สรุปสภาวะตลาดสหรัฐฯสินค้ากล้วยไม้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 26, 2013 14:33 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ตลาดการบริโภค

1.1 สายพันธุ์ของกล้วยไม้ที่นิยมบริโภคในตลาดสหรัฐฯ

กล้วยไม้ในตลาดสหรัฐฯมีหลากหลายชนิดด้วยกัน แต่ที่เป็นที่นิยมบริโภคและมีวางจำหน่ายแพร่หลายจนอาจเรียกได้ว่าเป็น mass market orchid หรือ supermarket orchid (คือกล้วยไม้ที่ supermarket ชอบวางจำหน่าย) มีอยู่ 3 สายพันธุ์คือ

(1) กล้วยไม้ตระกูล Dendrobium

กล้วยไม้ตัดดอกหรือมัดช่อที่วางจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯมีหลายพันธุ์ แต่ที่เป็นที่นิยมสูงสุดคือสายพันธุ์ Dendrobium ทั้งที่เป็นสีชมพู สีม่วง และสีขาว ระดับราคาจะแตกต่างกันไปตามความเข้มของสี (สีม่วงหรือ Purple Dendrobium จะมีราคาดีที่สุด) ขนาดของดอก จำนวนดอกต่อก้าน และความยาวของก้าน กล้วยไม้ประเภทนี้นิยมบริโภคในลักษณะมัดเป็นช่อหรือร้อยเป็นมาลัยคล้องคอ (lei) ใช้ในงานพิธีสำเร็จการศึกษา พิธีต้อนรับและพิธีแต่งงานตามธรรมเนียมฮาวาย ดังนั้นฤดูกาลขายสำคัญจึงอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม - มิถุนายนซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดปีการศึกษา และฤดูใบไม้ผลิสำหรับฤดูกาลแต่งงานในฮาวาย และ ฤดูร้อนสำหรับฤดูการท่องเที่ยวของฮาวาย

(2) กล้วยไม้ตระกูล Phalaenopsis

เกินกว่าร้อยละ 90 ของต้นกล้วยไม้ในกระถางที่วางจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯเป็นต้นกล้วยไม้ตระกูล Phalaenopsis เนื่องจากเป็นต้นกล้วยไม้ที่ปลูกง่าย ไม่ค่อยมีโรค มีดอกและใบที่สวยงาม มีอายุการบานนานเป็นเดือน เหมาะสำหรับเป็นต้นกล้วยไม้ปลูกในบ้าน (houseplants) และมีราคาขายปลีกไม่แพงเกินไป (ราคาขายปลีกในรัฐแคลิฟอร์เนียจะเริ่มต้นที่ประมาณ 15 เหรียญฯขึ้นไป ขึ้นอยู่กับสี จำนวนก้าน/ดอก ขนาดของดอก ความสมบูรณ์ของต้นความแปลกของดอกและสี วิธีการจัดลงในกระถาง และประเภทของร้านค้าปลีก) ต้นกล้วยไม้สายพันธุ์ Phalaenopsis จึงเหมาะสำหรับผู้บริโภคทั่วไปและได้รับความนิยมสูงสุดในตลาดสหรัฐฯ มีวางจำหน่ายแพร่หลาย มีหลากสีและหลากหลายสายพันธุ์ ที่เป็นที่นิยมและมีวางจำหน่ายมากที่สุดคือ สีขาว สีชมพู และสีม่วง ที่เป็นสีเดียว ส่วนใหญ่วางจำหน่ายในกระถาง มีทั้งที่เป็นถ้วยพลาสติกสีขาวขนาดประมาณ 2 นิ้ว กระถางดินเผา และกระถางเซรามิก ขนาดกระถางที่นิยมคือ 3 นิ้ว 4 นิ้ว 5 นิ้ว และ 6 นิ้ว ฤดูขายสำคัญคือประมาณต้นฤดูใบไม้ร่วง - ฤดูใบไม้ผลิซึ่งเป็นช่วงที่กล้วยไม้กำลังออกดอกงาม ผู้บริโภคนิยมซื้อไปแต่งบ้านและให้เป็นของขวัญ กล้วยไม้ Phalaenopsis ในกระถางถือได้ว่าเป็น "corporate gifts" อันดับหนึ่งที่บริษัทธุรกิจในสหรัฐฯนิยมใช้เป็นของขวัญให้แก่ลูกค้าอย่างแพร่หลาย และเป็นกล้วยไม้ที่ได้รับความนิยมบริโภคสูงสุดในตลาดธุรกิจตกแต่งภายในบ้าน

(3) ต้นกล้วยไม้พันธุ์ cymbidiums

ปกติแล้วตลาด cymbidiums ของสหรัฐฯอยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม (ฤดูใบไม้ผลิ) ในบางพื้นที่ตลาดจะเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม (ฤดูหนาว) ที่ cymbidiums กำลังออกช่องาม ตลาดสหรัฐฯนิยม cymbidiums ทั้งที่เป็นดอกใหญ่และที่เป็นดอกเล็ก (miniature cymbidiums) เป็น กล้วยไม้กระถางที่วางจำหน่ายแพร่หลาย ราคาจำหน่ายปลีกต่อกระถางในรัฐแคลิฟอร์เนียเริ่มต้นที่ประมาณ 20 เหรียญฯขึ้นไปทั้งขึ้นอยู่กับจำนวนช่อ ดอก สี ขนาดของดอก ความสมบูรณ์ของต้นและประเภทของร้านค้าปลีกที่วางจำหน่าย นอกจากจะจำหน่ายเป็นต้นแล้ว cymbidiums ยังเป็นกล้วย ไม้ตัดดอกที่นิยมใช้มากที่สุดในงานแต่งงานโดยมัดเป็นช่อสำหรับเจ้าสาวถือ ใช้ประดับตกแต่งในงานแต่งงานหรือแม้กระทั่งประดับบนเค๊ก นอกจากนี้ ยังใช้เป็นดอกไม้สำหรับทำเป็นที่ใส่ข้อมือ (wrist corsage) สำหรับใช้ในวันแม่หรือวันแต่งงาน และในการตกแต่งในช่วงเทศกาลอีสเตอร์

(4) ต้นกล้วยไม้พันธุ์ Onicidum

เป็นต้นกล้วยไม้ที่นิยมบริโภคในลักษณะ houseplant เนื่องจากปลูกง่าย ลักษณะของ Onicidum ที่เป็นกล้วยไม้ที่มีช่อยาว มีดอกจำนวนมากและมีสีแปลกๆที่ไม่เหมือนกล้วยไม้อื่น ทำให้นิยมใช้เป็นไม้ตัดดอกนำไปมัดเป็นช่อจัดแจกันเป็น center pieces บนโต๊ะอาหารในงานเลี้ยงหรืองานแต่งงาน Onicidum ในตลาดสหรัฐฯมีหลายสีด้วยกันแต่ที่มีวางจำหน่ายแพร่หลายมากที่สุดคือสีเหลืองหรือที่เรียกว่า "Dancing Ladies" สีแดงผสมขาวหรือ "Sherry Baby" และสีแดงเข้มออกน้ำตาล "Chocolate" นอกจาก Onicidum แท้แล้วในตลาด สหรัฐฯยังมีกล้วยไม้อื่นๆที่เป็นพันธุ์ผสมระหว่าง Onicidum และกล้วยไม้สายพันธุ์อื่นที่ให้ดอกที่มีรูปร่างใกล้เคียงกับ Onicidum วางจำหน่ายแพร่หลายด้วยเช่นกัน ราคาขายปลีกในรัฐแคลิฟอร์เนียจะเริ่มต้นที่ประมาณกระถางละ 15 เหรียญฯขึ้นไปขึ้น อยู่กับความสมบูรณ์ของต้น จำนวนกิ่ง จำนวนดอก สี และประเภทของร้านค้าปลีกที่วางจำหน่ายฤดูหลักของการจำหน่าย Onicidumคือฤดูใบไม้ร่วงและฤดูใบ ไม้ผลิซึ่งเป็นช่วงที่กล้วยไม้กำลังออกดอกมากที่สุด

นอกจากกล้วยไม้ทั้งสี่สายพันธุ์ข้างต้นแล้ว ยังมีอีกสามสายพันธุ์ที่มีวางจำหน่ายแพร่หลายรองลงมาในตลาดสหรัฐฯคือ

(5) Cattleya

มีจำหน่ายทุกฤดูกาล เป็นดอกไม้ที่นิยมใช้ทำเป็น wrist corsage มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานรับประกาศนียบัตรหรือเลี้ยงงานฉลองสำเร็จการ ศึกษา(prom night) ของนักเรียนมัธยมปลาย

(6) ltonia หรือ Pansy Orchid ฤดูกาลขายคือฤดูใบไม้ผลิต เป็นกล้วยไม้ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

(7) Paphiopedilum (lady slipper orchid)

1.2 แหล่งบริโภคหลักและพฤติกรรมการบริโภค

ตลาดสำคัญของการบริโภคต้นกล้วยไม้ในสหรัฐฯคือรัฐทางฝั่งตะวันตกและภาคใต้ของสหรัฐฯซึ่งเป็นแหล่งรวมหนาแน่นของความต้องการบริโภคและมีอัตราการบริโภคต่อคนต่อปีของสินค้าดอกไม้และต้นไม้ในระดับสูง มีประมาณการณ์ว่ามูลค่าตลาดค้าส่งกล้วยไม้ในเขตนี้รวมกันคิดเป็นร้อยละ 90 ของมูลค่าค้าส่งกล้วยไม้ทั่วสหรัฐฯ

ในระยะสิบปีที่ผ่านมาความนิยมบริโภคกล้วยไม้ในสหรัฐฯจะเติบโตอย่างรวดเร็วแต่กว่าครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคสหรัฐฯที่ซื้อต้นกล้วยไม้ไม่รู้จักชื่อของกล้วยไม้ที่ตนซื้อ

ราคาเป็นเงื่อนไขสำคัญสูงสุดของการตัดสินใจซื้อสินค้า รองลงมาคือขนาดของดอก และสายพันธุ์ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ชอบกล้วยไม้ที่มีหลากสี สีแปลกๆและที่เป็นสีเข้ม ผู้บริโภคจะไม่ซื้อกล้วยไม้ที่มีดอกตูมยังไม่บานจำนวนมาก

ฤดูกาลที่ผู้บริโภคสหรัฐฯนิยมซื้อดอกไม้/ต้นไม้ (ซึ่งรวมถึงกล้วยไม้) ไปใช้มากที่สุดเรียงตามลำดับคือ

(ก) Christmas/Hanukkah

(ข) Mother's Day

(ค) Valentine's Day

(ง) Easter/Passover

(จ) Thanksgiving

2. สถานการณ์ราคาสินค้า

2.1 สินค้ากล้วยไม้ตัดดอกในตลาดสหรัฐฯมีระดับราคาที่คงที่มาโดยตลอด ตัวอย่างราคาสินค้าที่ตลาดซื้อ ขายเมืองบอสตัน (Boston Ornamental Terminal) เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2013 คือ (หมายเหตุ: NL = เนเธอร์แลนด์, NZ = นิวซีแลนด์, SG = สิงค์โปร์ และ TL = ประเทศไทย)

สินค้า                    ประเภท/ขนาด                                     ราคา (เหรียญฯ)/หน่วย
Cymbidium               NL Miniature Large                              6.50/spray (ช่อ)
                        NL Standard Ex-large                            18.50 - 26.00/spray

(ส่วนใหญ่ = 22.00/spray)

                        NL Standard Large                               13.50 - 14.00/spray
                        NZ Standard Large                               20.00/spray
                        SG Standard Ex-Large                            24.00 - 28.00
Vanda                   NL Long                                         14.50- 15.00/bunched
Mokara                  5s NZ large Assorted Colors                     17.50/bunched

Ex-long fine appear

                        SG Assorted Colors short                        8.75 - 10.00/bunched

SG Large Assorted Colors Ex-long fine appear 15.00/bunched

TL Large Assorted Colors Ex-Long fine appear 17.50/bunched

Dendrobium              10s HI White Ex-Long                            38.00
                        SG long                                         18.00
                        SG medium                                       16.00
                        SG short                                        12.00
                        SG white Ex-Long                                20.00
Oncidium                SG Long                                         18.50
Denddrobium             TL, Long                                        15.00 - 16.00
                        TL, White Ex-long                               18.00
                        TL, Assorted Colors Ex-Long                     16.00 - 16.50

(ส่วนใหญ่ 16.00)

                        TL, Assorted Color Long                         15.00
Oncidium                Long                                            18.50
                        Short                                           12.00

2.2 ราคาขายส่งต้นกล้วยไม้ (เหรียญฯ/ต่อหนึ่งกระถาง) ในปี 2011 เปรียบเทียบกับปี 2010 แยกตามขนาดของต้น และมลรัฐที่ยอมเปิดเผยตัวเลข

                           ขนาดสั้นกว่า 5 นิ้ว            ขนาดยาวกว่า 5 นิ้ว
รัฐ                      2010          2011         2010           2011
แคลิฟอร์เนีย               7.40          6.30        12.72          12.38
ฟลอริด้า                  4.41          6.01         8.54           9.35
ฮาวาย                   6.61          6.37         8.89           8.97
ทั่วสหรัฐฯ                 7.10          6.78         9.71          10.19

3. สรุปสภาวะการณ์โดยทั่วไปของตลาดแยกตามประเภทของสินค้า

ตลาดกล้วยไม้ของสหรัฐฯกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีประมาณการณ์ว่าตลาดกล้วยไม้สหรัฐฯปัจจุบันมีมูลค่าเกินกว่า 160 ล้านเหรียญฯต่อปี อย่างไรก็ดีสภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯปัจจุบันกำลังเป็นเงื่อนไขที่ทำให้การขยายตัวของตลาดกล้วยไม้สหรัฐฯชะลอตัวลง

3.1. สรุปสถานะการณ์ทั่วไปของตลาดต้นกล้วยไม้

ต้นกล้วยไม้ในกระถางเป็นสินค้าต้นไม้ (nursery products) ที่กำลังอยู่ในสมัยนิยมในปัจจุบันได้รับความนิยมบริโภคมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากต้น poinsettias (อันดับที่ 3 คือ chrysanthemums) มีอัตราการขยายตัวของตลาดรวดเร็วที่สุดในกลุ่มสินค้าต้นไม้ทั้งหมด แม้ว่าจะมีราคาต่อต้นสูงสุด ราคาขายส่งในปี 2011 อยู่ระหว่างต้นละ 7 - 10 เหรียญฯ ในแต่ละปียอดจำหน่ายกล้วยไม้กระถางเป็นรองเฉพาะยอดจำหน่ายต้น poinsettiasในกระถางเท่านั้น

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯประมาณการณ์ว่าในปี 2011 สหรัฐฯมีผู้ผลิตต้นกล้วยไม้รวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 168 ราย ไม่มีตัวเลขที่แน่นอนเนื่องจากในบางรัฐผู้ผลิตไม่เปิดเผยข้อมูลจำนวนผู้ผลิต ในปี 2011 มีการผลิตต้นกล้วยไม้ออกวางจำหน่ายประมาณ 24 ล้านกระถาง ประมาณ 15 ล้านอยู่ในกระถางขนาดเล็กกว่า 5 นิ้ว ประมาณ 9 ล้านอยู่ในกระถางขนาดตั้งแต่ 5 นิ้วขึ้นไป ราคาขายส่งเฉลี่ยกระถางขนาดเล็กกว่า 5 นิ้ว ราคาประมาณ 7 เหรียญฯ กระถางขนาดตั้งแต่ 5 นิ้วขึ้นไปราคาประมาณ 10 เหรียญฯต่อกระถาง ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98 ของต้นกล้วยไม้ที่ผลิตได้จะขายเข้าสู่ตลาดค้าส่งก่อนเข้าสู่ตลาดค้าปลีก มูลค่าตลาดค้าส่งประมาณ 191 ล้านเหรียญฯ

3.2 สรุปสถานะการณ์ตลาดกล้วยไม้ตัดดอกของสหรัฐฯ

ส่วนใหญ่ของกล้วยไม้ตัดดอกในตลาดสหรัฐฯมาจากการนำเข้าจากประเทศในเอเซียและจากรัฐฮาวาย ยอดจำหน่ายในสหรัฐฯตกประมาณปีละ 9 ล้านเหรียญฯ เนื่องจากกล้วยไม้ตัดดอกเป็นสินค้าที่บอบบางและมีความเสี่ยงต่อความเสียหายในระหว่างการขนส่งในระดับสูงและจำเป็นต้องมีความระมัดระวังเรื่องอุณหภูมิในการขนส่งและการเก็บรักษาทำให้เป็นสินค้าที่มีราคาแพงและผู้ค้าส่งส่วนใหญ่จะหลีกเลี่ยงที่จะเก็บสต๊อกกล้วยไม้ตัดดอกโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นสินค้านำเข้าจากเอเซียเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเรื่องสินค้าน่าเสีย ราคาขายปลีกกล้วยไม้ตัดดอกในตลาดสหรัฐฯจึงอยู่ในระดับสูง ราคา Dendrobium (ที่ส่วนใหญ่จะมาจากรัฐฮาวาย) อาจจะสูง ระหว่าง 3.50 - 10.00 เหรียญฯต่อช่อ จากเหตุผลดังกล่าวแล้วทำให้การบริโภคกล้วยไม้ตัดดอกในสหรัฐฯมีสัดส่วนในการบริโภคไม้ตัดดอกในสหรัฐฯไม่ถึงร้อยละ 1

4. แหล่งที่มาของสินค้า

4.1 การผลิตในประเทศสหรัฐฯ

การผลิตต้นกล้วยไม้ในสหรัฐฯมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เกือบจะทั้งสิ้นของต้นกล้วยไม้ในตลาดสหรัฐฯมาจากการผลิตภายในประเทศ มีการคาดการณ์ว่าการเติบโตของการผลิตต้นกล้วยไม้ในสหรัฐฯเป็นผลสืบ เนื่องมาจากสหรัฐฯผ่อนผันเรื่องการกักกันพืชบางข้อและยอมให้กล้วยไม้บางส่วนสามารถเข้าสหรัฐฯได้โดยปลูกใน growing media ที่สหรัฐฯยอมรับ ทำให้ผู้ผลิตสหรัฐฯสามารถนำเข้าหน่อกล้วยไม้ได้สะดวกขึ้น รัฐผู้ผลิตกล้วยไม้สำคัญของสหรัฐฯมี 15 มลรัฐ คือ แคลิฟอร์เนีย ฟลอริด้า ฮาวาย นิวยอร์ค อิลินอยส์ แมรี่แลนด์ มิชิแกน นิวเจอร์ซี่ นิวยอร์ค นอร์ทแคโรไลน่า โอไฮโอ โอเรกอน เพนซิลวาเนีย เซ้าท์ แคโรไลน่า เท๊กซัส และวอชิงตัน แหล่งผลิตสำคัญของสหรัฐฯเรียงตามลำดับคือ แคลิฟอร์เนีย ฟลอริด้า และฮาวาย ซึ่งมีมูลค่าการผลิตรวมกันคิดเป็นประมาณร้อยละ 94 ของมูลค่าการผลิตรวมทั้งสิ้นของสหรัฐฯ มีประมาณการณ์ว่าในปี 2011 มีผู้ผลิตกล้วยไม้ทั่วสหรัฐฯไม่ต่ำกว่า 168 รายสามารถผลิตกล้วยไม้ในกระถางออกวางตลาดค้าส่งได้ประมาณ 24 ล้านกระถาง คิดเป็นมูลค่าขายส่ง 191 ล้านเหรียญฯ ส่วนใหญ่ของกล้วยไม้ที่ผลิตสำหรับขายในตลาด mass market ของสหรัฐฯคือ phalaenopsis

รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นแหล่งผลิตกล้วยไม้ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ การผลิตกล้วยไม้ในรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นการปลูกใน greenhouse ส่วนใหญ่เป็นการผลิตของผู้ผลิตรายใหญ่ มูลค่าตลาดขายส่งต้นกล้วยไม้ของรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 2011 เท่ากับประมาณ 93 ล้านเหรียญฯ แหล่งผลิตสำคัญในรัฐคือบริเวณที่เรียกว่า California Orchid Trail หรือเมืองต่างๆที่ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขา Santa Ynez ในรัฐแคลิฟอร์เนียตอนกลางด้านติดฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิค (เมือง Santa Barbara, Carpinteria, Oxnard, Malibu และ บริเวณเมือง Salinas ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น"orchid valley") และพื้นที่ริมฝั่งทะเลทางด้านใต้ของรัฐ (เมือง San Diego และเมืองใกล้เคียง) ส่วนใหญ่ของกล้วยไม้ที่ผลิตในรัฐแคลิฟอร์เนียจะเป็นต้นกล้วยไม้และเป็นสายพันธุ์ Phalaenopsis และ cymbidiums ผู้ผลิตในรัฐแคลิฟอร์เนียนิยมนำเข้าต้นกล้วยไม้ (liner และ ต้นที่โตได้ที่แล้ว) เพื่อนำเข้าสู่ขบวนการเร่งบังคับให้ออกดอก California Agricultural Resource ระบุว่าในปี 2011 รัฐแคลิฟอร์เนียมี

1.ผู้ผลิตกล้วยไม้ตัดดอก(เฉพาะที่ทำรายได้เกินกว่า 100,000 เหรียญฯขึ้นไป) มีประมาณ 15 ราย ร้อยละ 99 ของผลผลิตทั้งหมดเข้าสู่ตลาดค้าส่ง ยอดค้าส่งในปี 2010 ประมาณ 4 ล้านเหรียญฯ

2.ผู้ผลิตต้นกล้วยไม้(เฉพาะที่ทำรายได้เกินกว่า 100,000 เหรียญฯขึ้นไป) มีประมาณ 41 ราย ร้อยละ 98 ของผลผลิตถูกส่งเข้าสู่ตลาดค้าส่ง ยอดค้าส่งในปี 2010 ประมาณ 93 ล้านเหรียญฯ

บริษัทผู้ผลิตกล้วยไม้รายใหญ่ของโลกและของสหรัฐฯในปัจจุบัน คือ Matsui Nursery, Inc. (www.matsuinursery.net) ตั้งอยู่ในบริเวณนี้คือ Salinas Valley รัฐแคลิฟอร์เนีย มีประมาณการณ์ว่าหนึ่งในสี่ของกล้วยไม้ในตลาดสหรัฐฯมาจากบริษัท Matsui Nursery Inc. (บริษัทเป็นลูกค้านำเข้า cloned plants จากประเทศไทย) นอกจาก Matsui Nursery, Inc. แล้ว ในบริเวณ California Orchid Trail มีบริษัทผู้ปลูกกล้วยไม้รายใหญ่รวมตัวกันอยู่ 7 บริษัทคือ

1.Cal-Orchid Inc. (www.calorchid.com), 1251 Orchid Dr. Santa Barbara

2.Santa Barbara Orchid Estate (www.sborchid.com), 1250 Orchid Dr. Santa Barbara

3.Gallup & Stribling Orchids (www.gallup-stribling.com), 3450 Via Real, Carpinteria

4.Orchid Royale, 5902 Via Real, Carpinteria

5.Westerlay Orchids (www.westerlayorchids.com), 3504 Calle Real, Carpinteria

6.Hatfield Orchids (www.hatfieldorchids.com), 3793 Dufau Rd., Oxnard

7.Zuma Canyon Orchids (www.zumacanyonorchids.com) , 5949 Bonsall Dr. Malibuรัฐฟลอริด้า มีประมาณการณ์ว่ามูลค่าอุตสาหกรรมต้นกล้วยไม้ของรัฐฟลอริด้าปีละเกินกว่า 23 ล้านเหรียญฯ แหล่งผลิตสำคัญคือบริเวณ South Florida (Miami Dade County) ฟลอริด้าผลิตกล้วยไม้ทั้งที่อยู่ในกระถางและที่เป็นไม้ตัดดอกใน greenhouse ตลาดหลักของกล้วยไม้จากรัฐฟลอริด้าคือรัฐในเขต southeastern ของสหรัฐฯ ในปี 2005 มูลค่าตลาดค้าส่งต้นกล้วยไม้ของรัฐฟลอริด้าประมาณ 47 ล้านเหรียญฯเปรียบเทียบกับในปี 2001 ที่มีมูลค่าค้าส่งประมาณ 26.8 ล้านเหรียญฯ ผลผลิตของรัฐฟลอริด้าไม่สม่ำเสมอมีจำนวนผลผลิตที่ขึ้นลงแตกต่างกันในแต่ละปี และไม่มีการเก็บสถิติอุตสาหกรรมกล้วยไม้ที่แยกออกจากการอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าต้นไม้ดอกไม้อื่นๆ

รัฐฮาวาย การผลิตกล้วยไม้ของรัฐฮาวายส่วนใหญ่เป็นการผลิตนอก greenhouse เป็นการผลิตของผู้ผลิตรายย่อย กว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตกล้วยไม้ของฮาวายมาจาก Big Island หรือที่ถูกเรียกว่าเป็น "Orchid Isle" ฮาวายปลูกกล้วยไม้เพื่อการค้าหกสายพันธุ์หลักคือ dendrobiums (ผลผลิตส่วนใหญ่), phalaenopsis, cattleyas,vandas, cymbidiums และ oncidiums กล้วยไม้จากฮาวายวางตลาดทั้งในรูปของกล้วยไม้กระถางและกล้วยไม้ตัดดอกแต่ส่วนใหญ่เป็นกล้วยไม้กระถาง ในปี 2011 ฮาวายมีผู้ผลิตกล้วยไม้ตัดดอกประมาณ 30 รายและผู้ผลิตกล้วยไม้กระถางประมาณ 59 ราย ในปี 2011 ตลาดค้าส่งกล้วยไม้ของฮาวายมีมูลค่า 14 ล้านเหรียญฯ ส่วนใหญ่ของกล้วยไม้ฮาวายจะถูกส่งไปขายบนแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯโดยจะใช้เวลาเดินทางจากฮาวายไม่เกินสองวันทำการ (working days) dendrobiums ฮาวายจะถูกส่งไปขายบนแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯในราคาไม่ต่ำกว่า 3 - 4 เหรียญฯต่อช่อ

5. การนำเข้าของสหรัฐฯ

5.1 ต้นกล้วยไม้

(1) มูลค่านำเข้าสหรัฐฯเป็นตลาดนำเข้ากล้วยไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในระยะห้าปีที่ผ่านมา (2005-2011) มูลค่านำเข้าต้นกล้วยไม้ของสหรัฐฯขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มูลค่าการนำเข้าในระยะ 11 เดือนแรกของปี 2012 ลดลงจากระยะเวลาเดียวกันของปี 2011 ประมาณร้อยละ 5.15

(2) แหล่งอุปทานนำเข้าสำคัญ แหล่งอุปทานนำเข้าสูงสุดของสหรัฐฯคือประเทศไต้หวัน ถือครองส่วนแบ่งตลาดนำเข้าไว้เกินกว่าร้อยละ 70 มูลค่านำเข้าสหรัฐฯขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ปี 1996 ซึ่งเป็นปีแรกที่สหรัฐฯเริ่มเก็บสถิติการนำเข้าต้นกล้วยไม้ ประเทศไทยและประเทศเนเธอร์แลนด์เคยเป็นแหล่งอุปทานนำเข้าสำคัญรองจากไต้หวัน จนถึงปี 2007 เมื่อการนำเข้าจากคานาดาขยายตัวขึ้นเป็นแหล่งอุปทานนำเข้าสำคัญอันดับสองรองจากไต้หวัน (การขยายตัวของการนำเข้าจากคานาดาสันนิษฐว่าน่าจะเป็นผลมาจากการที่ผู้ผลิตรายใหญ่ของไต้หวันย้ายฐานการผลิตเข้าไปยังคานาดาเพิ่มมากขึ้นและจัดส่งสินค้าของตนจากคานาดาเข้าสหรัฐฯ) อย่างไรก็ดีนับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมาการนำเข้าจากคานาดาลดลงอย่างมาก ขณะที่การนำเข้าจากเนเธอร์แลนด์เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆและกลับมาเป็นแหล่งอุปทานอันดับที่ ๒ ของสหรัฐฯ และประเทศไทยกลับมาเป็นแหล่งอุปทานอันดับที่ 3

มีประมาณการณ์ว่าในปี 2010 ไต้หวันส่งออก phalaenopsis (Moth Orchids) ในตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต จำนวน 400 ตู้ไปยังสหรัฐฯ ปัจจุบันสินค้านำเข้าจากไต้หวันจะอยู่ในสภาวะที่ถูกบังคับให้ออกช่อ (spices) ในระหว่างการเดินทางในทะเลผ่านทางการขนส่งที่มีระบบการให้แสง LED แก่ต้นไม้ เมื่อสินค้าเดินทางถึงประเทศสหรัฐฯจะช่วยลดระยะเวลาการผลิตในสหรัฐฯให้สั้นลง ส่วนใหญ่ของสินค้านำเข้าจากไต้หวันจะถูกส่งให้แก่เล้ากล้วยไม้ที่เป็นคู่ค้าในสหรัฐฯในราคาขายส่ง เพื่อปลูกและขายต่อให้แก่ผู้ค้าปลีก อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ไต้หวันประสบความสำเร็จในการเจรจาให้สหรัฐฯยอมให้ไต้หวันส่งต้นกล้วยไม้ที่ปลูกใน growing media ที่สหรัฐฯยอมรับเข้าประเทศสหรัฐฯได้ ทำให้ผู้ผลิตไต้หวันสามารถส่งสินค้าโดยตรงให้แก่ผู้ค้าปลีกในสหรัฐฯโดยไม่จำเป็นต้องผ่านผู้ปลูกในสหรัฐฯอีกต่อไป ทั้งนี้ การส่งสินค้าต้นกล้วยไม้สายพันธุ์ Phalaenopsis ที่ปลูกใน growing media จากไต้หวันเข้าไปยังสหรัฐฯสามารถกระทำได้เฉพาะผู้ส่งออกที่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงาน APHIS ของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯเท่านั้นซึ่งในปัจจุบันมีประมาณ 89 บริษัทและมีรายชื่อระบุไว้ใน APHIS Approved Facilities Authorized to Export Phalaenopsis spp. in Growing Media from Taiwan to the U.S. ปัจจุบันผู้ผลิตไต้หวันกำลังดำเนินนโยบายเข้าไปเป็นผู้ค้าส่งและผู้กระจายสินค้าของตนเองในตลาดสหรัฐฯและคานาดา มีผู้ผลิตไต้หวันหลายรายได้ยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจและขออนุญาตใช้ผืนดินเพื่อทำธุรกิจปลูกต้นกล้วยไม้ในสหรัฐฯและคานาดา รวมถึงการพยายามขออนุญาตซื้อที่ดินใน New Jersey เพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจปลูกต้นกล้วยไม้เพื่อกระจายในเขตฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ

สถิติมูลค่าการนำเข้าสหรัฐฯ (ล้านเหรียญฯ)
ประเทศ           2010        2011     % ส่วน     %เปลี่ยน    มค - พย    มค - พย      %ส่วน    %เปลี่ยน
                                    แบ่งตลาด       แปลง      2012       2010    แบ่งตลาด      แปลง
                                       2011      11/10                            2012     09/10
ทั่วโลก           58.66       69.40       100      18.33     63.15      59.90        100     -5.15 ไต้หวัน           41.49       49.32     71.06      18.86     44.08      44.10      73.62      0.05
เนเธอร์แลนด์       8.14       12.67     18.26      55.61     11.96       9.06      15.13    -23.57
ประเทศไทย        2.85        2.66      3.83      -6.63      2.60       2.65       4.42      2.02
จีน               1.06        1.49      2.14      39.71      1.42       0.98       1.64    -30.80
เกาหลีใต้          1.11        1.12      1.61       1.33      1.12       1.00       1.60    -14.35
คานาดา           3.12        1.10      1.57     -65.11      1.05       1.00       1.60     -8.39
สถิติปริมาณการนำเข้าสหรัฐฯ (กิโลกรัม)
ประเทศ           2010           2011        % เปลี่ยน      มค - พย      มค - พย        %
                                               แปลง       2011          2012     เปลี่ยนแปลง
                                              11/10                                11/12
ทั่วโลก       4,707,880      5,598,802          18.92    5,051,671    4,864,936      -3.70
ไต้หวัน       4,091,554      4,840,733          18.31    4,312,637    4,191,949      -2.80
ประเทศไทย     192,486        224,887          16.83       221,51      209,585      -5.39
เนเธอร์แลนด์    106,547        166,338          56.12      155,439      120,411     -22.53
คานาดา        171,782        147,882         -13.91      144,647      122,296     -15.45
เกาหลีใต้        62,326        104,782          68.12      104,782       64,669     -38.28
คอสตาริก้า       43,115         28,684         -33.47       28,684       89,250     211.15

(3) ด่านนำเข้าสำคัญของสินค้าต้นกล้วยไม้ คือ ด่านศุลกากรนครลอสแอนเจลิส ด่านศุลกากร นครซานฟรานซิสโก และด่านศุลกากรนครไมอามี่ ในระยะสองสามปีที่ผ่านมาการนำเข้าที่ด่านศุลกากรนคร ซานฟรานซิสโกมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ประมาณสองในสามของสินค้าผ่านเข้าสหรัฐฯทางเรือ หนึ่งในสามผ่านเข้าสหรัฐฯทางอากาศ

(4) ด่านนำเข้าสำคัญในการนำเข้าทางเรือ เรียงตามลำดับมูลค่านำเข้าในปี 2011คือ ประมาณ ร้อยละ 47ผ่านเข้าทางด่านศุลกากรนครลอสแอนเจลิส ประมาณร้อยละ 34 ผ่านเข้าทางด่านศุลกากรนครซานฟรานซิสโก และประมาณร้อยละ 17 ผ่านเข้าทางด่านศุลกากรไมอามี่

(5) ด่านนำเข้าสำคัญในการนำเข้าทางอากาศเรียงตามลำดับมูลค่านำเข้าในปี 2011 คือ ประมาณร้อยละ 40 ผ่านเข้าทางด่านศุลกากรไมอามี่ ร้อยละ 33 ผ่านเข้าทางด่านศุลกากรนครนิวยอร์ค และประมาณร้อยละ 22 ผ่านเข้าทางด่านศุลกากรนครซานฟรานซิสโก การนำเข้าผ่านเข้าทางด่านศุลกากรนครซานฟรานซิสโกมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

(6) ด่านนำเข้าสำคัญของสินค้าต้นกล้วยไม้จากประเทศไทย ส่วนใหญ่ผ่านเข้าทางด่าน ศุลกากรนครซานฟรานซิสโก และด่านศุลกากรไมอามี่ นับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมาการขนถ่ายสินค้าที่ด่านศุลกากรซานฟรานซิสโกมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สินค้าต้นกล้วยไม้จากประเทศไทยนำเข้าสหรัฐฯผ่านทางอากาศและทางเรือในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันคือประมาณครึ่งต่อครึ่ง

5.2 กล้วยไม้ตัดดอก

มูลค่านำเข้า สหรัฐฯเริ่มเก็บสถิติการนำเข้ากล้วยไม้ตัดดอกในปี 2007 ที่มีมูลค่านำเข้ารวมทั้งสิ้นประมาณ 11 ล้านเหรียญฯ มูลค่านำเข้าในปี 2008 - 2011 คือ 13 ล้านเหรียญฯ 11.24 ล้านเหรียญฯ 14.02 ล้านเหรียญฯ และ 13.55 ล้านเหรียญฯตามลำดับ การนำเข้า Dendrobium มีอัตราการเติบโตสูงสุดประมาณ ร้อยละ 9.2 ต่อปี ในขณะที่การนำเข้าดอกกล้วยไม้อื่นๆมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 2.3 ต่อปี

สถิติมูลค่าการนำเข้าสหรัฐฯ ล้านเหรียญฯสหรัฐฯ
ประเทศ          2010    2011     %           %        มค -พย      มค-พย        %          %
                               ส่วนแบ่ง    เปลี่ยนแปลง     2011        2012      ส่วนแบ่ง   เปลี่ยนแปลง
                            ตลาด 2011      11/10                          ตลาด 2012     12/11
ทั่วโลก          14.02   13.55      100      -3.36      12.54       14.61         100     16.52
ประเทศไทย       7.81    6.63    48.95     -15.11       6.21        8.46       57.91     36.38
เนเธอร์แลนด์      4.46    4.86    35.87       9.04       4.35        4.31       29.52     -0.76
นิวซีแลนด์         0.85    0.90     6.61       5.60       0.90        0.80        5.50    -10.28
มาเลเซีย         0.53    0.69     5.10      31.36       0.65        0.61        4.18     -5.36
เวียดนาม         0.25    0.19     1.38     -25.77       0.17        0.14        0.95    -15.76
ไต้หวัน           0.03    0.14     1.00     343.76       0.14        0.11        0.78    -15.65
สถิติปริมาณ "หน่วย" การนำเข้าสหรัฐฯ
ประเทศ               2010         2011     %           มค -พย        มค-พย          %
                                         ส่วนแบ่ง         2011         2012       เปลี่ยนแปลง
                                       ตลาด 10/11                                 11/10
ทั่วโลก          54,187,606  56,140,555     3.60       53,249,638    70,446,135     32.29
ประเทศไทย      51,700,205  51,225,787    -0.92       48,649,188    67,025,036     37.77
เนเธอร์แลนด์      1,172,283   2,392,561   104.09        2,156,342     2,027,024     -6.00
มาเลเซีย           937,861   1,156,643    22.90        1,076,917     1,021,353     -5.16
นิวซีแลนด์           162,587   1,164,985   616.53        1,164,985       200,835    -82.76
ปานามา                  0       4,620        0            4,620        64,641  1,299.16
สิงค์โปร์             57,824      14,090   -75.63           14,909        51,052    262.33
เวียดนาม            44,068      38,209   -13.30           35,836        19,320    -46.09
ไต้หวัน              14,683      24,935    69.82           24,935        13,136    -47.32

(1) แหล่งอุปทานนำเข้าสำคัญ สูงสุดของสหรัฐฯคือประเทศไทย ในแต่ละปีประเทศไทยถือครอง ตลาดนำเข้าสหรัฐฯไว้เกินกว่าครึ่งหนึ่ง แหล่งอุปทานนำเข้าสำคัญรองจากประเทศไทยคือประเทศเนเธอร์แลนด์ ประเทศไทยและประเทศเนเธอร์แลนด์ถือครองตลาดนำเข้ากล้วยไม้ตัดดอกของสหรัฐฯไว้รวมกันเกินกว่าร้อยละ 80

(2) ประเภทของดอกกล้วยไม้นำเข้า แบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆที่มีมูลค่านำเข้าใกล้เคียงกัน คือ (2.1) กล้วยไม้ทั่วไปที่ไม่ใช่ Dendrobium ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ถือครอง

ตลาดนำเข้าไว้เกินกว่าครึ่งหนึ่งรองลงมาคือนิวซีแลนด์และประเทศไทย
ประเทศ          2010    2011     %           %        มค -พย      มค-พย        %          %
                               ส่วนแบ่ง    เปลี่ยนแปลง     2011        2012      ส่วนแบ่ง   เปลี่ยนแปลง
                             ตลาด 2011     11/10                           ตลาด 2012    12/11
ทั่วโลก           6.90       7.31      100     5.83      6.72        6.60       100      -1.78
เนเธอร์แลนด์      4.29       4.44    60.73     3.49      3.95        4.07     61.62       2.83
นิวซีแลนด์         0.85       0.89    12.20     5.37      0.89        0.80     12.15     -10.07
ประเทศไทย       0.91       0.85    11.56    -6.67      0.81        0.78     11.78      -3.83
มาเลเซีย         0.52       0.69     9.46    33.02      0.65        0.60      9.09      -7.07
เวียดนาม         0.25       0.19     2.56   -25.77      1.67        0.14      2.11     -15.76
ไต้หวัน           0.03       0.13     1.81   335.69      0.13        0.11      1.72     -14.09

(2.2) กล้วยไม้พันธุ์ Dendrobium เกือบจะทั้งสิ้นหรือเกินกว่าร้อยละ 90 เป็นการนำเข้าจากประเทศไทย

ประเทศ          2010    2011     %           %        มค -พย      มค-พย        %          %
                               ส่วนแบ่ง    เปลี่ยนแปลง     2011        2012      ส่วนแบ่ง   เปลี่ยนแปลง
                             ตลาด 2011     11/10                           ตลาด 2012    12/11
ทั่วโลก           7.22    6.24     100      -12.27       5.82        8.01       100       37.65
ประเทศไทย       6.91    5.79   92.71      -16.22       5.40        7.69     95.90       42.40
เนเธอร์แลนด์      0.17    0.42    6.76      150.06       0.39        0.25      3.09      -36.95
สิงค์โปร์          0.02    0.01    0.17      -29.89       0.01        0.02      0.26       96.84
คานาดา         0.004   0.007    0.11       90.47      0.007           0         0     -100.00
นิวซีแลนด์        0.002   0.004    0.07       83.66      0.004       0.002      0.03      -53.18
ปานามา             0   0.004    0.07           0      0.004        0.04      0.50      878.38

(3) ลักษณะการนำเข้า มีทั้งที่เป็นการนำเข้าเป็นช่อเดี่ยวและการจัดมัดรวมเป็นช่อตามจำนวนที่ผู้นำเข้าสหรัฐฯต้องการ

(4) เส้นทางการขนส่งเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯของกล้วยไม้ตัดดอกทั้งหมดจะถูกส่งเข้าสหรัฐฯทางอากาศ ด่านนำเข้าสำคัญเรียงตามลำดับคือ

4.1. ส่วนใหญ่หรือเกินกว่าร้อยละ 30 ขึ้นไปผ่านเข้าทางด่านศุลกากรนครลอสแอนเจลิส

4.2 ประมาณร้อยละ 20 -30 ผ่านเข้าทางด่านศุลกากรนิวยอร์ค

4.3 ประมาณร้อยละ 15 - 20 ผ่านเข้าทางด่านศุลกากรฮอนโนลูลู

4.4 ประมาณร้อยละ 10 - 15 ผ่านเข้าทางด่านศุลกากรไมอามี่

4.5 ด่านนำเข้าอื่นๆที่มีสินค้าผ่านเข้าประปรายคือ ด่านนำเข้าชิคาโกซานฟรานซิสโก ดัลลาส/

ฟอร์ทเวิท บอสตัน วอชิงตัน ดีซี นิวออร์ลีน และซีแอตเติล

ด่านนำเข้าสำคัญกล้วยไม้ที่ไม่ใช่ Dendrobium เรียงตามลำดับคือ ด่านศุลกากรนครนิวยอร์ค ด่านศุลกากรนครลอสแอนเจลิส ด่านศุลกากรนครไมอามี่ ด่านศุลกากรนครชิคาโก ด่านศุลกากรนครซานฟรานซิสโก และด่านศุลกากรนครดัลลาส/ฟอร์ทเวิท

ด่านนำเข้าสำคัญกล้วยไม้สายพันธุ์ Dendrobium เรียงตามลำดับคือ ด่านศุลกากรนครฮอนโนลูลู ด่านศุลกากรนครลอสแอนเจลิส ด่านศุลกากรนครไมอามี่ ด่านศุลกากรนครนิวยอร์ค และด่านศุลกากรนครซานฟรานซิสโก

(5) ด่านนำเข้าสำคัญสินค้ากล้วยไม้ตัดดอกจากประเทศไทยคือด่านศุลกากรนครลอสแอนเจลิส และด่านศุลกากรฮอนโนลูลู มูลค่านำเข้าที่ผ่านเข้าทั้งสองด่านนี้รวมกันประมาณกว่าร้อยละ 60 ของมูลค่านำเข้ารวมทั้งสิ้น และผ่านเข้าทางด่านศุลกากรนิวยอร์คประมาณร้อยละ 14 ที่เหลือผ่านเข้าทางด่านศุลกากรไมอามี่ ซานฟรานซิสโก และชิคาโก ตามลำดับ

6. ระบบการกระจายสินค้า

6.1. ช่องทางการจำหน่าย

สหรัฐฯไม่มีระบบการประมูลดอกไม้ โดยปกติแล้วผู้ผลิตรายใหญ่บนแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯจะขายตรงให้แก่ตลาดค้าปลีก โดยจัดส่งเข้าสู่ร้านค้าปลีกโดยตรง ในขณะที่ผู้ผลิตจากฮาวายซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ผลิตรายเล็กจะขายให้แก่คนกลางซึ่งอาจจะป็นผู้ปลูกกล้วยไม้บนแผ่นดินใหญ่ซึ่งอาจจะขายสินค้าต่อโดยทันทีหรือนำไปบรรจุตกแต่ใหม่ในกระถางก่อนวางจำหน่าย หรืออาจจะใช้ brokers ช่วยขายสินค้าให้ ผู้ผลิตรายย่อยๆอื่นๆส่วนใหญ่จะขายให้แก่ผู้ค้าปลีกรายย่อยนำไปจำหน่ายตามงานเทศกาลหรือในระหว่าง farmer markets ต่างๆที่มีแพร่หลายไปทั่วสหรัฐฯ

ส่วนใหญ่สินค้าต้นกล้วยไม้ที่นำเข้าสหรัฐฯจะอยู่ในรูปของเง้า (bare rooted plants)ที่ส่งเข้าไปยังผู้ปลูกในสหรัฐฯเพื่อนำไปเพาะปลูกลงในกระถางที่กระทำกันเป็น mass production ซึ่งจะกินเวลาประมาณ 4 - 6 เดือนกว่าจะออกดอกพร้อมที่จะจำหน่าย จึงส่งจำหน่ายในตลาดค้าส่ง ตลาดค้าปลีกที่ขายสินค้าทั่วๆไป และตลาดที่เป็น specialty stores ต่างๆ ในกรณีที่เป็นการนำเข้าใน growing media ที่สหรัฐฯยอมรับยอมรับเช่น เฟิร์น หรือ ในกากมะพร้าว หรือเส้นใยต่างๆ อาจจะขายส่งให้แก่ผู้ค้าปลีกรายย่อยได้เลยโดยตรง สินค้านำเข้าที่เป็นกล้วยไม้ตัดดอก มีทั้งการนำเข้าเป็นดอก เป็นกิ่ง หรือเป็นสินค้าสำเร็จรูปเช่นร้อยเป็นมาลัย (lei)

6.2. ลักษณะการบรรจุสินค้า

กระทำทุกรูปแบบแล้วแต่ผู้ซื้อสั่ง สินค้าที่ส่งภายในประเทศจะมีตั้งแต่บรรจุรวมลงในกล่อง (boxed cased) หรือในถาด (open tray) หรือแยกเป็นต้น เป็นช่อแยกเดี่ยวในกล่องที่สวยงามพร้อมวางจำหน่ายได้เลย ในกรณีที่เป็นต้นกล้วยไม้จะมีการเสริมกิ่งดอกอย่างดีกันดอกหัก

สินค้านำเข้าที่เป็นไม้ตัดดอก เป็นกิ่ง หรือเป็นสินค้ามาลัย การบรรจุจะกระทำตามที่ผู้ซื้อสั่ง ในกรณีที่เป็นดอก อาจจะเป็นดอกเดี่ยวๆใส่ในถุงพลาสติก หรือวางเรียงซ้อนกันในกล่อง ในกรณีที่เป็นช่อจะมัดเป็นช่อแยกตามชนิดของกล้วยไม้ ในกรณีที่เป็นมาลัยจะร้อยแยกออกเป็นมาลัยชั้นเดียวหรือมาลัยซ้อน นับจำนวนในแต่ละถุง แต่ละกล่อง แต่ละช่อตามที่ลูกค้าต้องการ

6.3. การขนส่ง

ผู้ผลิตบนแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯจะขนส่งสินค้าทางรถทรัค ราคาค่าขนส่งเฉลี่ยในปี 2005 ประมาณต้นละ 50 เซ็นต์ขึ้นไป ผู้ผลิตในฮาวายจะจัดส่งสินค้าทางอากาศเข้าสู่แผ่นดินใหญ่ซึ่งราคาค่าขนส่งจะเฉลี่ย ประมาณต้นละ 1.15 - 2.00 เหรียญฯ ไม่มีสถิติราคาค่าขนส่งในปัจจุบันแต่ประมาณการณ์ได้ว่าจะสูงกว่าราคาในปี 2005 ไม่ต่ำกว่าหนึ่งเท่าตัว

6.4. แหล่งจำหน่ายส่งและจำหน่ายปลีกสำคัญบนฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ

4.1 Los Angeles Flower District (www.laflowerdistrict.com) เป็นตลาดค้าส่งดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯตั้งอยู่ที่ 766 Wall Street และพื้นที่ระหว่าง 6 th Street และ 8 th Street บน Wall Street เป็นแหล่งที่ตั้งของร้านค้าส่ง ร้านค้าปลีก และ ร้าน ขายอุปกรณ์สำหรับการจัดดอกไม้

4.2 San Francisco Wholesale Flower Mart (www.sfflmart.com) ตั้งอยู่ที่ 640 Brannan Street, San Francisco, CA

4.3 The Connection Wholesale Florist (www.theconnectionwholesaleflorist.com) ตั้งอยู่ที่ 2733 W. 7 th St., Fort Worth, Texas

4.4 Portland Flower Market (www.pdxflowermarket.com) ตั้งอยู่ที่ 3624 N. Leverman, Portland, Oregon

4.5 San Diego International Floral Trade Center (www.floraltradecenter.com) ตั้งอยู่ที่ 5600 Avenida Encinas, Carlsbad, CA

7. โอกาส ปัญหาและอุปสรรคอุตสาหกรรมการผลิตและตลาดการค้ากล้วยไม้สหรัฐฯ

7.1 โอกาส เงื่อนไขที่สนับสนุนโอกาสการขยายตัวของตลาดต้นกล้วยไม้ของสหรัฐฯคือ

(1) ผู้บริโภคสหรัฐฯมีความรู้ความเข้าใจการเลี้ยงกล้วยไม้มากยิ่งขึ้น การเลี้ยงกล้วยไม้ไม่ได้เป็นเรื่องยากอีกต่อไป

(2) ปัจจุบันมีการผสมปรุงแต่งสายพันธุ์ให้เกิดเป็นต้นกล้วยไม้ที่แข็งแรงกว่าเดิมและมีดอก และสีสวยงามมากยิ่งขึ้นและมีหลากหลายรูปแบบมากขึ้นสามารถตอบสนองความต้องการบริโภคสินค้าใหม่ๆของผู้บริโภคได้หลายกลุ่มหลายวัตถุประสงค์

(3) ปัจจุบันต้นกล้วยไม้มีวางจำหน่ายทั้งปีและแพร่หลายในตลาดค้าปลีกทั่วไปทั้งที่เป็นตลาด supermarket แบบปกติ ตลาด mass market และ discount market ต่างๆ นอกเหนือไปจากร้านค้าปลีกสินค้าต้นไม้(nursery) และร้านขายดอกไม้ (flower shops)

(4) ราคาต้นกล้วยไม้ลดต่ำลงจนผู้บริโภคทั่วไปสามารถหาซื้อได้โดยสะดวกใจเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีตที่ผ่านมาที่ต้นกล้วยไม้ถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยราคาแพงสำหรับ ผู้บริโภคในตลาดระดับบนเท่านั้น

(5) ต้นกล้วยไม้กลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยที่จะใช้เป็นของขวัญ สำหรับโอกาสต่างๆ

(6) ผู้บริโภคสหรัฐฯมีทัศนคติว่าต้นกล้วยไม้เป็นสินค้าที่มี value สูงคือ สวยงามและมีความ คงทานสามารถบานอยู่ได้เป็นเดือนนานกว่า ต้นไม้ชนิดอื่นๆ

7.2. ปัญหาและอุปสรรค ปัจจุบันตลาดกล้วยไม้สหรัฐฯกำลังประสบปัญหาสำคัญคือ

(1) ปัจจุบันตลาดการบริโภคกำลังอ่อนตัวลงอย่างมากตามสภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทำให้ผู้บริโภคลดการบริโภคสินค้าหลายรายการที่ไม่จำเป็นต่อ การดำรงชีวิต รวมถึงการบริโภคกล้วยไม้ และการเดินทางท่องเที่ยว (ส่งผลต่อกล้วยไม้ ตัดดอกที่ทำเป็นมาลัยคล้องคอในธุรกิจท่องเที่ยวของฮาวาย)

(2) มีแนวโน้มว่ามีการผลิตกล้วยไม้ออกวางจำหน่ายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากผู้เพาะกล้วยไม้รายย่อยมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ (สาเหตุหนึ่งคือกล้วยไม้สามารถสร้างรายได้ให้ระหว่าง 60 - 200 เหรียญฯ ต่อหนึ่งตารางฟุตของพื้นที่ปลูก เปรียบเทียบกับการปลูกต้นไม้อื่นๆขายเช่น poinsettias สร้างรายได้ให้เพียง 5 เหรียญฯต่อหนึ่งตารางฟุต) ผลผลิตจำนวนมากส่งผลกระทบทำให้ราคาจำหน่ายในตลาดตกต่ำลง เมื่อกลางปี 2007 เกิดเหตุการณ์กล้วยไม้กระถางที่สายพันธุ์ Phalaenopsis สีขาวดอกใหญ่จากผู้ผลิตในรัฐแคลิฟอร์เนียไหลบ่าเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมากจนทำให้ราคากล้วยไม้ดอกใหญ่ในกระถางในตลาดตกลงถึงร้อยละ 30

(3) ต้นทุนการผลิตและราคาขนส่งกล้วยไม้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุหนึ่งสืบเนื่องมาจาก การผลิตกล้วยไม้เป็นภาคอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากและพื้นที่ปลูกขนาดใหญ่ ซึ่งเงื่อนไขทั้งสองประการในสหรัฐฯมีค่าใช้จ่ายในการจัดหามาและรักษาไว้สูงมาก

(4) มีแนวโน้มว่าคนอเมริกันให้ความสำคัญต่อการแต่งงานอย่างมีพิธีรีตรองน้อยลงทั้งด้วย เหตุผลที่เป็นค่านิยมส่วนบุคคลและเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ การจัดพิธีแต่งงานจึงมีแนวโน้มที่จะลดน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งเป็นการปิดกั้นช่องทางหนึ่งของโอกาสการขายสินค้าดอกกล้วยไม้ในตลาดงานแต่งงาน

(5) การแข่งขันอย่างรุนแรงของกล้วยไม้นำเข้าจากต่างประเทศ

(6) ปัญหาของผู้ส่งออกไทยกับระบบการตรวจสินค้าส่งออก และระบบการขนส่งสินค้าของสายการบินที่ทำให้สินค้าเกิดความเสียหายในระหว่างการจัดส่งเข้าไปยังประเทศสหรัฐฯ

(7) ปัญหาเรื่องความถี่ในการตรวจพบแมลงศัตรูพืชทำให้ภาพพจน์สินค้าไทยในหมู่นักธุรกิจผู้นำเข้าเป็นไปในทางลบและสร้างปัญหาในการประกอบธุรกิจทั้งในเรื่องของการเสีย เวลาในการจัดการแก้ไขปัญหา เสียลูกค้าเนื่องจากไม่สามารถส่งสินค้าได้ตาม กำหนดเวลา และต้นทุนที่ถูกทำให้เพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายต่างๆที่ต้องเสียไปเพื่อแก้ไข ปัญหาหรือที่ขาดหายไปเนื่องจากไม่สามารถขายสินค้าได้

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นครลอสแอนเจลิส กุมภาพันธ์ 2556


แท็ก สหรัฐ   กล้วย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ