รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 12, 2013 13:47 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การชะลอการลงทุนในโครงการเหมืองแร่ตั้งแต่ปี 2012 ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อเศรษฐกิจของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย โดยการลงทุนภาคเศรษฐกิจลดลงอย่างชัดเจนในไตรมาสแรกเดือนมีนาคม2013 จนส่งผลต่ออุปสงค์โดยรวมของรัฐลดต่ำลงเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกัน ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียลดลงอีกในไตรมาสที่สองเดือนมิถุนายน 2013 โดยทั้งภาคเศรษฐกิจและครัวเรือนต่างมีทัศนคติในแง่ลบต่อสถานะทางเศรษฐกิจเนื่องจากต้นทุนที่สูง และท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่สับสนไม่แน่นอนของการเมืองออสเตรเลีย

อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.8 ในเดือนพฤษภาคม 2012 เป็นร้อยละ 4.9 ในเดือนมีนาคม 2013 ทางด้านภาพรวมเศรษฐกิจโลก ถึงแม้ว่าจีนจะมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังคงน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนี้จะมาจากภายในประเทศแต่ก็ยังส่งสัญญาณที่ดีต่อรัฐ ด้านการลงทุนภาคธุรกิจภายในประเทศออสเตรเลียเองยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงการนำเข้าส่งออกก็ยังคงเป็นอีกหนึ่งตัวขับเคลื่อนสำคัญ เนื่องจากมีโครงการหลักๆได้เข้าสู่ขั้นตอนการผลิตและจะช่วยผลักดันความสำเร็จของการส่งออกของรัฐต่อไป

ปัจจัยเสี่ยง ถึงแม้ว่าจะมีโครงการก่อสร้างที่สำคัญๆที่กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการในขณะนี้ แต่ช่วงเวลาสิ้นสุดโครงการนั้นก็ยังห่างออกไปอีกมาก ต้นทุนทางสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างสูงในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียทำให้เกิดการชะลอการลงทุนใหม่ๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว ถึงแม้ว่าอาจจะยังไม่ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนในช่วงเวลาอันใกล้นี้ก็ตาม อีกหนึ่งปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคือความเชื่อมั่นของธุรกิจและผู้บริโภคที่ลดลงซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในระยะยาว ถึงแม้ว่าระยะสั้นจะยังไม่ส่งผล แต่หากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจลดต่ำลงและยืดเยื้อจะทำให้ความต้องการลงทุนโดยเฉพาะจากภาคเอสเอ็มอี (SMEs) การใช้จ่ายและการลงทุนภาคครัวเรือนลดลง

การค้าต่างประเทศ ดุลการค้าของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียในไตรมาสเดือนมีนาคมลดลงร้อยละ 3.5 หรือ $893 ล้าน โดยมีสาเหตุหลักมาจากการส่งออกที่ลดลง มาจากการส่งออกสินค้าจำพวกโลหะ น้ำมันปิโตรเลียม และสินค้าประเภททองคำ สาเหตุสำคัญเกิดเนื่องจากช่วงฤดูพายุไซโคลนที่มีการทยอยปิดสองถึงสามเหมืองแร่ภายในรัฐ การนำเข้าที่มีมูลค่าลดลงเช่นกัน เนื่องจากการลดการลงทุนในภาคธุรกิจทั้งนี้ในระดับประเทศ ออสเตรเลียยังคงมีการค้าเกินดุลอยู่ที่ระดับ $8 พันล้าน เพิ่มขึ้น $3.7 พันล้าน ทั้งนี้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกของรัฐ ตามดัชนีที่ RBA ระบุว่าสินค้าออสเตรเลียขยับตัวขึ้นร้อยละ 1.8 ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ประเทศออสเตรเลีย สคร.ซิดนีย์

สำนักพัฒนาตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและเอเชีย (สพอ.) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

Email : intmk@ditp.go.th Website : www.ditp.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ