ญี่ปุ่นปรับกลยุทธ์ใหม่ : China-Plus One

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 5, 2013 14:11 —กรมส่งเสริมการส่งออก

จากกรณีพิพาทเกาะเซนกากุระหว่างญี่ปุ่นและจีนจนเกิดการประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหาร ร้านค้า และตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ประกอบกับค่าจ้างแรงงานในจีนสูงขึ้น ดังนั้นเอกชนญี่ปุ่นเห็นว่าภาคการผลิต และการจำหน่ายจะพึ่งพาตลาดจีนนั้นคงไม่ได้ จะต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ที่เรียกว่า China-plus-one ซึ่งแน่นอนว่า ญี่ปุ่นต้องมองหาฐานการลงทุนแห่งใหม่เพื่อกระจายความเสี่ยง นั่นคือกลุ่มประเทศในเอเซีย

ต้องยอมรับว่าบริษัทข้ามชาติได้เข้าไปลงทุนและได้รับประโยชน์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี แต่อาจจะต้องชะงักลงบ้างเมื่อจีนประสบปัญหาภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่ได้เข้าไปลงทุนในจีน นับตั้งแต่จีนเข้าเป็นสมาชิก WTO เมื่อปี 2544 ซึ่งจีนต้องเปิดตลาดและการลงทุนจากต่างชาติ แต่จากปัจจัยความเสี่ยงของสถานการณ์ทางการเมืองของจีน ทำให้ยอดการลงทุนจากต่างชาติในเดือนตุลาคม ที่ผ่านมาลดลงร้อยละ 30 จากปีที่แล้ว แต่ปรากฎว่าการลงทุนในอาเซียน เช่น ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนามเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าถึงจำนวน 201.9 พันล้านเยน และเมื่อปี 2554 ญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนในอาเซียนจำนวน 1.5 ล้านล้านเยน ซึ่งเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปีก่อนหน้า ในขณะที่การลงทุนในจีนเพียง 1ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 60 จากปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ จากการสำรวจพบว่าบริษัทญี่ปุ่นในจีนประมาณร้อยละ 54 ยังคงดำเนินธุรกิจต่อไป และร้อยละ 15 จะต้องลดการผลิตหรือปิดกิจการลง แต่สิ่งสำคัญคือบริษัทจะต้องพิจารณา 3 แนวทาง คือ

(1) ย้ายศูนย์กลางการผลิตไปยังประเทศอาเซียน ซึ่งมีค่าแรงงานต่ำ คือ เวียดนาม กัมพูชา ลาว และพม่า สำหรับอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงาน เช่น สิ่งทอ เครื่องใช้และของตกแต่งบ้าน และของขวัญ เป็นต้น

(2) ย้านฐานการผลิตบางส่วนไปอาเซียน สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องจักรกล แต่ศูนย์กลางการผลิตยังคงอยู่ในจีน เพื่อผลิตป้อนตลาดจีน

(3) ฐานการผลิตยังคงอยู่ในจีน สำหรับสินค้าที่มี highly value เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งเป็นฐานการผลิต และมีระบบ supply chain เป็นอย่างดีแล้ว เนื่องจากได้ลงทุนไว้สูง จึงเป็นเรื่องยากที่จะย้ายออก

แต่ในอีกทางหนึ่ง ปรากฎว่ายังคงมีธุรกิจอีกประเภทที่จะไม่ย้ายออกจากจีนและมองหาลู่ทางขยายกิจการ คือ logistics, food providers และร้านค้าปลีก เป็นต้น

ประเทศในกลุ่มเอเชียที่ญี่ปุ่นจับตามองอยู่ คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และพม่า ซึ่งพม่านั้น ญี่ปุ่นให้ความสนในเป็นอันดับแรก หลังจากสหรัฐฯ ยกเลิกการ sanctions ทำให้นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจและมีเงินลงทุนเข้าไปจำนวนมาก สำหรับนักลงทุนญี่ปุ่น มี 91 บริษัทเข้าไปลงทุน เพิ่มขึ้นร้อยละ 75 จากปีก่อนหน้า นอกเหนือจากค่าแรงงานต่ำ และประชากรที่มีกำลังซื้อจำนวน 62 ล้านคน ยังมีทำเลที่ตั้งใกล้กับอินเดีย และประเทศอื่นในเอเชีย จึงเป็นแหล่งผลิตที่จะส่งออกไปประเทศอื่นๆ ได้

ปัจจุบันมี Trading houses Okaya&Co. Kanematsu Corp., Kubota Corp. ผู้ผลิตเครื่องจักรกลได้เข้าไปลงทุนในพม่า และเร็วๆ นี้ Juroku Bank ของญี่ปุ่นได้ร่วมลงทุนกับ Ayeyarwady Bank ของพม่าแล้ว เพื่อให้ความช่วยเหลือบริษัทญี่ปุ่นที่เข้าไปลงทุนในพม่า นอกจากนี้พม่าเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล ได้แก่ แก๊สธรรมชาติ วัตถุดิบและแร่ธาตุต่างๆ

สำหรับประเทศไทย ถือว่าเป็นฐานการผลิตอันดับสอง รองจากจีน ซึ่งมีบริษัทญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนมากอยู่แล้ว ปัจจุบันมี 3,133 บริษัท ส่วนมากในอุตสาหกรรมการผลิต รวมทั้งรถยนต์ และชิ้นส่วนรถยนต์ นอกจากนั้น อินโดนีเซียเป็นแหล่งผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นเช่นกัน ซึ่งมีประชากร 240 ล้านคน และมีศักยภาพในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันมี 1,266 บริษัท และเวียดนามเป็นอีกประเทศหนึ่งที่น่าสนใจ ค่าแรงงานต่ำ และสามารถส่งออกไปจีนได้อีกด้วย ปัจจุบันมี 1,542 บริษัท

จะเห็นว่าญี่ปุ่นให้ความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในพม่ามากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงาน เพื่อเป็นฐานการผลิตแห่งใหม่ และเป็นประตูสู่อินเดีย และประเทศอื่นในเอเชีย รองลงมา ได้แก่ อินโดนีเซีย และเวียดนาม สำหรับไทยนั้น ญี่ปุ่นยังคงให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก และร้านอาหารมากขึ้น

สคร. ฟูกูโอกะ


แท็ก ญี่ปุ่น   china  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ