1. การปรับเพิ่มภาษีบริโภคจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8
รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ จะปรับเพิ่มภาษีบริโภคจากปัจจุบันร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 เริ่มบังคับใช้ในเดือน เมษายน 2014 ถือเป็นการปรับเพิ่มครั้งแรกตั้งแต่ปี 1997 เนื่องจากดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจในช่วงเดือน เม.ย - มิ.ย 56 มีแนวโน้มดีขึ้น ประกอบกับญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ในปี 2020 จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี ทั้งด้านการก่อสร้าง และสาขาอื่นๆ และการปรับขึ้นภาษีบริโภคในครั้งนี้ คาดว่าจะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระทางการคลังของรัฐบาล ที่มีระดับหนี้สาธารณะในปี 55 ร้อยละ 214.3 ของ GDP ทั้งนี้ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี ให้ความเป็นห่วงการปรับภาษีเพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้ประชาชนมีความสามารถในการซื้อสินค้าลดลงมาก จนทำให้รายรับของรัฐบาลจากภาษี ที่ตั้งเป้าว่าจะได้เพิ่มมากขึ้นจะได้ลดน้อยลง ประกอบกับประชาชนอาจพบกับวิกฤตสินค้านำเข้าราคาแพง โดยเฉพาะหมวดอาหารและพลังงาน ตัวอย่างเช่น หลังจากมีการปรับเพิ่มภาษีบริโภค เมื่อปี 1997 จากร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 5 ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำโดย GDP ลดลงร้อยละ 3.7 โดยเฉพาะการซื้อลดลงมาก ในอสังหาริมทรัพย์และรถยนต์ และพบว่าในปี 1998 หลังจากเพิ่มภาษี รัฐบาลมีรายรับอยู่ที่ 49.4 ล้านล้านเยน ซึ่งลดลงจากที่เคยมีรายรับอยู่ที่ 53.9 ล้านล้านเยนในปี 1997
2. ดุลการค้าญี่ปุ่น
ดุลการค้าญี่ปุ่นติดลบถึง -9.6 แสนล้านเยน ในเดือนส.ค. 2013 ที่ผ่านมา จากที่คาดการณ์ไว้ที่ประมาณ 6 แสนล้านเยน ซึ่งเป็นการขาดดุลการค้าติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14 แล้ว เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิง และการอ่อนค่าของเงินเยน ทำให้การนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ 6.74 ล้านล้านเยน ในขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7 ไปอยู่ที่ 5.78 ล้านล้านเยน ซึ่งเมื่อเทียบกับเดือนส.ค. 2012 แล้ว ดุลการค้าในเดือนส.ค. 2013 นี้ติดลบมากกว่าถึงร้อยละ 25
3. ภาวะเศรษฐกิจในเขตคิวชูและชูโกกุ
ภาวะเศรษฐกิจในเขตคิวชูและชูโกกุในเดือนกันยายนนั้น การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคอยู่ในระดับดี เนื่องจากประชาชนยังมีความเชื่อมั่นในรัฐบาล การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ทั้งการก่อสร้างคอนโดมิเนียม และบ้านที่อยู่อาศัยยังคงเพิ่มขึ้น และการใช้จ่ายของภาครัฐในเขตคิวชูในโครงการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่ในตอนเหนือของเขตคิวชูยังดำเนินต่อไป
ประเทศญี่ปุ่น สคร.ฟูกูโอกะ
สำนักพัฒนาตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและเอเชีย (สพอ.) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
Email : intmk@ditp.go.th Website : www.ditp.go.th