โตโยต้า มอเตอร์ มีการผลิตรถยนต์ในประเทศ ในเดือนตุลาคม 2555 จำนวน 265,042 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันของปี 2554 ร้อยละ 16.3 ในขณะที่การส่งออกมีจำนวน 153,748 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันของปี 2554 ร้อยละ 18.8
โตโยต้าตั้งเป้าหมายการจำหน่ายภายในประเทศญี่ปุ่นปี 2556 ไว้ที่ 1,360,000 คัน ลดลงจากเป้าหมายปี 2555 ที่ตั้งไว้ที่1,670,000 คัน เนื่องจากนโยบายการยกเว้นภาษีให้กับผู้ซื้อรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco Car) ได้สิ้นสุดลง ยอดจำหน่ายในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาจึงลดลงประมาณร้อยละ 20 ส่วนจำนวนการผลิตภายในประเทศ จะยังคงเป้าหมายไว้ที่ 3,000,000 คันเช่นเดิม โดยหากยอดจำหน่ายภายในประเทศไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ก็จะหันไปเน้นด้านการส่งออกแทน อย่างไรก็ตาม หากเงินเยนยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง โตโยต้าอาจต้องปรับกลยุทธ์การจำหน่ายภายในประเทศอีกครั้ง สำหรับภาพรวมการผลิต โตโยต้าวางแผนการผลิตทั่วโลกในปี 2556 ไว้ที่ 9,900,000 คัน โดยยังคงพยายามลดต้นทุนเพื่อเพิ่มจำนวนการผลิตให้เป็น 10 ล้านคันในอนาคต
ในส่วนของการผลิตภายในประเทศญี่ปุ่น โตโยต้าได้เปิดโรงงานผลิตเครื่องยนต์ในเขตประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นแห่งแรกในจังหวัดมิยางิ เพื่อป้อนชิ้นส่วนให้กับโรงงานใกล้เคียง ซึ่งจะทำให้สามารถผลิตชิ้นส่วนและประกอบรถยนต์ได้แบบเบ็ดเสร็จภายในภูมิภาคดังกล่าว
สำหรับยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศจีนประจำเดือนกันยายน-ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา ได้ลดลงจากเดือนเดียวกันของปี 2554 ประมาณร้อยละ 45 จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีน-ญี่ปุ่นเกี่ยวกับดินแดนเกาะเซ็งคาขุ แต่โตโยต้ายังมั่นใจว่าจะสามารถจำหน่ายรถยนต์ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนยังคงให้ความสนใจในรถยนต์รุ่นหรูและรถยนต์ประหยัดพลังงานที่มีราคาถูก นอกจากนี้ยอดจำหน่ายในเดือนพฤศจิกายน 2555 ยังมีแนวโน้มดีขึ้นคืออัตราการลดเริ่มชะลอตัว โดยลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2554 ร้อยละ 22
จากปัญหาความขัดแย้งกับประเทศจีนทำให้โตโยต้าเริ่มหันไปขยายตลาดในประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยในประเทศไทย ผู้บริโภคสนใจรถยนต์ขนาด 1,000 ซีซีมากขึ้น โตโยต้าจึงจะเปิดตัวรถยนต์แบบ Entry Family Car (EFC) ซึ่งเป็นรถยนต์ขนาดเล็กเหมาะสำหรับครอบครัว ทั้งนี้ ได้วางแผนการผลิตภาพรวมภายในประเทศไทยในปี 2556 ไว้ที่ 760,000 คัน จากเดิม 670,000 คัน นอกจากนี้ ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โตโยต้าได้เริ่มนำเข้าชิ้นส่วนจากญี่ปุ่นไปประกอบรถยนต์รุ่น Navi1 ซึ่งเป็นรถยนต์แบบ Mini-Van ภายในประเทศอินโดนีเซีย โดยคาดว่าจะตีตลาดผู้บริโภคอินโดนีเซียที่สนใจรถยนต์ประหยัดพลังงานกันมากขึ้นได้
นิสสัน มอเตอร์ มีการผลิตรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่น ในเดือนตุลาคม 2555 จำนวน 100,804 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันของปี 2554 ร้อยละ 13 สำหรับการส่งออกมีจำนวน 58,157 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันของปี 2554 ร้อยละ 20.5
นิสสันอยู่ระหว่างพยายามที่จะลดต้นทุนการผลิตแบตเตอร์รีที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) ลงเหลือครึ่งหนึ่งภายในปี 2563 เพื่อลดราคาขายให้ผู้บริโภคสามารถซื้อได้ง่ายขึ้น และจะเพิ่มประเภทรถยนต์ไฮบริดที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ฮอนด้า มอเตอร์ มีการผลิตรถยนต์ในประเทศ ในเดือนตุลาคม 2555 จำนวน 80,053 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันของปี 2554 ร้อยละ 15.8 ส่วนการส่งออกมีจำนวน 6,880 คัน ลดลงร้อยละ 78.5
ฮอนด้าตั้งเป้าหมายยอดจำหน่ายภายในประเทศญี่ปุ่นในปี 2556 ไว้ที่ 850,000 คัน เพิ่มขึ้นจากเป้าหมายปี 2555 ร้อยละ 16 เนื่องจากมองว่า รถยนต์รุ่น Fit ที่ปรับปรุงใหม่ จะสามารถครองใจผู้บริโภคได้มากขึ้น อีกทั้งยังมีแผนเปิดตัวรถยนต์ขนาดเล็กรุ่นใหม่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2556 อีกด้วย
สำหรับในตลาดสหรัฐอเมริกา ฮอนด้าจะตั้งฝ่ายวิจัยและพัฒนารถยนต์รุ่น Civic และ Accord ขึ้นที่รัฐโอไฮโอ ในประมาณปี 2559 เพื่อพัฒนาสินค้าให้ได้ตามความต้องการและเข้าถึงผู้บริโภคในพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น โดยจะจ้างพนักงานจำนวนประมาณ 2,000 คน (รวมที่ส่งไปจากญี่ปุ่นประมาณ 200 คน) ทั้งนี้ รถยนต์รุ่นดังกล่าวมียอดจำหน่ายเฉลี่ยปีละ 500,000 - 600,000 คัน โดยอเมริกาเหนือเป็นตลาดหลักซึ่งมีสัดส่วนการจำหน่ายเกินกว่าครึ่ง รองลงมาคือจีน และยุโรป
ในส่วนของตลาดอินเดีย ฮอนด้าจะผลิตเฉพาะรถยนต์ขนาดเล็กเครื่องยนต์ดีเซล เช่น รุ่น Brio และ City โดยตั้งเป้ายอดจำหน่ายในปี 2559 ไว้ที่ 300,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันกว่า 6 เท่า เนื่องจากน้ำมันดีเซลมีราคาถูกกว่าน้ำมันเบนซินอย่างมาก รถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลจึงเป็นที่นิยมมากกว่า
ซูซูกิ มอเตอร์ มีการผลิตรถยนต์ในประเทศ ในเดือนตุลาคม 2555 จำนวน 81,222 คัน ลดลงจากเดือนตุลาคม 2554 ร้อยละ 16.8 สำหรับการส่งออกมีจำนวน 16,065 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันของปี 2554 ร้อยละ 39.7
ซูซูกิเปิดโรงงานในพม่าอีกครั้งที่ย่างกุ้ง หลังจากยกเลิกการจำหน่ายรถยนต์ 4 ล้อในสหรัฐฯ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินเยนและสินค้าไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร โดยซูซูกิจะส่งผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นและพัฒนาฝีมือแรงงานพม่าก่อนสร้างโรงงานแห่งอื่นเพิ่มเติม และจะใช้พม่าเป็นฐานการผลิตเพื่อป้อนสินค้าเข้าสู่ตลาดอาเซียน สำหรับโรงงานในไทย ในปี 2556 ซูซูกิจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 54,000 คันต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดิม 33,000 คัน โดยจะเน้นการผลิตรถยนต์รุ่น SWIFT เพื่อจำหน่ายในไทยและส่งออกไปยังประเทศที่สาม
GM ปัจจุบัน ไม่มีการผลิตรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่น
GM จะเริ่มกลยุทธ์การจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) ซึ่งเป็นรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco Car) อย่างจริงจังในปี 2556 หลังจากเริ่มออกตัวช้ากว่าผู้ผลิตรายอื่นๆ โดย GM ตั้งเป้าการจำหน่ายไว้ 50,000 คันต่อปีภายในปี 2560 ทั้งนี้ จุดแข็งของของ GM อยู่ที่เทคโนโลยีการผลิตแบตเตอร์รี่และมอเตอร์ จึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานตามคู่แข่งได้ทันในเร็วๆ นี้
ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น Denso (โรงงานตั้งอยู่ที่ จ.ชลบุรี) และ Yorozu (โรงงานตั้งอยู่ที่ จ.ระยอง) เพิ่มกำลังการผลิตในประเทศไทย เพื่อรองรับคำสั่งซื้อชิ้นส่วนจากโรงงานประกอบรถยนต์ของโตโยต้า นิสสัน และโรงงานอื่นๆ ที่วางแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศไทย แม้ว่าจะประสบอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 ก็ตาม
ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ความต้องการรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็น Eco Car เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศญี่ปุ่นและประเทศเกิดใหม่อย่างจีน อินเดีย และอาเซียน เนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ประกอบกับกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแต่เดิม โตโยต้า นิสสัน และฮอนด้า เป็นผู้ผลิตญี่ปุ่นที่แข่งขันการผลิตรถยนต์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ผู้ผลิตของสหรัฐฯ อย่าง GM ได้เร่งเครื่องเพื่อตามติดกระแสการอนุรักษ์พลังงานและช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดดังกล่าวที่ผู้บริโภคเริ่มมีรายได้สูงขึ้นและนับเป็นตลาดที่มีศักยภาพที่ได้รับความสนใจจากผู้ผลิตอีกหลายราย