ออสเตรเลีย : สร้างมาตรการควบคุมการลงทุน ของต่างชาติ ในภาคเกษตรกรรม

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 22, 2013 14:55 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การลงทุนของจีนในภาคเกษตรกรรมออสเตรเลียส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของภาคเอกชน และถูกขับเคลื่อนด้วยความต้องการอาหารที่มีคุณภาพมากกว่าเพื่อความมั่นคงทางอาหาร (food security) รายงานการศึกษาของ KPMG และ Sydney University ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการที่รัฐบาลออสเตรเลียมีแผนที่จะกำหนดมาตรการควบคุมการลงทุนในฟาร์มจากต่างชาติให้เข้มงวดขึ้น เนื่องจากผลการศึกษาพบว่าการลงทุนจากจีนในภาคการเกษตรค่อนข้างน้อย ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยที่จัดทำโดยรัฐบาลชุดที่แล้วที่พบว่า บริษัทจากจีนมีการลงทุนน้อยกว่า 1% ในพื้นที่การเกษตรและการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมดมีเพียง 11% และในปีที่ผ่านมาการลงทุนของจีนในภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 3 ของการลงทุนของจีนทั้งหมด โดยในระหว่างปี 2006 และ 2012 พบว่ามีการลงทุนจากจีนเพียง 2% ที่ลงทุนในเกษตรกรรมออสเตรเลีย แทนที่รัฐบาลออกมาตรการที่เข้มงวดขึ้น รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการบังคับใช้มาตรการเดียวกันกับทั้งรัฐวิสาหกิจและเอกชน นอกจากนี้ ผลการศึกษาสนับสนุนการเจรจา FTA ระหว่างจีน-ออสเตรเลีย เนื่องจากคู่แข่งอย่างประเทศนิวซีแลนด์ได้เปรียบทางด้านอัตราภาษี

นักลงทุนจีนส่วนใหญ่ยังอยู่ระหว่างศึกษาวิธีการบริหารการจัดการธุรกิจที่เข้าไปลงทุนในฟาร์มต่างประเทศ โดยพบเพียงแค่ 3 ใน 10 ที่มีประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าว ประเด็นที่น่าสนใจในขณะนี้คือนักลงทุนชาวจีนถูกกระตุ้นจากความต้องการในเรื่องคุณภาพอาหารมากกว่าการที่จะกักตุนสินค้าไว้สำหรับยามจำเป็นเป็นจำนวนมาก ผลลัพธ์จากการเปลี่ยนจากความมั่นคงทางด้านอาหารไปเป็นความปลอดภัยด้านอาหาร (food safety) คือการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการค้า ความมั่นคงทางด้านอาหารนั้นถูกส่งเสริมโดยการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมครั้งละจำนวนมาก และมักจะเป็นการค้าระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล ส่วนเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารนั้นมักจะถูกขับเคลื่อนโดยกลไกตลาด ซึ่งขึ้นอยู่กับการเริ่มต้นในอุตสาหกรรม และกลยุทธ์ในการเจาะตลาดแบบเฉพาะเจาะจง นาย Doug Ferguson หัวหน้าของ KPMG Asia business group กล่าวว่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายสำหรับสินค้าอาหารจากออสเตรเลียนั้นปรากฏให้เห็นถึงการพัฒนาไปเป็นพฤติกรรมการบริโภคแบบชาวตะวันตกมากขึ้น และจะขยายตัวถึง 630 ล้านคนในปี 2022

ประเทศออสเตรเลีย สคร.ซิดนีย์

สำนักพัฒนาตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและเอเชีย (สออ.) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

Email : intmk@ditp.go.th Website : www.ditp.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ