ตลาดสินค้าเพื่อผู้สูงอายุ (Senior Market) ในประเทศญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 24, 2013 15:23 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ข้อมูลตลาดสินค้าเพื่อผู้สูงอายุรวบรวมมาจากรายงานและกิจกรรมขององค์กรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะสรุปออกมาเป็น 4 หัวข้อ ดังนี้

1. ประเด็นของรายงานการตลาดที่จัดทำโดยธนาคาร Mizuho Corporate Bank (MCB) สรุปได้ดังนี้

1.1 ขนาดของตลาด Senior Market ในญี่ปุ่น

ผู้สูงอายุในญี่ปุ่นโดยทั่วไปหมายถึงผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปีขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็วและจะมีอัตราส่วนเท่ากับร้อยละ 30 ของประชากรทั้งประเทศในปี 2025 คำนวณเป็นค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้กับสินค้าและบริการของคนกลุ่มนี้แล้วตกปีละ 1 ล้านล้านเยน

1.2 สินค้าที่เกี่ยวข้อง

สินค้ากลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มสินค้า คือ

  • ยาและบริการทางการแพทย์ (Medical service & Medicine)
  • พยาบาลและการดูแลผู้สูงอายุ (Nursing care)
  • สินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อผู้สูงอายุ (Consumer Goods)

1.3 สินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อผู้สูงอายุ (Consumer Goods)

ธนาคาร MCB คาดว่า ผู้สูงอายุจะใช้จ่ายเงิน 5 แสนล้านเยนไปกับสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อผู้สูงอายุ (Consumer Goods) ซึ่งมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27 นับตั้งแต่ปี 2007

จากการศึกษาของธนาคาร MCB ทราบว่า ผู้สูงอายุต้องการสินค้าที่มีลักษณะดังนี้

  • ต้องการสินค้าที่สร้างความสมบูรณ์ในชีวิตแบบที่เรียกว่า "Active Senior"
  • ต้องการให้ผู้ผลิตสินค้าและบริการนำเสนอสินค้าและบริการรุ่นใหม่ที่นำไปสู่การมีสุขภาพที่แข็งแรงยืนยาว
  • ต้องการสังคมแบบที่พวกเขาคุ้นเคยอยู่ก่อนแล้ว

ขณะเดียวกัน ก็ทราบว่า มีปัญหาอุปสรรคที่กีดกั้นการขยายตัวของตลาด Senior Market คือ

  • ความรู้สึกของผู้สูงอายุที่ต่อต้านสินค้าและบริการที่มุ่งเน้นพัฒนาเพื่อคนสูงอายุ เพราะไม่อยากถูกมองเป็นผู้สูงอายุ
  • ความรู้สึกที่ต่อต้านสินค้าและบริการที่ผลิตจำนวนมากๆ โดยบริษัทใหญ่ - ความต้องการสินค้าและบริการที่จัดส่งให้ลักษณะยืดหยุ่นตามสภาพสุขภาพของคนสูงอายุ

2. อีออนเน้นกลยุทธ "Senior Shift"

อีออนได้ทำการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคของผู้สูงอายุผ่านบัตร e-money ที่ชื่อว่า WAON และพบว่าผู้สูงอายุมีความต้องการที่จะดำเนินชีวิตแบบ active และพร้อมที่จะจับจ่ายใช้สอยและสนุกกับงานอดิเรกของตนเอง

ร้อยละ 50 ของคนที่อายุเกินกว่า 60 มาช้อปปิ้งก์สัปดาห์ละ 4 ครั้ง มาบ่อยกว่ากลุ่มลูกค้า Family ที่เป็นลูกค้าหลักอีออนเสียอีก จากผลการสำรวจดังกล่าว อีออนตัดสินในสนองความต้องการของผู้สูงอายุทำโครงการ non-exclusive project ขึ้นมา โดยเน้นที่ ตัวสินค้า ชั้นที่วางขาย การคัดเลือกร้านค้าปลีกและบริการ

2.1 การพัฒนาผลิตภัณฑ์

  • อาหาร ความต้องการของผู้สูงอายุเกี่ยวกับอาหาร คือ เพื่อสุขภาพ คุณภาพดี เน้นเพื่อการรับประทานอย่างเดียว
  • เสื้อผ้า อีออนพัฒนาสินค้าเพื่อผู้สูงอายุโดยกำหนด New Size System และได้ร่วมกับวาโก้พัฒนาชุดชั้นในสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ

2.2 การเข้าถึงตลาดผู้สูงอายุ

อีออนเน้นการขายสินค้าบน E-Commerce ที่ตั้งเพื่อผู้สูงอายุ ชื่อว่า Aeon's square สำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องการเดินทางไปช็อปปิ้งก์

ร้านสโตร์ อีออนเปิดร้านขนาดเล็กที่ชื่อว่า "mybasket" เพื่อให้ผู้สูงอายุเดินทางช้อปปิ้งก็ได้ง่ายขึ้น

ขณะเดียวกัน ก็เปิดร้านที่ชื่อ "Recods" มีทั้งสินค้าแบบซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านขายยาเพื่อบริการผู้สูงอายุแบบ One stop service

2.3 Grand Generation's Mall

อีออนเปิด "Grand Generation's Mall" บนชั้น 4 ของอีออนสาขา Kasai ทั้งชั้นเพื่อสนองความต้องการของผู้สูงอายุ มีทั้งร้านกาแฟ ฟิตเนส Culture Classes ร้านขายสินค้าแฟชั่นและยา มีบริการพิเศษ คือ มี Concierge รถบัสฟรีและบริการส่งของถึงบ้านเป็นต้น

3. คอนเซฟท์สร้างตลาดสินค้าผู้สูงอายุ "Oyanotame"

บริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากพยายามที่จะหาจุดขายในการที่จะสร้างตลาดสินค้าผู้สูงอายุขึ้นมา คอนเซฟท์หนึ่งที่ดูแล้วมีความเป็นไปได้สูงมาก คือ "Oyanotame" ซึ่งแปลว่า "เพื่อพ่อแม่" แนวคิดก็คือเปลี่ยนจากความคิดที่จะเข้าใจผู้สูงอายุมาเป็นความคิดในการดูและพ่อแม่ตนเองแทน ตัวอย่างของการดำเนินคอนเซฟท์ เช่น

  • ช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีปัญหา
  • สร้างสังคมท้องถิ่นสำหรับผู้สูงอายุขึ้นมาใหม่ เช่น "Midlife Tower" เป็นต้น
  • สร้างคุณค่าให้กับความตื่นเต้นใหม่สำหรับผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่ต้องการถูกมองว่าเป็นคนแก่ ต้องการรับความรู้สึกใหม่สดจากความตื่นเต้น เช่น เครื่องประเทืองผิว ชุดชั้นในและเครื่องสำอางค์สำหรับผู้สูงอายุ
  • สร้างคุณค่าให้กับกลิ่น เป็นที่กล่าวกันว่า ผู้สูงอายุให้ความสำคัญกับกลิ่นมากกว่าคนหนุ่มสาว ดังนั้น น้ำหอมและ Air-refreshment สำหรับผู้สูงอายุจึงเป็นสินค้าที่มีศักยภาพสูง
  • กลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุขาใหญ่ที่เรียกกันว่า 3G(G คือ ตัวย่อของ Jiisan แปลว่าลุงในภาษาญี่ปุ่น) หมายถึง Study-G, Childcare-G และ Chara-G (Chara แปล่าคนที่แต่งตัวเลิศหรู) กลุ่มเหล่านี้จะใช้เงินไม่อั้น
  • ผู้สูงอายุกับอินเตอร์เนต อินเตอร์เนตเป็นเครื่องมือที่ผู้สูงอายุจำเป็นต้องใช้ในการเดินทางไกล หรืออยู่คนเดียว หรือใช้ในกรณีซื้อของทางเนท
  • ผู้สูงอายุกับอาหารอร่อย
  • ผู้สูงอายุกับสินค้า Universal Design

โดย สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

กรกฎาคม 2556


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ