แนวโน้มตลาดอิเล็กทรอนิกส์ในแคนาดา ปี 2556 - 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 18, 2013 14:12 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การแข่งขันในการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดคอมพิวเตอร์ในแคนาดานับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) นับวันจะหดตัวลงเรื่อยๆ ในปี 2553 PC ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในกลุ่มผู้บริโภค 5 ยี่ห้อแรก คือ Hewlett-Packard (HP), Acer, Dell, Apple และ Lenovo ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันถึงร้อยละ 80.5 ของตลาดคอมพิวเตอร์ในแคนาดา แต่ในปี 2554 ส่วนแบ่งการตลาดดังกล่าวกลับลดลงเหลือเพียงร้อยละ 75.2 นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าสาเหตุที่ลดลงสืบเนื่องจากความนิยมซื้อคอมพิวเตอร์ยี่ห้อที่ไม่เป็นที่รู้จักเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ Hewlett-Packard ยังคงเป็นยี่ห้อที่ได้รับความนิยมสูงสุด โดยไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 HP ครองส่วนแบ่งถึง 1 ใน 4 ของยอดขายคอมพิวเตอร์ทั้งหมดในท้องตลาด ในขณะที่ Apple ครองส่วนแบ่งร้อยละ 12.3

อย่างไรก็ดี จากพิษเศรษฐกิจที่ยังคงส่งผลต่อความวิตกกังวลของชาวแคนาดาในเรื่องของการใช้จ่ายเงินเพื่อบริโภคสินค้า เมื่อปีที่ผ่านมา โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 ยอดขาย PC ไม่เป็นไปตามเป้าที่บริษัทยักษ์ใหญ่หลายเห่งได้คาดการณ์ไว้ HP และ Dell มีการปรับลดเป้าหมายตัวเลขลง แต่ IDC Canada คาดการณ์ว่าในปี 2556 ยอดขายจะกระเตื้องขึ้นแต่จะเป็นไปอย่างช้าๆ ประมาณร้อยละ 1.1 และคาดว่าตลาดอิเล็กทรอนิกส์จะเติบโตถึงร้อยละ 8.8 ในปี 2558

IDC คาดว่ายอดขาย PC ในแคนาดา จะมีอัตราการเติบโตที่ประมาณร้อยละ 7.1 ระหว่างปี 2556 - 2559 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม ร้อยละ 8.4 อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกกลุ่มสินค้าที่จะได้ประโยชน์จากยอดขายที่กระเตื้องขึ้น มีการคาดการณ์ว่า Desktop PC จะได้รับความนิยมลดลงจากในปี 2555 ร้อยละ 42 เหลือเพียงร้อยละ 12 ในปี 2559 เมื่อเทียบกับคอมพิวเตอร์ประเภทต่างๆ โดย Tablet จะเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 39 ในปี 2559

เมื่อเปรียบเทียบยอดขายในกลุ่มสินค้าประเภทแตะหน้าจอ (Touch Screen) โดย Apple ยังคงเป็นผู้นำที่มียอดขาย ipad ถึงกว่า 80 ล้านเครื่อง นับตั้งแต่เริ่มออกจำหน่ายในปี 2553 โดย Tablet ที่เริ่มเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าแท็บเล็ต จะมาแทน PC และแม้ว่าแท็บเล็ตจะปรับเพิ่มประสิทธิภาพของอายุแบตเตอรี่ให้สามารถใช้งานได้นานขึ้น ก็จะส่งผลเฉพาะในเรื่องยอดขายที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้บริโภคจะซื้อแท็บเล็ตเพื่อทดแทนการใช้งาน PC

ในปี 2554 โน๊ตบุ๊คในตลาดแคนาดา มีมียอดขายที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ในขณะที่แท็บเล็ตเริ่มเข้ามาบุกตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม คนแคนาดายังคงยึดติดกับคอมพิวเตอร์รูปแบบดั้งเดิมอยู่ และมีแนวโน้มว่าการซื้อคอมพิวเตอร์จะเป็นการซื้อสินค้าใหม่เพื่อทดแทนเครื่องเดิมที่มีอยู่ โดยคนจะไม่ซื้อแท็บเล็ตเพื่อทดแทนการใช้งานของ PC ดังนั้น ตลาด PC จึงยังคงไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าว และจากการศึกษาของ NPD Group พบว่าร้อยละ 60 ของผู้ซื้อ PC จะซื้อ PC รุ่นใหม่ที่สามารถตอบสนองความต้องการใช้งานของตนเพื่อทดแทนเครื่องเดิม และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างเดสก์ทอปและโน๊ตบุ๊ค พบว่าร้อยละ 49 ของผู้บริโภคเลือกซื้อโน๊ตบุ๊ค โดยในปัจจุบัน ยอดขายโน๊ตบุ๊คมีอัตราเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 13 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2552 และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และประมาณ 1 ใน 4 ของผู้บริโภคที่เคยซื้อเดสก์ทอปและโน๊ตบุ๊คเป็นผู้ที่ยึดติดกับแบรนด์ถึงร้อยละ 26

ปัจจุบัน แม้ว่าเศรษฐกิจแคนาดาจะเริ่มฟื้นตัวภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2551 แต่ก็เป็นไปอย่างช้าๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อยอดการขายคอมพิวเตอร์ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากผู้บริโภคมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงในชีวิตและอนาคต แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีสัญญาณที่ดี โดยผู้คนหันมาใช้จ่ายเงินมากขึ้น แต่เป็นการใช้เงินซื้อสินค้าโดยไม่ได้เลือกสินค้าค้าลดราคาเป็นหลัก แต่เป็นการเลือกที่คุณภาพของสินค้า โดยพิจารณาจากคุณค่า และประโยชน์ที่จะได้รับ ในราคาที่เหมาะสม และจากการที่คนแคนาดาให้ความสำคัญกับคุณค่า โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว การซื้อคอมพิวเตอร์จะเป็นการซื้อที่มีการวางแผนล่วงหน้า โดยเฉพาะเดสก์ทอป คนแคนาดาส่วนใหญ่เลือกที่จะซื้อ PC และแท็บเล็ตในห้างค้าปลีก มีเพียงร้อยละ 29 ที่ซื้อผ่านระบบออนไลน์

สำหรับการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ไทยมายังแคนาดาในปี 2555 (ม.ค. - พ.ย.) ไทยส่งออกมายังแคนาดาเป็นอันดับที่ 24 มีมูลค่าการส่งออก 62.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ -48.97 สาเหตุหลักมาจากวิกฤติน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 บวกกับแคนาดาเพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2551 และความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤติหนี้สาธารณะยุโรป นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากกลุ่มสินค้าแผงวงจรรวม ไมโครแอสเซมบลี เซมิคอนดักเตอร์ และส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ที่ยังไม่กลับคืนสู่สภาวะปกติในปี 2555 แต่คาดว่าจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นในปี 2556 ขณะที่กลุ่มสินค้าส่วนประกอบคอมพิวเตอร์อาจได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเพิ่มขึ้นบ้างแต่ไม่มากนักเนื่องจากผู้บริโภคจะไม่ซื้อแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนเพื่อทดแทนการใช้งาน PC

เมื่อพิจารณาตลาด Hard Disk Drive (HDD) ซึ่งในอดีตประเทศไทยจัดเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก และมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ถึงร้อยละ 40 อย่างไรก็ดี จากผลกระทบวิกฤติน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 ก่อให้เกิดการขาดแคลน HDD ในตลาดโลก ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ดี HDD ถูกควบคุมด้วยกลไกของตลาด ซึ่งเมื่อปลายปี 2555 ที่ผ่านมา มีการเปิดตัวระบบปฏิบัติการ Window 8 ทั่วโลก ซึ่งคาดว่าว่าจะส่งผลให้มียอดขาย HDD เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อราคา HDD ที่เพิ่มสูงขึ้น นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ราคา HDD จะเริ่มลดลงในปี 2557 แต่เป็นการคาดการณ์เฉพาะสินค้า PC Computer ประเภท เดสก์ทอป โน๊ตบุ๊ค และ enterprise drive เท่านั้น ไม่รวมตลาดอื่นๆ อย่างอุตสาหกรรมรถยนต์ หรือ external hard drive หรือ DVR devices

ยอดขาย PC ที่มีแนวโน้มลดลงดังกล่าวจะส่งผลให้ยอดขาย HDD ที่รองรับคอมพิวเตอร์ PC ก็ลดลงไปด้วยเช่นกัน ในขณะที่ตัวแปรที่จะกระตุ้นยอดขาย HDD คือ ไดรฟ์ที่เป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้นคือ ดิสก์ไดรฟ์ที่มีความจุมากๆ สำหรับบันทึกพวกมีเดียต่างๆ อย่างเพลง วิดีโอ หรือ social media content รวมถึงระบบปฏิบัติการ Window 8 ซึ่งได้เปิดตัวไปแล้วเมื่อเดือนตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา ตลอดจนการเลือกซื้อ PC ที่มีระบบปฏิบัติการใหม่เสมือนบนมือถือ (new OS) นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังได้คาดการณ์ว่า ยอดขาย HD ที่ใช้ใน Ultrabooks ซึ่งรวมถึงระบบการปฏิบัติงาน ที่ใช้ไฮบริดไดรฟ์ ซึ่งเป็นไดร์ฟลูกผสมที่ใช้ทั้งเทคโนโลยีจานแม่เหล็กแบบหัวเข็ม (spinning disk) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟดั้งเดิม และเทคโนโลยีฮาร์ดไดร์ฟแบบชิปหน่วยความจำ (solidstate) ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีฮาร์ดไดร์ฟยุคใหม่ที่ใช้เวลาอ่านเขียนข้อมูลเร็วกว่า และสามารถลดการผลาญพลังงานได้มากกว่า และมีขนาดบางเฉียบ โดยผู้ผลิต PC คาดหวังว่า Window 8 และ Ultrabooks จะเป็นตัวช่วย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ PC กับ สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตอย่าง ipad จากค่าย Apple ในอนาคตได้

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์ พิจารณาเห็นว่า แนวโน้มการบริโภคของผู้ซื้อคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีในอนาคต จะเน้นขนาดที่เล็กลง บางลงเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต HD ที่มีขนาดเล็กลงและน้ำหนักเบา การผลิตแผงวงจรรวม ไมโครแอสเซมบลี หรือ เซมิคอนดักเตอร์ ที่มีขนาดชิพที่เล็กลง จะได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น เพื่อให้สามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดได้อย่างยั่งยืน ผู้ผลิตผู้ส่งออกไทย จึงจำเป็นที่จะต้องปรับกลยุทธ์การตลาดสู่เชิงรุก โดยปรับและพัฒนา HD ให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปอันจะนำมาซึ่งศักยภาพและความสามารถทางการแข่งขันของไทยในระยะยาว

จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

ณ นครแวนคูวอร์ วันที่ 18 มกราคม 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ