สถานการณ์สิ่งทอในอิตาลีปี 2007

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 17, 2007 11:29 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ภาพรวม:
สินค้าสิ่งทอในอิตาลีมีชื่อเสียงมานาน เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก และเป็นที่ยอมรับในด้านคุณภาพและดีไซน์ อีกทั้งอิตาลีเป็นผู้นำด้านสินค้าแฟชั่นและเป็นผู้กำหนดรูปแบบสินค้าของแต่ละฤดูกาล ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงอุตสาหกรรมแฟชั่นที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่วัตถุดิบ/สี จนถึงสินค้าสำเร็จรูป อุตสาหกรรมสิ่งทอจึงมีบทบาทสำคัญในอิตาลี ทั้งในด้านการค้า และการจ้างแรงงาน โดยมีจำนวนคนงานในสาขานี้ประมาณ 3 หมื่นคน
ในปี 2549 อุตสาหกรรมสิ่งทอของอิตาลีเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อย หลังจากที่ค่อนข้างคงที่มา 5 ปี โดยมีมูลค่าการค้ารวมประมาณ 9 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 โดยเป็นการส่งออกถึง 2 ใน 3 ของมูลค่าสินค้าทั้งอุตสาหกรรม ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งของอิตาลีที่เน้นการส่งออก โดยอิตาลีเป็นผู้ส่งออกสำคัญอันดับ 2 รองจากจีนและในปี 2550 สถานการณ์สินค้าสิ่งทออิตาลียังคงมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า
การผลิต:
แหล่งผลิตสำคัญของอิตาลีได้แก่ แคว้น Lombardy, Tuscany, Emillia R., Veneto, Pulia และ แคว้น Campania
ในปี 2549 มีผู้ผลิตประมาณ 3,700 บริษัท ทั้งนี้ ร้อยละ 85 เป็น SME แต่ละโรงงานมีคนงานประมาณ 7-8 คน มูลค่าการผลิต 7.26 พันล้านยูโร แบ่งเป็น
- Wool fabrics สัดส่วนร้อยละ 32.4
- Cotton fabrics สัดส่วนร้อยละ 32.3
- Silky fabrics สัดส่วนร้อยละ 16.3
- Knitted fabrics สัดส่วนร้อยละ 14.7
- Linen fabrics สัดส่วนร้อยละ 4.3
ทั้งนี้ ผ้าผืนที่มีแนวโน้มการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดได้แก่ Linen fabrics (+5.8%), Knitted fabrics(+4.5%), Wool fabrics(+3.4%) และ Silky fabrics(+2.4%) สำหรับการผลิตผ้าฝ้าย มีแนว โน้มการผลิตลดลง (-2.5%) โดยมีสาเหตุหลักจากการนำเข้าผ้าฝ้ายจำนวนมาก ถึงร้อยละ 50 ของการนำเข้าผ้าผืน โดยเฉพาะสินค้าผ้าผืนสำหรับใช้ในบ้าน
ปี 2550 สถานการณ์การผลิตสินค้าสิ่งทอมีแนวโน้มดีขึ้นซึ่งต่อเนื่องมาจากปี 2549 โดยเฉพาะการผลิตเพื่อการส่งออกสินค้าระดับ High-End มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น ซึ่งได้แก่ ผ้าไหม และผ้าขนสัตว์ ส่วนการผลิตเพื่อใช้ในประเทศสินค้าประเภท Cotton fabrics และ Carded woolens นั้นมีแนวโน้มลดลง รวมทั้งการผลิตสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูประดับกลาง-ล่าง เพื่อการ บริโภคในประเทศ นั้นก็มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวสูงมาก และราคาถูกกว่าการผลิตในประเทศ โดยเฉพาะนำเข้าจากประเทศคู่แข่งอย่างจีน
ตาราง การขยายตัวการผลิตสิ่งทอในอิตาลี มกราคม-มิถุนายน 2550
ไตรมาสที่หนึ่ง ไตรมาสที่สอง
อัตราการเปลี่ยนแปลงรวม 0.0 -3.5
Subdivision
ผ้าฝ้าย(Cotton fabrics) -0.9 -0.5
ขนแกะที่สางแล้ว(Carded woolens) -2.6 -9.0
ผ้าขนแกะเนื้อละเอียด(Worsted woolens) 7.2 0.5
ผ้าคล้ายไหม(Silky fabrics) 1.8 0.0
ผ้าถักแบบนิต(Knitted fabrics) -2.7 0.0
Source:SMI-ATI on Istat data
การบริโภค:
สินค้าสิ่งทอไม่ใช่สินค้าสำหรับผู้บริโภคลำดับสุดท้าย เนื่องจากเป็น สินค้าอุตสาหกรรมที่ต้องนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปอีกต่อหนึ่ง ดังนั้น ความต้องการสินค้าดังกล่าวจึงมาจากผู้ผลิตและผู้นำเข้าเป็นหลัก ทั้งนี้ ความต้องการสินค้าในประเทศเริ่มฟื้นตัวและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2549 (+7.8%) โดยเฉพาะในกลุ่ม Medium และ High - End Fabrics ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเพิ่มการผลิตเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายภายในประเทศ โดยใช้ผ้าผืนดังกล่าวมากขึ้น ทั้งนี้ สินค้าส่วนหนึ่งมาจากการนำเข้าวัตถุดิบและนำมาพัฒนาคุณสมบัติเพื่อให้ได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการ จากนั้นจึงจัดส่งไปยังโรงงานเพื่อแปรรูป ตัดเย็บ ต่อไป
การบริโภคภายในประเทศขึ้นอยู่กับการส่งออกและการขายสินค้าสำเร็จรูป สำหรับแนวโน้มของปี 2550 โดยเฉลี่ยยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อน สำหรับผ้าผืนระดับ กลาง-ล่างมีแนวโน้มนำเข้ามากขึ้นโดยเฉพาะ Cotton และ Knitting Fabric โดยนำเข้ามากจาก ประเทศจีน ตุรกี เยอรมัน
การส่งออก:
อิตาลียังคงครองอันดับ 2 ของผู้ส่งออกสินค้าผ้าผืนรองจากจีน มีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 10 ในตลาดโลก และเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งสินค้าผ้าผืนคุณภาพระดับ Hi-End
หลายปีที่ผ่านมา การส่งออกสิ่งทอของอิตาลีมีแนวโน้มลดลง แต่ในปี 2549 อิตาลีส่งออกได้ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า เป็นมูลค่า 6 พันล้านยูโร และใน 4 เดือนแรกของปี 2550 สามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้น 2.3% โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Knitted fabrics(+12.6%), Silky fabrics(+8.1%) และ Wool fabrics(+4.3%) อย่างไรก็ตาม Cotton fabrics และ Linen production มีแนวโน้มไม่สดใสนัก โดยส่งออกลดลงร้อยละ —5.4 และ —6.3 ตามลำดับ
ทั้งนี้ ตลาดส่งออกหลักของอิตาลี ได้แก่ เยอรมัน ฝรั่งเศส ตูนีเซีย และสเปน โดยในปี 2550 มีแนวโน้มการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากประเทศคู่ค้าเก่าแก่ เช่น เยอรมัน(+4.2%) และฝรั่งเศส(+16.4%) ที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าสินค้าในกลุ่ม High-End ของ Knitted fabrics และ Wool fabrics
สำหรับตลาดนอกยุโรปที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและเป็นคู่ค้าที่ดีของอิตาลีมาตลอดได้แก่ Tunisia Morocco (+35%) และ Turkey(+12.3%) นอกจากนั้น แม้ว่าสินค้า Made-In-Italy จะมีราคาค่อนข้างสูง เนื่องจากค่าเงินยูโรแข็ง ตลาดใหม่ในเอเซีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีและต่อเนื่อง โดยเฉพาะจีนและฮ่องกง (+5.7%) ซึ่งอิตาลีมองว่าสองประเทศดังกล่าวจะเป็น Third Market Outlet ของสินค้า Made-In-Italy ได้ในอนาคต
การส่งออกมาไทย การส่งออกสิ่งทอของอิตาลีมาไทยในหลายปีที่ผ่านมาค่อนข้างคงที่ ในปี 2549 ส่งออกเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3 คิดเป็นมูลค่า 48 ล้านยูโร ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2550 ส่งออกเพิ่มเพียงร้อยละ 0.5 คิดเป็นมูลค่า 15 ล้านยูโร โดยส่วนใหญ่เป็น เส้นไยขนสัตว์ เส้นไยฝ้าย ผ้าขนสัตว์ เส้นไยสังเคราะห์ และผ้าถักโคเชร์
การนำเข้า:
มีการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นมากใน ปี 2549 ขยายตัวถึงร้อยละ 8.5 ขณะที่การส่งออกในปีดังกล่าวติดลบร้อยละ 0.1 ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากมีการผลิตและการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น โดยในปี 2549 อิตาลีมีมูลค่าการนำเข้า 1.9 พันล้านยูโร ตลาดนำเข้าหลัก ได้แก่ จีน ตุรกี และเยอรมัน
ใน 4 เดือนแรกของปี 2550 มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 โดยนำเข้าจากจีน 1 ใน 5 ของมูลค่าการนำเข้ารวม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผ้าฝ้ายและผ้าไหมและมีการนำเข้าเป็นจำนวนมากจากประเทศตุรกี (+15.5%) โดย 2 ใน 3 เป็นการนำเข้าสินค้า Knitwear
การนำเข้าจากประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดจนถึงปี 2549 ซึ่งนำเข้าคิดเป็นมูลค่า 72 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปีก่อนหน้าแต่ช่วง 4 เดือนแรกของปี 2550 นำเข้าลดลงร้อยละ 7 เป็นมูลค่า 26 ล้านยูโร โดยส่วนใหญ่นำเข้า ผ้าฝ้าย เส้นไยฝ้าย และเส้นไยสังเคราะห์
ช่องทางการจำหน่าย:
สิ่งทออิตาลีส่วนใหญ่จะส่งออกให้กับผู้นำเข้าผ้าผืนของประเทศต่างๆ สำหรับการจัดจำหน่ายผ้าผืนในประเทศ จะขายให้กับผู้ผลิตเสื้อผ้าในอิตาลีเป็นหลัก นอกจากนี้ จำหน่ายให้กับร้านค้าปลีกผ้าผืนที่ขายให้กับช่างตัดเย็บเสื้อผ้าในเมืองซึ่งมีจำนวนไม่มากนักและเน้นการขายย่อย มีราคาแพง
กฏระเบียบการนำเข้า:
สหภาพยุโรปยกเลิกโควต้าการนำเข้าสิ่งทอและเสื้อผ้า (Textile& Clothing) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 อย่างไรก็ตาม สินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้าที่นำเข้าเพื่อจำหน่ายในสหภาพยุโรป จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบและมาตรฐานสินค้าสิ่งทอของสหภาพยุโรป ดังนี้
1. มาตรการทางภาษี สหภาพยุโรปกำหนดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสิ่งทอในอัตรา ร้อยละ 0-8 ขึ้นอยู่กับประเภทสิ่งทอและส่วนผสมเส้นใย ได้แก่
- กลุ่ม cotton fabrics เก็บในอัตราร้อยละ 8
- กลุ่ม silk fabrics เก็บในอัตราร้อยละ 3
- กลุ่ม wool fabrics เก็บในอัตราร้อยละ 8
สำหรับสินค้าประเภทเสื้อผ้า จัดเก็บภาษีนำเข้าร้อยละ 6.3-12
2. มาตรการทางการค้า
2.1 กฎระเบียบและมาตรฐานสำหรับสินค้าทั่วไป ได้แก่ กำหนดให้ระบุ
- ประเภทของเส้นใยและสัดส่วนผสมเป็นร้อยละในสินค้าประเภท นั้นๆ (Lebelling of Fibre Names)
- แหล่งกำเนิดสินค้า (Country of Origin)
- การดูแลรักษา (Care Labelling)
- คำเตือนความปลอดภัยในการใช้สินค้า (General Product Safety)
2.2 กฎระเบียบและมาตรฐานเกี่ยวกับสารเคมีที่ต้องไม่ปนเปื้อนสารโลหะ หนัก และปลอดภัยสำหรับเด็ก
นอกจากนี้ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการฉลากสิ่งแวดล้อมแห่งสหภาพ ยุโรป หรือ European Eco-Labelling Board(EUEB) สินค้าสิ่งทอที่จำหน่ายในสหภาพยุโรปต้องมีฉลาก EU Eco-Label หรือ EU Flower เพื่อรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์โดยพิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดช่วงวงจรผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบ จนถึงการจัดการกับกากที่เหลือใช้ ซึ่งฉลากดังกล่าวเป็นที่ยอมรับแพร่หลายใน
สหภาพยุโรป ทั้งนี้ การยื่นขอฉลาก ในปัจจุบันยังเป็นไปโดยความสมัครใจ
งานแสดงสินค้า:
- เกี่ยวกับผ้าผืนที่สำคัญได้แก่
- PITTI IMMAGINE FILATI (www.modaprima.it )
- MILANO UNICA (www.milanounica.it)
- INTERTEXMILANO (www.intertexmilano.it)
- FILO (www.ui.biella.it/filo)
สรุป:
สถานการณ์สินค้าสิ่งทอในอิตาลีเริ่มฟื้นตัวในปี 2550 และมีแนวโน้มดีขึ้นต่อ เนื่องมาถึงปี 2550 โดยในช่วงปีหลัง อิตาลีมุ่งเน้นพัฒนาภาพลักษณ์สินค้า Made-In-Italy ให้เป็นสินค้าในระดับ Hi-End ซึ่งจะเป็นจุดเด่นสำคัญของสินค้าและส่งผลดีต่อการพัฒนา อุตสาหกรรมดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านค่าแรงในอิตาลีมีราคาค่อนข้างสูง ส่วนหนึ่งผู้ผลิตอิตาลีจึงจำเป็นต้อง outsource สินค้าสิ่งทอบางส่วนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะวัตถุดิบพื้นฐาน แล้วนำมาพัฒนาคุณสมบัติและแปรรูปการผลิตในอิตาลี เนื่องจากอิตาลีมีความได้เปรียบทางเทคโนโลยี ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยที่จะพัฒนาคุณภาพสินค้า เพื่อส่งออกมาแข่งขันในตลาดอิตาลี ต่อไป
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ