ตลาดไวน์ในอินเดีย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 10, 2014 14:13 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ปัจจุบันคนอินเดียสนใจดื่มไวน์มากขึ้น โดยเมืองหลักๆที่มีการบริโภคไวน์มากที่สุด คือ เมืองมุมไบ รองลงมาคือ กรุงนิวเดลี เมืองบังกาลอร์ และเมืองอื่นๆ เนื่องจากผู้บริโภคอินเดียได้รับอิทธิพลจากการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ อย่างแพร่หลายและจากประสบการณ์ในการเดินทางในต่างประเทศมากขึ้น จากการสำรวจกลุ่มผู้บริโภคไวน์ในอินเดีย พบว่า กลุ่มผู้หญิงที่มีฐานะร่ำรวยที่มีอายุระหว่าง 30-50 ปีเป็นกลุ่มหลักในการดื่มไวน์ เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงสถานะทางสังคมและความทันสมัย จึงส่งเสริมตลาดไวน์ให้เพิ่มจำนวนมากขึ้นในอินเดีย ในปี 2012 มียอดจำหน่ายปริมาณ 18.05 ล้านลิตร หรือคิดเป็นมูลค่า 13,758.7 ล้านรูปี อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2011 ร้อยละ 10.31 ในแง่ปริมาณและร้อยละ 11.92 ในแง่มูลค่า ประเภทของไวน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในอินเดียคือ ไวน์ชนิดไม่มีฟอง หรือ Still Wine ซึ่งมียอดจำหน่ายในปี 2012 ถึง 10.56 ล้านลิตร โดยประกอบด้วยไวน์แดงและไวน์ขาว และไวน์ชมพูหรือไวน์โรเซ่ ซึ่งเป็นไวน์ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก ทั้งนี้ ไวน์แดงจะมีอัตราการขยายตัวสูงกว่าไวน์ขาว เพราะในอินเดียมีความเชื่อว่าไวน์แดงมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าไวน์ชนิดอื่น ส่วนไวน์ที่มีฟอง หรือ Sparkling Wine เป็นไวน์ประเภทแชมเปญที่คนส่วนใหญ่ยึดติดว่าเหมาะสำหรับการดื่มเฉลิมฉลองเฉพาะในเทศกาลเท่านั้น จึงทำให้ยอดจำหน่ายแชมเปญไม่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว สำหรับไวน์ที่ได้รับความนิยมอันดับสองรองลงมา คือ กลุ่มไวน์ฟอร์ติไฟด์และไวน์เวอร์มุธ ซึ่งในตลาดอินเดียจะเป็น Indian Port Wine ทั้งหมด ถือเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดไวน์ของอินเดียอีกผลิตภัณฑ์หนึ่ง เนื่องจากมียอดจำหน่ายอยู่ในระดับสูงทั้งในแง่ปริมาณและมูลค่า

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในปี 2017 อินเดียจะสามารถจำหน่ายไวน์ได้ปริมาณถึง 30.30 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่า 19,253.70 ล้านรูปี โดย India Port Wine จะเป็นไวน์ที่มียอดจำหน่ายสูงที่สุดโดยจะมีอัตราขยายตัวของปริมาณยอดขายเฉลี่ยในอัตราร้อยละ 15.30 ต่อปี และยอดขายในปี 2017 จะมีปริมาณ 14.40 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่า 3,479.30 ล้านรูปี ขณะที่ไวน์แดงจะมีปริมาณขายเท่ากับ 8.40 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่า 7,047.5 ล้านรูปี มีอัตราการขยายตัวของปริมาณยอดขายเฉลี่ยร้อยละ 7.80

ประเทศอินเดีย สคร. มุมไบ

Email: newmarket@ditp.go.th Website: www.ditp.go.th

--สำนักพัฒนาตลาดใหม่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ