รัฐบาลญี่ปุ่นจะยกเลิกการอุดหนุนข้าวในปี 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 12, 2014 14:01 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ให้การอุดหนุนและปกป้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมายาวนาน โดยรัฐบาลได้มีโครงการจำกัดการปลูกข้าวให้มีปริมาณไม่เกินที่รัฐบาลกำหนดมาตั้งแต่ปี 2514 เพื่อให้ราคาข้าวสูงขึ้น เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น ต่อมาเมื่อปี 2553 รัฐบาลได้ออกมาตรการลงโทษเกษตรกรที่ไม่ลดการปลูกข้าวลง แต่พบว่านโยบายที่ผ่านมาไม่ช่วยให้ภาคเกษตรกรรมของญี่ปุ่นเติบโตขึ้นได้

นายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ ของญี่ปุ่น เตรียมเสนอยกเลิกการให้การอุดหนุนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวต่อรัฐสภาในช่วงการเปิดสมัยประชุมในต้นปี 2557 โดยจะลดวงเงินอุดหนุนลง และยกเลิกให้หมดภายในปี 2561 ซึ่งภายใต้แผนการดำเนินงานครั้งนี้ รัฐบาลจะลดวงเงินอุดหนุนให้แก่เกษตรกรที่ลดการปลูกข้าวลง โดยในปีงบประมาณ 2557 (1 เม.ย.) จะลดวงเงินอุดหนุนลงจาก 15,000 เยน ต่อ 1,000 ตารางเมตร เหลือ 7,500 เยน และภายในปี 2561 จะไม่มีการให้เงินอุดหนุนอีกต่อไป เนื่องจากนโยบายใหม่ต้องการให้ปลูกข้าวเป็นลักษณะไร่ขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น ทำให้ขัดแย้งกับนโยบายที่ผ่านมา ที่ปกป้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอย่างเท่าเทียมกัน จนทำให้ที่ผ่านมาเกษตรกรพึ่งพารัฐบาลเป็นหลัก และไม่มีการแข่งขันเกิดขึ้น ทำให้ระบบเกษตรกรรมของญี่ปุ่นตกต่ำลง

อย่างไรก็ดี รัฐบาลจะสนับสนุนให้หันมาปลูกข้าวเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์แทน เนื่องจากญี่ปุ่นนำเข้าข้าวโพดซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของอาหารสัตว์ปีละ 10 ล้านตัน จากสหรัฐฯ และบราซิลเป็นหลัก และจากภาวะราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกผันผวน ประกอบกับผลผลิตสินค้าเกษตรได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมไม่ให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์ในอนาคต

ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีผู้ปลูกข้าวจำนวน 980,000 ราย ที่จำกัดการปลูกข้าวตามนโยบายของรัฐบาล หรือคิดเป็นร้อยละ 26 และในปี 2554 การบริโภคข้าวของญี่ปุ่นลดลงเหลือ 1.85 ล้านล้านเยน จากที่มีมูลค่าสูงถึง 3.9 ล้านล้านเยน ในปี 2527 เนื่องจากความนิยมบริโภคตามอย่างชาติตะวันตกเพิ่มมากขึ้น โดยตั้งแต่ปี 2514 รัฐบาลได้ใช้เงินอุดหนุนโครงการข้าวไปแล้วถึง 8 ล้านล้านเยน ดังนั้น การปลูกข้าวเพื่อเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ เป็นแนวทางหนึ่งที่จะไม่กระทบต่อรายได้ของเกษตรกร ซึ่งในปัจจุบันมีความต้องการใช้ข้าวเป็นอาหารสัตว์ประมาณ 4.53 ล้านตันต่อปี

อีกทั้ง การที่ญี่ปุ่นได้เข้าร่วมเจรจาเปิดตลาดภายใต้กรอบ TPP (TransPacific Strategic Economic Partnership Agreement) นั้น ประเทศสมาชิกจะต้องลดภาษีนำเข้าลง โดยเฉพาะข้าว เป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหวที่สุด ซึ่งภาษีนำเข้าสูงถึงร้อยละ 778 รัฐบาลญี่ปุ่นจึงถูกต่อต้านและมีเสียงคัดค้านจากกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบมาตลอด จึงต้องเตรียมความพร้อมดำเนินมาตรการที่จะให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรน้อยที่สุด และสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรเพื่อรองรับการแข่งขันด้านราคาจากสินค้านำเข้าให้ได้ รวมทั้งอาจจะมีมาตรการที่ให้สวัสดิการแทน โดยหวังว่าจะจูงใจให้มีชาวนารุ่นใหม่เข้ามาในระบบมากยิ่งขึ้น ซึ่งการปฏิรูปครั้งนี้ ถือเป็นการวัดความสำเร็จของรัฐบาลที่จะต้องทำงานให้เห็นผลอีก 3 ปีข้างหน้า หากพรรค LDP ต้องการกลับมาเป็นรัฐบาลอีกสมัยหน้า

ประเทศญี่ปุ่น สคร.ฟูกูโอกะ

สำนักพัฒนาตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและเอเชีย (สออ.) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

Email : intmk@ditp.go.th Website : www.ditp.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ