บริษัทที่มียอดการลงทุนด้านค้นคว้าวิจัยสูงสุดได้แก่ Toyota เป็นมูลค่า 9 แสนล้านเยน (เพิ่มขึ้น 11.4% จากปีก่อนหน้า) ทั้งนี้บริษัทรถยนต์ส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นกำลังเร่งการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยยกระดับความทนทานและลดต้นทุนการผลิตโดยมีแผนที่จะออกจำหน่ายรถยนต์ที่ประหยัดพลังงานรุ่นใหม่ในปี 2015 ซึ่งจะมีราคาต่ำลงกว่ารถยนต์ที่ใช้พลังงานเซลล์เชื้อเพลิงในปัจจุบันที่มีราคาประมาณคันละ 100 ล้านเยน
นอกจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ จากแนวโน้มขยายตัวของรถยนต์ Ecocar ทำให้บริษัทผู้ผลิตวัสดุก็ลงทุนเพิ่มขึ้นในการค้นคว้าวิจัยเช่นกัน บริษัท Mitsubishi Chemical Holdings กำลังร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ของฝรั่งเศสในการทำวิจัยเกี่ยวกับพลาสติกที่ทำจากพืชสำหรับใช้ในส่วนประกอบตกแต่งภายในรถยนต์โดยมีมูลค่าการลงทุนด้านค้นคว้าวิจัย 1.4 แสนล้านเยน (เพิ่มขึ้น 2.4%) โดยมีเป้าหมายที่จะผลิตในปี 2014 ในด้านบริษัท Toray ก็กำลังเร่งการค้นคว้าวัสดุ เช่น Cabonfibre ซึ่งแข็งแกร่งแต่เบากว่าเหล็ก โดยมียอดการลงทุนค้นคว้าวิจัย 5.8 หมื่นล้านเยน (เพิ่มขึ้น 8.8%)
สำหรับสาขาเครื่องจักร ก็กำลังมุ่งเน้นการวิจัยเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน บริษัทญี่ปุ่น อาทิเช่น Mitsubishi Heavy Industries มีแผนที่จะทุ่มเงินลงทุนค้นคว้าวิจัย 7 หมื่นล้านเยนซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนหน้าถึง 23.8% สำหรับการวิจัย Gas turbine, Fuel cell และพลังงานลมในทะเล เป็นต้น
ด้านสาขาเครื่องไฟฟ้า และ IT บริษัท Hitachi Ltd. ก็ได้ขยายการลงทุนค้นคว้าวิจัย 2.4% เป็นมูลค่า 3.6 แสนล้านเยน ในสาขาการบำบัดน้ำและรถไฟ ถ่านสะสมพลังงาน (storage battery) ในขณะที่บริษัท Toshiba มียอดลงทุน 4.6 แสนล้านเยน เพิ่มขึ้น 12.7% ในสาขาแฟลชเมโมรีสำหรับอุปกรณ์ข้อมูลแบบพกพา และเครือข่ายส่งไฟฟ้าในยุคหน้า อย่างไรก็ตามทางด้านบริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าครัวเรือน ได้แก่ พานาโซนิคและโซนีได้ลดการลงทุนค้นคว้าวิจัย 2.4% (มูลค่า 4.9 แสนล้านเยน) และ 2.8% (3.4 แสนล้านเยน) ตามลำดับ
สำหรับความร่วมมือในการค้นคว้าวิจัยกับต่างประเทศ ผลสำรวจพบว่า บริษัทญี่ปุ่นยังคงมีแนวโน้มที่จะขยายความร่วมมือกับบริษัทในท้องถิ่นเพื่อทำการค้นคว้าวิจัย โดย 22% ตอบว่า หลังจากปี 2013 เป็นต้นไป "จะขยายและเสริมสร้างฐานด้านการวิจัยในต่างประเทศ" โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2012 ซึ่งอยู่ในระดับ 14.1% และหากพิจารณาแยกตามสาขาจากมากไปน้อย ได้แก่ สาขายานยนต์ (34.5%) วัสดุ (30.8%) และเครื่องใช้ไฟฟ้า / IT (30%)
สิ่งที่บริษัทญี่ปุ่นมุ่งหวังจากการร่วมมือค้นคว้าวิจัยกับบริษัทในต่างประเทศ ได้แก่ "หัวข้อวิจัยที่บริษัทเองคิดไม่ถึง" (43.5%) "เร่งรัดการพัฒนาสินค้าใหม่" (39.3%) และ"การเข้าร่วมในสาขาใหม่ๆ" (35.5%) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริษัทญี่ปุ่นเห็นความสำคัญของความร่วมมือค้นคว้าวิจัยกับบริษัทในต่างประเทศซึ่งจะสามารถนำไปสู่การพัฒนาสินค้าในตลาดใหม่อย่างเอเชียและอเมริกาใต้ เช่น บริษัทนิสสัน มีแผนที่จะขยายฐานการค้นคว้าวิจัยพร้อมกับการขยายโรงงานในบราซิลในปี 2014 โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาสินค้ารถยนต์และชิ้นส่วนที่ผลิตในบราซิล นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังได้เสริมความเข้มแข็งของฐานการค้นคว้าวิจัยร่วมกับบริษัท Renault ในอินเดียด้วย
นอกจากความร่วมมือกับบริษัทในท้องถิ่นแล้ว พบว่าบริษัทญี่ปุ่นสนใจที่จะมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศด้วย โดยมีความร่วมมือมากที่สุดกับจีน สิงคโปร์ และไทยตามลำดับ เช่น โตชิบา ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยในจีนจัดตั้งศูนย์ค้นคว้าด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมซึ่งทำการค้นคว้าวิจัยใบพัดสำหรับกังหันไอน้ำที่ใช้ในโรงงานผลิตไฟฟ้าซึ่งมีประสิทธิภาพสูงและใช้ได้ทนนาน
ประเทศญี่ปุ่น สคร.โอซากา
สำนักพัฒนาตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและเอเชีย (สพอ.) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
Email : intmk@ditp.go.th Website : www.ditp.go.th