ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ ได้เร่งอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวชาวมุสลิม เช่น การจัดทำไกด์บุคภาษาอังกฤษ ที่แนะนำมัสยิดและร้านอาหารที่ได้รับมาตรฐานฮาลาล การฝึกบุคลากรที่เข้าใจวัฒนธรรมมุสลิม เป็นต้น และด้านภาคเอกชน ก็ได้มีการเตรียมการเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม ที่เดินทางมายังประเทศญี่ปุ่น เช่นเดียวกัน อาทิ มีร้านอาหารในสนามบินที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาล และการเพิ่มห้องละหมาด การจัดทำห้องละหมาด ที่ Premium Outlet เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวมุสลิม ซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะยังไม่มาก เท่านักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นก็ตาม แต่มีมูลค่าการซื้อ/ครั้งสูงกว่า การเปิดมุมสินค้าอาหารฮาลาลในซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งไม่ได้รองรับเฉพาะนักท่องเที่ยว แต่รองรับชาวมุสลิม ที่อาศัยอยู่ในระยะยาวด้วย รวมถึงโรงแรมในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ได้จ้างที่ปรึกษา เพื่อให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม เช่น การจัดหาวัตถุดิบในการปรุงอาหารที่เป็นฮาลาล การเตรียมครัวในการปรุงอาหาร การจัดห้องพักโดยมีสัญลักษณ์แสดงที่ตั้งเมกกะ เป็นต้น
การที่ประเทศญี่ปุ่นให้ความสนใจในสินค้าที่ได้รับมาตรฐานฮาลาล นอกจากจะเป็นการรองรับนักท่องเที่ยวมุสลิมแล้ว ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายตลาดใหม่ ให้กับสินค้าของประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย โดยเป็นการผลิตสินค้าที่ญี่ปุ่น สามารถผลิตได้อยู่แล้ว และปรับปรุงวิธีการผลิต เพื่อขอรับรองมาตรฐานฮาลาล และส่งออกสินค้านั้นไปยังประเทศมุสลิม ซึ่งสินค้าญี่ปุ่นมีมาตรฐานในการผลิตสูงอยู่แล้ว การเพิ่มมาตรฐานฮาลาลในกระบวนการผลิต จึงค่อนข้างดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว ในส่วนของการบริโภคในประเทศญี่ปุ่น จากการที่มีชาวมุสลิม (ทั้งนักท่องเที่ยว และผู้พำนักระยะยาว) เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ความต้องการในการบริโภคสินค้าฮาลาล จึงมีมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านอาหาร นอกจากนี้ อาหารฮาลาล เป็นสินค้าที่ประเทศไทยมีการผลิตอยู่แล้ว และมีการส่งออกไปประเทศต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทยในการขยายตลาดสินค้าฮาลาลสู่ประเทศญี่ปุ่น
ประเทศญี่ปุ่น สคร.โตเกียว
สำนักพัฒนาตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและเอเชีย (สออ.) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
Email : intmk@ditp.go.th Website : www.ditp.go.th