สรุปภาวะการค้าไทย-ออสเตรเลียปี 2550 (ม.ค.-ก.ย.) โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 29, 2007 12:07 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. สถิติการนำเข้าของออสเตรเลียจากไทย 
ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2550 ออสเตรเลียนำเข้าจากไทยเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 40.95 คิดเป็นมูลค่านำเข้าในปีนี้ถึง 4,646.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยครองตลาดเป็นลำดับที่ 7 มีสัดส่วนตลาดร้อยละ 4.12 เป็นรองจาก จีน (14.88%) สหรัฐฯ (13.0 %) ญี่ปุ่น (9.34%) สิงคโปร์ (5.51%) เยอรมนี (5.18%) และ สหราชอาณาจักร (4.85%) ตามลำดับ ทั้งนี้ อัตราขยายตัวของการนำเข้าจากไทยสูงเป็นอันดับที่ 1 ในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกจากอาเซียนทั้งสิบประเทศ และสูงกว่าอัตราเติบโตเฉลี่ยของการนำเข้าของออสเตรเลียจากทั่วโลก (ร้อยละ 16.6)
อย่างไรก็ดี เมื่อดูตัวเลขการนำเข้าเป็นรายเดือนพบว่า เดือนกันยายน เป็นเดือนที่มีมูลค่าการนำเข้าจากไทยสูงที่สุด คือ 599.01 ล้านเหรียญฯ เดือนที่มีการนำเข้าจากไทยสูงรองลงมา คือเดือนกุมภาพันธ์ หรือเท่ากับ 585 ล้านเหรียญฯ และเดือนที่มีการนำเข้าต่ำสุดในช่วงเก้าเดือนของปี 2550 คือ เดือนเมษายน มีมูลค่าเพียง 431.42 ล้านเหรียญฯ
2. สินค้านำเข้าสำคัญจากไทย (ใน 10 อันดับแรก)
ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2550 สินค้านำเข้าสำคัญจากไทยยังคงเป็นสินค้าในหมวดยานยนต์ (ร้อยละ 44.33 ของการนำเข้าจากไทยทั้งหมด) คิดเป็นมูลค่ารวม 2,059.62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นพิกัดภาษีที่ 8703-4 ซึ่งในพิกัด 8703 นั้น ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 118 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา อันดับสองได้แก่ เครื่องจักรและ เครื่องใช้กล ซึ่งส่วนใหญ่ได้ แก่ เครื่องปรับ-อากาศ คิดเป็นมูลค่านำเข้ารวมในกลุ่มนี้เท่ากับ 609.84 ล้านเหรียญฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.13 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 22.99
อันดับสามได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งมีมูลค่านำเข้ารวม 391.21 ล้านเหรียญ-สหรัฐฯ และมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 8.42 ของสินค้านำเข้าจากไทยทั้งหมด ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็คโทร-นิกส์ และชิ้นส่วน มีสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 6.37 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 26.7 กลายเป็นสินค้านำเข้าสำคัญอันดับสี่ อันดับที่ห้า ได้แก่ หมวดอาหาร ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ปลาเป็นสินค้านำเข้าสำคัญในหมวดนี้ โดยการนำเข้าสินค้าดังกล่าวมีการขยายตัวในอัตราร้อยละ 17.28
3. การส่งออกของออสเตรเลียไปไทย
ไทยจัดได้ว่าเป็นตลาดสำคัญอันดับ 9 ของออสเตรเลีย คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,787 ล้านเหรียญ-สหรัฐฯ ในช่วงเก้าเดือนแรกของปีนี้ หรือเท่ากับร้อยละ 2.71 เมื่อเทียบกับตลาดการส่งออกทั้งหมดของออสเตรเลีย การส่งออกไปยังประเทศไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.34 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยตลาดหลักของออสเตรเลียยังคงเป็นญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ อินเดีย และสหรัฐฯ ตามลำดับ
สินค้าส่งออกหลักของออสเตรเลีย (ร้อยละ 54 ของการส่งออกทั้งหมด) ได้แก่ แร่ธาตุและเชื้อเพลิง อาทิ ถ่านหิน แร่เหล็ก ทองคำ น้ำมันและแก๊ส อลูมิเนียม แร่ทองแดง เป็นต้น
ในส่วนของสินค้าที่ส่งออกไปไทยในอันดับแรกอยู่ในหมวดแร่ธาตุและเชื้อเพลิง รองลงมาได้แก่ อลูมิเนียม ทองคำ ทองแดง สินค้าในกลุ่มยารักษาโรค และเวชภัณฑ์ เหล็ก เครื่องจักรและเครื่องใช้กล สังกะสีและผลิตภัณฑ์ ตามลำดับ ส่วนการนำเข้าผลิตภัณฑ์เกษตร ผลิตภัณฑ์นม น้ำผึ้ง ไข่ และสินค้าที่นำไปใช้ในการผลิตเพื่อส่งออก เช่น ฝ้ายและขนสัตว์ มีสัดส่วนการนำเข้าลดลงจากปีที่ผ่านมา ถึงร้อยละ 14 และร้อยละ 50 ตามลำดับ
4. ดุลการค้าระหว่างไทย-ออสเตรเลีย
ในช่วงเก้า เดือนแรกของปี 2550 ออสเตรเลียขาดดุลการค้ากับทั่วโลกคิดเป็นมูลค่าเกือบหนึ่งหมื่นล้านเหรียญฯ (9,915 ล้านเหรียญฯ) เพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 48.56 โดยประเทศที่ออสเตรเลียขาดดุลการค้าด้วยมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐฯ กว่า 8.7 พันล้านเหรียญฯ เยอรมนี 4.9 พันล้านเหรียญฯ สิงคโปร์ 3.7 พันล้านเหรียญฯ จีน 2 .6 พันล้านเหรียญฯ มาเลเซีย 2.5 พันล้านเหรียญฯ อิตาลี 2 พันล้านเหรียญฯ สหราชอณาจักร 1.9 พันล้านเหรียญฯ และไทย 1.8 พันล้านเหรียญฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2549 ถึงร้อยละ 134
ในขณะเดียวกัน ออสเตรเลียได้ดุลการค้ากับญี่ปุ่นมากเป็นอันดับหนึ่ง มูลค่าเก้าพันล้าน-เหรียญฯ ตามมาด้วยอินเดีย 5.2 พันล้านเหรียญฯ เกาหลีใต้ 4.5 พันล้านเหรียญฯ และนิวซีแลนด์ 2.1 พันล้านเหรียญฯ เป็นต้น
5. ประเทศคู่แข่งสำคัญของไทย
(1) หมวดสินค้าอุตสาหกรรม
- ยานยนต์ ในหมวดนี้โดยรวม ออสเตรเลียนำเข้าจากไทยเป็นอันดับสอง โดยมีประเทศญี่ปุ่นเป็นอันดับหนึ่ง ประเทศคู่แข่งสำคัญของไทยนอกจากญี่ปุ่น ได้แก่ สหรัฐเยอรมนี และเกาหลีใต้ ตามลำดับ โดยในหมวดสินค้ารถบรรทุกปิกอัพ (HS 8704) ออสเตรเลียนำเข้าจากไทยเป็นลำดับที่ 1 มีมูลค่าการนำเข้า 1.2 พันล้านเหรียญฯ มีสัดส่วนตลาดที่ร้อยละ 37.26 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 61.18 ในขณะที่ หมวดสินค้ารถยนต์ส่วนบุคคล (HS 8703) ออสเตรเลียนำเข้าจากไทยเป็นลำดับที่ 4 มีสัดส่วนตลาดที่ร้อยละ 8.39 ประเทศคู่แข่งสำคัญของไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี และสหรัฐ
- เครื่องปรับอากาศ (HS 8415) ประเทศคู่แข่ง ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ โดยออสเตรเลียนำเข้าจากไทยเป็นลำดับที่หนึ่ง มีมูลค่ารวม 210 ล้านเหรียญฯ และมีสัดส่วนตลาดสูงถึงร้อยละ 41.84
- ชิ้นส่วนยานยนต์ (HS : 8708) ได้แก่ สหรัฐญี่ปุ่น เยอรมนี จีน สวีเดน ไต้หวัน เกาหลีใต้ เม็กซิโก และฝรั่งเศส โดยออสเตรเลียนำเข้าจากไทยเป็นลำดับที่ห้า มีสัดส่วนตลาดอยู่ที่ร้อยละ 6.87 และรวมเป็นมูลค่า 99 ล้านเหรียญฯ โดยมีอัตราขยายตัวจากปีที่แล้ว ถึงร้อยละ 86
(2) หมวดสินค้าเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรม
- เนื้อปลาที่ผ่านการแปรรูปแล้ว (HS : 1604) ไทยเป็นผู้ครองตลาดอันดับหนึ่ง รวมเป็นมูลค่า 105.4 ล้านเหรียญฯ มีสัดส่วนตลาดเกินกว่าร้อยละ 51 คู่แข่งที่สำคัญของไทยได้แก่ สหรัฐฯ นิวซีแลนด์ แคนาดา และมาเลเซีย เป็นต้น
- ข้าวสาร(HS 1006) กว่าร้อยละ 92.1 ของการนำเข้าของออสเตรเลียเป็นข้าวสารที่ผ่านการสีแปรสภาพแล้ว (semi/milled) โดยมีเพียงเล็กน้อยที่เป็นข้าวหัก โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับหนึ่ง รวมเป็นมูลค่า31.8 ล้านเหรียญฯ มีสัดส่วนตลาดร้อยละ 58.37 ตามด้วย ปากีสถาน อินเดีย และ สหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ คู่แข่งสำคัญของไทยแต่เดิมคือเวียดนามได้ประสบปัญหาเรื่องการผลิตจึงทำให้ตัวเลขการส่งออกของเวียดนามมีเพียงร้อยละ 1.1 ของตลาดออสเตรเลีย
- กุ้งและผลิตภัณฑ์กุ้ง (HS: 0306) ปัจจุบัน ออสเตรเลียนำเข้าจากไทยเป็นลำดับที่สอง มูลค่า 32.3 ล้านเหรียญฯ มีสัดส่วนตลาดเพียงร้อยละ 21.45 น้อยลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.6 โดยมีคู่แข่งสำคัญอันดับหนึ่ง คือ เวียดนาม ตามมาด้วย จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย อย่างไรก็ดี พบว่า ในปีนี้ส่วนแบ่งการตลาดของเวียดนามได้ลดลงร้อยละ 1 ในขณะที่ ออสเตรเลียหันไปนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นกว่า ร้อยละ 50 ของช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ