ภาวะตลาดธุรกิจบริการผู้สูงอายุของไต้หวัน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 29, 2013 15:34 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1.บทนำ

ไต้หวันถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสัดส่วนของประชากรสูงอายุในระดับค่อนข้างสูง ทำให้ธุรกิจบริการผู้สูงอายุถือเป็นธุรกิจใหม่ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนของไต้หวันให้ความสำคัญในการผลักดันเป็นอย่างมาก ซึ่งรัฐบาลได้จัดให้ธุรกิจบริการดูแลทางการแพทย์เป็น 1 ใน 6 อุตสาหกรรมดาวรุ่งที่มีการส่งเสริมและผลักดันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2009 โดยจากสถิติของกระทรวงมหาดไทยไต้หวัน (Ministry of the Interior, MOI) จนถึงสิ้นปี 2012 ที่ผ่านมา ไต้หวันมีประชากรสูงอายุ (อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป) รวมทั้งสิ้นประมาณ 2.6 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.2 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ถือเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากปี 2009 ที่มีสัดส่วนร้อยละ 8.2 โดยจากการประมาณการของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจไต้หวัน (Taiwan Institute of Economic Research, TIER) คาดว่าภายในปี 2017 จะเพิ่มสัดส่วนเป็นร้อยละ 14 ซึ่งเป็นระดับที่นานาชาติถือเป็นสัดส่วนที่ใช้แบ่งประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และในปี 2025 สัดส่วนนี้อาจเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 20 รายละเอียดเพิ่มเติมปรากฏตามตามตารางที่ 1

ตารางที่ 1 จำนวนประชากรสูงอายุของไต้หวันและสัดส่วน

หน่วย : คน

ปี               ประชากรรวม        อายุ 65 ปีขึ้นไป        สัดส่วน (%)
2009                 23.12                2.46          8.2
2012                 23.31                2.60         11.2
2020 (f)             23.34                3.81         16.3
2030 (f)             23.30                5.68         24.4
2060 (f)             18.83                7.84         41.6
ที่มา : TIER / MOI, revised by Thai Trade Center, Taipei
(f) = forecast

          นอกจากการที่ไต้หวันกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว อุตสาหกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบริการผู้สูงอายุยังได้รับการพัฒนา เช่น เทคโนโลยีทางการแพทย์ของไต้หวันก็ได้รับการยอมรับว่าอยู่ในระดับแนวหน้าของโลกมาโดยตลอด โดยเฉพาะด้านการปลูกถ่ายตับ การผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ ศัลยกรรม การผ่าตัดเปลี่ยนข้อต่อ และการผสมเทียมสำหรับผู้มีบุตรยาก ในการจัดอันดับโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงของโลก 200 อันดับแรกของConsejo Superior de Investigaciones Cientficas (CSIC) ในปี 2012 มีโรงพยาบาลไต้หวันติดอันดับมากถึง 14 แห่ง ถือเป็นอันดับ 1 ของประเทศเอเชีย และสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐฯ และเยอรมันนีเท่านั้น นอกจากนี้ จากการจัดอันดับประเทศที่ประชาชนสุขภาพดีที่สุดของEIU (Economist Intelligence Unit) ก็ยกให้ไต้หวันอยู่ในอันดับที่ 2 รวมถึงการจัดอันดับประเทศที่มีสาธารณูปโภคพื้นฐานทางการแพทย์ที่สมบูรณ์ที่สุดของ IMD (International Institute for Management Development) ก็จัดให้ไต้หวันอยู่ในอันดับ 13 จาก 55 ประเทศที่มีการจัดอันดับ จึงเห็นได้ชัดว่าไต้หวันเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนาธุรกิจบริการทางการแพทย์เป็นอย่างมาก

          2. การตลาด
          จากรายงานของ Organization for Economic Co-operation Development (OECD) ใน OECD Health Data ชี้ว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของ National Health Expenditure (NHE) หรือค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ของพลเมืองในประเทศสมาชิกของ OECD ส่วนใหญ่ จะสูงกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเสียอีก ซึ่งแม้แต่ในบางช่วงที่อัตราการเติบทางเศรษฐกิจของบางประเทศเป็นตัวเลขติดลบ แต่ NHE กลับมีอัตราส่วนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุสำคัญน่าจะมาจากความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างอายุของประชากร ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ และการที่พลเมืองของประเทศต่างๆไปใช้บริการทางการแพทย์มากขึ้น ซึ่งค่าใช้จ่ายทางการแพทย์และรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชาชนในประเทศนั้นๆจะแปรตามกัน โดยหากรายได้ยิ่งสูง ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ของประชาชนก็จะสูงตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ดี รายได้มิใช่ตัวแปรเพียงหนึ่งเดียวที่ทำให้ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์เพิ่มสูงขึ้น เพราะยังมีปัจจัยหลักอยู่ที่ระบบการให้บริการทางสาธารณสุขของแต่ละประเทศด้วย
          ไต้หวันเริ่มใช้ระบบประกันสุขภาพตั้งแต่เดือนมีนาคม 1995 เป็นต้นมา โดยในปีแรกที่เปิดใช้อัตราการเติบโตของค่าใช้จ่ายทางการแพทย์เพิ่มสูงถึงร้อยละ 17.33 ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในปีเดียวกัน และหลังจากนั้นเป็นต้นมาค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ประชาชนไต้หวันก็เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด และจากสถิติของทบวงสาธารณสุขไต้หวันในปี 2011 ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ของประชาชนรวมคิดเป็นมูลค่า 910,267 ล้านเหรียญไต้หวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2010 ร้อยละ 2.64 โดยสัดส่วน NHE ที่มีต่อ GDP ของประเทศก็เพิ่มจากร้อยละ 5.3 ในปี 1995 มาเป็นร้อยละ 6.62 ในปี 2011 โดยที่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อปีในปี 2011 สูงถึง 39,247 เหรียญไต้หวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 2.41 รายละเอียดเพิ่มเติมปรากฏตามตารางที่ 2

ตารางที่ 2 : ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ (NHE) ของไต้หวันและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ
                                                        หน่วย : ล้านเหรียญไต้หวัน : %
ปี                 NHE         NHE เฉลี่ยต่อคน       GDP per Capita     สัดส่วน     Economic
            มูลค่า     +/-     มูลค่า     +/-       มูลค่า      +/-      NHE:GDP     Growth
1998      499,471   8.87    22,874   7.87     421,519    6.35       5.43        3.47
1999      540,108   8.14    24,539   7.28     438,384    4.00       5.60        5.97
2000      563,124   4.26    25,384   3.44     459,212    4.75       5.53        5.80
2001      583,775   3.67    26,130   2.94     444,489   -3.21       5.88       -1.65
2002      620,674   6.32    27,631   5.74     463,498    4.28       5.96        5.26
2003      657,796   5.98    29,154   5.51     474,069    2.28       6.15        3.67
2004      705,353   7.23    31,146   6.83     501,849    5.86       6.21        3.19
2005      733,045   3.93    32,250   3.55     516,516    2.92       6.24        4.70
2006      766,666   4.59    33,591   4.16     536,442    3.86       6.26        5.44
2007      795,662   3.78    34,719   3.36     563,349    5.02       6.16        5.98
2008      819,240   2.96    35,623   2.60     549,757   -2.59       6.49        0.73
2009      864,772   5.56    37,471   5.19     540,643   -1.48       6.93       -1.93
2010      886,834   2.64    38,323   2.37     585,633    8.74       6.51       10.76
2011      910,267   2.64    39,247   2.41     589,576    0.67       6.62        4.07
ที่มา : ทบวงสาธารณสุขไต้หวัน (NHA)

          3. กลยุทธ์และโอกาสทางการค้า
          จากสถิติในปี 2012 ประชากรสูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) ของไต้หวันคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.2 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งสัดส่วนนี้มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้คาดว่าในปี 2020 จะมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 16.3 โดยพลเมืองยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และยุคเบบี้บูม (คนที่เกิดระหว่างปี คศ.1946-1965) ของไต้หวันซึ่งส่วนใหญ่กำลังอยู่ในช่วงที่มีรายได้สูงสุดของชีวิตในขณะนี้ ก็เริ่มทยอยปลดเกษียณ และค่อยๆเข้ามาเป็นผู้บริโภคที่มีศักยภาพในตลาด Aging Society และจากความสามารถในการใช้จ่ายของกลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้ ทำให้เกิดเป็นโอกาสทางการค้าที่น่าสนใจในหลายธุรกิจที่พอจะสรุปได้คร่าวๆดังนี้
             1. ธุรกิจสถานพำนักอาศัยและดูแลผู้สูงอายุ
                ปัจจุบันมีสถานดูแลผู้สูงอายุในไต้หวัน 1,027 แห่งที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับกระทรวงมหาดไทยของไต้หวัน แต่เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรสูงอายุแล้ว ยังถือว่าไม่พอเพียง โดยจากสถิติของทบวงสาธารณสุขไต้หวันชี้ว่า จำนวนผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่กับบุตรหลานในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาลดลงถึงร้อยละ 20  ซึ่งตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่าผู้สูงอายุในไต้หวันปัจจุบันเริ่มหันมาใช้ชีวิตในแบบที่เป็นเอกเทศมากขึ้น แต่ด้วยความที่ระบบครอบครัวในสังคมไต้หวันยังถือว่ามีความเหนียวแน่นอยู่ ประกอบกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันในไต้หวันก็ไม่ถือว่าสูงมาก ทำให้ความนิยมในการการเดินทางไปพำนักอาศัยในต่างประเทศของผู้สูงอายุเหล่านี้ยังมีไม่มากนัก
             2. ธุรกิจ After Life Service
                เกิดแก่เจ็บตายถือเป็นวัฏจักรแห่งชีวิตที่ทุกคนต้องประสบ ซึ่งธุรกิจ After Life Service ถือเป็นบริการสุดท้ายที่ทุกคนจะได้รับเมื่อมาถึงจุดสุดท้ายของชีวิต ในแต่ละปีจะมีคนไต้หวันประมาณ 1.3 แสนคนมีความต้องการใช้บริการในส่วนนี้ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยประมาณ 3.8 แสนเหรียญไต้หวันต่อคน ทำให้มูลค่าตลาดในธุรกิจ After Life Service สูงถึงเกือบๆ 5 หมื่นล้านเหรียญไต้หวัน เห็นได้ชัดว่าคนไต้หวันมีกำลังซื้อสำหรับการวางแผนชีวิตหลังความตายในระดับค่อนข้างสูงทีเดียว แต่ทั้งนี้ผู้ประกอบการจะต้องมีความพร้อมในการให้บริการแบบครบวงจรด้วยเช่นกัน
             3. ธุรกิจท่องเที่ยวและสันทนาการสำหรับผู้สูงอายุ
                สำหรับในสหรัฐฯและญี่ปุ่นแล้ว กลุ่มผู้สูงอายุจะมีรายได้ที่มั่นคงจากกองทุนเงินบำนาญเราจึงได้เห็นผู้สูงอายุที่มีศักยภาพในการจับจ่ายไม่น้อยจากประเทศเหล่านี้ ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงการท่องเที่ยวแล้ว สำหรับในสหรัฐฯ กลุ่มลูกค้าสำคัญของโปรแกรมการท่องเที่ยวระดับพรีเมี่ยมราคาสูงๆ จะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งมีทั้งเงินและเวลา สามารถเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกเป็นเวลานานๆได้ ซึ่งในไต้หวันเองก็เริ่มเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้บ้างแล้ว แม้ว่าการใช้จ่ายรายเดือนโดยเฉลี่ยของผู้สูงอายุไต้หวันจะยังน้อยกว่าผู้สูงอายุชาวสหรัฐฯและญี่ปุ่น โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับประมาณ 1 หมื่นเหรียญไต้หวันต่อคนต่อเดือนเท่านั้น แต่ในอนาคตเชื่อว่าตัวเลขนี้จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จึงถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
             4. ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ
                จากความสามารถในการใช้จ่ายของกลุ่มผู้สูงอายุในไต้หวันที่นับวันจะมากขึ้นทุกที จึงถือเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพไม่น้อย แต่ทั้งนี้เนื่องจากส่วนใหญ่ยังคงมีค่านิยมแบบจีนที่ชอบการใช้ชีวิตอยู่ไม่ห่างจากลูกหลานมาก แม้จะแยกบ้านกันอยู่แต่ก็จะไปมาหาสู่กันอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งรัฐบาลเองก็ไม่ได้มีนโยบายส่งเสริมให้เหล่าผู้สูงอายุเหล่านี้ไปใช้ชีวิตบั้นปลายในต่างประเทศแบบเดียวกับยุโรป สหรัฐฯ หรือญี่ปุ่น รวมทั้งรัฐบาลไต้หวันมีการจัดตั้งกองทุนประกันสุขภาพทำให้ค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการรักษาพยาบาลในไต้หวันในส่วนที่ประชาชนต้องรับภาระเองนั้นไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงมาก เทคโนโลยีทางการแพทย์ของไต้หวันก็อยู่ในระดับที่ก้าวหน้ามาก ทำให้โอกาสที่จะดึงชาวไต้หวันไปพำนักระยะยาวภายในสถานดูแลหรือที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย มีไม่มาก แต่ผู้ประกอบการไทยอาจสามารถสร้างความร่วมมือกับสถานดูแล/บริษัทท่องเที่ยวของไต้หวันในการจัดทริปท่องเที่ยวโดยเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุได้ แต่ควรจะต้องปรับรูปแบบการให้บริการแก่กรุ๊ปแบบนี้โดยหันมาเน้นการให้บริการชั้นเลิศและจัดโปรแกรมที่มีการดึงดูดในรูปแบบของพรีเมี่ยมกรุ๊ป และควรหลีกเลี่ยงการจัดโปรแกรมแบบให้ลูกทัวร์ไปเข้าโปรแกรมของร้านช็อปปิ้งสำหรับนักท่องเที่ยวต่างๆ แต่เนื่องจากธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่เน้นให้บริการคนในประเทศและไม่จำเป็นต้องมีการติดต่อกับต่างประเทศมากนัก ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของไต้หวันจึงมีปัญหาในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ผู้ประกอบการไทยควรต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องของบุคลากรที่เชี่ยวชาญภาษาจีนไว้ด้วย เพื่อความสะดวกรวดเร็วและราบรื่นในการติดต่อสื่อสารและให้บริการ
                นอกจากนี้แล้ว ผู้ประกอบการไทยยังสามารถมาลงทุนสร้างหรือหาทางร่วมทุนกับผู้ประกอบการไต้หวันในการจัดการสถานดูแลผู้สูงอายุในไต้หวัน และใช้ไต้หวันเป็นช่องทางไปลงทุนในจีนแผ่นดินใหญ่ได้ โดยผ่านข้อตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (ECFA ) ระหว่างไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งตามข้อตกลงนี้ จีนจะอนุญาตให้ผู้ประกอบการของไต้หวันไปจัดตั้งสถานดูแล/สถานพยาบาลในจีนได้ในเขตพื้นที่เซี่ยงไฮ้ เจียงซู ฮกเกี้ยน ไหหลำ และกวางตุ้งและต้องอย่าลืมว่าความสำเร็จในการประกอบธุรกิจในไต้หวันจะสามารถช่วยในการขยายตลาดไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ได้ง่ายกว่าการกระโดดเข้าสู่ตลาดจีนโดยตรงด้วย เพราะผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่จะให้การยอมรับและมีความสนใจจะติดต่อกับธุรกิจที่ประสบความสำเร็จหรือมีชื่อเสียงในไต้หวันมากกว่าจากชาติอื่น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยซึ่งมีจุดแข็งในการฝึกอบรมผู้ดูแล ควรพิจารณาใช้ไต้หวันเป็น Spring-board ในการกระโดดเข้าสู่ตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดที่กำลังมีผู้สูงอายุที่มีฐานะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

          E-Mail : thaicom.taipei@msa.hinet.net
          Tel :(886 2) 2723-1800
          Fax :(886 2) 2723-1821

          สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
          ณ กรุงมะนิลา
          กรกฎาคม 2556

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ