นามิเบียเปิดทางนักธุรกิจไทยศึกษาโอกาสลงทุนระยะยาวหาแหล่งวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมไทยทั้งเหมืองแร่เพชร พลอย หินสี รวมถึงแร่ธาตุต่างๆ และก๊าซธรรมชาติ พร้อมขยายการค้าระหว่างสองประเทศโดยตรงเพิ่มขึ้น แนะไทยจัดคณะผู้บริหารรัฐ-เอกชนเยือนนามิเบียเป็นทางการ
วันนี้ (24 มี.ค.51) นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กล่าวถึงผลจากการที่นาย เนวิลล์ เมลวิน แกร์ตเซ (Mr. Neville Melvin Gertze) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐนามิเบียประจำประเทศไทยคนแรกได้เข้าเยี่ยมคารวะและพบหารือเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2551 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ว่าจะก่อให้เกิดมิติใหม่แห่งการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับนามิเบียซึ่งจะนำไปสู่การกระชับความร่วมมือและขยายโอกาสทางด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนในลักษณะหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน
ฝ่ายนามิเบียได้เชิญชวนให้ภาครัฐและเอกชนไทยเข้าไปศึกษาโอกาส ผลประโยชน์และความเป็นไปได้ที่จะเข้าไปร่วมลงทุนระยะยาวในกิจการเหมือนแร่เพชรและอัญมณี รวมถึงช่องทางธุรกิจในการคัด ตัดและเจียระไนอัญมณีและการประกอบตัวเรือนเครื่องประดับในนามิเบีย เนื่องจากนามิเบียเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและแร่ธาตุต่างๆ เช่น เพชร พลอย หินสีและอัญมณีต่างๆ (tourmalines, amethyst, topaz, tiger-eye quartz และ red quartz) รวมทั้งทองคำ ยูเรเนียม ทองแดง สังกะสี และก๊าซธรรมชาติ จึงมีศักยภาพสูงที่จะเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ
ปัจจุบัน กิจการเหมืองแร่ของนามิเบียใหญ่เป็นอันดับ 5 ของภูมิภาคแอฟริกา มีเพชรดิบปริมาณมาก คุณภาพสูงและราคาไม่แพง จึงผลิตเพชรได้มากว่า 1 ล้านกะรัตต่อปี ทั้งยังคงมีการค้นพบแหล่งแร่เพชรใหม่ๆจำนวนมหาศาลทั้งบนบกและในทะเล โดยเฉพาะบริเวณ Skeleton Coast ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ และรัฐบาลมีแผนที่จะเปิดสำรวจพื้นที่บริเวณทะเลทรายนามิบ ทางตอนใต้ของประเทศซึ่งเคยถูกจัดเป็นอาณาเขตต้อง ห้าม ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 ด้วยเหตุนี้กิจการเหมืองแร่ของนามิเบียจึงมีศักยภาพสูงที่จะเปิดรับการค้า การลงทุน โดยเฉพาะในลักษณะร่วมทุน (joint venture partnerships) กับฝ่ายนามิเบียที่ถือครองสิทธิ์การทำเหมืองแร่
นอกจากนี้ทั้งสองประเทศเล็งเห็นโอกาสในการพัฒนาการค้าระหว่างกันโดยตรงไม่ต้องไม่ผ่านประเทศคนกลาง โดยสินค้าที่นามิเบียสนใจจะส่งออกมายังไทยได้แก่ เนื้อวัว เนื้อแกะ องุ่นและอินทผลัม ส่วนสินค้าที่ต้องการนำเข้าจากไทยคือสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวและผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ในปี 2550 การค้าระหว่างไทยกับนามิเบียมีมูลค่า 5.05 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไทยส่งออก 4.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้า 0.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า สินค้าที่ไทยส่งออกได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ข้าว เสื้อผ้าสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์เซรามิค ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากนามิเบียคือ สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ผ้าผืน
นามิเบียเป็นได้รับเอกราชจากประเทศแอฟริกาใต้เมื่อปี 2533 และไทยเป็น 1 ใน 27 ประเทศที่ส่งคณะไปสังเกตการณ์และควบคุมดูแลการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามคำขอของสหประชาชาติในปี 2532 ไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับนามิเบียเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2533 โดยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย ประเทศแอฟริกาใต้ มีเขตอาณาครอบคลุมนามิเบีย ส่วนนามิเบียมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตนามิเบียที่กรุงกัวลาลัมเปอร์มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย และได้แต่งตั้งนายแกร์ตเซ เป็นเอกอัครราชทูตนามิเบียประจำประเทศไทยคนแรก เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2550
ไทยและนามิเบียพร้อมที่จะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันในทุกมิติในลักษณะหุ้นส่วนที่เท่าเทียม โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันที่จะสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศชาติและประชาชนของทั้งสองฝ่าย
ที่มา: http://www.depthai.go.th