วิรุฬ” เร่งเอกชนศึกษาทำแจมแบงก์-ออกแบบ เชื่อมการค้าครบวงจร เพิ่มมูลค่าส่งออก ชี้4 เดือน รายได้อัญมณีพุ่ง 76% เชื่อข้อตกลงเอฟทีเอ-เจเทป้าเกิดผล ชี้ยังจำเป็นต้องแสวงหาวัตถุดิบ-ตลาดใหม่
นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รมช.พาณิชย์ กล่าวภายหลังเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมอัญธานีเมื่อวันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน 2551 ว่า ไทยกำลังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจอันเกิดจากวิกฤตการน้ำมัน รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ ไทยต้องพัฒนายุทธศาตร์การค้าในเชิงรุกให้มากขึ้นโดยอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนให้เพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการและเอสเอ็มอีทุกระดับทั้งในด้านลดต้นทุน การสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนให้กับผู้ประกอบการ การพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรในด้านการออกแบบและการผลิตสินค้าระดับสูง การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยการเชื่อมโยงการค้าแบบครบวงจร อาทิ ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เป็นต้น
ทั้งนี้กรมส่งเสริมการส่งออกได้วางยุทธศาสตร์ที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก แต่ปัจจัยสำคัญอยู่ที่การเสาะแสวงหาแหล่งวัตถุดิบจากต่างประเทศ ตลอดจนการหาตลาดส่งออกใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ ซึ่งเล็งไว้ที่ จีน อินเดีย รัสเซีย ยุโรปและตะวันออกกลาง เป็นต้น เพื่อทดแทนตลาดเดิมที่มีการแข่งขันสูง
“ในปี 2551 เพียงช่วง 4 เดือนแรก อัญมณีส่งออกมีมูลค่าทั้งสิ้น 75,603 ล้านบาท ( 2,291 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง76.75 % คิดเป็นสัดส่วน 4.1% ของมูลค่าส่งออกรวม ” นายวิรุฬ กล่าว และว่า อย่างไรก็ตามการมีตลาดอาเซียน เขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ) และเจเทป้าทำมีโอกาสขยายตลาดได้ปริมาณมาก รวมถึงประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นแหล่งค้าพลอยสีขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลกมากว่า 2 ทศวรรษ ประกอบกับเศรษฐกิจจีนขยายตัว จึงคาดว่าจีนจะเป็นผู้บริโภคเครื่องประดับอัญมณีอันดับ 2 ของโลกในอนาคต
สำหรับกิจกรรมการส่งเสริมการส่งออกส่วนใหญ่ผลักดันผ่านสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับ หากเป็นงานวิชาการ มาตรฐานสินค้าจะทำงานผ่านสถาบันวิจัยอัญมณีและเครื่องประดับ ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ โดยกิจกรรมสำคัญได้แก่ งานบางกอกเจมส์แอนด์จิเวลลี่แฟร์ จัดแล้ว 41 ครั้ง ส่วนในต่างประเทศเข้าร่วมงานเจซีเค ที่เมืองลาสเวกัส สหรัฐฯ งานบาซิลแฟร์ ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ งาน เจมส์และจิเวลลี่ แฟร์ที่ฮ่องกง และงานวิกเซนซ่าโอรัล ที่ประเทศอิตาลี
ด้านคู่แข่งของไทย ได้แก่ จีน อินเดียและศรีลังกา ยังได้เปรียบในเรื่อง ค่าจ้างแรงงานต่ำ และมีจำนวนแรงงานมาก มีวัตถุดิบ มีตลาดแลกเปลี่ยนอัญมณีและเครื่องประดับ บางประเทศได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากนโยบายของรัฐและสถาบันการเงิน การความเชื่อมโยงระหว่างกิจการต่างๆ ได้แก่ทำเหมือง การเจียระไน การผลิตและส่งออก เป็นต้น และมีการปรับลด/ยกเลิกภาษีต่างๆ เป็นต้น
ที่มา: http://www.depthai.go.th