สรุปภาวะการส่งออกสินค้าไทยมายังออสเตรเลีย ปี 2550 มกราคม — ธันวาคม โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 3, 2008 16:26 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. สถิติการนำเข้าของออสเตรเลียจากไทย
ในปี 2550 ออสเตรเลียนำเข้าจากไทยเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2549 ถึงร้อยละ 40.35 คิดเป็นมูลค่านำเข้าในปีนี้ถึง 6,628.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยครองตลาดเป็นลำดับที่ 7 มีสัดส่วนตลาดร้อยละ 4.20 เป็นรองจากจีน (15.50%) สหรัฐฯ (12.57 %) ญี่ปุ่น (9.61%) สิงคโปร์ (5.58%) เยอรมนี (5.19%) และสหราชอาณาจักร(4.31%) ตามลำดับ ทั้งนี้ อัตราขยายตัวของการนำเข้าจากไทยสูงเป็นอันดับที่ 2 ในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกจากอาเซียนทั้งสิบประเทศ รองจากประเทศกัมพูชาที่มีอัตราการขยายตัวสูงเป็นอันดับ 1 โดยการขยายตัวส่วนใหญ่ มาจากการนำเข้าทองคำซึ่งออสเตรเลียเข้าไปทำสัมปทานในกัมพูชา ทั้งนี้ อัตราเติบโตเฉลี่ยของการนำเข้าของออสเตรเลียจากทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 18.87
อย่างไรก็ดี เมื่อดูตัวเลขการนำเข้าเป็นรายเดือนพบว่าเดือนพฤศจิกายน เป็นเดือนที่มีมูลค่าการนำเข้าจากไทยสูงที่สุด คือ 726.28 ล้านเหรียญฯ เดือนที่มีการนำเข้าจากไทยสูงรองลงมา คือเดือนตุลาคม หรือเท่ากับ703.72 ล้านเหรียญฯ และเดือนที่มีการนำเข้าต่ำสุดของปี 2550 คือ เดือนเมษายน มีมูลค่าเพียง 441.67 ล้านเหรียญสหรัฐ
2. สินค้านำเข้าสำคัญจากไทย (ใน 10 อันดับแรก)
ในช่วงปี 2550 สินค้านำเข้าสำคัญจากไทยยังคงเป็นสินค้าในหมวดยานยนต์ (ร้อยละ 42.89 ของการนำเข้าจากไทยทั้งหมด) คิดเป็นมูลค่ารวม 2,843.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นพิกัดภาษีที่ 8704 (รถปิกอัพ) และ 8703 (รถโดยสารส่วนบุคคล) ซึ่งในพิกัด 8703 นั้น ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 117 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา อันดับสองได้แก่ เครื่องจักรและ เครื่องใช้กล ซึ่งส่วนใหญ่ได้ แก่ เครื่องปรับอากาศ คิดเป็นมูลค่านำเข้ารวมในกลุ่มนี้เท่ากับ 861.41 ล้านเหรียญฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 17.89
อันดับสามได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งมีมูลค่านำเข้ารวม 671.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคิดเป็นสัดส่วนจากสินค้านำเข้าจากไทยทั้งหมด ร้อยละ 10.20 ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็คโทรนิกส์ และชิ้นส่วน มีสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 5.88 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.17 กลายเป็นสินค้านำเข้าสำคัญอันดับสี่ อันดับที่ห้าได้แก่ หมวดอาหารแปรรูป ซึ่งมีปลาทูน่ากระป๋องเป็นสินค้านำเข้าสำคัญในหมวดนี้ โดยการนำเข้าสินค้าดังกล่าวมีการขยายตัวในอัตราร้อยละ 18.35
3. การส่งออกของออสเตรเลียไปไทย
ไทยจัดได้ว่าเป็นตลาดสำคัญอันดับ 9 ของออสเตรเลีย คิดเป็นมูลค่ากว่า 3,708 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา หรือเท่ากับร้อยละ 2.63 เมื่อเทียบกับตลาดการส่งออกทั้งหมดของออสเตรเลีย การส่งออกไปยังประเทศไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.11 เมื่อเทียบกับปี 2549 โดยตลาดหลักของออสเตรเลียยังคงเป็นญี่ปุ่นจีน เกาหลีใต้ สหรัฐฯ และนิวซีแลนด์ ตามลำดับ
สินค้าส่งออกหลักของออสเตรเลีย (ร้อยละ 56 ของการส่งออกทั้งหมด) ได้แก่ แร่ธาตุและเชื้อเพลิงอาทิ ถ่านหิน แร่เหล็ก ทองคำ น้ำมันและแก๊ส อลูมิเนียม แร่ทองแดง เป็นต้น
ในส่วนของสินค้าที่ส่งออกไปไทยในอันดับแรกอยู่ในหมวดแร่ธาตุและเชื้อเพลิง รองลงมาได้แก่ อลูมิเนียม ทองคำ ทองแดง เหล็ก สินค้าในกลุ่มยารักษาโรค และเวชภัณฑ์ เครื่องจักรและเครื่องใช้กล สังกะสีและผลิตภัณฑ์ ตามลำดับ ส่วนการนำเข้าผลิตภัณฑ์เกษตร ผลิตภัณฑ์นม น้ำผึ้ง ไข่ และสินค้าที่นำไปใช้ในการผลิตเพื่อส่งออก เช่น ฝ้ายและขนสัตว์ โดยนำเข้าลดลงจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 3.80 และร้อยละ 44.5 ตามลำดับ
4. ดุลการค้าระหว่างไทย-ออสเตรเลีย
ในปี 2550 ออสเตรเลียขาดดุลการค้ากับทั่วโลกคิดเป็นมูลค่าถึง 16,731 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 79.90 โดยประเทศที่ออสเตรเลียขาดดุลการค้าด้วยมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐฯ กว่า 1 หมื่น 1 พันล้านเหรียญฯ เยอรมนี 6.9 พันล้านเหรียญฯ สิงคโปร์ 5.4 พันล้านเหรียญฯ จีน 4.6 พันล้านเหรียญฯ มาเลเซีย 3.4 พันล้านเหรียญฯ ไทย 2.9 พันล้านเหรียญฯ ฝรั่งเศส 2.7 พันล้านเหรียญฯ อิตาลี 2.7 พันล้านเหรียญฯ และเวียดนาม 2.5 พันล้านเหรียญฯ โดยการขาดดุลจากไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2549 ถึงร้อยละ 94.56
ในขณะเดียวกัน ออสเตรเลียได้ดุลการค้ากับญี่ปุ่นมากเป็นอันดับหนึ่ง มูลค่า 11,537 ล้านเหรียญฯ ตามมาด้วยอินเดีย 6.5 พันล้านเหรียญฯ เกาหลีใต้ 6.3 พันล้านเหรียญฯ และนิวซีแลนด์ 2.6 พันล้านเหรียญฯ เป็นต้น
5. ประเทศคู่แข่งสำคัญของไทย
(1) หมวดสินค้าอุตสาหกรรม
- ยานยนต์ ในหมวดนี้โดยรวม ออสเตรเลียนำเข้าจากไทยเป็นอันดับสอง โดยมีประเทศญี่ปุ่นเป็นอันดับหนึ่ง ประเทศคู่แข่งสำคัญของไทยนอกจากญี่ปุ่น ได้แก่ สหรัฐเยอรมนี และเกาหลีใต้ ตามลำดับโดยในหมวดสินค้ารถบรรทุกปิกอัพ (HS 8704) ออสเตรเลียนำเข้าจากไทยเป็นลำดับที่ 1 มีมูลค่าการนำเข้า 1.67 พันล้านเหรียญฯ มีสัดส่วนตลาดที่ร้อยละ 36.29 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 55.91 ในขณะที่ หมวดสินค้ารถยนต์ส่วนบุคคล (HS 8703) ออสเตรเลียนำเข้าจากไทยเป็นลำดับที่ 4 มีสัดส่วนตลาดที่ร้อยละ 8.53 ประเทศคู่แข่งสำคัญของไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น เยอรมนี เกาหลีใต้ และสหรัฐ
- เครื่องปรับอากาศ (HS 8415) ประเทศคู่แข่ง ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์โดยออสเตรเลียนำเข้าจากไทยเป็นลำดับที่หนึ่ง มีมูลค่ารวม 317 ล้านเหรียญฯ และมีสัดส่วนตลาดสูงถึงร้อยละ 39.47
- ชิ้นส่วนยานยนต์ (HS : 8708) ได้แก่ สหรัฐญี่ปุ่น จีน เยอรมนี สวีเดน ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส และเม็กซิโก โดยออสเตรเลียนำเข้าจากไทยเป็นลำดับที่ห้า มีสัดส่วนตลาดอยู่ที่ร้อยละ 7.17 และรวมเป็นมูลค่า 143.62 ล้านเหรียญฯ โดยมีอัตราขยายตัวจากปีที่แล้ว ถึงร้อยละ 68.5
(2) หมวดสินค้าเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรม
- เนื้อปลาที่ผ่านการแปรรูปแล้ว (HS : 1604) ไทยเป็นผู้ครองตลาดอันดับหนึ่ง รวมเป็นมูลค่า 105.4 ล้านเหรียญฯ มีสัดส่วนตลาดเกินกว่าร้อยละ 53.17 คู่แข่งที่สำคัญของไทยได้แก่ สหรัฐฯ นิวซีแลนด์ แคนาดา และมาเลเซีย เป็นต้น
- ข้าวสาร(HS 1006) กว่าร้อยละ 93.68 ของการนำเข้าของออสเตรเลียเป็นข้าวสารที่ผ่านการสีแปรสภาพแล้ว (semi/milled) โดยมีเพียงเล็กน้อยที่เป็นข้าวหัก โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับหนึ่ง รวมเป็นมูลค่า41.68 ล้านเหรียญฯ มีสัดส่วนตลาดร้อยละ 57.99 ตามด้วย ปากีสถาน อินเดีย และ สหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ออสเตรเลียประสบปัญหาภาวะแห้งแล้งส่งผลให้การผลิตข้าวในประเทศไม่เพียงพอ ประกอบกับความนิยมในการบริโภคข้าวเพิ่มมากขึ้นทำให้มีการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในปี 2550 นำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ทั้งนี้เป็นการนำเข้าข้าวขาวเมล็ดยาว และข้าวขาวเมล็ดสั้น/กลางเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 36 และ 59 ตามลำดับ* ในขณะที่การนำเข้าข้าวไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 29.40 แต่การนำเข้าจากประเทศคู่แข่งโดยตรงของไทย เช่น เวียดนาม ปากีสถาน และจีน รวมกันเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 63.57
- กุ้งแช่เย็น/แช่แข็ง (HS 0306) เนื่องจากมาตราการนำเข้ากุ้งที่เข้มงวดที่เริ่มใช้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2550 ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้ากุ้งแช่เย็น/แช่แข็งของออสเตรเลียโดยรวมลดลงจากปี 2549 ร้อยละ 7.15 โดยประเทศส่งออกสำคัญได้แก่ เวียดนาม ไทย และจีน ตามลำดับ อย่างไรก็ดีพบว่า การนำเข้าจากไทยในปี 2550 มีมูลค่า 40 ล้านเหรียญฯ ขยายตัวจากปี 2549 ร้อยละ 8.94 ส่งผลให้ไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 21 ในปี 2549 เป็นร้อยละ 23.14 ในปี 2550 ในขณะที่คู่แข่งสำคัญอันดับหนึ่ง คือ เวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดลงลงจากร้อยละ 35 ใน ปี 2549 เหลือร้อยละ 33.09 ในปี 2550 และจีนมีส่วนแบ่งตลาดลงลงจากร้อยละ 23.25 ใน ปี 2549 เหลือร้อยละ 22.99
6. โอกาสทางการค้า
1. ปัจจุบันสินค้าจีนซึ่งเป็นคู่แข่งสินค้าของไทยกำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับมาตรฐานด้านความปลอดภัยของสินค้าในหลายกลุ่มสินค้าด้วยกัน อาทิ ผลิตภัณฑ์การเกษตร อาหาร เสื้อผ้า ของเล่น เครื่องสำอาง ไทยจึงควรใช้โอกาสดังกล่าวให้เป็นประโยชน์ โดยเน้นสร้างภาพลักษณ์เรื่องความแตกต่างด้านคุณภาพสินค้าที่เหนือกว่าสินค้าจากจีน (Image-Building Campaign on Quality Superiority & Differentiation)
2. สินค้าเกษตรบางประเภท อาทิ ข้าว พบว่า ประเทศที่เป็นคู่แข่งทางการค้าสำคัญของไทย เช่น เวียดนาม และออสเตรเลียประสบปัญหาด้านการผลิต ไทยจึงควรฉกฉวยโอกาสนี้ในการเร่งขยายสัดส่วนการครองตลาด แต่ในขณะเดียวกัน ต้องไม่ละเลยการรักษาคุณภาพสินค้าให้มีมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ (Product Quality Consistency) เพื่อรักษาชื่อเสียงสินค้าไทยให้อยู่ติดตลาดออสเตรเลีย
7. ปัญหา/อุปสรรคและประเด็นการค้าสำคัญในตลาดออสเตรเลีย
1. ปัญหาที่เกิดจากลักษณะของตลาด และสภาวะการแข่งขัน (Nature of the Market and Competitive Level)
- ตลาดออสเตรเลียเป็นตลาดเล็กแต่ใหญ่ในพื้นที่ ทำให้การทำตลาดเป็นไปค่อนข้างยากเนื่องจากจำนวนประชากรน้อย อาศัยอยู่กระจัดกระจายตามเมืองใหญ่ๆ ในประเทศออสเตรเลีย ทำให้ขนาดการสั่งซื้อไม่สูง ผู้ส่งออกไทยจึงไม่ใคร่ให้ความสนใจ หรือติดปัญหาด้านการผลิต/ต้นทุนราคาสินค้า ในขณะเดียวกัน ระยะทางในการขนส่งเมืองต่อเมืองค่อนข้างห่างไกล ทำให้ค่าใช้จ่ายขนส่งสูง
- รูปแบบการกระจายสินค้ายังมีหลายขั้นตอน และในแต่ละขั้นตอน มีการ mark up margin ค่อนข้างสูง (เนื่องจากต้นทุนประกอบการในออสเตรเลียสูง) ทำให้ราคาสินค้าไทยที่มีต้นทุนราคาที่ค่อนข้างสูง(เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง เช่น จีน) เมื่อถึงมือผู้บริโภค จึงดูเหมือนว่า ค่อนข้างแพง โดยเฉพาะหากมีรูปแบบ สินค้าที่ใกล้เคียงกับของคู่แข่ง ซึ่งผู้บริโภคไม่สามารถแยกแยะได้ในเรื่องของคุณภาพในเวลาซื้อ
- สินค้าไทยถูกกดดันจากการแข่งขันใน 2 ระดับ
(1) กลุ่มสินค้าตลาด (Mass market/merchandise) ที่เจาะตลาดระดับกลาง-ล่าง โดยมีคู่แข่งสำคัญ คือ ประเทศในเอเชียที่มีต้นทุนประกอบการต่ำกว่า เช่น จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม เนื่องจากราคาสินค้า และระยะทางขนส่ง/ความใกล้ชิด (กรณีของ อินโดนิเชีย นิวซีแลนด์ และมาเลเซีย) เช่น สินค้าในกลุ่มแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์และของใช้ในบ้าน ของเด็กเล่น สินค้าเกษตรหลายรายการ นอกจากนี้ การที่มีผู้จัดจำหน่าย/ผู้นำเข้าเป็นคนที่มีพื้นฐานมาจากประเทศดังกล่าว ทำให้โน้มเอียงไปในการนำเข้าสินค้าจากประเทศแม่ของตนเป็นหลัก
(2) กลุ่มสินค้าระดับบน (Premium product) หรือสินค้ามีแบรนด์ โดยเฉพาะในสินค้าที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับยี่ห้อสินค้า เช่น สินค้าแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น มีคู่แข่งสำคัญ คือ อิตาลี ฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐญี่ปุ่น เกาหลี รวมถึงออสเตรเลีย ซึ่งสามารถผลิตสินค้าได้หลายรายการ เช่น ผักผลไม้สด ข้าว เนื้อไก่ เป็นต้น ทำให้มีความเป็นต่อในเรื่องราคาและคุณภาพสินค้าประกอบกับการกำหนดระเบียบมาตรการเกี่ยวกับคุณภาพสินค้าบ่อยครั้งก็เอื้อประโยชน์ต่อสินค้าที่ผลิตใน
ประเทศ
- การรณรงค์ส่งเสริมสินค้า Australian Made ทั้งจากภาครัฐ ผู้ผลิต เกษตรกร และสื่อออสเตรเลีย (PR Campaign) โดยเฉพาะในสินค้าเกษตร/อาหาร แฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ ส่งผลให้ห้างสรรพสินค้า (Retail Chains) ส่วนใหญ่ไม่พยายามที่จะจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้านำเข้า หรือเน้นแหล่งที่มาของสินค้าเกษตรบนชั้นวางจำหน่ายสินค้า (แต่จะเน้นให้ข้อมูลว่า เป็นสินค้าของออสเตรเลียมากกว่า)
- Consumer Perception การที่ภาพลักษณ์ประเทศไทยติดอยู่ในกลุ่มสินค้านำเข้าจากเอเชีย (Asian Cluster) ทำให้ผู้บริโภคมองว่า สินค้าไทยมีคุณภาพและราคาในระดับใกล้เคียงกัน
2. ปัญหาที่เกิดจากกฎระเบียบและมาตรการทางการค้า
- ด้านสุขอนามัย (Quarantine measures) ของออสเตรเลียมีความเข้มงวดมาก โดยอ้างว่าเป็นประเทศเกาะ ทำให้สินค้าเกษตรของไทย เช่น ผัก ผลไม้สดหลายชนิด (ยกเว้น มังคุด ลิ้นจี่ ลำไย และทุเรียนแกะเปลือก) ไก่ต้มสุกแช่แข็ง ไม่สามารถเข้าไปจำหน่ายได้ ยกเว้นแต่ว่า ต้องเจรจาเปิดตลาดในทางเทคนิคเป็นรายการๆ ไป แต่ใช้เวลาพิจารณา/เจรจานานพอสมควร (อย่างต่ำ 1 ปี) และมักจะกำหนดมาตรฐานที่สูงกว่ามาตรฐานสากล และในหลายๆ กรณี ก็ไม่สามารถปฏิบัติได้ในเชิงพาณิชย์ เช่น เนื้อไก่สุก เป็นต้น
ปัจจุบัน กุ้งก็เป็นอีกรายการสินค้าหนึ่งที่กำลังประสบปัญหาจากมาตรการสุขอนามัยของออสเตรเลีย โดยทางการออสเตรเลียได้อ้างผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความเสี่ยงจากเชื้อไวรัสในกุ้งนำเข้าที่อาจมีผลต่ออุตสาหกรรมเลี้ยงกุ้งในประเทศ และได้ออกมาตรการกำกับการนำเข้าชั่วคราว (Revised Interim Measures) ในระหว่างรอผลการศึกษาอย่างเป็นทางการ โดยมาตรการชั่วคราวดังกล่าว จะมีผลใช้บังคับนับตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2550 เป็นต้นไป
มาตรการดังกล่าวมีสาระสำคัญ ได้แก่
1) กำหนดให้การนำเข้ากุ้งดิบทั้งตัวต้องเป็นกุ้งที่มาจากประเทศหรือเขตที่ปลอดจาก 4 โรค ได้แก่ WSSV, IHHNV, YHV และ TSV ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีโรคดังกล่าว เช่นเดียวกับอีกหลายๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย
2) การนำเข้ากุ้งดิบที่มีการตัดหัวและแกะเปลือกออก (prawn cutlets) ทุกงวดจะต้องผ่านการตรวจสอบที่ปลายทางที่ออสเตรเลียว่า ปราศจากโรคดังกล่าว หากตรวจพบ จะถูกทำลาย หรือ ถูกส่งกลับ ซึ่งจะเป็นภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้นำเข้าอย่างมาก ทั้งจากต้นทุนค่าตรวจสอบ และความเสี่ยงจากการที่ผลการทดสอบไม่ผ่านอีกด้วย
3) สำหรับกุ้งดิบที่มีการตัดหัวและแกะเปลือกออก และได้มีการแปรรูปบางส่วนแล้ว (เช่น การชุบแป้งทอด) จะถูกสุ่มตรวจเพื่อตรวจสอบว่าปราศจากโรคดังกล่าว และยังต้องผ่านการผลิตจากโรงงานที่ได้รับการตรวจสอบรับรองจากประเทศต้นทางแล้วเท่านั้น
4) การนำเข้ากุ้งต้มสุก ได้กำหนดอุณหภูมิไว้ที่ 75 องศาในระยะเวลา 2-3 นาที ขึ้นอยู่กับขนาดของกุ้ง อย่างไรก็ดี จากการหารือกับทางผู้ส่งออกไทย พบว่า อุณหภูมิและระยะเวลาที่ออสเตรเลียกำหนดไม่สามารถปฎิบัติได้ในทางการค้า
ล่าสุด รัฐบาลไทย โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกันเจรจากับทางการออสเตรเลีย เพื่อขอให้ยอมรับอุณหภูมิของกุ้งต้มสุกที่สามารถปฎิบัติได้ในทางการค้า ซึ่งทางการออสเตรเลียยอมรับข้อเสนอของไทยให้กุ้งทุกขนาดต้มโดยมีอุณหภูมิแกนกลาง (core temperature) ที่ 70 องศาเซลเซียส ภายในระยะเวลา 11 วินาที โดยต้องแนบใบรับรองจากกรมประมงว่า “ผ่านการปรุงสุกในโรงงานซึ่งได้รับการรับรองและควบคุมจากกรมประมงที่อุณหภูมิกึ่งกลางอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส เป็นเวลาอย่างน้อย 11 วินาที โดยกุ้งจะต้องผ่านความร้อนจนเนื้อสุกทั่วทั้งชิ้น และไม่มีลักษณะเนื้อดิบปรากฏอยู่ และเหมาะต่อการบริโภค” และได้ขอให้ออสเตรเลียยอมรับผลการตรวจเชื้อโรคต้นทาง เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายสำหรับผู้นำเข้า ซึ่งขณะนี้กำลังรอให้ทางการออสเตรเลียจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบรับรองห้องแล็บไทย
นอกจากนี้สมาคมอาหารออสเตรเลีย และสมาคมผู้นำเข้าอาหารทะเลกำลังรวบรวมรายชื่อ 20,000 ชื่อเพื่อให้รัฐบาลออสเตรเลียเพื่อทบทวนมาตรการการนำเข้ากุ้งเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อภัตตาคาร ร้านอาหาร และผู้บริโภค
- นอกเหนือจากนี้ มาตรการ Fumigation สินค้า และ Container ที่กำหนดให้ใช้บริการเฉพาะบริษัทที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรฯ เท่านั้น ก็ส่งผลให้ต้นทุนสินค้ามีราคาสูงขึ้นค่อนข้างมากด้วยเช่นกัน
- กฎหมายควบคุมคุณภาพอาหารตาม Australian Food Standard Code ซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อใช้ในการกักกัน (quarantine) และตรวจสอบ (inspection) คุณภาพอาหารนำเข้ามีความเข้มงวด โดยแบ่งประเภทอาหารเป็นสินค้าที่มีความเสี่ยงสูง กลาง และต่ำ หากพบว่าผู้ส่งออกไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดจะส่งสินค้ากลับหรือทำลาย ทำให้ต้นทุนสินค้าสูง
- การใช้มาตรการทางภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping Duties) ในกรณีที่ผู้ผลิตในประเทศฟ้องร้องต่อรัฐบาลว่าสินค้านำเข้าทำให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าไทย 3 หมวด ที่ถูกใช้มาตรการนี้ คือ 1) พลาสติก Polyethylene, linear low density (พิกัดภาษี 3901.10.00/01, 3901.90.00/06) 2) ท่อเหล็ก (พิกัดภาษี 7306.30.00/30-37) 3) สับปะรดกระป๋อง (พิกัดภาษี2008.20.00/26/28 และ 2008.20.00/27/28)
ทั้งนี้ มีสินค้า 2 รายการที่มาตรการ AD ได้ยุติลงภายในปี 2550 ได้แก่ Structural Steel Sections, certain hot rolled (พิกัดภาษี 7216.31.00/30, 7216.32.00/31, 7216.33.00/32, 7216.40.00/33) และ Polyvinyl Chloride Homopolymer Resin (PVC) (พิกัดภาษี 3904.10.00/18) สำหรับมาตรการ AD สำหรับสินค้า พลาสติก Polyethylene, linear low density (พิกัดภาษี 3901.10.00/01, 3901.90.00/06) มีกำหนดหมดอายุลงในเดือน ธันวาคม 2551 และได้มีผู้ผลิตออสเตรเลียได้ยื่นคำร้องขอให้ต่ออายุออกไป ซึ่งออสเตรเลียอยู่ในระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณา นอกจากนี้ ได้มีผู้ผลิตออสเตรเลียได้ยื่นคำร้องให้ศุลกากรออสเตรเลียพิจารณาใช้มาตรการ AD สำหรับสินค้าถังขยะ (mobile garbage bin) ขนาด 240 ลิตร ที่นำเข้าจากประเทศไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวน
- มาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ แตกต่างจากประเทศอื่นๆ (Australian Standard Code) ทำให้ผู้ผลิตไทยต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบ/คุณสมบัติของสินค้าให้สอดคล้องกับมาตรฐานดังกล่าว ในขณะที่ปริมาณสั่งซื้อมีจำนวนน้อย ส่งผลต่อต้นทุนราคาสินค้า และในหลายกรณี พบว่าผู้ส่งออกไทยไม่สามารถรับคำสั่งซื้อได้ (ปริมาณสั่งซื้อไม่เพียงพอต่อ minimum order ที่กำหนดโดยโรงงาน)
8. ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับลู่ทางโอกาสในการนำเข้าสินค้าจากไทย
1. ข้อตกลงเขตการค้าเสรี TAFTA ได้เอื้อต่อการขยายตัวทางการค้าระหว่างประเทศไทย-ออสเตรเลียซึ่งจะเห็นได้จากอัตราขยายตัวของมูลค่าการค้าสองฝ่ายในช่วงหลังจากการเปิดเสรี เมื่อเทียบกับอัตราเติบโตเฉลี่ยของมูลค่าการค้าสองฝ่ายในช่วง 7 ปีก่อนหน้า (เพียงร้อยละ 16.7) โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าสำคัญของไทยหลายรายการ ทั้งในสินค้าอุตสาหกรรม ที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและ
อิเล็คโทรนิคส์ แฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น และสินค้าเกษตร/เกษตรอุตสาหกรรม ที่สำคัญ ได้แก่ อาหารทะเลแปรรูป ข้าว ผักผลไม้สดและแปรรูป เป็นต้น
2. ถึงแม้ว่า ออสเตรเลียจะเป็นตลาดเล็ก (ประชากร 21 ล้านคน) แต่ก็มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุน ดังจะเห็นได้จากมูลค่าการส่งออกมายังออสเตรเลียเมื่อคิดเป็นอัตราต่อหัวจะสูงถึงคนละ 292 ล้านเหรียญฯ ในขณะที่สหรัฐฯ ตลาดอันดับหนึ่งของไทยมีมูลค่านำเข้าสินค้าจากไทยต่อประชากร 1 คน เพียง 68 ล้านเหรียญฯ นอกจากนี้ สินค้าสำคัญที่ส่งออกมายังออสเตรเลีย 10 อันดับแรก จะมีตลาดออสเตรเลียอยู่ในลำดับต้นๆ เสมอ อาทิ ออสเตรเลียเป็นตลาดอันดับหนึ่งสำหรับสินค้ารถยนต์และส่วนประกอบ อันดับสองสำหรับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ/เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อันดับสามสำหรับสินค้าทูน่ากระป๋องอันดับสี่สำหรับสินค้าเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น
นอกเหนือจากนี้ ด้วยทำเลที่ตั้งที่สามารถเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคลาตินอเมริกาให้กับสินค้าจากไทย จะส่งผลให้ออสเตรเลียมีศักยภาพในการเป็นฐานกระจายสินค้าต่อให้กับไทยได้เป็นอย่างดี
3. สินค้าไทยที่มีโอกาสในการพัฒนาตลาดออสเตรเลีย สามารถแบ่งเป็นกลุ่มได้ ดังนี้
(1) สินค้าที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูงมาก หรือสินค้าที่ต้องใช้ทักษะแรงงานที่ค่อนข้างสูง และออสเตรเลียไม่สามารถผลิตได้เอง หรือผลิตได้แต่มีต้นทุนสูง/คุณภาพไม่ทัดเทียม(Productivity-based Products) เช่น กลุ่มรถยนต์ และส่วนประกอบ โดยเฉพาะสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์สำหรับตลาด Aftermarket เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายรายการ อาทิ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน เครื่องรับโทรทัศน์ฯ ตู้เย็น เป็นต้น อาหารสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง
(2) สินค้าที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันปานกลาง แต่มีจุดเด่นที่รูปแบบสินค้า/การออกแบบ (Creativity-based Products) สามารถพัฒนาให้เกิดแบรนด์ของตนเองได้ เช่น กลุ่มแฟชั่น ของใช้ของตกแต่งบ้าน เครื่องสำอาง/ประทินผิว ซอฟท์แวร์แอนิเมชั่น และสินค้าบริการ อาทิ ร้านอาหารไทยบริการทางการแพทย์ spa/thai massage เป็นต้น
4. จากการพิจารณาปัจจัยดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นควรกำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาตลาดออสเตรเลียตามกลุ่มสินค้าข้างต้น ดังนี้
4.1 Productivity-based Products ใช้การลงทุน และการร่วมลงทุนทั้งในประเทศออสเตรเลีย และไทย เป็นตัวนำ (Investment-led Strategy) เพื่อสร้างพันธมิตรและความร่วมมือที่ยั่งยืนในระยะยาว (Close and Reliable Partner) ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการผลิตและการบริหารจัดการ รวมถึงเครือข่ายพันธมิตร/ตลาดของออสเตรเลียที่มีกับประเทศสำคัญๆ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น เนื่องจากสินค้าหลายตัวในกลุ่มนี้ เป็นสินค้าที่มีลักษณะผลิตตามนโยบายบริษัทแม่ภายใต้แบรนด์ชั้นนำของโลก จึงยังขาด identity ของความเป็นไทย ผู้บริโภคจำนวนมากไม่ทราบว่า สินค้าดังกล่าวผลิตในไทย ผู้ประกอบการ/รัฐบาลไทยจึงควรร่วมมือเร่งสร้าง/พัฒนาแบรนด์ของตนเอง เพื่อสร้างภาพ
ลักษณ์ สินค้า Made In Thailand Quality ให้ติดอยู่ในใจผู้บริโภค
4.2 Creativity-based Products โดยการสร้างแบรนด์ที่มีรูปแบบสินค้าของตนเอง ฉีกภาพลักษณ์สินค้าไทยให้ห่างจากสินค้าประเทศคู่แข่งด้านราคา (เช่น จีน อินเดีย เวียดนาม อินโดฯ) โดยเฉพาะจาก Asian Cluster โดยใช้ Value Enhancement Strategy เน้นสร้างความร่วมมือกับ Designer ของออสเตรเลีย ภายใต้คอนเซปต์ ATMD (Australian-Thai Made and Design) รวมถึงการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและวัตถุดิบการผลิต เช่น Wool/Cotton สำหรับเสื้อผ้า ทองคำ ไข่มุก และเพชรสีชมพู สำหรับเครื่องประดับนมและเนื้อสัตว์ สำหรับอาหารสำเร็จรูป
4.3 Regional Buying Group for Mega Chains กระตุ้นให้มีการจัดตั้งสำนักงานจัดซื้อสินค้าในระดับภูมิภาคขึ้นในประเทศไทย
4.4 สนับสนุนการลงทุนของชาวไทยในออสเตรเลีย (Overseas Investment Support) เพื่อสร้างเครือข่ายการผลิตและการตลาดให้กับสินค้าไทยในตลาดออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์/หมู่เกาะแปซิฟิคใต้โดยเฉพาะการเป็นฐานกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคลาตินอเมริกา (Gateway to Latin America Continent)โดยใช้ความได้เปรียบเรื่องทำเลที่ตั้ง และผลการเจรจาการค้าเสรีที่ออสเตรเลีย/ไทยมีกับประเทศคู่ค้า
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ