ไต้หวันเป็นประเทศที่มีความตื่นตัวในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและมีการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อมในระดับสูง ซึ่งไทยอาจศึกษาเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาอุสาหกรรมในประเทศได้
1. ภาวะการรีไซเคิลในไต้หวัน
ไต้หวันดำเนินโยบายลดปริมาณขยะและเพิ่มอัตราส่วนการรีไซเคิลเพื่อบรรลุเป้าหมายการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ในปี 1998 ได้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการบริหารกองทุนการรีไซเคิลทรัพยากร ต่อมาได้ประกาศกฎหมายบังคับให้กิจการในระดับบนจ่ายค่าภาษีสิ่งแวดล้อม เพื่อนำรายได้ดังกล่าวมาใช้ในการดำเนินการเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น การอุดหนุนกิจการระดับล่างหรือโรงงานรีไซเคิลในการเก็บวัสดุกลับมาใช้งานใหม่ ยกตัวอย่างผู้ผลิตรถยนต์จำหน่ายรถใหม่คันหนึ่งออกไปจะต้องจ่ายภาษีสิ่งแวดล้อมประมาณ 965 เหรียญไต้หวัน รายได้นี้จะถูกนำไปอุดหนุนการตั้งโรงงานรีไซเคิล เมื่อประชาชนส่งรถยนต์ 1 คันเข้าไปยังโรงงานรีไซเคิลจะได้รับรางวัล 3,000 เหรียญไต้หวัน เป็นการกระตุ้นการรีไซเคิล
กิจการรีไซเคิลสร้างโอกาสทำงานให้แก่คนชั้นล่างได้ในปริมาณมาก ตามสถิติของทบวงสิ่งแวดล้อมไต้หวัน ในปี 1999 แรงงานในกิจการรีไซเคิลมีจำนวน 195,000 คน กลุ่มผู้มีอายุระหว่าง 31 - 50 ปีมีจำนวนมากที่สุด ระดับการศึกษาส่วนใหญ่ต่ำกว่ามัธยมปลาย ในยุคที่อุตสาหกรรม ไอที หรือเทคโนโลยีระดับสูงและภาคการเงินการบริการมีการขยายตัวอย่างมากนี้ คนระดับล่างถูกเบียดออกจากตลาดแรงงาน การส่งเสริมกิจการรีไซเคิลจะเป็นแหล่งรองรับการทำงานสำหรับคนระดับล่างได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตามเนื่องจากไต้หวันมีพื้นที่และประชากรไม่มาก คาดว่ากิจการรีไซเคิลจะถึงจุดอิ่มตัวในไม่นาน ทำให้ผู้ประกอบการต้องการขยายกิจการออกไปสู่ต่างประเทศ ซึ่งแนวทางในการขยายกิจการมี 3 รูปแบบคือ
1.1) การออกไปลงทุนตั้งโรงงานรีไซเคิลในต่างประเทศ
เป็นการลงทุนในต่างประเทศซึ่งเป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นมากที่สุดในขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นการออกไปลงทุนโดยกิจการรีไซเคิลขนาดใหญ่ ตลาดลงทุนที่สำคัญคือจีนแผ่นดินใหญ่ เนื่องจากใช้ภาษาและวัฒนธรรมเดียวกัน
1.2) การนำเข้าวัสดุสำหรับรีไซเคิลเพื่อป้อนให้แก่โรงงานรีไซเคิลในไต้หวัน
เป็นการจัดหาแหล่งวัสดุเพื่อเพิ่มปริมาณการรีไซเคิลและเพิ่มโอกาสการทำงานให้แก่พลเมืองในประเทศ แต่มีปัญหาอุปสรรคคือรัฐบาลยังไม่อนุญาตให้นำเข้าเศษวัสดุบางชนิดเนื่องจากหวั่นเกรงในเรื่องการนำเข้าวัตถุอันตรายหรือขยะมีพิษ
1.3) การถ่ายทอดเทคโนโลยีในการบริหารจัดการโรงงานรีไซเคิลไปยังต่างประเทศ วิธีการเช่นนี้ยังไม่มีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม แต่ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการจะร่วมมือกับต่างประเทศได้
2. เทคโนโลยีไต้หวันที่มีความโดดเด่น
การรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิคส์ถือว่ามีความทันสมัย สามารถสกัดทองหรือโลหะมีค่าจากแผงไอซี หรือเมนบอร์ดได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง ไต้หวันมีการผลิตสินค้า ไอที ครบวงจร มีระบบการบริหารจัดการที่ดี เช่นการร่วมมือกับร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า และร้านสะดวกซื้อเพื่อเก็บซากสินค้ากลับมารีไซเคิล
เนื่องจากไต้หวันมีการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรที่ทันสมัย จึงมีการผลิตอุปกรณ์เครื่องจักรในการรีไซเคิล ขยะประเภทพลาสติก กระดาษ เศษเหล็ก เศษโลหะอื่น ๆ ที่น่าสนใจด้วย
อย่างไรก็ตาม เครื่องจักรและอุปกรณ์การรีไซเคิลที่มีความละเอียดสูงของไต้หวัน อาจไม่ทัดเทียมประเทศพัฒนาแล้วอื่น และยังคงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เช่น การรีไซเคิลน้ำยาคอมเพรสเซอร์เครื่องทำความเย็นของไต้หวันจัดการให้มีความบริสุทธิ์ได้เพียง 90% ขณะที่อุปกรณ์ของของยุโรปจัดการได้บริสุทธิ์ถึง 93%
4. สรุปและข้อคิดเห็น
สภาพโครงสร้างเศรษฐกิจของไต้หวันมีความใกล้เคียงกับประเทศไทย และมีระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้ามากกว่า ซึ่งไทยสามารถเรียนรู้ประสบการณ์และนำเข้าอุปกรณ์ เครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทยได้ ผู้ประกอบการไทยที่ประสงค์จะ แสวงหาความร่วมมือหรือดำเนินธุรกิจกับผู้ประกอบการไต้หวันสามารถติดต่อและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากรายชื่อผู้ประกอบการและรายชื่อหน่วยงานเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการรีไซเคิล ดังแนบ
ข้อมูลอ้างอิง
1. บทความเรื่อง การวิเคราะห์โอกาสธุรกิจของไต้หวันในการขยายตลาดกิจการรีไซเคิลในต่างประเทศ ตีพิมพ์ในนิตยสาร Sustainable Industrial Development Bimonthly, No. 52 Oct. 2010 โดย Industrial Sustainable Development Clearinghouse, http://proj.ftis.org.tw/isdn/English/
2. บทความเรื่อง การรีไซเคิล นิตยสาร Golbal Views ฉบับที่ 244 เดือนตุลาคม 2006
รายงานโดย : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา
Tel: 886-2-2723 1800 Fax: 886-2-2723 1821 E-mail: thaicom.taipei@msa.hinet.net