กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดประชุมการพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน-จีน-ไทย สรุปได้ว่าภายหลังปี ค.ศ. 1911 เป็นต้นมา จีน และไต้หวันก็มีความสัมพันธ์บนพื้นฐานของความขัดแย้ง และแย่งชิงประเทศพันธมิตรผ่านทางการทูตกันเรื่อยมา จนกระทั่งปี ค.ศ. 1992 จีนและไต้หวันได้บรรลุหลักฉันทามติร่วมกัน (1992 Consensus) ที่จะให้มีจีนเพียงหนึ่งเดียว(One China) ทำให้ความสัมพันธ์ของจีนและไต้หวันมีการพัฒนาในทางที่ดีขึ้น และในปี ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) เป็นต้นมา จีนได้ประกาศแนวทาง 6 ประการในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบไต้หวัน ประกอบด้วย (1) การยึดมั่นในนโยบายจีนเดียว (2) การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจทางการเมือง (3) การเน้นการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (4) การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประชาชนระหว่างกัน (5) การยุติความไม่เป็นมิตรและบรรลุข้อตกลงด้านสันติภาพระหว่างกัน และ (6) การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยให้อิสรภาพกับไต้หวันในเวทีนานาชาติ(International space) มากขึ้น ซึ่งนโยบายดังกล่าวของจีน ทำให้การดำเนินการทางการทูตระหว่างไทยกับไต้หวันเป็นไปด้วยความยากลำบากและไม่เป็นทางการเพราะเกรงว่าอาจมีผลกระทบกับนโยบายด้านการต่างประเทศกับจีนได้ ทั้งนี้ยังส่งผลให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยเกิดความสับสนในเรื่องสิทธิและข้อควรปฏิบัติในการติดต่อหารือหรือการเยือนไต้หวัน ทำให้การค้าการลงทุนเป็นไปในทิศทางที่ค่อนข้างช้า
การทบทวนความสัมพันธ์ของไทยกับไต้หวัน
ในที่ประชุมดังกล่าว ผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับไต้หวันและต่างเห็นพ้องให้ไทยมีการทบทวนและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับไต้หวันทั้งทางด้านภาคการศึกษา และการพัฒนาความสัมพันธ์ในเชิงรุกให้มากขึ้น รวมทั้งควรปรึกษาหารือร่วมกับภาคเอกชน เพื่อให้รับทราบความต้องการของภาคเอกชนที่แท้จริง
อย่างไรก็ตาม การยกระดับความสัมพันธ์กับไต้หวันให้เท่ากับจีน อาจส่งผลกระทบต่อไทยในการย้ายฐานการผลิตจากไทยไปยังประเทศอาเซียนอื่นๆ ได้ดังนั้น ไทยควรจัดทำ FTA ร่วมกับไต้หวัน เพื่อช่วยลดช่องว่างการขาดดุลการค้ากับไต้หวัน และเน้นการพัฒนาความสัมพันธ์ในรูปแบบความร่วมมือข้อตกลงทางการค้าการลงทุน (Trade Corporation Agreement) เป็นแบบเฉพาะจุด (point by point) เพื่อให้การดำเนินการที่เกี่ยวข้องมีประสิทธิภาพสูงสุด กอปรกับไม่มีนัยสำคัญในด้านการเมือง และละเมิดนโยบายจีนเดียวอีกด้วย
ข้อสังเกตจากที่ประชุม
ปัจจุบันสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไต้หวัน มีแนวโน้มปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นมาก และหลายประเทศก็เริ่มพัฒนาความสัมพันธ์กับไต้หวันมากขึ้นเช่นเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศจึงมีแนวคิดที่จะปรับแนวปฏิบัติของหน่วยงานราชการในการติดต่อกับฝ่ายไต้หวัน ซึ่งจะนำมาสู่ความร่วมมือทางด้านการค้า การลงทุน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ไทยยังไม่มีกลไกการหารือกับไต้หวันอย่างเป็นทางการ สำหรับการประชุมครั้งนี้ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะจัดประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เพื่อหาข้อสรุปสำหรับแนวทางการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของไทยต่อไต้หวัน
ประเทศไต้หวัน
สำนักพัฒนาตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและเอเชีย (สออ.) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
Email : intmk@ditp.go.th Website : www.ditp.go.th