จากเจิ้งโจว สู่ฮัมบวร์ก: รถไฟสายยูโรเอเชียเคลื่อนขบวน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 29, 2013 15:23 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ประเทศจีนได้เปิดเส้นทางเดินรถไฟเพื่อขนส่งสินค้าเชื่อมตรงระหว่างจีนกับยุโรป ต้นทางจากเมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน ผ่านเข้าประเทศคาซัคสถาน รัสเซีย เบลารุส โปแลนด์ และสิ้นสุดระยะทางที่ประเทศเยอรมนีตอนเหนือ ณ ท่าเรือฮัมบวร์ก เส้นทางเดินรถไฟสายยูโรเอเชียเชื่อมจีนกับยุโรปสายนี้ มีความยาวตลอดทางรวม ๑๐,๒๑๔ กิโลเมตร มีตารางการวิ่งของรถไฟสัปดาห์ละ ๒ เที่ยว ใช้เวลาเดินทางเพื่อการขนส่งสินค้าระหว่างเมืองเจิ้งโจวถึงฮัมบวร์กกินเวลา ๑๖ — ๑๘ วัน หรือเพียงครึ่งหนึ่งของเวลาที่ใช้ในการขนส่งทางเรือ

รถไฟขบวนแรกขนส่งสินค้ารวม ๔๑ คอนเทนเนอร์ ประกอบด้วย สินค้าชิ้นส่วนรถยนต์ ด้ายอุตสาหกรรม รองเท้าที่มีมูลค่าสูงและเสื้อผ้า รวมจำนวน ๑๑ คอนเทนเนอร์ มีจุดหมายปลายทางทีฮัมบวร์ก และสินค้าในกลุ่มอะเบรซีฟ จำนวน ๒๙ คอนเทนเนอร์ มีจุดหมายปลายทางที่เมืองอั๊นเวิร์ป ประเทศเบลเยี่ยม และอีกหนึ่งคอนเทนเนอร์เป็นสินค้าเครื่องนุ่งห่มส่งตรงไปที่เมืองรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ รวมมูลค่าขนส่งสินค้าในครั้งนี้ทั้งสิ้น ๒.๓๓ ล้านเหรียญสหรัฐ

การขนส่งสินค้าโดยทางรถไฟสาย เจิ้งโจว-ยุโรป เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างเมืองเจิ้งโจวของจีนกับเมืองฮัมบวร์กของเยอรมนี ซึ่งภายในสิ้นปีนี้จะมีอีก ๓ ประเทศเข้าร่วมในเครือข่ายการให้บริการคาร์โกร์ขนส่งสินค้าทางบกด้วยระบบรางนี้ ประกอบด้วย การท่าแห่งเมืองอัลมาทีประเทศคาซัคสถาน การท่ามอสโกประเทศรัสเซีย และการท่าเมืองคลัยเปดา ประเทศลิธัวเนีย

เจิ้งโจวเป็นเมืองเอกของมณฑลเหอหนานตั้งอยู่ในภาคกลางประเทศจีนทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางทางการเมืองเศรษฐกิจเทคโนโลยีและการศึกษาของมณฑล และเป็นศูนย์กลางการขนส่งที่สำคัญสำหรับจีนตอนกลาง ตัวเมืองตั้งอยู่บนฝั่งทางตอนใต้ของแม่น้ำเหลือง มีประชากรกว่า ๘ ล้านคน มีพื้นที่ทั้งหมด ๗,๔๔๖.๒ ตารางกิโลเมตร เขตเมืองมีพื้นที่ ๑,๐๑๓.๓ ตารางกิโลเมตร เขตใจกลางเมืองมีพื้นที่ ๑๔๗.๗ ตารางกิโลเมตร

นครเจิ้งโจวเป็นเมืองอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญคือ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องจักรเครื่องกล อุตสาหกรรมการทำโลหะผสม อุตสาหกรรมเคมี และอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญในเมืองเจิ้งโจวมีตลาดขายส่งสินค้าประเภทอาหารและธัญพืช เป็นศูนย์กลางสำคัญด้านการค้าขายส่ง รวมทั้งเป็นตลาดล่วงหน้าสำหรับสินค้าประเภทอาหารและธัญพืชของประเทศจีนด้วย ราคาสินค้าของตลาดแห่งนี้เป็นราคาหลักอ้างอิงของการซื้อขายสินค้าประเภทธัญพืชในประเทศจีนและทั่วโลก

ปัจจุบัน บริษัทไทยที่ดำเนินธุรกิจในมณฑลเหอหนาน ได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งมีโรงงานหลายแห่งที่มณฑลเหอหนาน มีโรงงานผลิตอาหารสัตว์ที่เมืองเจิ้งโจว และโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์ที่เมืองลั่วหยาง โดยทางซีพี เข้าไปลงทุนสร้างโครงการศูนย์การค้าและคอนโดมิเนียม ในเมืองลั่วหยาง มูลค่า ประมาณ ๔๐,๐๐๐ ล้านบาท ส่วนการลงทุนในมณฑลเหอหนานมีการลงทุนในการพัฒนาเกษตรครบวงจรซึ่งเป็นธุรกิจหลักของซีพี

ฮัมบวร์กเป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับ ๒ ในเยอรมนี และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ ๖ ของสหภาพยุโรป ท่าเรือฮัมบวร์กเป็นท่าเรือพาณิชย์ระหว่างประเทศซึ่งใหญ่เป็นอันดับ ๒ ในยุโรป และใหญ่เป็นอันดับที่ ๑๐ ของโลก ชื่อเต็มของเมืองคือ Free and Hanseatic City of Hamburg ซึ่งหมายถึงสถานภาพของเมืองฮัมบวร์กในสมัยกลางซึ่งเป็นหัวเมืองทางตอนเหนือมีอำนาจทางการเมืองปกครองตนเองอย่างอิสระ ปัจจุบันเมืองฮัมบวร์กเป็นศูนย์กลางการพาณิชย์และวัฒนธรรมของเยอรมนีตอนเหนือ ตัวเมืองฮ้มบวร์กมีประชากร ๑.๘ ล้านคน แต่ท้องที่ของเทศบาลเมืองฮัมบวร์กครอบคลุมพื้นที่ที่มีผู้อยู่อาศัยรวม ๕ ล้านคน

การขนส่งสินค้าทางระบบรางจะมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าการขนส่งทางเรือเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามเนื่องจากยังไม่มีการจัดเก็บข้อมูลเปรียบเทียบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นระหว่างการขนส่งทางรถไฟกับการเดินเรือทะเล จึงทำให้ปัจจัยเรื่องค่าใช้จ่ายแฝงเกี่ยวกับต้นทุนสภาพสิ่งแวดล้อมยังไม่นำมานับคำนวณรวมในค่าใช้จ่ายเปรียบเทียบนี้ รายงานโดย สคร. ณ เมืองซีอาน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๖

แหล่งข้อมูล http://www.germany-north.com/

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองซีอาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ