บริษัทโซนีมุ่งเข็มไปยังธุรกิจการแพทย์ล้ำสมัยซึ่งจะเป็นธุรกิจดาวรุ่งของญี่ปุ่นในอนาคต

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 6, 2013 13:56 —กรมส่งเสริมการส่งออก

บริษัท Sony ประกาศจะร่วมลงทุนกับบริษัท M3 (www.corporate.m3.com) ซึ่งเป็นบริษัทให้การบริการข้อมูลการแพทย์ทางอินเตอร์เน็ต และบริษัท ILLUMINA (www.illuminakk.co.jp)ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการค้นคว้าวิเคราะห์ด้านพันธุกรรม โดยโซนีจะลงทุนกว่าครึ่งในบริษัทใหม่ดังกล่าวและจะให้บริการในญี่ปุ่นในการทำการวิเคราะห์พันธุกรรม เช่น การวิเคราะห์จิโนม (Genome Analysis) รวมทั้งบริการด้านฐานข้อมูลเกี่ยวกับพันธุกรรมให้กับบริษัทต่างๆเช่น บริษัทเภสัชภัณฑ์ ฯลฯ โดยจะใช้อุปกรณ์ชั้นแนวหน้าของบริษัท ILLUMINA และอาศัยเครือข่ายทางอินเตอร์เน็ตของบริษัท M3 ให้บริการข้อมูลการแพทย์ไปยังแพทย์ในญี่ปุ่นกว่า 80% ซึ่งลงทะเบียนเป็นสมาชิกอยู่กับบริษัท M3 สำหรับข้อมูลต่างๆด้านพันธุกรรมที่รวบรวมได้จะจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลเพื่อจำหน่ายต่อไปอีกด้วย ทั้งนี้ การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลซึ่งจัดว่าเป็น Big Data ประเภทหนึ่งนี้จำต้องอาศัยเทคโนโลยีชั้นสูงในการบริหารจัดการข้อมูลของบริษัทโซนี

ในระยะที่ผ่านมา ธุรกิจหลักของบริษัทโซนีคือด้านอิเล็กทรอนิกส์ประสบการชะงักงัน ทำให้การจำหน่ายโทรทัศน์ประสบปัญหาขาดทุนมาโดยตลอด ในขณะที่มีธุรกิจการบันเทิงเช่น ธุรกิจภาพยนตร์ซึ่งพอจะประคองบริษัทฯไว้ได้

ข้อสังเกตและข้อคิดเห็น

รัฐบาลญี่ปุ่นได้กำหนดให้อุตสาหกรรมการแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์เป็นหนึ่งในสาขาที่คาดว่าจะมีการเติบโตสูงในอนาคต (New Growth Industry) และได้วางแผนให้การสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ โดยบรรจุเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญเติบโตของญี่ปุ่น ภายใต้นโยบาย Abenomics

ประเทศไทยซึ่งตั้งเป้าการเป็น Medical Hub ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ควรต้องติดตามสถานการณ์พัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์โดยเฉพาะของญี่ปุ่น ซึ่งได้มีผลงานหลายสาขาที่จัดอยู่ในระดับชั้นนำของโลก เช่น เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเซลล์ iPS (Induced Pluripotent Stem Cells) ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มมีการติดต่อและร่วมมือกันระหว่างบริษัทญี่ปุ่นและไทยบ้างแล้ว เช่น เมื่อต้นเดือน ส.ค. ศกนี้ บริษัท Fuji Film และบริษัท JTEC(Japan Tissue Engineering) ได้เริ่มพิจารณาความร่วมมือกับโรงพยาบาลในประเทศไทยในการนำเทคโนโลยีการสร้างเซลล์ผิวหนังเพื่อใช้ในการรักษาแผลไฟไหม้หรือโรคผิวหนัง ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าเนื่องจากในญี่ปุ่นปัจจุบันยังมีกฎระเบียบภายในประเทศที่จำกัดการรักษาโดยเทคโนโลยีใหม่ทางการแพทย์ บริษัทญี่ปุ่นจึงพยายามหาช่องทางที่นำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้ไปยังต่างประเทศซึ่งมีความยืดหยุ่นมากกว่าในการอนุญาตใช้รักษาโรค ซึ่งอาจจะเป็นโอกาสดีสำหรับไทยที่จะดึงเทคโนโลยีล้ำสมัยเหล่านี้เข้าไปในประเทศ แต่ในขณะเดียวกันอาจต้องคำนึงและให้ความระวังในประเด็นความปลอดภัย พร้อมๆไปกับประโยชน์ที่จะได้รับ ซึ่งจะต้องอาศัยการบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิดจากเซลล์เนื้อเยื่อที่โตเต็มวัย เพื่อนำไปพัฒนาเป็นเนื้อเยื่อต่างๆ ซึ่งใช้ในการรักษาซ่อมแซมอวัยวะที่สูญเสียไป

ประเทศญี่ปุ่น สคร.โอซากา

สำนักพัฒนาตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและเอเชีย (สพอ.) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

Email : intmk@ditp.go.th Website : www.ditp.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ