สถานการณ์เศรษฐกิจในอิตาลี (2)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 28, 2012 13:20 —กรมส่งเสริมการส่งออก

รัฐบาลอิตาลีได้แต่งตั้งนาย Vittorio Grilli เป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจคนใหม่แล้ว เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2555 โดยที่นายกรัฐมนตรีนาย Mario Monti ได้แสดงความมั่นใจกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจคนใหม่ ซึ่งได้ยืนยันแล้วว่าจะ บริหารงานบ้านเมืองตามแนวทางของนาย Monti คือจะยังคงตัดงบประมาณลง และคงมาตรการรัดเข็มขัด ไว้อย่างเข้มงวดต่อไป

1. การออกมาตรการตัดทอนการใช้จ่ายของภาครัฐ หรือ Spending Review

1.1 ภายหลังจากนาย Mario Monti ประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวให้ผู้นำสหภาพยุโรปเห็นชอบกับข้อเสนอเพื่อแก้ไขวิกฤติหนี้ของกลุ่มยูโรโซนในการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรปเมื่อช่วงปลายเดือน มิ.ย.2555 ที่ผ่านมานั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2555 รัฐบาลอิตาลีได้ให้ความเห็นชอบมาตรการตัดทอนการใช้จ่ายของภาครัฐ หรือ Spending Review ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลยุทธภายใต้กรอบมาตรการรัดเข็มขัด (Austerity Package) เพื่อแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจของอิตาลี สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้:

  • ตัดลดงบประมาณภาครัฐลงประมาณ 26 พันล้านยูโร ภายในช่วง 2 ปีข้างหน้า แบ่งเป็น 4.5 พันล้านในปี 2555/10.5 พันล้านยูโรในปี 2556 และ 11 พันล้านยูโรในปี 2557 และจะลดจำนวนพนักงานของรัฐระดับปฏิบัติการลงร้อยละ 10 ลดระดับอำนวยการลงร้อยละ 20 อีกทั้งจะปลดประจำการทหารร้อยละ 10 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร
  • ปรับโครงสร้างและตัดลดงบประมาณขององค์กรบริหารท้องถิ่น โดยจะยุบรวมจังหวัด (province) ลงกึ่งหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 107 จังหวัดเหลือเพียง 59 จังหวัด โดยจังหวัดตามเกณฑ์ใหม่ จะต้องมีเขตเทศบาลไม่น้อยกว่า 50 เขต มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 30,000 ตร. กม.และมีประชากรไม่ต่ำกว่า 350,000 คน แต่งบประมาณที่ได้รับจะถูกตัดลดลงครึ่งหนึ่ง อีกทั้งจะยุบตำแหน่งผู้ว่าการเขต (Prefecture) ลง 1 ใน 5 กล่าวคือลดลง 40 ตำแหน่งจากที่มีอยู่ 200 ตำแหน่ง และยุบองค์กรวิสาหกิจลงทั่วประเทศกว่า 3,000 องค์กร
  • ตัดลดงบประมาณภาคสาธารณสุข โดยจะเปิดโรงพยาบาลประมาณ 150 แห่ง (ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กขนาดไม่เกิน 80 เตียง) และลดจำนวนเตียงผู้ป่วยลงถึงประมาณ 80,000 เตียงทั่วประเทศ
  • จะปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 21 เป็นร้อยละ 23 ในช่วงเดือน ก.ย.2556 ในการนี้นาย Monti จะนำมาตรการ Spending Review นี้เข้าสภาฯ เพื่อพิจารณาในวันที่ 31 ก.ค. 2555 โดยขณะนี้พรรคการเมืองในสภาฯ ส่วนใหญ่และสหภาพแรงงานต่างเห็นด้วยกับประเด็นสำคัญๆ ของมาตรการแล้ว

1.2 ปฏิกิริยาที่สำคัญต่อมาตรการ Spending Review

นาง Annarosa Racca ประธานองค์การเภสัชกรรมอิตาลี (Federfarma) ให้สัมภาษณ์ว่า การที่รัฐจะตัดลดงบประมาณของภาคเภสัชกรรมจำนวนมากถึง 40,000 ยูโรต่อร้านขายยาเภสัชกรในแต่ละแคว้นภายในปี 2556 นั้นจะทำให้เกิดการว่างงานในภาคเภสัชกรรมถึง 20,000 ราย และร้านขายยาเภสัชกรจะไม่สามารถตอบสนองต่อการให้บริการสาธารณสุขของประเทศได้ พร้อมทั้งประกาศว่าอาจจะมีการหยุดงานประท้วงของบุคลากรในภาคเภสัชกรรมในวันที่ 26 ก.ค. 2555 และหากรัฐบาลยังคงยึนกรานที่จะตัดลดงบประมาณ องค์การเภสัชกรรมอิตาลีอาจยกเลิกสัญญาที่ทำไว้กับหน่วยงานสาธารณสุขของรัฐ

  • นักวิเคราะห์หลายฝ่ายต่างคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะยิ่งส่งผลให้ระดับความเครียดในสังคมสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงานเพราะภาพที่ประชาชนส่วนใหญ่มองเห็นคือ รัฐบาลพยายามโอบอุ้มมิให้ภาคการเงินของประเทศล่มสลาย แต่ดำเนินมาตรการที่กระทบต่อคนส่วนใหญ่ โดยตัดสิทธิประโยชน์บำเหน็จบำนาญ ปรับแก้กฎหมายแรงงาน ขึ้นภาษี ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้นอีก
2. มาตรการป้องกันการขยายตัวของวิกฤติเศรษฐกิจยูโร หรือ Anti-Spread Shield ของกลุ่มประเทศยูโรโซน

ในการประชุมรัฐมนตรีคลังกลุ่มประเทศยูโรโซน เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2555 ที่กรุงบรัสเซลส์ นอกจากที่ประชุมฯ จะเห็นชอบร่วมกันในการให้เงินช่วยเหลือฉุกเฉินแก่ภาคธนาคารของสเปนจำนวน 30,000 ล้านยูโร ภายในสิ้นเดือน ก.ค. 2555 และใช้เงินกองทุนช่วยเหลือของยุโรปเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ตลาดพันธบัตร หรือที่เรียกว่ามาตรการ Anti-Spread Shield แล้วนั้นที่ประชุมฯ ยังได้มีมติให้ธนาคารกลางแห่งยุโรป (ECB) เป็นหน่วยประสานกลางของกองทุน European Financial Facility (EFSF) ในการพยุงการดำเนินการของตลาดเพื่อลดความห่างของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของกลุ่มประเทศสมาชิก (โดยเฉพาะระหว่างเยอรมนีและอิตาลี) และทำเข้าแทรกแซงตลาดพันธบัตรในนามของ EFSF โดยไม่ส่งผลกระทบต่องบประมาณของธนาคารกลางแห่งยุโรปด้วย

อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวยังไม่เห็นผลอย่างชัดเจนทันที เห็นได้จากความห่างของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปีของเยอรมนีกับอิตาลียังคงสูงอยู่ โดยห่างกันถึง 473.9 จุด และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปีของอิตาลียังคงสูงถึงร้อยละ 6.042 เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

3. สถานะทางเศรษฐกิจของอิตาลี

3.1 สถาบัน Moody's ได้ปรับลดความน่าเชื่อถือของหนี้ภาครัฐของอิตาลีถึง 2 ระดับ จากระดับ A3 เหลือ Baa2 เนื่องจากตัวเลขต้นทุนกู้ยืมเพิ่มสูงขึ้น ทำให้สถานะของตราสารหนี้อิตาลีใกล้ความเป็นตราสารหนี้ขยะหรือ Junk Bond เข้าไปทุกขณะ แต่ตลาดหลักทรัพย์ที่มิลานยังคงมีตัวเลขการซื้อขายที่เพิ่มสูงขึ้น โดยปิดการซื้อขายเมื่อวันศุกร์ที่ 13 ก.ค. 2555 ที่ 13,714 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.96 โดยในช่วงเช้าของวันที่ 13 ก.ค. สามารถขายพันธบัตรระยะกลางและระยะยาวได้มูลคา 5.25 พันล้านยูโร โดยพันธบัตรระยะ 10 ปี ขายได้ที่อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย ร้อยละ 5.82 ซึ่งต่ำกว่าเมื่อเดือน มิ.ย. 2555 ที่ขายได้ที่อัตราผลตอบแทนร้อยละ 6.19 (อย่างไรก็ดี ตลาดปิดเมื่อวันศุกร์ที่ 13 ก.ค. ที่อัตราผลตอบแทนร้อยละ 6)

3.2 OECD แสดงความชื่นชมการปฏิรูปกฏหมายแรงงานของอิตาลี ซึ่งได้ผ่านสภาฯ ไปเมื่อเดือน มิ.ย. 2555 ที่ผ่านมา โดยระบุว่าจะเป็นกลไกป้องกันประเทศจากสภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต การปฏิรูปดังกล่าวจะช่วยลดรายจ่ายด้านการจ้างงานและสวัสดิการสังคมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ เอกสารวิจัยของ OECD ระบุว่า ในเดือน พ.ค. 2555 อัตราการว่างงานของอิตาลีสูงถึงร้อยละ 10 ในขณะที่อัตราการว่างงานของกลุ่มประเทศยูโรโซนในภาพรวมสูงถึงร้อยละ 11.1 โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานวัยหนุ่มสาวและแรงงานไร้ทักษะ

3.3 สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลีได้ทำการสำรวจล่าสุด พบว่า (1) อัตราการว่างงานของแรงงานวัยรุ่นอายุประมาณ 15-24 ปี จะสูงถึงร้อยละ 36.2 และค่าครองชีพ/ค่าใช้จ่ายในแต่ละครอบครัวจะสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 2,500 ยูโรต่อครอบครัว (2) ในปี 2554 ร้อยละ 34.8 หรือประมาณ 1 ใน 3 ของครอบครัวอิตาลีลดรายจ่าย เกี่ยวกับอาหารทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยเฉพาะในแคว้นทางตอนใต้ของอิตาลี ซึ่งมีรายได้น้อยกว่าทางเหนือ ซื้อสินค้าอาหารจาก Supermarket ที่มีรายการลดราคาเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 13.1 (ปี 2553 คิดเป็นเพียงร้อยละ 11.2) และ (3) ประธานสภาอุตสาหกรมอิตาลีคาดว่า GDP ของอิตาลีในปี 2555 จะลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.4

3.4 ธนาคารชาติของอิตาลีประกาศว่าจำนวนหนี้สาธารณะของอิตาลีเมื่อเดือน พ.ค.2555 มีมูลค่าสูงถึง 1.966 พันล้านยูโร ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าวิตก แต่ก็เป็นช่วงที่มาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจกำลังทยอยประกาศใช้และยังไม่ปรากฎผลการเยียวยาที่ชัดเจน

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ