การประชุมระดับรัฐมนตรี TPP ได้จัดขึ้นที่กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไนดารุสซาลาม ระหว่างวันที่ 22-31 สิงหาคม 2556 ซึ่งญี่ปุ่นได้เข้าร่วมประชุมอย่างเต็มรอบเป็นครั้งแรก การประชุมมุ่งเน้น 10 สาขาที่ยังตกลงกันไม่ได้ สามารถสรุปสาระการประชุมดังนี้
1.การเข้าสู่ตลาด การเจรจาเพื่อยกเลิกสินค้านำเข้าสหรัฐฯ ต้องการเปิดตลาดในระดับ 95% ในขณะที่ญี่ปุ่นกำหนดระดับเปิดตลาดสูงสุดที่ร้อยละ 93.5 ยังคงเหลือสินค้าที่ให้ความคุ้มครอง 5 ประเภท ได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์นม เนื้อวัวสุกร น้ำตาล ข้าวสาลี ที่ผ่านมาภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี ที่ญี่ปุ่นทำกับประเทศต่างๆ มีระดับการเปิดตลาดร้อยละ 84-88
อย่างไรก็ตาม แนวทางการเจรจาลดภาษีที่ผ่านมา ได้กำหนดให้สินค้าร้อยละ 90-95 จะต้องยกเลิกภาษีทันทีที่มีผลบังคับใช้ และส่วนที่เหลือยกเลิกเป็น 0 ภายใน 7 ปี แต่อาจเป็นไปได้ว่าสหรัฐฯ จะยินยอมตามท่าทีของประเทศพัฒนาใหม่ ให้มีระยะเวลาลดภาษีที่ยาวนานขึ้นเป็นประมาณ 10-20 ปี
2. รูปแบบของการเจรจายกเลิกภาษี สหรัฐฯ แคนนาดา และเม็กซิโก เห็นควรใช้วิธีเจรจาแบบทวิภาคีเพื่อให้สามารถต่อรองแลกเปลี่ยนกันระหว่างสินค้าที่ต่างฝ่ายต่างให้ความสนใจ หรือให้การคุ้มครองสินค้าอ่อนไหวสำหรับประเทศตนได้ แต่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์มองว่า ควรใช้ตารางลดภาษีเดียวกันทุกประเทศ สำหรับญี่ปุ่นการเจรจาทวิภาคี อาจช่วยให้ญี่ปุ่นปกป้องสินค้าเกษตร 5 รายการได้ง่ายขึ้น ในขณะที่ตารางลดภาษีเดียวกันสามารถผลักดันการลดภาษีสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ที่ญี่ปุ่น เป็นต้น
3. ประเด็นเกี่ยวกับนโยบายการแข่งขัน การเจรจาที่ผ่านมามีแนวโน้มที่จะกำหนดคำจำกัดความของรัฐวิสาหกิจ โดยใช้เกณฑ์ว่า เป็นวิสาหกิจที่รัฐมีสิทธิในการออกเสียงเกินกว่าร้อยละ 50 ขึ้นไป ทำให้บริษัทไปรษณีย์ แห่งญี่ปุ่น (Japan Post Holdings Co., Ltd) เข้าข่ายเป็นวิสาหกิจ ทำให้ต้องยกเลิกมาตรการให้สิทธิพิเศษทางภาษีต่างๆ ที่บริษัทไปรษณีย์ แห่งญี่ปุ่น ได้รับอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนั้นมีแนวโน้มว่า จะกำหนดให้หน่วยงานระงับข้อพิพาทภายใต้สหประชาชาติ เป็นหน่วยงานไกล่เกลี่ย ในกรณีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติ แต่จะจำกัดเฉพาะการฟ้องร้องของรัฐต่อรัฐเท่านั้น
4. ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ญี่ปุ่นอยู่ฝ่ายเดียวกับสหรัฐฯ มีท่าทีเพิ่มความเข้มงวดสำหรับเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม รัฐบาลญี่ปุ่นมองว่า อุตสาหกรรมของญี่ปุ่นกำหนดเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมในระดับสูงอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่เป็นอุปสรรคสำหรับธุรกิจของญี่ปุ่น ในส่วนของประเด็น ลดเงินช่วยเหลือการประมง ญี่ปุ่นมีท่าทีไม่เห็นด้วย เนื่องจากการลดเงินช่วยเหลือลง อาจผลักดันให้อุตสาหกรรมประมง จำต้องทำการประมงโดยไม่มีขีดจำกัดและจะส่งผลกระทบต่อการประมงของโลก
5. กำหนดสรุปผลการเจรจา สหรัฐฯ มีการผลักดันให้มีการออกแถลงการณ์ร่วมในการประชุมครั้งนี้ โดยระบุว่าทุกประเทศจะเร่งรัดการเจรจาเพื่อสรุปผลภายในปี 2013 แต่ประเทศพัฒนาใหม่ยังมีความระแวงต่อการชักนำของสหรัฐฯ และหวังว่าญี่ปุ่นจะเป็นผู้สกัดการรุกของสหรัฐฯ ข้อเท็จจริงคือแต่ละประเทศยังมีท่าทีแตกต่างกันมากในประเด็นที่ยังตกลงกันไม่ได้ จึงมองว่ามีความเป็นไปได้ยากที่จะสรุปผลเจรจาภายในปีนี้
6. กำหนดการประชุมรอบต่อไป การประชุมระดับรัฐมนตรีจะมีขึ้นอีกครั้งในเดือนกันยายน และญี่ปุ่นจะเริ่มเจรจาทวิภาคีกับสหรัฐฯ ในเดือนกันยายน เช่นกัน หลังจากนั้นจะมีการประชุมสุดยอด TPP ในระหว่างการประชุมผู้นำเอเปคที่อินโดนีเซียเดือนตุลาคม 2556 และได้มีการตั้งเป้าให้ผู้นำลงมติเห็นชอบกรอบใหญ่ของการเจรจาเพื่อสรุปผลเจรจาในเดือนธันวาคม 2556 ทั้งนี้หากการสรุปผลมีความล่าช้าจะช่วยให้ญี่ปุ่นมีโอกาสมากขึ้นในการเจรจาผลักดันท่าทีของญี่ปุ่น
ประเทศญี่ปุ่น สคร.โอกาซา
สำนักพัฒนาตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและเอเชีย (สพอ.) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
Email : intmk@ditp.go.th Website : www.ditp.go.th