รายงานผลการเยือนงานแสดงสินค้า Miami Beach Jewelry & Watch Show

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 14, 2018 16:01 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ชื่องาน: Miami Beach Jewelry & Watch Show
สถานที่: One Herald Plaza เมืองไมอามีรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา
วัน/เวลา: ระหว่างวันที่ 1-4 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 11.00 – 19.00 น.
ค่าเข้าชมงาน: 20 เหรียญฯ ต่อคน
จำนวนคูหา: 125 คูหา จาก 17 บริษัททั่วโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา อาร์เจนตินา สวิสเซอร์แลนด์ อิตาลี สเปน เนเธอร์แลนด์ เยอรมันออสเตรีย เดนมาร์ก โมนาโค เบลเยี่ยม อิสราเอล อินเดีย ดูไบ และฮ่องกง
ข้อมูลงาน:

1. จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 งานดังกล่าวเป็นงานแสดงสินค้าเครื่องประดับและนาฬิกาในเมืองไมอามี เป็นงานที่จัดแสดงสินค้าเครื่องประดับหลากหลายชนิดทั้งที่เป็นของใหม่และของเก่า รวมถึงนาฬิกายี่ห้อต่าง เฟอร์นิเจอร์โบราณภาพเขียน รวมถึงกระเป๋าถือมือสอง ซึ่งจะมีนักสะสมและผู้ค้าของเก่า (dealer) เดินทางมาเข้าชมงานจากทั่วสหรัฐฯ

2. ผู้จัดงานดังกล่าวคือบริษัท A Palm Beach Show Group Event จะเวียนจัดงานลักษณะดังกล่าวไปตามเมืองต่างๆ ได้แก่

  • Las Vegas Estate Jewelry & Watch Show ระหว่างวันที่ 1-4 มิถุนายน 2561
  • Baltimore Art, Antique & Jewelry Show ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม – 2 กันยายน 2561
  • Baltimore Fine Craft Show ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม – 2 กันยายน 2561
  • New York City Jewelry & Watch Show ระหว่างวันที่ 26-29 ตุลาคม 2561
  • Palm Beach Art, Antique & Design Show ระหว่างวันที่ 14-16 ธันวาคม 2561
  • LA Art Show ระหว่างวันที่ 23-27 มกราคม 2562
  • Miami Beach Jewelry & Watch Show ระหว่างวันที่ 31 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2562
  • Palm Beach Jewelry, Art & Antique Show ระหว่างวันที่ 13-19 กุมภาพันธ์ 2562
  • Palm Beach Fine Craft Show ระหว่างวันที่ 15-17 กุมภาพันธ์ 2562
  • Naples Art, Antique & Jewelry Show ระหว่างวันที่ 22-26 กุมภาพันธ์ 2562

3. สินค้าที่จัดแสดงในงานเป็นสินค้าเครื่องประดับและนาฬิกาโบราณเกือบร้อยละ 80 โดยเป็นสินค้าจากแบรนด์ดังๆ ได้แก่ Graff, Harry Winston, David Webb, Van Cleff & Arpels, Cartier, Tiffany &Co., Bugari เป็นต้น

4. นักสะสมเครื่องประดับโบราณในสหรัฐอเมริกามีจำนวนมากมาย และสร้างมูลค่าให้แก่ของโบราณเหล่านี้ได้โดยเฉพาะมีการประมูลที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ เช่น Sotheby’s หรือ Christie’s

สรุปข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

ตลาดของนักสะสมเครื่องประดับโบราณเริ่มขึ้นเมื่อช่วงปี 2530 เมื่อเครื่องประดับที่ดยุคแห่งวินด์เซอร์ได้มอบให้แก่ดัชเชสของเขา (นาง Wallis Simpson) ได้ถูกนำไปประมูลที่ Sotheby's และขายได้ในราคากว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่า 6 เท่าของตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

บริษัทประมูลเครื่องประดับรายใหญ่ๆ จึงกลายเป็นช่องทางการขายสำหรับเครื่องประดับที่มีเรื่องราวเครื่องประดับหายาก และเครื่องประดับที่ทำด้วยมือเพียงชิ้นเดียว และอาจทำให้เกิดการลงทุนด้วยเช่นกันส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของความมั่งคั่งทั่วโลกและการเพิ่มขึ้นของผู้หญิงที่มีอิสระทางการเงินในการซื้อเครื่องประดับสำหรับตัวเอง ยอดขายเครื่องประดับของ Sotheby มีมูลค่า 571 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2558 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 46 จาก 390 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2554

ในโลกของเครื่องประดับเก่าและของโบราณ ที่นักสะสมยังคงมองหาคงจะเป็นของผู้ผลิตที่มีชื่อเสียงเช่น Bulgari, Cartier และ Van Cleef & Arpels โดยเฉพาะเครื่องประดับของ Van และ Bulgari ในช่วงกลางศตวรรษที่ 1970 เป็นที่ต้องการอย่างมาก ส่วนกลุ่ม Art Deco ยังคงเป็นอมตะและเป็นที่ต้องการอยู่เสมอรวมถึง Cartier และ Rothko ที่ถือเป็นการลงทุนชนิดหนึ่งด้วย โดยเฉพาะชื้นที่ชื่อว่า "Tutti Frutti" ของ Cartier ที่มีมูลค่าถึง 2.1 ล้านเหรียญฯ เมื่อปี 2557

ตลาดเครื่องประดับเก่าหรือโบราณส หรับชาวอเมริกันเปรียบเสมือนงานศิลปะ และนับเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะชิ้นที่มีประวัติความเป็นมา ประกอบกับบางครั้งวัตถุดิบบางอย่างไม่สามารถหาได้อีกแล้วเหมือนกับวัตถุดิบของโบราณ ดังนั้นอาจมีการซื้อเครื่องประดับเก่ามาขึ้นตัวเรือนใหม่ให้ดูทันสมัยขึ้น ซึ่งในปัจจุบันกลุ่ม Millennials คู่รักหนุ่มสาวอเมริกันเริ่มหันมานิยมท แหวนหมั้นที่ประดับด้วยพลอยมากกว่าเพชร เช่น ทับทิม หยก และไพลิน เนื่องจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ความเชื่อในเรื่องประเพณีโบราณที่จะต้องมี “ของเก่า” ผสมกับ “ของใหม่” และแนวคิดเรื่อง eco–friendly ที่ผสมผสานเข้ามาในการใช้ชีวิตปัจจุบันด้วย

ผู้ประกอบการไทยที่ขายเครื่องประดับเก่าจะเป็นอีกช่องทางตลาดหนึ่งในการเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ทั้งสินค้าที่เป็นเครื่องประดับเก่าหรือโบราณจริง หรือเป็นสินค้าที่ออกแบบแนวโบราณ เช่น แนว Art Deco ทั้งนี้เครื่องประดับเหล่านี้จะต้องมีใบรับรองกำกับจาก GIA จึงจะได้รับความน่าเชื่อถือจากผู้ซื้อ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองไมอามี

ที่มา: www.ditp.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ