newgx4e6550d3-4102379.shtml
          (9) http: //news.sohu.com/20061113/n246337960.shtml


                                                                                             สคต.หนานหนิง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ