สงครามค่าเงินในเอเชียระลอกใหม่เริ่มขึ้นแล้ว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 10, 2013 14:36 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ในช่วงหลายวันที่ผ่านมาสื่อมวลชนไต้หวันต่างก็พากันรายงานข่าวความเคลื่อนไหวของตลาดเงินในเอเชียกันอย่างคึกคักหลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศมาตรการแทรกแซงค่าเงินด้วยการอัดฉีดเงินสดเข้าสู่ตลาดในปริมาณมหาศาล จนทำให้เกิดกระแสการแข่งขันด้านค่าเงินอย่างสูงทั่วเอเชีย โดยเฉพาะค่าเงินเยนของญี่ปุ่น ค่าเงินวอนของเกาหลีใต้ และค่าเงิน NT ของไต้หวัน ซึ่งราคาปิดตลาดของค่าเงินไต้หวันในวันจันทร์ที่ 28 มกราคม 2556 ที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 29.56 เหรียญไต้หวัน (NT) / 1 เหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเปิดตลาดมากถึง 31 เซนต์คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.05 ของ ถือเป็นสัดส่วนที่ลดลงมากที่สุดในวันเดียวในอันดับ 6 ของประวัติศาสตร์การซื้อขายเงินตราของไต้หวัน และเป็นสัดส่วนที่ลดมากเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย รองจากเงินวอนของเกาหลีใต้ ทำให้นายหยางจินหลงรองประธานธนาคารกลางของไต้หวันได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อใดก็ตามที่ความผันผวนของค่าเงิน NT เป็นอันตรายต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจหรือตลาดเงินของไต้หวัน ธนาคารกลางจะมีมาตรการรองรับเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับตลาด ซึ่งนักวิเคราะห์ชี้ว่าจากคำให้สัมภาษณ์นี้เห็นได้ชัดว่าธนาคารของไต้หวันเตรียมพร้อมที่จะเข้าแทรกแซงตลาดได้ตลอดเวลา

กระแสการลดค่าเงินในตลาดเงินของเอเชียยังคงร้อนแรงต่อเนื่อง โดยในช่วงระหว่างการซื้อขายในวันจันทร์ที่ 28 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นได้ลดลงต่ำกว่าระดับ 91 เยนต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ ด้วย ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยจะได้เห็นกันบ่อยนักจากธนาคารกลางไต้หวันคือการออกแถลงการณ์ความยาว 18 หน้าเพื่อชี้แจงว่า มาตรการ QE ของญี่ปุ่นที่จะมีการพิมพ์เงินสดออกมาเดือนละ 13 ล้านล้านเยนที่จะประกาศใช้ในปีหน้านั้น แม้จะดูน่าตกใจแต่ในความเป็นจริงแล้วจะมีการปล่อยเงินออกมาเพียงปีละ 10 ล้านล้านเยนเท่านั้น อย่างไรก็ดีการอ่อนตัวของเงินตระกูลเอเชียในครั้งนี้ทำให้สถาบันการเงินและนักลงทุนต่างก็แห่กันหันมาถือเงินเหรียญสหรัฐฯ แทนกันเป็นจำนวนไม่น้อย

จากการที่นักลงทุนต่างชาติเกรงว่าจะเกิดการแข่งกันลดค่าเงินของประเทศในเอเชียทำให้เกิดการเทขายและหันไปถือดอลลาร์สหรัฐฯแทน ทำให้ค่าเงิน NT ของไต้หวันเปิดตลาดช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 28 มกราคมลดลงทันที 20 เซนต์ ถือเป็นสัดส่วนที่ลดลงมากที่สุดของเงินเอเชียทั้งหมด ก่อนที่ธนาคารกลางของเกาหลีใต้จะรีบเข้าแทรกแซงจนทำให้ค่าเงินวอนอ่อนตัวลงมากกว่า 1,090 วอนต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ ก่อนที่จะปิดตลาดที่ระดับราคา 1,093.5 วอนต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.74 ถือเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดของเงินเอเชีย ในขณะที่ค่าเงินไต้หวันก็ลดลงมากเช่นกัน ปิดตลาดที่ระดับราคา 29.56 NT ต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ ลดลง 31 เซนต์คิดเป็นร้อยละ 1.05 ลดลงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย โดยมีปริมาณซื้อขายมากถึง 2,286 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี แม้ว่าเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาค่าเงิน NT จะลดลงในอัตราส่วนค่อนข้างมาก หากแต่เมื่อเทียบในระยะเวลา 1 เดือนแล้ว คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.43 ยังห่างจากอัตราลดลงร้อยละ 4.83 ของเงินเยน และอัตราร้อยละ 2.09 ของเงินวอนอยู่ไม่น้อย เห็นได้ชัดว่าค่าเงิน NT ยังมีโอกาสจะปรับตัวลดลงได้อีก ซึ่งนักวิเคราะห์ตลาดเงินบางรายของไต้หวันชี้ว่าอาจได้เห็นค่าเงิน NT ปรับลงมาอยู่ที่ระดับ 30 NT ต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ ในช่วงเร็วๆ นี้

ในส่วนของค่าเงินประเทศอื่นในเอเชียนั้น เงินเปโซของฟิลิปปินส์ได้เคยเพิ่มค่าขึ้นถึงจุดสูงสุดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2008 เป็นต้นมาเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2556 ก่อนจะค่อยๆปรับตัวลง ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าเป็นการแทรกแซงตลาดโดยธนาคารกลางของฟิลิปปินส์เพื่อช่วยการส่งออก ส่วนเงินหยวนของจีนนายอี้กังรองประธานธนาคารกลางจีนได้กล่าวระหว่างการประชุม World Economic Forum เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม 2556 ที่ผ่านมาว่าค่าเงินหยวนในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับระดับสมดุลย์แล้ว โดยค่าเงินหยวนปิดตลาดวันจันทร์ นักวิเคราะห์จึงมองว่าโอกาสจะปรับตัวขึ้นอีกคงมีน้อย โดยค่าเงินสกุลต่างๆในเอเชียต่างก็ปรับลดกันทั่วหน้าหลังปิดตลาดในวันจันทร์ที่ 28 มกราคม 2556 รายละเอียดปรากฏตามตารางด้านล่าง

อัตราการปรับตัวของค่าเงินสกุลต่างๆ ของประเทศในเอเชีย (%)
     ประเทศ            ณ วันที่ 28 มค. 56       รอบ 30 วันก่อนหน้า
เกาหลีใต้                    -1.74                  -2.09
ไต้หวัน                      -1.05                  -1.43
สิงคโปร์                     -0.73                  -1.28
ไทย                        -0.22                  +2.15
อินโดนีเซีย                   -0.21                  -0.41
ญี่ปุ่น                        -0.18                  -4.83
จีน                         -0.04                  +0.17
ที่มา : ธนาคารกลางไต้หวัน

ทั้งเกาหลีใต้และไต้หวันต่างก็พยายามดำเนินนโยบายค่าเงินอ่อนตามญี่ปุ่น เพราะต่างก็เป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โดยมีสินค้าหลักคล้ายๆกันคือสินค้า IT และชิ้นส่วน ซึ่งหากค่าเงินสูง กว่าคู่แข่งมากจะทำให้ผู้ส่งออกไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ชี้ว่าก่อนการประชุม G20 ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 ญี่ปุ่นจะไม่ปล่อยให้ค่าเงินเยนอ่อนตัวลงมากนัก เนื่องจากต้องการหลีกเลี่ยงข้อขัดแย้งในการประชุมด้วย

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าในขณะที่ประเทศในเอเชียส่วนใหญ่ต่างก็มีการปรับตัวของค่าเงินที่ลดลงในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา (ยกเว้นจีนที่รัฐบาลเห็นว่าค่าเงินอยู่ในภาวะสมดุลย์) ประเทศไทยกลับเป็นประเทศเดียวที่มีการปรับตัวของค่าเงินเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 2.15 ซึ่งมากกว่าจีนเสียอีก (จีน +0.17%) การปล่อยให้ค่าเงินสูงอยู่เช่นนี้ภายใต้ภาวะสงครามค่าเงินที่เริ่มขึ้นแล้วนั้น จะไม่เป็นผลดีทั้งในระยะสั้นและยาวอย่างแน่นอน เพราะเมื่อพิจารณาจากแนวโน้มโดยรวมแล้ว เชื่อว่าทั้งเงินเยน เงินวอน และเงิน NT ต่างก็ยังคงจะมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ย่อมทำให้เงินสกุลต่างๆทั่วโลกทยอยปรับตัวลดลงเพื่อไม่ปล่อยให้คู่แข่งทางการค้าสามารถสร้างความได้เปรียบมากจนเกินไป ซึ่งผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยจึงต้องรีบหามาตรการรับมือกับสงครามค่าเงินในครั้งนี้แต่เนิ่นๆ เช่นกัน

E-Mail : thaicom.taipei@msa.hinet.net

Tel : (886 2) 2723-1800

Fax : (886 2) 2723-1821

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ